PTT คาดปี 65 ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ย 67-75 เหรียญฯ/บาร์เรล ตามดีมานด์

น.ส.ชณัฐฐา ฤกษ์ชัยรัศมี นักวิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน กลุ่ม ปตท. (PRISM) บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) กล่าวว่า นอกจากเรื่องของความต้องการใช้น้ำมัน ที่มีผลต่อราคาน้ำมันแล้ว ซัพพลายเองก็มีความสำคัญเช่นกัน ที่ทำให้ความตึงตัวของราคาน้ำมันอยู่ในระดับสูง

โดยมองว่า ซัพพลายที่ตึงตัวจะเริ่มคลี่คลายได้ในไตรมาส 1/65 และในไตรมาส 2 และไตรมาส 3 ปีหน้า ก็คาดว่าดีมานด์และซัพพลายจะกลับมาเพิ่มสูงขึ้นเท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 โดยคาดการณ์ว่าดีมานด์จะเติบโตได้ 3 ล้านบาร์เรล/วัน ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบในปี 65 คาดว่าจะอยู่ที่ 67-75 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล โดยยังคงเชื่อว่าจะยังควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ได้ และกลุ่มโอเปกพลัสจะยังให้ความร่วมมือในการลิตเป็นอย่างดี นอกจากนั้นการผลิตของสหรัฐฯ จะยังถูกจำกัด

ปัจจัยที่ยังต้องติดตาม คือ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน, การแพร่ระบาดของโควิด-19, ความร่วมมือของกลุ่มโอเปกพลัส, การกลับมาผลิตเพื่อส่งออกของประเทศอิหร่านและเวเนซุเอลา หลังโดนสหรัฐคว่ำบาตร รวมถึงนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Policies)

“โดยปกติเมื่อดีมานและซัพพลายไม่สมดุลกัน ผู้ผลิตจะเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ตลาดน้ำมันกลับมาสมดุลอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มกำลังการผลิต หรือลดปริมาณการผลิต แต่วันนี้ไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อดีมานด์ปรับตัวสูงขึ้น แต่ผลของวิกฤติทำให้ผู้ผลิตบางส่วนหายไป ผู้ผลิตที่เหลือก็ยังรักษาวินัยเป็นอย่างดี และการผลิตยังถูกจำกัด นอกจากนั้นการลงทุนในอุตสาหกรรมน้ำมันมีการหยุดชะงัก รวมถึงการเปลี่ยนถ่ายไปสู่พลังงานสะอาด สร้างความลังเลในการลงทุนเป็นอย่างมาก ดังนั้นผลจากวิกฤติราคาน้ำมันที่ปรับลดลงอย่างรุนแรงที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้ผลิตต้องเอาตัวรอดต่างๆ และทำให้ฝั่งซัพพลายตึงตัว นอกจากดีมานด์ที่เป็นตัวแปรสำคัญของราคาแล้ว วันนี้ซัพพลายที่ตึงตัวก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ราคาน้ำมันอยู่ในระดับที่สูง”น.ส.ชณัฐฐา กล่าว

สำหรับการเพิ่มปริมาณการผลิตของกลุ่มโอเปกพลัส มีแผนเพิ่มปริมาณการผลิตที่ 400,000 บาร์เรล/วันในทุกเดือนจนถึง เม.ย. 65 หลังจากนั้นจะมีการปรับเพิ่ม baseline อีก 1.64 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งหลังจากใช้ baseline ใหม่จะเพิ่มปริมาณการผลิตเป็น 430,000 บาร์เรล/วันในทุกเดือนจนถึงก.ย.65 และท้ายที่สุดโอเปกก็จะผลิตเต็มกำลังการผลิตอีกครั้ง เพื่อตอบสนองความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น

อย่างไรก็ตามแม้กลุ่มโอเปกมีแผนเพิ่มกำลังการผลิตยาวถึงปลายปีหน้า แต่ก็ยังเชื่อว่ากลุ่มโอเปกพลัสนั้นยังคงมีการประชุมในทุกเดือนเหมือนปีที่ผ่านมา เพื่อติดตามสถานการณ์ในตลาดโลกอย่างใกล้ชิด เนื่องจากกลุ่มโอเปกยังเชื่อว่าสถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอนสูง ด้านอิหร่านที่เป็นหนึ่งในสมาชิกของโอเปกพลัส ที่เคยมีปริมาณการผลิตถึง 3.8 ล้านบาร์เรล/วัน แต่ช่วงปลายปี 61 อิหร่านถูกคว่ำบาตรจากสหรัฐ ทำให้ปริมาณการผลิตส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่อใช้ในประเทศเป็นหลัก และจะได้เห็นข่าวว่าทั้ง 2 ประเทศพยายามเจรจากันเพื่อยกเลิกมาตรการการคว่ำบาตร แต่จนถึงวันนี้ยังไม่มีบทสรุปที่ชัดเจน ปัจจุบันอิหร่านมีความพยายามที่จะเจรจาเพื่อรื้อฟื้นข้อตกลงทางนิวเคลียร์ เพื่อแลกกับการยกเลิกมาตรการการคว่ำบาตร โดยอิหร่านมีแผนที่จะเจรจากับ 6 ชาติมหาอำนาจ ในวันที่ 29 พ.ย. นี้ ซึ่งจะต้องติดตามตลาดอย่างใกล้ชิด เนื่องจากว่าหากอิหร่านสามารถกลับมาผลิตเพื่อการส่งออกได้จะทำให้มีซัพพลายเพิ่มขึ้นมาในตลาดอีก 1.4 ล้านบาร์เรล/วัน

ส่วนสหรัฐฯ ปัจจุบันมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 11 ล้านบาร์เรล/วัน และคาดว่าในปีหน้าจะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 11.7 ล้านบาร์เรล/วัน หรือราว 6.5% อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับปี 62 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ปริมาณการผลิตยังคงอยู่ต่ำกว่าที่ -4.5% จากความล่าช้าของการกลับมาผู้ผลิต และการลงทุนที่มีการหยุดชะงัก และนโยบายของผู้นำที่เปลี่ยนแปลงไป หลังนายโจ ไบเดิน ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ ก็ได้ดำเนินนโบายแก้ไขปัญหาโลกร้อน

“แม้การเพิ่มกำลังการผลิตทั้งกลุ่มโอเปกพลัส และสหรัฐ แต่ยังเป็นการเพิ่มอย่างช้าๆ ในขณะที่ดีมานด์เติบโตจากเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว ส่งผลให้ซัพพลายมีความตึงตัว และน้ำมันส่วนที่ขาดหายไปจึงได้มาจาก Inventory ซึ่งคาดว่า Inventory ในช่วงที่เหลือของปีนี้จะปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง จากความต้องการใช้น้ำมันในช่วงฤดูหนาวที่เพิ่มสูงขึ้น”น.ส.ชณัฐฐา กล่าว

ด้าน SPR หรือ คลังสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ สหรัฐฯ ได้มีการประกาศปล่อยน้ำมันดิบในคลังปิโตรเลียมสำรองเชิงยุทธศาตร์ ที่ 20 ล้านบาร์เรล ในไตรมาส 4/64 ขณะที่จีนปล่อยออกมาแล้วที่ 7.38 ล้านบาร์เรล ในเดือนก.ย.64 รวมถึงอิเดีย ก็มีแผนจะปล่อยออกมาเช่นกันที่ 5 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตามสหรัฐฯ เองยังเรียกร้องให้หลายประเทศดำเนินการปล่อยน้ำมันดิบในคลังออกมาเพิ่มเติม เพื่อตอบโต้กับกลุ่มโอเปกพลัส หลังจากการเพิ่มกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกยังไม่เพียงพอต่อดีมานด์ ซึ่งสหรัฐฯ เองก็จะปล่อยน้ำมันดิบในคลังเพิ่มเติมอีก 50 ล้านบาร์เรลในต้นปี 65 โดยให้ติดตามการประชุมของกลุ่มโอเปกพลัสอย่างใกล้ชิดว่าจะมีการปรับเปลี่ยนนโยบายหรือไม่

น.ส.ดาวรุ่ง ติรวง์กุศล นักวิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน กลุ่ม ปตท. (PRISM) และนักวิเคราห์ตลาด บมจ.พีทีทีโกลบอล เคมิคอล (PTTGC) กล่าวว่า ปัจจุบันโลกอยู่ในช่วงของ Post Lockdown Life โดยกิจกรรมการเดินทาง การท่องเที่ยวเริ่มทยอยกลับมาเป็นปกติมากขึ้น ส่งผลดีต่อการใช้น้ำมันให้ปรับตัวขึ้น โดยสัดส่วนความต้องการใช้น้ำมันราว 60% มาจากกลุ่มขนส่ง (Transportation)

อย่างไรก็ตามแม้ว่าความต้องการใช้น้ำมันจะฟื้นตัวขึ้น แต่ยังไม่สามารถกลับไปสู่ระดับก่อนเกิดโควิด-19 ได้ในปี 62 ที่มีความต้องการใช้น้ำมันของโลกเฉลี่ยอยู่ที่ 100 ล้านบาร์ลเรล/วัน ขณะที่เมื่อเกิดโควิด-19 ในไตรมาส 2/63 ความต้องการใช้น้ำมันปรับตัวลดลงถึงระดับ 15 ล้านบาร์เรล/วัน ส่วนราคาน้ำมันดิบ Brent ก็ปรับตัวขึ้นมาเช่นเดียวกัน โดยปัจจุบันอยู่ที่ 80 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งสูงกว่าก่อนเกิดโควิด-19 ที่อยู่ระดับ 64 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

ทั้งนี้ปัจจัยที่ส่งผลต่อความต้องการใช้น้ำมันและราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้น มาจาก

1. นโยบายการควบคุมการระบาดของโควิด-19 (COVID-19 TOLERANCE’S POLICY) ของแต่ละประเทศ ทั้งการเร่งฉีดวัคซีน, การออกนโยบายการอยู่ร่วมกันกับโควิด-19 ซึ่งจะเห็นได้ว่าแต่ละประเทศก็เริ่มเปิดประเทศกันมากขึ้น เช่น สหราชอาณาจักร, สหรัฐฯ และไทย โดยทางสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association – IATAS) ได้ประมาณการรายได้ต่อ 1 ผู้โดยสาร เทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ที่ 100% การเดินทางบินระหว่างยุโรปกับสหรัฐในปี 65 มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดถึง 65% แต่การเดินทางระหว่างเอเชียไปยุโรป เอเชียไปสหรัฐฯ ยังต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว ส่วนหนึ่งมาจากจีน ที่ถือว่าเป็นผู้ใช้นำมันเป็นอันต้นๆ ของโลก เลือกที่จะใช้นโบาย ZERO COVID-19 STRATEGY หรือยังไม่เปิดประเทศ ทำให้อาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อความต้องการใช้น้ำมันในระยะยาว

2. นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ (Stimulus package) เพื่อรับมือกับโควิด-19 โดยในหลายประเทศทั่วโลกมีการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งยุโรป และสหรัฐ แต่ในประเทศญี่ปุ่น ถือว่ามีการกระตุ้นเศรษฐกิจมากที่สุด หรือคิดเป็น 54% ของ GDP ส่วนจีน เป็นประเทศที่ใช้นโยบายดังกล่าวน้อยที่สุด เนื่องจากจีน ยังเติบโตต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามจากปัจจัยดังกล่าวทำให้ IMF คาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปีนี้จะเติบโตราว 5.9% และในปี 65 ยังคงเติบโตได้ 4.9% แต่การขยายตัวจะน้อยกว่าปีนี้ เนื่องจากความกังวลต่อภาวะเงินเฟ้อ โดยเฉพาะในสหรัฐฯ

3. การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) เมื่อต้นปีที่ผ่านมาได้เกิดสภาวะหนาวจัดในจีน ญี่ปุ่น เกาหลี และต่อเนื่องรัฐเท็กซัส สหรัฐฯ และยังเจอภาวะแล้งในประเทศบราซิล ในรอบเกือบ 90 ปีอีกด้วย ส่งผลทำให้ความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ในยุโรป ที่เริ่มหันมาพึ่งพาพลังงานทางเลือก อย่าง ลม และโซลาร์ ในปีนี้ที่เกิดภาวะ Climate Change ก็กระทบต่อกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าพลังงานลม จึงหันไปพึ่งพาพลังงานอื่น อย่างก๊าซธรรมชาติแทน ขณะที่จีน พยายามที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยมีเป้าหมายเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2603 (Carbon Neutral By 2060) แต่ด้วยปัจจุบันจีน ส่วนใหญ่ยังผลิตพลังงานจากถ่านหินถึง 60% ทำให้จีนต้องหาพลังงานอย่างอื่นเพื่อทดแทนด้วย จากความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น

