ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์แข็งค่า ก่อนสหรัฐเผยดัชนี CPI วันนี้

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (13 ก.ย.) ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐในวันนี้ เพื่อจับทิศทางอัตราเงินเฟ้อและแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.11% แตะที่ 92.6755 เมื่อคืนนี้

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 110.00 เยน จากระดับ 109.89 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9228 ฟรังก์ จากระดับ 0.9178 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2667 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2658 ดอลลาร์แคนาดา

ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1803 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1815 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.3831 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3845 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 0.7360 ดอลลาร์ จากระดับ 0.7364 ดอลลาร์

นักลงทุนการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนส.ค.ของสหรัฐในวันนี้ เพื่อยืนยันทิศทางเงินเฟ้อในสหรัฐ รวมทั้งจับตาการประชุมกำหนดนโยบายการเงินของเฟดในวันที่ 21-22 ก.ย. เพื่อหาสัญญาณการปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด

ส่วนเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต ดีดตัวขึ้น 0.7% ในเดือนส.ค. เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 0.6%

เมื่อเทียบรายปี ดัชนี PPI พุ่งขึ้น 8.3% ในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ในรอบเกือบ 11 ปี นับตั้งแต่เริ่มมีการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวในเดือนพ.ย. 2553 หลังจากดีดตัวขึ้น 7.8% ในเดือนก.ค.

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่จะมีการเปิดเผยในสัปดาห์นี้ได้แก่ ราคานำเข้าและส่งออกเดือนส.ค., ดัชนีภาคการผลิต (Empire State Manufacturing Index) เดือนก.ย.จากเฟดนิวยอร์ก, การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนส.ค., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ยอดค้าปลีกเดือนส.ค., ดัชนีการผลิตเดือนก.ย.จากเฟดฟิลาเดลเฟีย, สต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเดือนก.ค. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือนก.ย.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน