เพื่อไทย เชื่อรัฐบาลจนมุมแม้ชนะในสภาฯ แต่ไม่สามารถฝ่าด่านเลือกตั้งครั้งหน้าได้

นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย กล่าวในการเสวนาในหัวข้อ “จนมุมกลางสภาแล้วยังกล้าไปต่ออีกหรือ?” ว่า ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลที่ผ่านมา แม้จะไม่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลาออกจากตำแหน่งทันทีแต่ก็เหมือนคนป่วยคือตายคาที่ ถึงแม้จะมีเสียงยกมือโหวตสนับสนุนในสภา แต่เชื่อว่าจะตายระหว่างทางส่งโรงพยาบาลแน่นอน เหมือนเมื่อครั้งที่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรีในปี 2535 กรณีที่ดิน ส.ป.ก.4-01 หรือนโยบายปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมอบให้เกษตรกร จนสุดท้ายนายชวนต้องประกาศยุบสภา และในสมัยรัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจกรณีทุจริตในธนาคารกรุงเทพพาณิชยการ หรือบีบีซี เมื่อปี 2539 จนทำให้รัฐมนตรีหลายคนลาออกจากตำแหน่งในเวลาต่อมา

“ทั้ง 2 กรณีเรียกว่าจนมุมในสภา แม้จะไม่ยุบสภาทันที แต่ทนเสียงกดดันของประชาชนไม่ไหว ประกาศลาออกและยุบสภาในเวลาต่อมา”

นายสุทิน กล่าวว่า การทำงานของฝ่ายค้านยุคใหม่ค่อนข้างยาก เนื่องจากการสื่อสารในปัจจุบันมีความรวดเร็ว จึงไม่จำเป็นต้องมีเซอร์ไพรส์ พรรคเพื่อไทยบอกข้อสอบให้หมดว่าจะอภิปรายในหัวข้ออะไรบ้าง แต่สุดท้ายฝ่ายรัฐบาลก็ไม่สามารถตอบคำถามได้ ไม่มีศิลปะในการตอบ ซ้ำยังตอบคำถามแบบเดินลุยโคลน ไม่สนใจข้อมูลใดๆ ทั้งสิ้น เพราะ พล.อ.ประยุทธ์เป็นโรคแพ้ไม่เป็น แม้จะมีการเปิดเผยข้อมูลว่ามีการกระทำการส่อทุจริตที่อาคารรัฐสภาชั้น 3 และออกมาปฏิเสธในภายหลัง แต่พรรคเพื่อไทยรู้ดีว่าในข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร และแม้พรรคร่วมรัฐบาลจะยกมือโหวตแบบผิดๆ เมื่อถูกจับผิดได้จึงปลด ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีต รมช.เกษตรและสหกรณ์ และนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ อดีต รมช.แรงงาน เป็นการนำวิธีทางทหารมาตัดสินทางการเมือง ปลดผู้อื่นเพื่อสังเวยความผิดเพื่อให้อยู่ในตำแหน่งต่อไปได้ ทำให้เกิดความปั่นป่วนภายในพรรค และเชื่อว่าจะเกิดอาฟเตอร์ช็อค จะมีการปลดคนในพรรคร่วมรัฐบาลเพิ่มอีกแน่นอน และในที่สุดจะสะดุดขาตัวเองล้มลง เกิดแรงกระเพื่อมในพรรคร่วมฝ่ายรัฐบาล กระทบกับการบริหารประเทศ ซึ่งกำลังอยู่ในภาวะย่ำแย่ ทั้งที่ประเทศอ่อนแอต้องการรัฐบาลที่เข้มแข็ง แม้จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปได้ แต่ความเชื่อมั่นจะตกต่ำ เปรียบเหมือนเป็ดง่อย

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน กล่าวว่า เวลานี้รัฐบาลจนมุมในสภาแล้ว เพราะไม่สามารถตอบคำถามของพรรคร่วมฝ่ายค้านและชี้แจงในสภาได้ ซึ่งข้อมูลทุกด้านที่พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมฝ่ายค้านอภิปรายในสภาจะถูกรวบรวมและนำไปสู่การตรวจสอบฝ่ายบริหารผ่านกระบวนการยุติธรรมต่อไป ทั้งนี้พรรคเพื่อไทยตั้งข้อสังเกตไว้หลายด้าน ได้แก่

1.การบริหารราชการแผ่นดินของ พล.อ.ประยุทธ์ มิชอบ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ขัดต่อมติคณะรัฐมนตรี และขัดต่อข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีเอง

2.พล.อ.ประยุทธ์ ไม่สามารถตอบข้อสงสัย ตอบไม่ตรงคำถามของฝ่ายค้าน และยังด้อยค่าฝ่ายค้านเพื่อลดทอนประเด็นปัญหาบ้านเมืองลงด้วยการมองว่าฝ่ายค้านอภิปรายด้วยถ้อยคำรุนแรงไม่สุภาพ แต่ไม่มองสาระสำคัญหรือเนื้อหาอภิปราย

3.การบริหารงานช่วงโควิดจนผิดพลาดมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก พล.อ.ประยุทธ์ ใช้อำนาจตนเองตั้ง ศบค. เป็นผู้สั่งการคณะทำงาน และเป็นผู้กำกับข้าราชการลงไปถึงระดับปลัดกระทรวง แต่กลับปฏิเสธความรับผิดชอบ ซึ่งมีหลักฐานคำสั่งมัดตัว

