(เพิ่มเติม) ศบค.พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 198 รายในปท. 118-ตรวจเชิงรุก 73-ตปท.7,เสียชีวิต 1 ราย

ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 198 ราย ประกอบด้วย ผู้ติดเชื้อในประเทศ จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯ 118 ราย จากค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 73 ราย ส่วนผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ทั้งหมด 6 ราย ผู้เดินทางจากต่างประเทศไม่เข้าสถานที่กักกัน 1 ราย ขณะที่วันนี้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย

สำหรับจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศล่าสุดอยู่ที่ 13,500 ราย แบ่งเป็น ผู้ป่วยที่ติดเชื้อภายในประเทศ 6,568 ราย และการตรวจคัดกรองเชิงรุก 4,568 ราย ส่วนผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 2,364 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้ว 10,567 ราย เพิ่มขึ้น 119 ราย ขณะที่มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 73 ราย

พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวให้รายละเอียดสำหรับผู้เสียชีวิตวันนี้ว่า เป็นหญิงไทยอายุ 73 ปี มีโรคประจำตัวคือความดันโลหิตสูง โรคสมองเสื่อมและโรคลมชัก ภูมืลำเนาอยู่จ.สมุทรสาคร มีประวัติเป็นผู้สัมผัสผู้ติดเชื้อในครอบครัวซึ่งมาจากจ.สมุทรสาครเช่นกัน มีอาการตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค. 64 มีอาการไอ เสมหะ อ่อนเพลีย เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสมุทรสาคร

วันที่ 7 ม.ค.ตรวจหาเชื้อโควิด-19 เนื่องจากสอบถามประวัติว่าได้สัมผัสใกล้ชิดผู้ที่เป็นผู้ป่วยยืนยัน วันที่ 9 ม.ค.ผลยืนยันว่าผลเป็นบวก โดยผู้ป่วยมีอาการเหนื่อยมากขึ้น และผลเอ็กซเรย์ปอดพบว่ามีการอักเสบรุนแรง ผู้ป่วยเหนื่อยมากขึ้น แพทย์ได้ให้การช่วยเหลือโดยใส่ท่อช่วยหายใจ และส่งตัวไปรักษาต่อที่รพ.ตากสิน

จากวันที่ 9 ม.ค. จนถึงวันที่ 20 ม.ค. ดูมีแนวโน้มอาการดีขึ้น จนสามารถเอาท่อช่วยหายใจออกได้ในวันที่ 20 ม.ค.แต่ยังมีรายงานเสมหะมาก เสมหะเหนียวข้น และยังไม่มีแรงไอขับเสมหะ จึงต้องใช้เครื่องดูดเสมหะเป็นระยะๆ แต่ว่าในวันที่ 23 ม.ค.พบว่าผู้ป่วยเรียกไม่รู้สึกตัว เรียกไม่ได้ยิน และหัวใจหยุดเต้น แพทย์ทำการกู้ชีพกว่า 30 นาที แต่ผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษา เสียชีวิตเวลา 01.33 น.

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า จากตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค.จนถึงขณะนี้ ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังขึ้นๆลงๆ ยังวางใจไม่ได้ โดยเมื่อพิจารณารายจังหวัด ผู้ติดเชื้อรายใหม่ในวันนี้ 198 ราย มาจากจ.สมุทรสาคร 76 ราย กรุงเทพมหานคร 21 ราย นนทบุรี 1 ราย สมุทรสงคราม 7 ราย ราชบุรี 1 ราย สมุทรปราการ 12 ราย

และเป็นการคัดกรองเชิงรุกทั้งสิ้น 73 รายซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ไม่น้อยเช่นเคย มาจากจ.สมุทรสาคร 72 รายและจ.ระยอง 1 ราย

ส่วนผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศ 7 ราย มาจากเบลเยี่ยม 1 ราย มาเลเซีย 1 ราย บาห์เรน 1 ราย ฝรั่งเศส 2 ราย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 1 ราย และผู้เดินทางจากต่างประเทศที่คัดกรอง ณ ด่านฯ เป็นเมียนมา 1 ราย

