PF คาดปี 64 โครงการอสังหาฯร่วมทุน-ธุรกิจถุงมือยางหนุนสร้างรายได้เพิ่ม

นายชายนิด อรรถญาณสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค (PF) เปิดเผยว่า ปีนี้ธุรกิจและกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศจะกลับมาฟื้นตัวหลังจากปีที่ผ่านมาการระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง สำหรับกลุ่มบริษัท ยอดขายและรายได้ในปีนี้จะกลับมาเติบโต โดยเฉพาะการดำเนินงานตามแผนสร้างการเติบโต โดยผนึกพันธมิตรที่แข็งแกร่งทั้งต่างประเทศและในประเทศ ผสานจุดแข็งร่วมลงทุนต่อยอดธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และการรุกเข้าสู่ธุรกิจใหม่ด้านสุขภาพหรือเฮลท์แคร์เพิ่มเติม

ปีนี้ กลุ่มบริษัทคาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉพาะจากโครงการร่วมทุนรวม 9,000 ล้านบาท โดยจะมาจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 4,000 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการคอนโดมิเนียมไฮด์ เฮอริเทจ ทองหล่อภายใต้การร่วมทุนกับ "ซูมิโตโม ฟอเรสทรี" จำนวน 2,000 ล้านบาท โครงการบ้านเดี่ยวระดับไฮเอนด์ "เลค เลเจ้นด์" ร่วมทุนกับ "ฮ่องกง แลนด์"ใน 2 ทำเล คือแจ้งวัฒนะ และ บางนา-สุวรรณภูมิ จำนวน 1,000 ล้านบาท

รวมทั้ง โครงการบ้านเดี่ยวอีก 1,000 ล้านบาท จากการร่วมทุนทั้งกับ"เซกิซุย เคมิคอล" ใน 5 ทำเล และ "ซูมิโตโม ฟอเรสทรี"ซึ่งปีนี้จะมีการเปิดโครงการใหม่เพิ่มเติมด้วย โดยแผนพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ร่วมทุนของกลุ่มบริษัทขณะนี้มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 29,650 ล้านบาท

นอกจากโครงการร่วมทุนกับพันธมิตรต่างประเทศ กลุ่มบริษัทโดย บมจ.แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ (GRAND) ยังได้ขยายไปยังธุรกิจการผลิตและส่งออกถุงมือยาง โดยร่วมลงทุนกับ บริษัท วัฒนชัย รับเบอร์เมท จำกัดซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการผลิตและจำหน่ายถุงมือยางที่ประสบความสำเร็จในการส่งออกไปทั่วโลก โดยขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้างโรงงานผลิตถุงมือยางในนิคมอุตสาหกรรมทีเอฟดี จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเริ่มก่อสร้างไปเมื่อเดือน ธ.ค.63 ที่ผ่านมา กำหนดแล้วเสร็จในเดือน พ.ค.นี้ และจะดำเนินการผลิตได้ทันที คาดว่าจะมีรายได้จากธุรกิจใหม่นี้อีก 5,000 ล้านบาทจากความต้องการใช้ถุงมือยางของโลกที่เพิ่มขึ้นและยังมีแนวโน้มขยายตัวได้อีกมาก

"ธุรกิจและเศรษฐกิจจะฟื้นตัวเร็ว หากมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้เร็ว สิ่งที่อยากฝากให้ภาครัฐพิจารณาเพิ่มเติม คือ ควรลงทุน 20,000 ล้านบาท ในการแจกจ่ายวัคซีนให้กับประชากรในเมืองท่องเที่ยวหลัก อาทิ กรุงเทพปริมณฑล เชียงใหม่ ภูเก็ต กระบี่ สมุย ชลบุรี ระยอง และอื่นๆ รวมถึงกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและบริการเป็นกลุ่มแรกๆ เพราะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยต้องอาศัยรายได้จากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวซึ่งถือเป็นรายได้หลัก โดยมีสัดส่วนถึง 17% ของ GDP ในขณะที่ 11 เดือนแรกของปี 63 ที่ผ่านมา รายได้จากภาคท่องเที่ยวลดลง 1.93 ล้านล้านบาท หรือติดลบ 71.75% จากช่วงเดียวกันของปี 62

นอกจากนี้ การท่องเที่ยวยังมีบทบาทสำคัญต่อการจ้างงาน ซึ่งการจ้างงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการมีอยู่ถึง 4,393,294 คน หรือ 11.16% ของการจ้างงานทั้งหมด ทั้งนี้เศรษฐกิจของประเทศจะฟื้นตัวเร็ว หากธุรกิจการท่องเที่ยวฟื้นตัว

และภาพรวมของธุรกิจอุตสาหกรรมอื่นๆ ก็จะดีไปด้วย"