DTAC เน้นผลักดันอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ปูพรม 5G/4G รองรับชีวิตดิจิทัล

นายชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) หรือ ดีแทค กล่าวว่า ทิศทางธุรกิจของดีแทคจะผลักดันให้สังคมไทยทุกคนได้ใช้งานอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ทั้งการบริการ 5G และ 4G ในราคาที่เหมาะสม หลังจากที่แนวโน้มการใช้งานดาต้าในต่างจังหวัดเติบโตกว่ากรุงเทพ รวมถึงจะมีการพัฒนา DTAC App สร้างระบบนิเวศน์ให้ทุกคนมีส่วนร่วม สามารถใช้บริการได้จากในบ้านที่ทำงาน และดีแทคยังพัฒนาบริการใหม่หลากหลายที่จะช่วยเปลี่ยนผ่านผู้ใช้งานสู่ชีวิตดิจิทัล

ส่วนการพัฒนาโครงข่าย 5G ของดีแทคจะพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงเพื่อทุกคน ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้า โดยปัจจุบันดีแทคมีคลื่นความถี่ครบทั้งคลื่นความถี่ต่ำ คลื่นความถี่กลางซึ่งคลื่น 2300 MHz มีการขยายโครงข่ายกว่า 2 พันสถานีฐานแล้ว และคลื่นความถี่สูง ดีแทคเน้นที่การใช้งานได้จริง อย่างไรก็ตาม หากมีการประมูลคลื่นความถี่ใหม่ๆ ดีแทคให้ความสนใจในการประมูลคลื่นความถี่ทุกครั้ง เรามีความพร้อมทั้งเงินลงทุนและแผนงานที่จะนำมาให้ลูกค้าได้ใช้ประโยชน์จาก 5G ได้มากที่สุด นอกจากนี้ บริษัทยังให้ความสำคัญกับกลุ่มลูกค้า SME ที่ได้ร่วมทำโครงการนำร่องในการใช้ 5G กับธุรกิจ SME

"เราอยู่ในสถานะที่แข็งแกร่งที่จะช่วยผลักดันให้ประเทศเดินหน้าฟื้นตัวในปี 2564 โดยมุ่งมั่นตามกลยุทธ์ของเราที่จะนำอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงสู่ทุกคน และสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ผู้ใช้งานดิจิทัลของลูกค้าเรา จากข้อมูลและความเข้าใจของลูกค้าเราใส่ใจ เปรียบเสมือนเราได้นำความสุข ความก้าวหน้า ความโชคดี และที่ยืนหยัดทุกสถานการณ์ส่งมอบให้กับลูกค้าเราตลอดปีฉลูอีกด้วย"นายชารัด กล่าว

นายประเทศ ตันกุรานันท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มเทคโนโลยี ดีแทค กล่าวว่า ตามข้อมูลของดีแทคพบว่ามาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมของปี 2563 ที่ผ่านมา ได้พลิกโฉมการใช้มือถือของประเทศไทย การใช้งานดาต้าในส่วนภูมิภาคโตมากกว่าการใช้งานในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ ถึง 9 เท่า สอดคล้องกับทิศทางการเพิ่มขึ้นของการใช้งานสมาร์ทโฟนเร็วขึ้น ในส่วนภูมิภาคก็เติบโตเร็วกว่ากรุงเทพฯ ถึง 3 เท่า จากข้อมูลดังกล่าวตอกย้ำว่าผู้ใช้ในภูมิภาคและพื้นที่ห่างไกลหันมาใช้ดิจิทัลมากขึ้น

ดีแทคจึงได้เร่งนำคลื่นความถี่ 700 MHz มาให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง โดยตั้งเป้าจะขยาย 4,400 สถานีฐานทั่วประเทศภายในไตรมาสที่ 1/64 คลื่น 700 MHz หรือคลื่นความถี่ต่ำมีประสิทธิภาพในการเพิ่มสัญญาณครอบคลุมพื้นที่ให้มากยิ่งขึ้น โดยดีแทคเปิดให้บริการ 5G และ 4G บนคลื่น 700 MHz ด้วยเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด Dynamic Spectrum Sharing (DSS) ทำให้สามารถใช้งานคลื่นเดียวทั้ง 5G และ 4G ไม่ต้องแบ่งแบนด์วิดท์ด้วยประสิทธิภาพเต็มที่สูงสุด

ดีแทคกำหนดกลยุทธ์การออกแบบโครงข่ายโดยดูที่พฤติกรรมและแนวโน้มการใช้งานของผู้ใช้บริการเป็นสำคัญ ไม่ใช่แค่เทคโนโลยี โดยจากข้อมูลของปีที่ผ่านมา เราจะเห็นพฤติกรรมลูกค้า 4 กลุ่ม คือ 1)เน็ตภูธรหน้าใหม่ (THE NEW RURALS) ปริมาณการใช้งานอินเทอร์เน็ตในภูมิภาคเพิ่มขึ้นทั้งจากการย้ายถิ่นฐานของคนเมืองและการใช้งานที่เพิ่มขึ้นของชุมชน โดยต่างจังหวัดมีอัตราเติบโตมากกว่า 9 เท่า เมื่อเทียบกับกรุงเทพฯ การเข้าถึงสมาร์ทโฟนยังเพิ่มขึ้น 3 เท่าในภูมิภาค (ข้อมูล ม.ค. 2563-ม.ค. 2564) ดีแทคเร่งนำคลื่น 700 MHz ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงครอบคลุมพื้นที่ทั้งในเมืองและต่างจังหวัด

2) ขยันผ่านเน็ตทางไกล (THE REMOTE DESKERS) กลุ่มผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตที่ปรับตัวรับกับความปกติใหม่โดยทำงานและเรียนที่บ้าน ซึ่งมีความต้องการใช้งานดาต้าจากชุมชนที่พักอาศัย โดยใช้งานแอปพลิเคชันเพื่อสร้างผลผลิตและการทำงานร่วมกันแม้อยู่คนละพื้นที่ ตามข้อมูลตั้งแต่ ม.ค. 2563-ม.ค.2564 พบว่า งาน Zoom เพิ่มขึ้น 5050% และ Google Hangouts 740% ดีแทคยกระดับประสบการณ์ด้วยคลื่น 700 MHz ที่ให้บริการ 5G และ 4G ครอบคลุมในอาคารสูงและพื้นที่ห่างไกล รวมถึงชุมชน

3) อยู่ติดบ้านด้วยเน็ตบันเทิง (THE NON-STOP STREAMER) จากสถานการณ์ล็อกดาวน์ หรืออยู่บ้านพบว่ากลุ่มผู้ใช้งานที่ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านแอปพลิเคชันเพื่อบันเทิง ดูหนัง ฟังเพลง และช้อปปิ้งออนไลน์ ผ่านแอปเพื่อตอบโจทย์ดิจิทัลเพิ่มขึ้น อาทิ YouTube และ TikTok ดีแทคเร่งขยายเทคโนโลยี 5G-ready massive MIMO เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานดีขึ้น 3 เท่า และเปิดให้บริการ 4G-TDD บนคลื่น 2300 MHz (ให้บริการบนคลื่น NT หรือทีโอที เดิม) อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงประมาณ 20,400 สถานีฐาน ทั้งนี้ Opensignal ให้ดีแทคเป็นผู้ชนะรางวัลด้านดาวน์โหลดเร็วสุดในประเทศไทยติดต่อกันจาก 2 รายงานประจำเดือนเมษายน และพฤศจิกายน 2563

4) เน็ตคือหัวใจสำคัญ (THE CRITICAL USER) กลุ่มผู้ใช้งานที่พึ่งพาระบบอินเทอร์เน็ตเป็นหลักในการปฏิบัติภารกิจ ให้บริการแก่ประชาชนและชุมชน เช่น โรงพยาบาลและบริการฉุกเฉิน รวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรม กลุ่มธุรกิจ เป็นต้น ด้วยระบบชุมสาย Virtual Core Network 100% พร้อมรองรับเทคโนโลยีทันสมัยและนวัตกรรมการสื่อสารแห่งอนาคต ดีแทคยังยืนหยัดการให้บริการทุกสถานการณ์แม้ในยามเกิดภัยพิบัติต่างๆ นอกจากนี้ดีแทคยังนำคลื่น 26 GHz มาทดสอบใช้งานบริการต่างๆ รวมถึงขยายสู่คลื่น 700 MHz ดีแทคพร้อมนำศักยภาพที่แท้จริงของโครงข่าย 5G มาทำให้เกิดประโยชน์เพื่อผู้ใช้งาน

นายฮาว ริเร็น รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการตลาด ดีแทค กล่าวว่า ดีแทคแอปได้วางระบบนิเวศน์ดิจิทัลตอบรับความต้องการของลูกค้าทุกคน ตามแนวโน้มผู้บริโภคได้แก่ การซื้อขายออนไลน์จากออฟไลน์ การออกแบบให้กลุ่มผู้ใช้แรงงานต่างด้าว ผู้ใช้งานในต่างจังหวัดได้ด้วย โดยมีกิจกรรม จาก dtac reward สำหรับลูกค้าระบบเติมเงิน ที่สามารถสะสม dtac reward Coins แลกสิทธิพิเศษได้อย่างคุ้มค่า

และนำระบบปัญาประดิษฐ์ (AI)มาวิเคราะห์ ออกแบบข้อเสนอที่ตอบสนองแต่ละคน ทำให้ดีแทคมอบข้อเสนอบริการเฉพาะรายบุคคลได้มีประสิทธิภาพสูงกว่าข้อเสนอทั่วไปถึง 3 เท่า ทำให้การใช้งานดีแทคแอปโตขึ้น 40% ในปี 63

รวมทั้งยังได้ร่วมมือกับพันธมิตรในการนำเสนอบริการหรือธุรกิจใหม่ๆ ประกันสุขภาพ ส่วนลดร้านขายยาที่ได้รับอนุญาต หรือการโอนเงินที่มั่นใจได้ บริการเหล่านี้ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางดิจิทัลให้กับผู้ใช้งาน ขณะเดียวกันดีแทคให้ความสำคัญกับการเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตที่ปลอดภัยและเชื่อถือได้ (Trusted and secure internet provider) เพื่อปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลและผลประโยชน์ของลูกค้าเป็นสำคัญ นอกจากนี้ยังมีบริการที่ช่วยเหลือลูกค้าในภาวะที่เศรษฐกิจเผชิญกับความท้าทาย เช่น บริการใจดีให้ยืม ใจดีให้โอน และบริการดิจิทัลอื่นๆ จากดีแทคที่อำนวยความสะดวกให้ลูกค้าในเวลาที่ต้องการ

นอกจากนี้ ดีแทคยังประกาศความมุ่งมั่นในการสนับสนุนให้สังคมไทยสามารถยืนหยัดได้ในทุกสถานการณ์ และดำเนินธุรกิจด้วยความเชื่อมั่น เปิดตัวโครงการ ‘ดีแทค เน็ตทำกิน’ (Net for Living) ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มล่าสุด ที่ช่วยฝึกอบรมผู้ค้ารายย่อย 100 ราย ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ และขยายผลให้ครอบคลุมผู้ประกอบการรายย่อย ที่มีรายได้น้อยให้สามารถประกอบธุรกิจค้าขายได้บนพื้นที่ออนไลน์ มุ่งมั่นช่วยเพิ่มรายได้ครัวเรือนจากพื้นที่ขายออนไลน์ 15% ต่อปี สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ https://dtac.co.th/dtacNetforLiving

สำหรับเยาวชน ดีแทคจะยังคงดำเนินโครงการ Safe Internet ซึ่งได้สอนทักษะด้านดิจิทัลให้กับนักเรียนและครูในปีนี้อีก 200,000 คน ล่าสุดดีแทคมุ่งมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ลดลง 50% ให้ได้ตามเป้าหมายในปี 2573