ดาวโจนส์ฟิวเจอร์ปรับตัวลง บอนด์ยีลด์สูงกดดันตลาด

ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์ปรับตัวลงในวันนี้ ท่ามกลางแรงกดดันจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ยังคงอยู่ในระดับสูง

ณ เวลา 20.51 น.ตามเวลาไทย ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์ลบ 25 จุด หรือ 0.08% สู่ระดับ 31,346 จุด

ดัชนีดาวโจนส์ทรุดตัวลงกว่า 500 จุดวานนี้ ขณะที่ดัชนี Nasdaq ร่วงลงกว่า 400 จุด โดยนักลงทุนพากันเทขายหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่เคยได้รับประโยชน์ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดอย่างหนักของไวรัสโควิด-19 แต่หลังจากที่สหรัฐเริ่มมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในวงกว้าง นักลงทุนก็ได้ถอนตัวจากหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี และหันไปซื้อหุ้นกลุ่มที่จะได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

หุ้นกลุ่มพลังงานพุ่งขึ้น 6.8% ในสัปดาห์นี้ โดยเป็นหุ้นกลุ่มที่ปรับตัวขึ้นมากที่สุด ท่ามกลางการคาดการณ์ที่ว่า ความต้องการใช้น้ำมันจะพุ่งขึ้นจากการที่ประชาชนออกมาเดินทางมากขึ้น หลังจากมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในวงกว้าง ซึ่งจะช่วยลดการแพร่ระบาด และทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้น

นอกจากนี้ หุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมและกลุ่มการเงินต่างก็ดีดตัวขึ้นในสัปดาห์นี้เช่นกัน

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีอ่อนตัวลงในวันนี้ แต่ยังคงอยู่สูงกว่าระดับ 1.47% หลังจากพุ่งขึ้นเหนือ 1.6% วานนี้ แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ.2563 โดยได้รับแรงหนุนจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่แข็งแกร่ง และการคาดการณ์เกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในวงกว้าง

นอกจากนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐยังได้ปัจจัยหนุนจากการคาดการณ์เงินเฟ้อที่จะพุ่งขึ้นจากการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีถือเป็นพันธบัตรที่ใช้อ้างอิงในการกำหนดราคาของตราสารหนี้ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้รถยนต์ของสหรัฐ ซึ่งหากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวขึ้น จะทำให้เม็ดเงินในการใช้จ่ายของผู้บริโภคลดน้อยลง ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มมากขึ้น และบริษัทต่างๆจะเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นจากการชำระหนี้ ซึ่งจะทำให้บริษัทเหล่านี้ลดการลงทุน และลดการจ่ายเงินปันผลแก่นักลงทุน

มีการคาดการณ์ว่าสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐจะลงมติให้ความเห็นชอบต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวในวันนี้ เนื่องจากพรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ซึ่งหากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้รับการอนุมัติ ก็จะถูกส่งเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาต่อไป ก่อนที่จะให้ประธานาธิบดีโจ ไบเดนลงนามรับรองเป็นกฎหมาย

นางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ คาดว่า กระบวนการอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวจะเสร็จสิ้นก่อนวันที่ 15 มี.ค. ซึ่งเป็นวันที่มาตรการช่วยเหลือผู้ว่างงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จะหมดอายุลง

ก่อนหน้านี้ สภาคองเกรสให้ความเห็นชอบต่อแนวทางการพิจารณาอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ของประธานาธิบดีโจ ไบเดนแบบ fast track โดยใช้แนวทางการจัดทำงบประมาณที่เรียกว่า budget reconciliation ซึ่งจะปูทางให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาสามารถให้การรับรองงบประมาณดังกล่าวด้วยคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง แทนที่จะใช้คะแนนเสียง 2 ใน 3 สำหรับการผ่านกฎหมายทั่วไป

ทำให้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวสามารถผ่านสภาคองเกรสโดยไม่จำเป็นต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากพรรครีพับลิกัน

ขณะนี้ พรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ส่วนในวุฒิสภานั้น พรรคเดโมแครตและรีพับลิกันมีคะแนนเสียงเท่ากัน 50-50 เสียง ดังนั้น การที่วุฒิสภาจะให้การอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าว จำเป็นต้องอาศัยคะแนนเสียงชี้ขาด 1 เสียงจากนางคามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งจะลงคะแนนเสียงในฐานะประธานวุฒิสภาโดยตำแหน่ง นอกจากนี้ ยังมีเงื่อนไขว่า วุฒิสมาชิกสังกัดพรรคเดโมแครตจะไม่สามารถแตกแถวแม้แต่เสียงเดียว