SPC รับพิษโควิดกระทบธุรกิจเร่งปรับตัวตามสถานการณ์ สร้างสมดุลการผลิตป้อนใน-ตปท.

นายเวทิต โชควัฒนา กรรมการผู้อำนวยการ บมจ.สหพัฒนพิบูล (SPC) เปิดเผยในรายการ Exporter World Talk ในหัวข้อ "วิกฤติโควิด-19 กับสินค้าส่งออกไทย" ว่า เครือสหพัฒน์ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมาพอสมควร โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าแฟชั่น เครื่องสำอาง เนื่องจากมีโรงงานผลิตเสื้อผ้าและเครื่องสำอางค่อนข้างมาก ซึ่งผลิตเพื่อส่งออก และรับจ้างผลิต (OEM) เมื่อเกิดวิกฤติดังกล่าวขึ้นทำให้ผู้บริโภคไม่มีความจำเป็นที่จะซื้อสินค้าเหล่านี้ แต่ปัจจุบันโรงงานดังกล่าวก็ได้ปรับตัวไปผลิตชุดป้องกันการติดเชื้อ (PPE) ขณะเดียวกันโรงงานผลิตเครื่องหนัง รองเท้าก็ปรับไปรับจ้างผลิตสินค้าอื่นที่ไม่มีดีไซน์ เช่น ถุงบรรจุศพ เป็นต้น เพื่อให้อยู่รอดได้

อย่างไรก็ตาม บริษัทยังมีการส่งออกสินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง เครื่องดื่ม ซึ่งเป็นอุปโภคบริโภค โดยในช่วงโควิด-19 ถือว่ามีการเติบโตอย่างมาก เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีความต้องการสูง ทำให้บริษัทฯ ต้องสร้างสมดุลการผลิตระหว่างดีมานด์ในประเทศและต่างประเทศให้เหมาะสมเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น โดยความต้องการในประเทศปรับตัวสูงสุดในช่วงมี.ค.-เม.ย.63 หรือเพียง 2 เดือนเท่านั้นและกลับเข้าสู่ภาวะปกติ จากโควิด-19 ไม่รุนแรงมาก ทำให้บริษัทฯ สามารถนำกำลังการผลิตในประเทศไปเสริมในส่วนของตลาดส่งออกได้

แม้สินค้าอุปโภคและบริโภคยังเติบโตได้ดีในช่วงของการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ก็ยังพบว่ามีอุปสงค์ในเรื่องของตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน และค่าระวางเรือ (Freight) ที่สูงขึ้น ซึ่งเผชิญปัญหามาตั้งแต่เดือนต.ค.63 ส่งผลกระทบให้มาร์จิ้นบางลง แต่คาดว่าหลังเทศกาลตรุษจีนนี้จะมีแนวโน้มดีขึ้น จากค่าระวางเรือที่ปรับตัวลง

ขณะเดียวกันการค้าชายแดน หรือการส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านก็มีผลกระทบจากความไม่สะดวกในเรื่องของการขนส่งของคนขับรถ โดยที่ผ่านมาทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยก็ได้มีการทำงานร่วมกันกับภาครัฐ เพื่อลดผลกระทบดังกล่าวให้ได้มากที่สุด

นายเวทิต กล่าวว่า สำหรับการจำหน่ายสินค้าบนช่องทางออนไลน์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศของเครือบริษัทฯ ยืนยันว่าสินค้าทุกอย่างจะมีการจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์อย่างแน่นอนในอนาคต แต่ก็ขึ้นกับตัวแทนจำหน่ายของแต่ละประเทศที่จะไปสร้างแพลตฟอร์มในการจำหน่ายของตัวเอง เพื่อผู้บริโภคของแต่ละประเทศ ขณะที่บริษัทฯ ยังคงทำการค้าผ่านตัวแทนจัดจำหน่ายในแต่ละภูมิภาค จะเปลี่ยนแปลงก็ต่อเมื่อไม่สามารถเจอกันได้ หรือไปออกงานไม่ได้ ซึ่งจะทำผ่านเทคโนโลยี

ส่วนการขยับตัวออกไปจากผู้ส่งออกไปเป็นผู้ลงทุนของเครือบริษัทฯ ที่ผ่านมาได้ดำเนินการมาโดยตลอด ซึ่งมีโรงงานในกัมพูชา เมียนมา และบังคลาเทศ รวมถึงล่าสุดมีการลงทุนโรงงานที่ยุโรปตะวันออก หรือ ฮังการี เพิ่มเติมเพื่อรองรับดีมานด์ จากเดิมบมจ.ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ (TFMAMA) มีการส่งออกไปยุโรปค่อนข้างมาก

ส่วนคำแนะนำต่อผู้ส่งออกไทยที่จะก้าวจากผู้ส่งออกไปเป็นผู้ลงทุนในต่างประเทศ บริษัทฯ มองว่าเป็นเรื่องที่ดี จากสถานการณ์ปัจจุบันที่เอื้อต่อการเข้าซื้อกิจการที่ไปไม่ไหวเพื่อขยายการลงทุนไปยังประเทศต่างๆ แต่ผู้ประกอบการจะต้องศึกษาอย่างถี่ถ้วน และคำนึงถึงต้นทุนต่างๆ ว่าช่วยลดต้นทุนได้จริงหรือไม่ และส่งผลดีกับธุรกิจอย่างไร

ขณะที่มองภาพสถานการณ์การส่งออกในประเทศไทยในปีนี้น่าจะปรับตัวดีขึ้น ซึ่งจะเห็นชัดเจนได้ในไตรมาส 4/64 และน่าจะกลับไปสู่สภาพเดิมที่เคยเติบโตได้ในไตรมาส 4/65 จากการมีวัคซีนต้านโควิด-19 ที่จะเข้ามาเร็วๆนี้ และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศซึ่งจะสนับสนุนให้เศรษฐกิจภาพรวมดีขึ้นต่อเนื่อง