ศบศ. เห็นชอบโครงการรักษาระดับจ้างงาน SME-ตั้งกองทุนส่งเสริมการท่องเที่ยว

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธานว่า ที่ประชุม ศบศ. มีมติเห็นชอบ

1. เห็นชอบหลักการโครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SMEs เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานสร้างความเข้มแข็งให้กลุ่มธุรกิจ ซึ่งมีรายละเอียดที่สำคัญดังนี้

(1) คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการฯ จะต้องเป็นนายจ้างภาคเอกชนที่อยู่ในระบบประกันสังคม มีการจ้างงานลูกจ้างสัญชาติไทยไม่เกิน 200 คน โดยลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการในเดือนตุลาคม 2564 และรับเงินอุดหนุนในเดือนที่ 1 – 3 (ตั้งแต่พฤศจิกายน 2564 ถึงมกราคม 2565)

(2) เงื่อนไขการจ่ายเงินอุดหนุน รัฐบาลจะจ่ายเงินอุดหนุนเพื่อส่งเสริมและรักษาการจ้างงานให้แก่นายจ้างเพื่อรักษาการจ้างงานในอัตรา 3,000 บาทต่อลูกจ้างสัญชาติไทยต่อเดือน แต่ไม่เกิน 200 คน เป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยเงินอุดหนุนจะคำนวณตามยอดการจ้างงานจริงของทุกเดือน พิจารณาจากจำนวณลูกจ้างที่นำส่งเงินสมทบประกันสังคมจากระบบประกันสังคม โดยจะจ่ายเงินอุดหนุนทุกวันทำการสุดท้ายของเดือน

ทั้งนี้ นายจ้างจะต้องรักษาระดับการจ้างงานไม่ต่ำกว่า 95% ในระหว่างเข้าร่วมโครงการฯ และหากนายจ้างไม่สามารถรักษาระดับการจ้างงานให้ไม่ต่ำกว่า 95% ได้จะไม่ได้รับเงินอุดหนุนในเดือนนั้น ขณะเดียวกัน กรณีนายจ้างมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นจากยอดการจ้างงาน ณ วันเริ่มโครงการ จะได้รับเงินอุดหนุนเพิ่มตามจำนวนการจ้างงานจริง โดยนายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างไม่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของแต่ละจังหวัดตามประกาศคณะกรรมการค่าจ้างฯ

(3) เป้าหมายโครงการเพื่อรักษาระดับการจ้างงานลูกจ้างสัญชาติไทยในธุรกิจ SMEs ที่มีลูกจ้างไม่เกิน 200 ราย ที่มีสถานประกอบการจำนวน 480,122 แห่ง และจะสามารถรักษาการจ้างงานลูกจ้างได้จำนวน 5,040,176 คน

2. เห็นชอบหลักการแนวทางการขับเคลื่อนการเปิดประเทศด้านการท่องเที่ยวตามนโยบายของรัฐบาล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับการท่องเที่ยวไปสู่การท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพและความยั่งยืน การขยายผลและพลิกโฉมการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตเพื่อเป็นสถานที่ท่องเที่ยวระดับโลก (World Class Destination) โดยตั้งเป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศในช่วงไตรมาส 4/64 และไตรมาส 1/65 จำนวน 1 ล้านคน หรือเฉลี่ยวันละไม่น้อยกว่า 5,000 คน ซึ่งคาดว่าจะสร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่น้อยกว่า 60,000 ล้านบาท โดยมีแนวทาง Ease of Traveling ได้แก่

(1) การลดวันกักตัวเหลือ 7 วัน การตรวจ RT-PCR ก่อนมาและเมื่อถึงสนามบิน หลังจากนั้นให้ตรวจแบบ ATK

(2) หนังสือรับรองการเดินทางเข้าประเทศไทยออนไลน์แบบหมู่คณะ (Group COE)

(3) การอนุญาตเที่ยวบินพาณิชย์ของรัสเซียให้สามารถเดินทางเข้าสู่ภูเก็ต

(4) การผ่อนคลายคู่มือมาตรฐานการปฏิบัติงาน (Standard Operating Procedure: SOP) ของกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง (High Risk Contact: HRC) สำหรับผู้โดยสารเครื่องบิน

(5) การลดค่าใช้จ่ายในการตรวจ RT-PCR

(6) การลดค่าเบี้ยประกันภัย รวมถึงการ On-Top ในรูปแบบ COVID Shield ให้ครอบคลุมเรื่องการสัมผัสเสี่ยงสูง (High Risk Contact: HRC) และ Hospitel รวมทั้งมีกองทุนสนับสนุนการชำระเงินล่วงหน้า

(7) การออก Visa on Arrival (VOA) และหนังสือรับรองการเดินทางเข้าประเทศไทยออนไลน์ หรือ COE Online

(8) เอกสารรับรองการฉีดวัคซีน (Vaccine Passport)

การลงทุนพัฒนาเพื่อพลิกโฉมภูเก็ตสู่สถานที่ท่องเที่ยวระดับโลก (World Class Destination) ภายใต้แนวคิด SUPRA ประกอบด้วย

(1) การเสริมสร้างความปลอดภัย (Safety)

(2) การยกระดับ (Upgrading) โดยการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญและการยกระดับระบบสาธารณสุข

(3) การเยียวยาและดูแลประชาชนฐานราก (Pro-Poor) ได้แก่ การพัฒนาและเพิ่มมูลค่าสินค้าชุมชน การสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงชีวภาพ หมุนเวียน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Bio-Circular-Green Tourism: BCG Tourism) การสนับสนุนการท่องเที่ยววิถีชุมชน และ การส่งเสริมอาชีพและการกระจายรายได้

(4) การพัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้น (Refine) ประกอบด้วย การเปลี่ยนทักษะ พัฒนาทักษะ และสร้างทักษะใหม่ ๆ ให้กับแรงงาน (Re/Up/New Skill: RUN Skill) ควบคู่ไปกับการพัฒนาและเพิ่มมูลค่าสินค้า ท่องเที่ยวตามยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัดเพื่อตอบโจทย์นักท่องเที่ยวคุณภาพ (GEMMSS)

(5) การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายและกิจกรรมระดับโลก (Activities) ประกอบด้วย กิจกรรมส่งเสริมตลาดการท่องเที่ยว กิจกรรม Thailand Festival Experiences และ กิจกรรมบันเทิงและการกีฬาระดับโลก

รวมถึงการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อใช้ในการพลิกโฉมการท่องเที่ยวไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลให้เกิดการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเพื่อการเติมโตที่มีความยั่งยืน ผ่านการสนับสนุนภาคเอกชนและภาคประชาสังคมในรูปแบบการให้การอุดหนุนเพื่อสร้างแรงจูงใจในการเปลี่ยนแปลงโดยดำเนินการควบคู่ไปกับการปรับปรุงกฎระเบียบและมาตรการต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว

รวมทั้งการประกาศส่งเสริมปีท่องเที่ยวไทย 2565 Amazing ยิ่งกว่าเดิม (Visit Thailand Year 2022 Now Even More Amazing) ภายใต้แนวคิดกิจกรรมและเอกลักษณ์ไทย 26 ประการ ภายใต้แนวคิด “From A to Z Amazing Thailand Has It All”

นายธนกร กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้มีการดำเนินการนโยบายเศรษฐกิจ ทั้งมาตรการเยียวยาแรงงานที่ได้รับผลกระทบทั้งนายจ้างและลูกจ้าง มาตรการการเงินเพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูภาคธุรกิจ ผ่านโครงการสินเชื่อฟื้นฟู และโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ รวมไปถึงมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว “Phuket Sandbox” เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ กระตุ้นการใช้จ่าย ทำให้สามารถผลักเม็ดเงินเข้าสู่ระบบช่วยพยุงเศรษฐกิจ

ขณะเดียวกัน รัฐบาลเน้นการรักษาการจ้างงานและมาตรการการจ้างงานใหม่ เพื่อแก้ปัญหาการว่างงาน ทดแทนปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรม และยังไม่มีการอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวเข้าประเทศ รวมทั้งต้องการเห็นคนไทยมีงานทำ โดยเฉพาะในโรงงานอุตสาหกรรมที่ทันสมัย เพื่อรักษาระดับการจ้างงานให้ธุรกิจเอกชนด้วย

นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว ต้องดำเนินมาตรการอย่างต่อเนื่อง ตรงความต้องการของภาคเอกชน ผู้ประกอบการ รัฐบาลก็ต้องหาทางสร้างรายได้เพิ่มขึ้นด้วยรูปแบบและแนวทางใหม่ ๆ เน้นการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ การท่องเที่ยวปลอดภัยในประเทศไทย

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีต้องการพลิกโฉมประเทศไทยทุกมิติ ซึ่งหลายอย่างที่รัฐบาลดำเนินการวันนี้ ทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแบบเดิม และโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล อาจจะไม่เห็นผลชัดเจนในทันที แต่จะส่งผลระยะยาวเพื่อให้ประเทศเติบโตอย่างยั่งยืน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ก.ย. 64)

Tags: , , , , ,
Back to Top