สธ.แจงแนวทางตรวจโควิดแก่รพ.เอกชน ป้องกันการระบาดจากการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ระลอกใหม่ สร้างความกังวลให้ประชาชนในหลายพื้นที่ว่าตน หรือบุคคลรอบข้างจะติดโควิด-19 หรือยัง การเข้ารับบริการตรวจคัดกรองเชื้อไวรัส จากโรงพยาบาลเอกชนทั้งการวอล์คอิน (Walk In) หรือไดร์ฟทรู (Drive Thru) จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการค้นหาผู้ป่วย และคลายความกังวลให้กับประชาชน ซึ่งการค้นพบผู้ป่วยโรคโควิด-19 อย่างรวดเร็วนั้น นอกจากจะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการดูแล รักษาอย่างถูกต้อง เหมาะสมแล้ว ยังช่วยให้รัฐสามารถจำกัดพื้นที่การระบาด และควบคุมโรคได้อย่างทันท่วงที

ดังนั้น เพื่อให้การตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 ดำเนินการไปอย่างถูกต้อง เหมาะสม บนมาตรฐานเดียวกัน กรม สบส.จึงได้ส่งหนังสือแจ้งเวียนแนวทางการตรวจคัดกรอง และส่งต่อผู้ป่วยโรคโควิด-19 แก่โรงพยาบาลเอกชนทั่วประเทศ ทั้ง 385 แห่ง โดยเน้นย้ำในประเด็นสำคัญ 2 ประเด็น ที่หากขาดความระมัดระวังแล้วก็อาจเป็นสาเหตุในการแพร่กระจายของโรคโควิด-19 ได้ ประกอบด้วย 1.การตรวจหาเชื้อ โดยวิธีการไดร์ฟทรู และให้ผู้รับบริการรอฟังผลตรวจ ณ ที่พัก หากผลตรวจไม่พบเชื้อโรงพยาบาลสามารถแจ้งผลผู้รับบริการได้ทันที แต่หากพบเชื้อ ห้ามแจ้งผลตรวจผ่านการส่งข้อความ อีเมล์ หรือโทรศัพท์ ให้จัดรถพยาบาลที่มีการป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัส ไปรับผู้ป่วยมาฟังผลตรวจที่โรงพยาบาลเพื่อให้คำแนะนำการปฏิบัติตัว

2.หากโรงพยาบาลตรวจพบผู้ป่วยติดเชื้อ จะต้องรับเป็นผู้ป่วยในรักษาของสถานพยาบาลนั้น แต่หากผู้ป่วยต้องการรักษาในโรงพยาบาลตามสิทธิ์ให้จัดระบบส่งต่อผู้ป่วยโดยมีมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้ออย่างเคร่งครัด และห้ามมิให้ส่งต่อผู้ป่วยโดยรถสาธารณะ หรือปล่อยให้ผู้ป่วยเดินทางไปด้วยตนเอง

ด้านทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวอีกว่า สำหรับผู้ที่เข้าเกณฑ์การเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งมีอาการ ประกอบด้วย 1. มีประวัติเสี่ยงอย่างใดอย่างหนึ่งในช่วง 14 วัน ก่อนมีอาการ อาทิ เดินทางมาจากเขตติดโรค หรือพื้นที่ที่มีการระบาดต่อเนื่อง ประกอบอาชีพที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่เดินทางมาจากเขตติดโรค หรือพื้นที่ที่มีการระบาดต่อเนื่อง สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยสงสัยหรือผู้ป่วยยืนยัน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่สัมผัสกับผู้ป่วยยืนยัน 2. มีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งของโควิด-19 อาทิ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อยหอบ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส และ 3.ผู้ป่วยปอดอักเสบที่มีประวัติอย่างใดอย่างหนึ่ง อาทิ ใกล้ชิดกับผู้สงสัยโควิด-19 เป็นบุคลากรทางการแพทย์ เป็นผู้ป่วยปอดอักเสบที่รักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้น เป็นผู้ป่วยปอดอักเสบที่หาสาเหตุไม่ได้

ทั้งนี้ หากตนหรือผู้ใกล้ชิดมีอาการตามเกณฑ์ข้างต้น ก็ขอให้รีบไปโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชนใกล้บ้าน หากแพทย์วินิจฉัยแล้วพบว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงก็จะดำเนินการตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 ให้ทันทีโดยไม่มีการเก็บค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด ซึ่งมิได้จำกัดแค่ชาวไทยเท่านั้น กลุ่มแรงงานต่างชาติก็สามารถเข้ารับการตรวจคัดกรองได้ฟรีเช่นกัน โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดเตรียมงบประมาณในการตรวจคัดกรองโรคไว้แล้ว