PTT หวังปีนี้ฟื้นตาม ศก.-ราคาน้ำมันมีเสถียรภาพ,ต่อยอดธุรกิจรับนวัตกรรมใหม่

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท.(PTT) เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานในปีนี้มีโอกาสดีขึ้นจากปีที่ผ่านมา ตามภาวะเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวหลังมีวัคซีนป้องกันโควิด-19 ออกมาใช้ ผลักดันให้ความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น และราคาน่าจะมีเสถียรภาพมากกว่าปีก่อน ส่งผลดีต่อการดำเนินงานเมื่อเทียบกับปีก่อนที่ได้รับผลกระทบทั้งในส่วนของการขาดทุนสต็อกน้ำมัน และความต้องการใช้น้ำมันที่ลดลงฉุดมาร์จิ้นของธุรกิจแย่ลงด้วย

"ปีนี้เราก็หวังว่า (ผลการดำเนินงานดีขึ้น) ปีที่แล้วเราโดนหลายปัจจัยทั้ง stock loss ในช่วงแรก demand หาย มาร์จิ้นหาย ธุรกิจแย่ลง ปีนี้ดูแนวโน้ม demand กลับมาบางส่วน สภาพธุรกิจดีขึ้น ธุรกิจก็ฟื้นตามสภาพเศรษฐกิจ ธุรกิจของ ปตท.ไม่ใช่เฉพาะเศรษฐกิจประเทศ แต่เป็นเศรษฐกิจโลกด้วย ภาพรวมโลกฟื้น ไทยก็ฟื้น"นายอรรถพล กล่าว

นายอรรถพล กล่าวอีกว่า ปตท.ประเมินราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบดูไบปีนี้ที่ราว 50 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และไม่ผันผวนแรงเหมือนในปีที่แล้ว ภายใต้เงื่อนไขวัคซีนป้องกันโควิด-19 มีภาพชัดเจนในทางบวก และกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและชาติพันธมิตร (โอเปกพลัส) ยังคงร่วมมือลดกำลังการผลิตตามแผน และเศรษฐกิจที่เป็นลักษณะของการทยอยฟื้นตัว แต่คงยังไม่กลับไปเหมือนในช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 ในปี 62 โดยเศรษฐกิจจะเป็นลักษณะการฟื้นตัวใน 3 ไม่ คือ 1. ไม่รวดเร็ว 2. ไม่ทั่วถึง เพราะบางกลุ่มอุตสาหกรรมอย่างการท่องเที่ยว ก็น่าจะยังไม่ฟื้น ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมส่งออกอาหารไปได้ดี และ 3. ไม่แน่นอน ตราบใดที่ปริมาณการฉีดวัคซีนยังไม่มากพอ

สำหรับธุรกิจในกลุ่มก๊าซธรรมชาติ ของ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) อาจจะได้รับผลกระทบจากมาร์จิ้นที่ลดลง หลังทิศทางราคาก๊าซธรรมชาติลดลงตามโครงสร้างสูตรราคาที่ส่วนหนึ่งผูกกับราคาน้ำมันย้อนหลัง 6-24 เดือน แต่ PTTEP ก็มีแผนที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ด้วยเป้าหมายลดต้นทุนต่อหน่วย (unit cost) ให้อยู่ที่ระดับ 25 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล โดยปัจจุบันทำได้แล้วในระดับ 28-29 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากเดิมอยู่ที่ 31 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล รวมถึงยังมองหาการลงทุนในแหล่งปิโตรเลียมใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพเข้ามาเพิ่มเติม ซึ่งในส่วนนี้ก็จะช่วยลดผลกระทบเรื่องมาร์จิ้นที่ลดลงได้

อย่างไรก็ตาม แม้ราคาก๊าซธรรมชาติที่ลดลง อาจจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจต้นน้ำอย่าง PTTEP แต่ก็จะส่งผลดีต่อธุรกิจขั้นปลาย ในกลุ่มปิโตรเคมีที่รับก๊าซธรรมชาติ มาเป็นวัตถุดิบในการผลิต ทำให้ภาพรวมของ ปตท.มีความสมดุลในตัวเองอยู่แล้ว