ทั้งนี้ ตัวเลขที่เฝ้าระวังเชิงรุก ได้แก่ จ.สมุทรสาครเป็นอันดับแรก กรุงเทพมหานครซึ่งวันนี้ตัวเลขขึ้นมาเป็น 21 ราย ยังต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง

ตั้งแต่ 3-9 ม.ค. จะเห็นว่ามีพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 51 ราย กระจุกตัวอยู่บริเวณส่วนกลางของประเทศ ส่วนภาคใต้มีพื้นที่สีส้ม และสีเหลือง ซึ่งพื้นที่สีส้มมีผู้ติดเชื้อไม่ถึง 50 ราย พื้นที่สีเหลืองมีผู้ติดเชื้อ 1-10 ราย ส่วนพื้นที่สีขาวคือไม่มีผู้ติดเชื้อ แต่ถ้าดูแนวโน้มสัปดาห์ที่ 2-4 มีกำลังใจมากขึ้น วันนี้จะเห็นภาพแผนที่ประเทศไทย ขาวเกือบทั้งหมด ซึ่งหมายความว่ามีหลายจังหวัดที่ไม่มีผู้ติดเชื้อในสัปดาห์ที่ผ่านมา

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ข้อสรุปจากที่ประชุม ศบค.เช้าวันนี้ จ.สมุทรสาคร มีจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อสูง ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการค้นหาเชิงรุก และได้ขอความร่วมมือชุมชน ตลาด โรงงาน ให้ร่วมมือกับทีมระบาดวิทยาที่เข้าไปตรวจหาเชื้อ ซึ่งเมื่อวันที่ 19 ม.ค.ได้ตรวจไปทั้งสิ้น 9,555 ราย และก็มีผลผู้ติดเชื้อรายวัน และวันนี้ (24 ม.ค.)ผ่านไป 5 วัน ตัวเลขที่ตรวจมากถึง 6-7 หมื่นราย ซึ่งได้ผลตรวจยืนยันผู้ติดเชื้อ จำนวน 5,332 ราย การตรวจแบบนี้ทำให้สามารถแบ่งจ.สมุทรสาครออกเป็นเขตอย่างชัดเจนในส่วนพื้นที่มีผู้ติดเชื้อ ทำให้ทั้งจังหวัดทราบข้อมูลคร่าวๆ หรือประมาณการ จากการค้นพบผู้ป่วย 5 พันกว่าราย จากการตรวจทั้งสิ้น 7 หมื่นราย หมายความว่า พบผู้ติดเชื้อ 7% คือตรวจ 1,000 ราย เจอ 70 ราย ตรวจ 10,000 ราย มีความเป็นไปได้ว่าจะเจอ 700 ราย แต่อาจจะเจอตัวเลขน้อยกว่านั้นได้

ใน 7 %ที่มีโอกาสพบผู้ติดเชื้อ ทำให้คาดการณ์ได้ว่าในสัปดาห์หน้าเป็นต้นไป จากการระดมการตรวจวันละ 10,000 ราย จะยังพบเห็นตัวเลขที่ยังสูงขึ้น 5 วันถัดไปอาจจะพบถึง 2,000 - 3,000 ราย เป็นไปตามที่คาดการณ์ และนอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญ ทางจังหวัด จะนำตัวเลขไปเตรียมการรักษา โดยรองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ได้รายงานถึง โรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม Factory Quarantine มีความพร้อมสูงสุด คือหากมีผู้ติดเชื้ออาการหนักส่งเข้ารพ.ทางรพ.มีเตียงพร้อม แต่หากไม่มีอาการหนักมีสถานที่กักกันเขาไม่ให้มีการแพร่เชื้อต่อไป ก็มีความพร้อม