พร้อมกันนี้ด้วยปัจจัยดังกล่าว ได้ส่งผลให้ราคาพลังงานปรับตัวขึ้น ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา โดย LNG สูงสุดถึงต่ำสุด เพิ่มขึ้น 446% ทำให้หลายประเทศที่พึ่งพาก๊าซธรรมชาติต้องหันไปใช้พลังงานอย่างอื่นแทน โดยเฉพาะน้ำมัน ซึ่งคาดการณ์ว่าในฤดูหนาวปีนี้ ที่จะเป็นปรากฎการณ์ลานีญา หรือหนาวนาน พลังงานน้ำมันจะถูกนำมาทดแทนที่ 0.5-0.8 ล้านบาร์เรล/วัน ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันปรับตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากปัญหา Climate Change

นอกจากนี้ PRISM ได้คาดการณ์ว่า ความต้องการใช้น้ำมันในปี 65 จะอยู่ที่ 3 ล้านบาร์เรล/วัน ภายใต้การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ 4.9% โดยอยู่บนพื้นฐานของการฉีดวัคซีนต่อเนื่อง การเดินทางที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะการเดินทางระหว่างประเทศ รวมถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม หรือ Climate Change

อย่างไรก็ตามมองว่ายังมีโอกาสปรับตัวขึ้นได้อีก จากความต้องการเดินทางที่มากกว่าคาดการณ์ หรือยารักษาโควิด-19 มีประสิทธิภาพสูงในการต่อต้านการตาย หรือการติดเชื้อรุนแรง แต่ก็ยังประมาทไม่ได้ หากมีการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ รวมถึงการล็อกดาวน์ และอัตราเงินเฟ้อ ที่จะส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และมีผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมันปรับตัวลดลง

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. (PTT) เปิดเผยในงานสัมมนาออนไลน์ 2021 The Annual Petroleum Outlook Forum ภายใต้หัวข้อ “Global Climate Action for A Better World-ประสานพลัง สร้างโลกที่ดีกว่า” ว่า ปี 2564 ถือเป็นปีที่อุตสาหกรรมพลังงานยังคงต้องเผชิญกับความท้าทาย จากผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ความต้องการการใช้น้ำมันที่เริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัว แต่ก็ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของการควบคุมการระบาดของโควิด-19 รวมถึงนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่ทั่วโลกร่วมตั้งเป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ที่อาจส่งผลต่อรูปแบบการใช้พลังงานทั่วโลก และความต้องการการใช้น้ำมันที่ไม่แน่นอนนี้ ทำให้ผู้ผลิตฯ บางส่วนยังคงชะลอการผลิตและการลงทุน ส่งผลให้อุปทานไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ด้วยสภาพอากาศร้อนจัดและหนาวจัดที่เกิดในหลายประเทศ เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดความผันผวนของราคาพลังงาน ทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในช่วงที่ผ่านมา

ในขณะที่ การประชุม COP26 ของสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ผ่านมา ปรากฏให้เห็นถึงเจตนารมณ์ที่ชัดเจนของนานาชาติในการร่วมกันกำหนดทิศทางประเทศ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายให้การเพิ่มอุณหภูมิของโลกไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสในปี ค.ศ.2050 กลุ่ม ปตท. พร้อมเป็นส่วนสนับสนุนนโยบายด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมของภาครัฐ พร้อมจัดหาพลังงานทางเลือกที่หลากหลาย เพื่อรักษาสมดุลและความมั่นคงทางด้านพลังงาน ให้ไทยบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายใน ค.ศ. 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ.2065 ภายใต้วิสัยทัศน์ “Powering Life with Future Energy and Beyond” ขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งอนาคต

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 พ.ย. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top