รฟท.ศึกษาแผนเดินรถ-การใช้ประโยชน์สถานีหัวลำโพง หลังเปิดใช้สถานีกลางบางซื่อ

การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า การรถไฟฯ พร้อมปฏิบัติตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม สำหรับแนวทางในการใช้ประโยชน์สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) หรือสถานีรถไฟทุกแห่งนั้น จะคำนึงถึงประเด็นสำคัญในหลาย ๆ เรื่อง ซึ่งการรถไฟฯจะขอทำการศึกษาในรายละเอียด เพื่อจัดทำแผนการเดินรถที่สอดคล้องกับความต้องการใช้บริการ และแนวนโยบายอีกครั้ง เมื่อได้ข้อสรุปที่ชัดเจนแล้ว จะแจ้งรายละเอียดต่อไป

สำหรับประเด็นต่าง ๆ ที่การรถไฟฯจะนำมาพิจารณาร่วมด้วยนั้น ได้แก่ การใช้ประโยชน์สถานีกลางบางซื่อซึ่งจะเป็นศูนย์กลางของระบบรางในอนาคตให้เกิดประโยชน์สูงสุด คุ้มค่าต่อการลงทุน ,การดำเนินการตามนโยบาย ที่จะลดจำนวนขบวนรถที่เดินทางเข้าสู่ตัวเมืองชั้นใน โดยเฉพาะรถไฟที่ใช้เชื้อเพลิงดีเซลให้มากที่สุด ซึ่งจะส่งผลดีทั้งในแง่ของการแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดจากจุดตัดเสมอระดับทางรถไฟ-รถยนต์ (การกั้นถนนเพื่อให้ขบวนรถไฟผ่าน) , การลดจำนวนขบวนรถที่จะส่งผลดีต่อปัญหามลพิษในพื้นที่เขตเมือง และการเดินรถที่จะส่งผลดีทำให้ผู้ใช้บริการและประชาชน ผู้สัญจรได้รับความสะดวกสูงสุด ซึ่งแนวทางทั้งหมดต้องนำมาพิจารณาร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม ลักษณะการเดินขบวนรถต่าง ๆ ทั้งรถไฟทางไกล รถไฟชานเมือง และระบบรถไฟประเภทอื่น ๆ จะเดินทางเข้ามาสิ้นสุดที่สถานีกลางบางซื่อ , สถานีรถไฟกรุงเทพในสัดส่วนแค่ไหน จะต้องพิจารณาจัดทำแผนการเดินรถโดยละเอียด โดยคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ดังกล่าว รวมถึงการทำระบบเชื่อมต่อจากรถไฟฟ้าทุกระบบที่เปิดให้บริการแล้วในห้วงเวลานั้น เพื่อให้ประชาชน ที่ยังจำเป็นต้องใช้บริการรถไฟฟ้า เดินทางเข้ามาในพื้นที่ย่านหัวลำโพง ยังคงได้รับความสะดวกในการเดินทางเช่นเดิม

อนึ่ง สถานีกลางบางซื่อ จะเป็นสถานีศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งทางรางแห่งใหม่ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ปัจจุบันงานก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อ ศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟชานเมือง และงานก่อสถานีรถไฟสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน จำนวน 13 สถานี และงานก่อสร้างถนนเลียบทางรถไฟ ดำเนินการก่อสร้างงานโยธาแล้วเสร็จ คงเหลืองานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมจัดหาตู้รถสำหรับเดินรถ โดยคาดว่าจะทดสอบการเดินรถเสมือนจริงแล้วเสร็จเดือน มี.ค.64 จากนั้นจึงจะเปิดให้ประชาชนได้ทดลองใช้บริการในเดือน ก.ค.64 และเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ในเดือน พ.ย.64 ล่าสุดนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ออกมาระบุว่า เมื่อรถไฟสายสีแดงเปิดให้บริการแล้ว จะต้องปิดสถานีหัวลำโพงทันที เพื่อให้ไม่มีรถไฟวิ่งเข้าเมือง ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาจราจรภายในเมือง