ดาวโจนส์ร้อนแรงพุ่งกว่า 300 จุด ขานรับแผนกระตุ้นศก.,เก็งข่าวดีกลุ่มแบงก์

ดัชนีดาวโจนส์พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องในวันนี้ ล่าสุดทะยานกว่า 300 จุด ทะลุ 34,000 จุด ขานรับข่าวดีทำเนียบขาวสามารถบรรลุข้อตกลงกับสภาคองเกรสในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการจ้างงานในสหรัฐ

นอกจากนี้ ตาวโจนส์ยังได้ปัจจัยบวกจากคาดการณ์ในเชิงบวกต่อการประกาศผลทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Test) ประจำปีของภาคธนาคารสหรัฐในวันนี้

ณ เวลา 01.03 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 34,217.72 จุด บวก 343.48 จุด หรือ 1.01%

ดัชนีดาวโจนส์อยู่ห่างจากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ไม่ถึง 3% ขณะที่ดัชนี S&P 500 และดัชนี Nasdaq ต่างก็ดีดตัวขึ้นทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในวันนี้ โดยได้แรงหนุนจากการที่นักลงทุนคลายความวิตกเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) หลังจากนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ให้คำมั่นว่าเฟดจะไม่เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

หุ้นกลุ่มธนาคารดีดตัวขึ้น ท่ามกลางคาดการณ์ในเชิงบวกต่อการประกาศผลทดสอบ Stress Test ประจำปีของภาคธนาคารสหรัฐในวันนี้

ทั้งนี้ เฟดจะเปิดเผยผลทดสอบ Stress Test หลังจากปิดตลาดหุ้นวอลล์สตรีทในวันนี้

นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ธนาคารส่วนใหญ่หรือทั้งหมดจะผ่านการทดสอบ Stress Test ดังกล่าว หลังจากที่เฟดได้ออกมาตรการอัดฉีดเม็ดเงินครั้งใหญ่เข้าสู่ระบบในปีที่แล้วเพื่อพยุงภาคการเงินให้ผ่านพ้นวิกฤตการณ์โควิด-19

นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ แสดงความเชื่อมั่นว่า ธนาคารพาณิชย์ของสหรัฐมีสถานะแข็งแกร่งเพียงพอที่จะได้รับอนุญาตให้จ่ายเงินปันผลและซื้อหุ้นคืนได้ ท่ามกลางความเชื่อมั่นที่ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

เฟดระบุก่อนหน้านี้ว่า ธนาคารที่ผ่านการทดสอบ Stress Test จะสามารถกลับมาจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในระดับปกติ และกลับมาซื้อคืนหุ้นได้อีกครั้งตั้งแต่วันที่ 30 มิ.ย. แต่หากธนาคารแห่งใดไม่ผ่านการทดสอบ ก็จะต้องรอจนถึงวันที่ 30 ก.ย. และอาจจะเผชิญกับมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้น

ทั้งนี้ การทดสอบ Stress Test ของเฟดครอบคลุมถึงการประเมินว่า มีความปลอดภัยหรือไม่ที่ธนาคารต่างๆ จะดำเนินการตามแผนการใช้จ่ายเงินทุน ซึ่งรวมถึงการจ่ายเงินปันผล และการใช้จ่ายอื่นๆ นอกเหนือจากการตั้งสำรองหนี้เสีย โดยการทดสอบดังกล่าวได้รับการออกแบบขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้เงินภาษีของประชาชนมาอุ้มธนาคารต่างๆ เหมือนในช่วงที่เกิดวิกฤตการเงินปี 2550-2552

ทางด้านประธานาธิบดีโจ ไบเดนประกาศในวันนี้ว่า ทำเนียบขาวสามารถบรรลุข้อตกลงกับสภาคองเกรสในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการจ้างงานในสหรัฐ

"ผมขอตอบคำถามตรงๆว่า เราบรรลุข้อตกลงแล้ว" ปธน.ไบเดนกล่าวที่ทำเนียบขาว หลังการเจรจากับวุฒิสมาชิกพรรคเดโมแครตและรีพับลิกันในวันนี้

ทำเนียบขาวระบุว่า มาตรการดังกล่าวรวมถึงการใช้จ่ายงบประมาณครั้งใหม่วงเงิน 5.79 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งจะรวมทั้งโครงการสร้างถนน สะพาน ทางรถไฟ ปัจจัยพื้นฐานสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และโครงการอื่นๆ

ส่วนการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในวันนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 3 สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 1/2564 โดยระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 6.4% ในไตรมาส 1 ไม่เปลี่ยนแปลงจากตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2

ตัวเลข GDP ดังกล่าวมีการขยายตัวสูงเป็นอันดับ 2 นับตั้งแต่ไตรมาส 3/2546

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์คาดว่า GDP ประจำไตรมาส 2/2564 จะขยายตัว 10%

ขณะเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐ เช่น เครื่องบิน รถยนต์ และเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้น 2.3% ในเดือนพ.ค. ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ค.2563

กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 7,000 ราย สู่ระดับ 411,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว จากระดับ 418,000 รายในสัปดาห์ก่อนหน้านี้

อย่างไรก็ดี ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานดังกล่าวสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 380,000 ราย