(เพิ่มเติม) สภาพัฒน์ ชู 13 หมุดหมายในแผนพัฒนาฯ ฉบับ 13 พลิกโฉมประเทศสู่ความมั่นคงใน 4 มิติ

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ กล่าวในงานประชุมประจำปี 2564 ของ สศช. ในหัวข้อ "13 หมุดหมาย พลิกโฉมประเทศไทย" ว่า ขณะนี้สภาพัฒน์ อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นเพื่อนำมาประกอบการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ซึ่งจะมีลักษณะที่ไม่เหมือนแผนเดิม ๆ ที่ผ่านมา โดยจะมีการกำหนดภารกิจที่ต้องทำให้สำเร็จภายใน 5 ปีข้างหน้าอย่างชัดเจน ในอนาคตประเทศไทยอาจมีวิกฤติรุนแรงกว่าโควิด-19 ซึ่งไทยอาจจะล้มได้ แต่ลุกให้ไวและก้าวไปข้างหน้าให้เร็ว เน้นการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม การบริการ ชุมชน เอสเอ็มอี ควบคู่กับการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และนำการพัฒนาที่ยั่งยืนเข้ามาร่วมด้วย

นายดนุชา กล่าวว่า ประเทศไทยถึงเวลาที่ต้องปรับโครงสร้างอีกครั้ง หลังจาก 30 ปีที่ผ่านมาปรับจากประเทศเกษตรกรรมเป็นประเทศอุตสาหกรรม และปี 2564 มีการขยายภาคท่องเที่ยวและบริการเพิ่มขึ้น แต่วันนี้สิ่งที่ไทยต้องเผชิญ และผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ไทยมีความจำเป็นต้องปรับโครงสร้างเพื่อก้าวไปสู่เศรษฐกิจที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น มีสังคมที่เป็นธรรม คนไทยมีศักยภาพสูงขึ้น มีการพัฒนาที่ยั่งยืน ก้าวไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม คนไทยต้องได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพและคำนึงสิ่งแวดล้อมด้วย

ทั้งนี้ ในแผนพัฒนาฯฉบับที่ 13 นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางจัดทำแผน โดยปลายทางของแผนคือ ทำให้ไทยเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคง เป็นประเทศที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการพัฒนา ลดความเหลื่อมล้ำ สิ่งแวดล้อมดีขึ้น

นายดนุชา กล่าวว่า กระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่รวดเร็วมากขึ้นในอนาคต ทำให้ต้องมีการปรับตัว และมุ่งไปสู่การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น การเป็นสังคมสูงวัยของหลายประเทศทั่วโลก และความขัดแย้งของชาติมหาอำนาจ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ถือเป็นโอกาสและความเสี่ยงของประเทศไทย

ทั้งนี้ จากการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลต่อการพัฒนาประเทศไทย ทำให้ทุกเรื่องเร่งตัวเร็วขึ้น เช่น การฟื้นตัวเศรษฐกิจจะเป็นในรูปแบบตัว K ในบางอุตสาหกรรมจะรู้สึกว่าดีขึ้น แต่บางอุตสาหกรรมก็ยังไม่ฟื้นตัว โดยเฉพาะเรื่องการท่องเที่ยว จำนวนคนยากจนเพิ่มสูงขึ้น การจัดเก็บรายได้ของภาครัฐลดลง ซึ่งหลังจากนี้จะมีข้อจำกัดในแง่ของการคลังสำหรับการพัฒนาประเทศในระยะข้างหน้า การทำงานในอนาคตเกิดทำงานในรูปแบบใหม่ การเรียนรู้ของเด็กถดถอยลง

นายดนุชา กล่าวว่า สำหรับความพร้อมของประเทศไทย ในด้านทุนทางเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐาน พบว่า ผลิตภาพโดยรวมของไทยเติบโตช้ามาก เพราะไม่ได้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยในการผลิต ความสามารถการแข่งขันไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก ความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานวิจัยและเทคโนโลยียังอยู่ในจุดที่ยังไม่ค่อยดี แต่ต้นทุนด้านโลจิสติกส์ลดลงก็เป็นโอกาสที่ทำให้สินค้ามีสามารถแข่งขันที่สูงขึ้น

