ดาวโจนส์ทรุดกว่า 600 จุด หลัง "พาวเวล" ส่งสัญญาณยุติ QE เร็วกว่าคาด

ดัชนีดาวโจนส์ทรุดตัวลงกว่า 600 จุดในวันนี้ หลังจากที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณยุติโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เร็วกว่าที่คาดไว้

ณ เวลา 23.48 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 34,533.47 จุด ลบ 602.47 จุด หรือ 1.71%

หุ้นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการเปิดเศรษฐกิจ เช่น กลุ่มสายการบิน และกลุ่มธุรกิจเรือสำราญ ต่างร่วงลงในการซื้อขายวันนี้

นายพาวเวลกล่าวว่า เฟดอาจปรับลดวงเงิน QE มากกว่าเดือนละ 15,000 ล้านดอลลาร์ โดยเฟดจะมีการหารือกันในการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 14-15 ธ.ค.

"ขณะนี้ เศรษฐกิจมีความแข็งแกร่งมาก และแรงกดดันจากเงินเฟ้อได้เพิ่มสูงขึ้น ผมจึงเห็นว่าถึงเวลาเหมาะสมแล้วที่เฟดจะพิจารณายุติโครงการซื้อพันธบัตรให้เร็วขึ้นกว่าเดิมหลายเดือน โดยเราจะหารือกันในการประชุมครั้งต่อไป" นายพาวเวลกล่าวต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาในวันนี้

ทั้งนี้ คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟดมีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 0.00-0.25% ในการประชุมวันที่ 3 พ.ย. และเฟดจะปรับลดวงเงิน QE เดือนละ 15,000 ล้านดอลลาร์ เริ่มตั้งแต่เดือนพ.ย. โดยเฟดจะปรับลดวงเงินซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเดือนละ 10,000 ล้านดอลลาร์ และปรับลดวงเงินซื้อตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (MBS) เดือนละ 5,000 ล้านดอลลาร์

การลดวงเงิน QE ดังกล่าวจะทำให้เฟดยุติการทำ QE โดยสิ้นเชิงในกลางปี 2565

ก่อนหน้านี้ เฟดได้ทำ QE เดือนละ 120,000 ล้านดอลลาร์ โดยเฟดซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐวงเงิน 80,000 ล้านดอลลาร์ และซื้อตราสารหนี้ MBS ในวงเงิน 40,000 ล้านดอลลาร์

นอกจากนี้ นายพาวเวลยังเตือนว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนได้สร้างความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยจะกระทบต่อการจ้างงานและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ขณะที่สหรัฐจะเผชิญภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูงเป็นระยะเวลานานกว่าที่คาดไว้

"เป็นเรื่องยากที่จะคาดการณ์สถานการณ์เงินเฟ้อและผลกระทบด้านอุปทานว่าจะยืดเยื้อเพียงใด แต่สิ่งที่ปรากฏให้เห็นในขณะนี้ก็คือเงินเฟ้อจะยังคงอยู่ในช่วงขาขึ้นไปจนถึงปีหน้า นอกจากนี้ ตลาดแรงงานที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว และค่าแรงที่สูงขึ้นจะเป็นปัจจัยหนุนเงินเฟ้อให้สูงขึ้นเช่นกัน"
"ความกังวลเกี่ยวกับจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสที่เพิ่มขึ้น และการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน จะทำให้ประชาชนไม่ต้องการกลับเข้าทำงาน ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลให้ตลาดแรงงานชะลอตัวลง และเพิ่มปัญหาชะงักงันในห่วงโซ่อุปทาน" แถลงการณ์ระบุ

นายพาวเวลยังกล่าวว่า ภาวะไร้สมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานซึ่งมีสาเหตุมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นผลมาจากราคาที่พุ่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในบางรายการ โดยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ดีดตัวขึ้น 5% ในเดือนต.ค.เมื่อเทียบรายปี

นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันท่ามกลางความไม่มั่นใจเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน

นายสเตฟาน บันเซล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทโมเดอร์นา อิงค์ ระบุว่า วัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบันจะมีประสิทธิภาพลดลงในการป้องกันไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน พร้อมกับเตือนว่า บรรดาบริษัทเวชภัณฑ์อาจต้องใช้เวลานานหลายเดือนจึงจะสามารถผลิตวัคซีนสูตรใหม่ที่จะป้องกันไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนได้อย่างเพียงพอ

นักลงทุนจับตาตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐในวันศุกร์นี้ โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า กระทรวงแรงงานสหรัฐจะรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรพุ่งขึ้น 581,000 ตำแหน่งในเดือนพ.ย.

ก่อนหน้านี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 531,000 ตำแหน่งในเดือนต.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 450,000 ตำแหน่ง จากระดับ 312,000 ตำแหน่งในเดือนก.ย. ส่วนอัตราการว่างงานปรับตัวลงสู่ระดับ 4.6% โดยต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.7% จากระดับ 4.8% ในเดือนก.ย.