4.รัฐบาลทำให้ระบบสาธารณสุขล่มสลาย ไม่เตรียมการป้องกันดูแลรักษาประชาชน ปล่อยให้เกิดการระบาดจนประชาชนล้มตาย เป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จนได้รับความเสียหายจนถึงแก่ชีวิตของประชาชน

5.มีการกีดกันเอกชน เลือกปฏิบัติ ไม่ให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีน ด้วยการประกาศให้รัฐเท่านั้นที่สั่งซื้อได้ ทั้งที่รัฐมีหน้าที่แค่ติดต่อประสานงาน ทำให้ประชาชนไม่ได้รับวัคซีนที่ดีเพียงพอ ส่อทุจริตตลอดทั้งกระบวนการ

6.จัดซื้อชุดตรวจโควิด-19 ที่มีข้อสงสัยเรื่องคุณภาพ จนมีผู้กล่าวกันว่า การจัดซื้อชุดตรวจแบบ Antigen Test Kit หรือ ATK อาจกลายเป็น ATM ทั้งที่ ATK ควรเป็นเครื่องมือให้แพทย์ได้ตรวจประชาชนได้กว้างขวาง แต่เมื่อมีข่าวเรื่องการจัดซื้อที่ไม่โปร่งใส ครม.จึงรีบแก้มติ ครม. เปิดช่องให้จัดซื้อชุดตรวจที่มีข้อสงสัยเรื่องคุณภาพ เปลี่ยนสเป็ค เปลี่ยนวิธีการจัดซื้อ จนเปิดช่องให้บางบริษัทสามารถเข้ามาประมูลและชนะประมูลได้ ทั้งที่มีข้อกังขาทั้งเรื่องราคาและคุณภาพ ซึ่งเป็นเจตนาที่ส่อทุจริต

7.รัฐบาลนี้บริหารราชการแผ่นดินล้มเหลว ทำให้ศรัทธาประชาชนล้มเหลว และบริหารการสื่อสารของตนเองล้มเหลว ตัวนายกรัฐมนตรีเองได้รับคะแนนความไว้วางใจน้อยมาก นี่คือสัญญาณบอกเหตุว่า รัฐบาลชุดนี้ไม่น่าจะไปต่อได้อีก

“ผมมั่นใจว่าคนป่วยที่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่ตายก่อนถึงโรงพยาบาล แต่จะถึงโรงพยาบาลพอดีกับช่วงที่มีการโปรดเกล้าฯ รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนตุลาคมนี้”

นพ.ชลน่าน กล่าว

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ กล่าวว่า แม้ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจพรรคร่วมฝ่ายค้าน โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยได้เปิดข้อมูลความล้มเหลวในการบริหารหลายด้าน แต่การตอบคำถามของรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกลับออกมาปัดความรับผิดชอบและยังยืนยันว่าสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศยังดีอยู่ ซึ่งถือว่าน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะการแก้ไขปัญหาหากจะสำเร็จได้ สิ่งแรกที่ต้องทำคือการยอมรับปัญหา เมื่อรัฐบาลไม่เห็นว่ามันเกิดปัญหา จึงไม่แสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหา ฝ่ายค้านได้พยายามทำหน้าที่ของผู้แทนประชาชนด้วยการต่อสู้ตามระบบสภาและร่วมกันอภิปรายอย่างมีความหวัง แต่น่าเสียดายที่สู้ไม่ไหว

“สุดท้ายพี่น้อง 3 ป.ก็กลับมารักกัน ป.ที่ 4 คือประชาชน ก็คงต้องอกหักต่อไป แต่พรรคเพื่อไทยยังยึดมั่นทำเพื่อพี่น้องประชาชน เราจะพาประเทศที่ดีกลับคืนมาให้ได้ และเชื่อว่าวันหนึ่งเสียงของประชาชนจะชนะ”

นายจุลพันธ์ กล่าว

น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด กล่าวว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ตอกย้ำความล้มเหลวในการบริหารสถานการณ์โควิด-19 ของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่สร้างความล้มเหลว ส่งผลต่อเศรษฐกิจและสังคม จนไม่เห็นทางจะฟื้นฟูได้ และฝ่ายรัฐบาลยังมี 4 พฤติกรรม ที่ตอบคำถามไม่ชัดเจน ได้แก่ 1.ตอบก่อนถาม 2.ตอบแบบไร้ภูมิปัญญา 3.ตอบไม่ตรงคำถาม และ 4.ไม่ตอบเลย

ทั้งนี้ ฝ่ายค้านได้เปิดแผลและรวบรวมเป็นหลักฐานพร้อมยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งการกระทำของรัฐบาลจะเป็นข้อมูลชั้นดีให้ประชาชนตัดสินใจในการเลือกตั้งครั้งหน้า แม้ครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จะมีมือสนับสนุนในสภา แต่เลือกตั้งครั้งหน้าจะไม่สามารถฝ่าด่านศรัทธาประชาชนได้

“สภาพของ พล.อ.ประยุทธ์ คือสินค้าหมดอายุ รอวันย่อยสลาย แม้ครั้งล่าสุดจะชนะในสภาไปแบบทุลักทุเล แต่จะไม่สามารถฝ่าด่านประชาชนกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้อีกแน่นอน”

น.ส.จิราพร กล่าว

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ก.ย. 64)

Tags: , , , , , , , ,
Back to Top