นายกฯ หารือหัวเว่ย พร้อมร่วมมือพัฒนาขับเคลื่อนเทคโนโลยีและนวัตกรรมของไทย

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม โพสต์เฟซบุ๊กถึงการร่วมหารือกับนายเหริน เจิ้งเฟย (Mr. Ren Zhengfei) ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ จำกัด ผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกลว่า

การหารือในครั้งนี้จะเป็นอีกก้าวสำคัญในการผลักดันให้ไทยสามารถก้าวไปสู่การเป็นผู้นำในระบบ 5G ของภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งการเป็นศูนย์กลางด้าน Data Centers และการให้บริการ Cloud Services สำหรับทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาชน ภาครัฐบาล และภาคธุรกิจเอกชนทั้งของไทยและต่างประเทศด้วย

ที่ผ่านมา รัฐบาลได้มีการเตรียมความพร้อมเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และสร้างระบบนิเวศด้านดิจิทัล เพื่อการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล และ “ไทยแลนด์ 4.0” อย่างครอบคลุม ได้แก่

  1. การติดตั้ง “เน็ตประชารัฐ” เพื่อประชาชนทุกหมู่บ้าน
  2. การขยายความจุโครงข่ายระบบเคเบิ้ลใต้น้ำ เพื่อเพิ่มศักยภาพการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในประเทศและระหว่างประเทศ
  3. การตั้งศูนย์ทดสอบ 5G และ “ไทยแลนด์ดิจิทัลวัลเลย์” ในพื้นที่ EEC เพื่อเป็นพื้นที่สร้างนวัตกรรมแห่งอนาคตของ Digital Startup และภาคธุรกิจ ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เป็นต้น

นายกรัฐมนตรี ระบุว่า การเจรจานั้นเป็นไปได้อย่างดียิ่ง โดยก่อให้เกิดโอกาสในการสร้างความร่วมมือกันหลายด้าน เพื่อเติมเต็มการขับเคลื่อนของรัฐบาลและภาคเอกชนของไทย ได้แก่

  1. การส่งเสริมให้มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในทุกมิติ ทั้งการแพทย์ การศึกษา การค้า ธุรกิจบริการ ท่องเที่ยว การเงิน การเกษตรและอุตสาหกรรมต่างๆ
  2. การพัฒนา Cloud Platform สำหรับทุกภาคส่วนได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งต้องเป็นการลงทุนระยะยาวและต่อเนื่อง
  3. การอบรม บ่มเพาะ และเร่งพัฒนาบุคลากรดิจิทัล นวัตกร และผู้ประกอบการ Startup ให้เป็น “เมล็ดพันธุ์แห่งอนาคต” (Seeds for the Future)
  4. การพัฒนา Smart port และ Smart airport โดยการนำเทคโนโลยี 5G และปัญญาประดิษฐ์ (AI : Artificial Intelligence) มาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังได้มีการแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน และการส่งเสริมอุตสาหกรรมพลังงานใหม่ และพลังงานสะอาดอีกด้วย ซึ่งเป็นนโยบายที่รัฐบาลไทยได้ผลักดันในเวทีระหว่างประเทศทุกครั้ง รวมทั้งในฐานะเจ้าภาพการประชุม APEC ในปัจจุบัน

โดยที่ผ่านมารั ฐบาลได้สร้างความร่วมมือกับหลายบริษัทที่มีศักยภาพ มีความพร้อม และยินดีที่จะร่วมมือกับทุกบริษัท ที่มีอุดมการณ์เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเช่นนี้ ในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเป้าหมายสุดท้าย คือ การส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน เพิ่มศักยภาพของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม อีกทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในเวทีโลก ให้เห็นผลโดยเร็ว เพื่อประโยชน์ของประชาชนทุกคน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 พ.ย. 64)

Tags: , , , , ,
Back to Top