นอกจากนี้ ปตท.ยังคงเดินหน้ามองหาการลงทุนในธุรกิจใหม่ ๆ ในกลุ่ม Life science ซึ่งล่าสุด ปตท.ได้ตั้ง บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด รองรับการลงทุนดังกล่าวเพื่อให้เกิดความคล่องตัว โดยจะโฟกัสใน 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจยา, ธุรกิจ Nutrition และ ธุรกิจอุปกรณ์การแพทย์

ส่วนธุรกิจใหม่ ในกลุ่ม Digitalization มีความร่วมมือกับบริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ศึกษาและพัฒนานวัตกรรมด้านคลาวด์และดิจิทัล และล่าสุด ปตท.ได้จัดตั้งบริษัท เมฆาเทคโนโลยี จำกัด ให้บริการระบบสารสนเทศหลากหลายรูปแบบผ่านอินเทอร์เนต (Public Cloud) เช่น การให้บริการจัดเก็บข้อมูล ประมวลผล จัดการข้อมูลต่างๆ ให้แก่บริษัท องค์กรต่าง ๆ รวมถึงกลุ่ม ปตท.ด้วย

ธุรกิจในกลุ่มโลจิสติกส์ ยังอยู่ระหว่างศึกษารูปแบบที่จะผลักดันการขยายตัว ล่าสุดลงนามบันทึกข้อตกลงระหว่างการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ศึกษาโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งตู้สินค้าในท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) เป็นการศึกษาและพัฒนาการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งภายใน ทลฉ.ในการรองรับและสนับสนุนแผนพัฒนา 3 โครงการหลักของ ทลฉ. ได้แก่ โครงการพัฒนา ทลฉ. ระยะที่ 3 ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักในการพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อรองรับความต้องการการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นในอนาคต โครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่ ทลฉ. (Single Rail Transfer Operation : SRTO) เพื่อรองรับการขนส่งตู้สินค้าด้วยระบบรางที่ ทลฉ. และโครงการท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) เพื่อพัฒนาเส้นทางการเชื่อมโยงโครงข่ายการขนส่งกับ ทลฉ.

นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือกับ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ในส่วนโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ระยะที่ 3 (ท่าเทียบเรือ F) ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มโลจิสติกส์ด้วย ส่วนความร่วมมือกับ GULF ในโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1) นั้นเบื้องต้นเป็นเรื่องของงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และยังมีโอกาสได้สิทธิเกี่ยวกับก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ด้วย

นอกจากนี้ ส่วนธุรกิจใหม่ในกลุ่มพลังงานใหม่ (New Energy) ซึ่งรวมถึงการพัฒนาแบตเตอรี่ ส่วนหนึ่งเพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ใน 2 เทคโนโลยี ได้แก่ การดำเนินการโดย บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ซินเนอร์ยี่ (GPSC) อยู่ระหว่างจัดตั้งโรงงานแบตเตอรี่ ขณะนี้สามารถผลิตแบตเตอรี่ด้วยเทคโนโลยี Semi-solid เซลล์แรกของประเทศไทย หรือ "G-Cell" ได้แล้ว และ ดำเนินการผ่านทางสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ที่ตั้งโรงงานพัฒนาแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนและลิเทียมซัลเฟอร์ เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่มีประสิทธิภาพในการกักเก็บไฟฟ้า ซึ่งทั้งสองเทคโนโลยียังอยู่ในช่วงของการทำผลิตภัณฑ์ต้นแบบ

ขณะเดียวกัน ปตท.ก็ไม่ปิดกั้นที่จะมองหาพันธมิตรในสายห่วงโซ่ธุรกิจพลังงานไฟฟ้า (Electricity Value Chain) ซึ่งรวมถึง EV ที่ยังต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐเพื่อให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก ขณะที่ ปตท.ได้เตรียมสถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV Charging Station) เพื่อรองรับรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นการดำเนินการโดยบมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (OR) ที่ติดตั้ง EV Charging Station แล้ว 25 แห่ง

นายอรรถพล กล่าวด้วยว่า สำหรับธุรกิจเดิมที่มีแผนถอนการลงทุนนั้น คงเหลือเพียงธุรกิจถ่านหินในอินโดนีเซียที่ยังดำเนินงานตามปกติแต่ไม่มีการขยายธุรกิจแล้ว ซึ่งไม่ปิดกั้นหากมีผู้สนใจยื่นข้อเสนอซื้อเข้ามาแต่ขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้า