ดังนั้นนายแพทย์สาธารณสุขฝากขอความร่วมมือประชาชนด้วย เพราะในช่วง 4-5 วันจะยังมีการตรวจเชิงรุกอย่างเข้มข้น ไม่ว่าจะเป็นโรงงานทั้งขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ตลาด ชุมชน หอพักคนงาน โดยนโยบายจะตรวจให้หมดให้เสร็จสิ้นภายใน 1 สัปดาห์ จากนั้นจะพยายามทำให้พื้นที่สีเขียว เช่น บ้านแพ้ว ซึ่งมีบางตำบลยังเป็นสีเหลือง เป้าหมายปลายสัปดาห์จะเห็นบ้านแพ้วเป็นสีเขียวให้หมดทั้งอำเภอ เป็นต้น หรือ อ.กระทุ่มแบน ซึ่งตอนนี้บางส่วนแดง บางส่วนเหลือง เราพยายามให้กลับมาเป็นพื้นที่สีเหลืองให้มากที่สุด

มาตรฐานดังกล่าวเช้มข้นเพื่อไปสู่การวางแผนมาตรการ โดยหลายฝ่ายสอบถามมาว่า โรงเรียนจะสามารถเปิดได้หรือยัง ตลาดกลางกุ้งจะเปิดเมื่อไหร่ และส่วนในชุมชน ร้านอาหาร หรือร้านประเภทใดเปิดได้ หรือประเภทไหนยังต้องเฝ้าระวังต่อ ตัวเลขเหล่านี้จะนำไปสู่การกำหนดมาตรการผ่อนคลาย ตั้งแต่ช่วงที่ 1 คือสัปดาห์หน้าทางจ.สมุทรสาครจะยังค้นหาเชิงรุกอย่างเข้มข้นตั้งเป้าหมายทำให้สำเร็จทั้งจังหวัด และจัดการดูแลให้เบ็ดเสร็จเพื่อให้มีพื้นที่สีเขียวมากขึ้น และส่วนที่เป็นสีแดงให้กลายมาเป็นพื้นที่สีเหลืองให้มากขึ้น จากนั้นในช่วง 1-7 ก.พ.จะมีการเก็บรายละเอียดในพื้นที่ที่ยังมีความเสี่ยง

และเชื่อว่าภายใน ช่วง 8-15 ก.พ.การติดเชื้อก็จะค่อนข้างเบาบาง ทั้งนี้ จ.สมุทรสาครจะเป็นตัวอย่างที่จะทำกันทั่วประเทศ ทั้งการกำหนดมาตรการผ่อนคลาย ใช้ตัวเลขและระยะใกล้เคียงกัน วันที่ 25-31 ม.ค.ทุกๆพื้นที่จะช่วยกันเฝ้าระวังอย่างเข้มข้นถึงที่สุด ดังนั้นพี่น้องประชาชนต้องร่วมมืออย่างสูงสุด

นอกจากนี้ วันนี้ได้มีการพูดคุยถึงสถาบันอุดมศึกษาด้วย ถ้าในสัปดาห์หน้าหากตัวเลขผู้ติดเชื้อยังดีต่อเนื่องอย่างนี้ เราคาดการณ์ได้ว่าในช่วงต้นเดือนก.พ.สถานศึกษาอาจจะเปิดการเรียนการสอนในบางพื้นที่ ในส่วนของชุมชน สถานบริการ ร้านอาหารต่างๆ ให้เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดในสัปดาห์นี้คงมีมาตรการออกมาให้ติดตามกัน

ทั้งนี้มีตรวจค้นหาเชิงรุกจ.สมุทรสาครทีมแพทย์จ.สมุทรสาครไม่เพียงพอแน่นอน จึงได้มีหน่วยแพทย์จากรพ.เอกชน โรงเรียนแพทย์ ซึ่งทีมแพทย์ได้ลงพื้นที่ในวันนี้แล้ว รวมทั้งภาคเอกชนไม่ว่าจะเป็นหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรม ตอนนี้ระดมกำลังกันอย่างหนักหน่วงเพื่อทำให้สมุทรสาครกลับมาเป็นพื้นที่สีเขียวได้ตามเป้าหมาย