(เพิ่มเติม) ศบค.ปิดรับผู้เดินทางจาก 8 ปท.กลุ่มเสี่ยงแอฟริกาตั้งแต่ 1 ธ.ค.เว้นสัญชาติไทย

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวว่า ประเทศไทยจะปิดรับผู้เดินทางมาจาก 8 ประเทศกลุ่มเสี่ยงสูงในแอฟริกาที่พบการระบาดของเชื่อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.64 เป็นต้นไป ยกเว้นผู้ที่มีสัญชาติไทย ส่วนผู้ที่เดินทางมาจากประเทศอื่นในแอฟริกาจะต้องเข้าระบบกักตัว

สำหรับมาตรการติดตามผู้ที่เดินทางกลับมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง จากข้อมูลผู้ที่เดินทางมาจากทวีปแอฟริกา ในระหว่างวันที่ 15-27 พ.ย. เข้ามาในระบบ Sandbox จำนวน 255 คน และออกจากประเทศไทยไปแล้ว 3 คน ยังเหลือในประเทศไทย 252 คน ซึ่งสามารถติดตามได้ 11 คน ซึ่งในที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) เช้าวันนี้ได้เน้นย้ำให้ทั้ง 252 คนที่มาจาก 8 ประเทศกลุ่มเสี่ยงให้มารายงานตัว เพื่อที่จะได้รับการตรวจ RT-PCR ฟรี

โดยกำหนดมาตรการสำหรับผู้ที่เดินทางมาจาก 8 ประเทศกลุ่มเสี่ยงที่พบสายพันธุ์โอไมครอน (บอตสวานา เอสวาตินี เลโซโท มาลาวี โมซัมบิก นามิเบีย แอฟริกาใต้ ซิมบับเว) ที่เดินทางมาถึงไทยตั้งแต่ 15 พ.ย. ถ้าอยู่ในระบบ Sandbox ขอให้สังเกตตัวเองเป็นเวลา 14 วันและตรวจหาเชื้อตามช่วงเวลา แต่หากมาอยู่ในรูปแบบกักตัว ต้องกักตัวในสถานกักกันจนครบ 14 วัน และตรวจหาเชื้อก่อนออกมา

ส่วนกรณีที่ออกจากสถานกักกันแล้ว แต่ยังไม่ครบ 14 วัน ให้คุมไว้สังเกตจนครบ 14 วัน และตรวจหาเชื้อ ส่วนผู้ที่เดินทางถึงไทยตั้งแต่ 28 พ.ย. ทั้งรูปแบบ Sandbox และกักตัว ต้องกักตัวเป็นเวลา 14 วันและตรวจหาเชื้อ 3 ครั้ง

ทั้งนี้ กรณีผู้ที่เดินทางมาจากประเทศอื่นๆในทวีปแอฟริกา มาถึงไทยตั้งแต่ 15 พ.ย.-5 ธ.ค.64 ถ้าอยู่ในระบบ Sandbox ขอให้สังเกตตัวเองเป็นเวลา 14 วัน หรือ ตามจำนวนวันที่เข้าพัก กรณีที่มีอาการให้ตรวจหาเชื้อ แต่หากมาอยู่ในรูปแบบกักตัว ต้องกักตัวครบตามกำหนดแล้วยังต้องติดตามคุมไว้สังเกตจนครบ 14 วัน กรณีมีอาการให้ตรวจหาเชื้อ

ส่วนผู้ที่เดินทางถึงไทยตั้งแต่ 6 ธ.ค. ทั้งรูปแบบSandbox และกักตัว ให้กักตัวเป็นเวลา 14 วันและตรวจหาเชื้อ 3 ครั้ง

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขรายงานว่า เมื่อเปรียบเทียบความรุนแรงและการก่อโรคของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน เบื้องต้นลักษณะอาการพบว่าไม่มีความแตกต่างกับสายพันธุ์อัลฟา เบตา แกมมา และ เดลตา บางรายงานระบุว่ามีอาการปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย แต่ยังไม่พบว่าสูญเสียการรับรู้กลิ่น/รส ซึ่งอาการป่วยไม่รุนแรง ขณะที่ความเร็วในการแพร่โรคคาดว่าจะเพิ่มขึ้นกว่า wild type แต่ยังไม่มีข้อมูลหลักฐานยืนยันอย่างไรก็ตาม พบว่ามีผู้ติดเชื้อเสียชีวิตในต่างประเทศ

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่าวัคซีนที่มีอยู่ในขณะนี้สามารถป้องกันความรุนแรงของอาการผู้ติดเชื้อได้ ส่วนผลต่อภูมิคุ้มกัน มีความกังวลว่า อาจจะหลบภูมิคุ้มกันได้อย่างมีนัยยะสำคัญ

ทั้งนี้ รายงานล่าสุดมีประเทศที่พบโควิดสายพันธุ์โอไมครอนเพิ่มเติมในยุโรปที่โปรตุเกส ออสเตรีย สวีเดน และสเปน ส่วนที่เอเชีย พบเพิ่มที่ญี่ปุ่น และส่วนใหญ่ผู้ติดเชื้อในแต่ละประเทศเป็นลักษณะเดินทางกลับมาประเทศใน 8 กลุ่มประเทศในทวีปแอฟริกา

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวถึงมาตรการด้านสาธารณสุขสถานประกอบการร้านอาหารในกรุงเทพมหานคร จากผลการตรวจของกรมควบคุมโรค รวม 50 เขต พบว่า มีร้านอาหารผ่านมาตรฐาน SHA 2,609 แห่ง ไม่มีมาตรฐาน SHA 5,455 แห่ง เป็นร้านที่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 1,892 แห่ง ร้านที่ไม่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 6,172 แห่ง และมีการตักเตือนร้านที่มีการให้ดื่มสุราได้แต่ไม่ผ่านมาตรฐาน SHA 172 แห่ง และมีการสั่งปิดร้านไปแล้ว 1 ราย จึงฝากให้ผู้ประกอบต่างๆให้ปรับมาตรฐาน เพื่อเตรียมการเปิดสถานประกอบการด้วย