สำหรับด้านสังคม โครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ส่งผลต่อแรงงานในระบบ ถ้าหากไม่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานให้ทันกับแรงงานที่หายไป ก็อาจส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตช้าลง แต่สิ่งที่ยังเข้มแข็งคือ มีเครือข่ายภาคประชาสังคมที่เข้มแข็งมีส่วนช่วยดูแลประชาชนได้

ส่วนประสิทธิภาพภาครัฐปรับตัวดีขึ้น แต่จำเป็นต้องปรับปรุงกฏหมาย กฏระเบียบให้สอดรับทิศทางในอนาคต ซึ่งที่ผ่านมายังแก้กฏหมายได้ช้ามาก ถ้าสามารถปรับปรุงประสิทธิภาพภาครัฐตอบสนองความต้องการของประชาชน และอำนวยความสะดวกภาคธุรกิจ ทำให้ในอนาคตสามารถลดต้นทุนและด้านเวลาสำหรับประชาชนและภาคธุรกิจได้มากขึ้น

เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวถึงหมุดหมายการพัฒนา ตามแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 เพื่อเป็นปัจจัยในการขับเคลื่อน มีเป้าหมายและทิศทางที่ช่วยในการสนับสนุนการพลิกโฉมประเทศ ที่ครอบคลุม 4 มิติการพัฒนา ได้แก่

(1) มิติภาคการผลิตและบริการเป้าหมาย ประกอบด้วย หมุดหมายที่ 1. มุ่งเน้นสร้างมูลค่าของสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป โดยอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรม หมุดหมายที่ 2. ยกระดับการท่องเที่ยวให้เป็นการท่องเที่ยวคุณภาพสูง หมุดหมายที่ 3.สนับสนุนให้ผู้ประกอบการเดิมในอุตสาหกรรมยานยนต์สามารถปรับตัวไปสู่การผลิตยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการสร้างปัจจัยสนับสนุนเพื่อให้ผู้ใช้รถยนต์เปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้า หมุดหมายที่ 4. สร้างมูลค่าจากสินค้าและบริการสุขภาพซึ่งไทยมีความได้เปรียบ

หมุดหมายที่ 5. ยกระดับบทบาทของไทยในห่วงโซ่อุปทานของภูมิภาค โดยให้ความสำคัญกับการเป็นศูนย์กลางคมนาคมและโลจิสติกส์ และการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ หมุดหมายที่ 6. ผลักดันการเติบโตเศรษฐกิจดิจิทัล โดยการสร้างระบบนิเวศที่เหมาะสม ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานและกฎระเบียบ รวมถึงการสนับสนุนให้อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เดิมสามารถปรับเปลี่ยนไปสู่อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ

(2) มิติโอกาสและความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม ประกอบด้วย หมุดหมายที่ 7. พัฒนาศักยภาพเอสเอ็มอีสู่การเป็นผู้ประกอบการยุคดิจิทัล หมุดหมายที่ 8. สร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก สร้างความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน โลจิสติกส์ และดิจิทัล หมุดหมายที่ 9. แก้ไขปัญหาความยากจนข้ามรุ่นแบบมุ่งเป้าที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของครัวเรือนยากจน รวมทั้งให้ความสำคัญกับการจัดความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตแก่คนไทยทุกช่วงวัย

(3) มิติความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย หมุดหมายที่ 10. เพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร รวมถึงการเร่งลดก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะในภาคพลังงานและอุตสาหกรรม หมุดหมายที่ 11. สร้างความสามารถในการรับมือกับภัยธรรมชาติ โดยมุ่งเน้นการป้องกันภัยโดยใช้แนวทางธรรมชาติ รวมถึงการพัฒนาประสิทธิภาพในการคาดการณ์และเตือนภัย

(4) มิติปัจจัยผลักดันการพลิกโฉมประเทศ ประกอบด้วย หมุดหมายที่ 12. สนับสนุนให้คนทุกช่วงวัยมีโอกาสพัฒนาทักษะอย่างเต็มศักยภาพ มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต และมีสมรรถนะที่สอดคล้องกับบริบทของโลกยุคใหม่ และหมุดหมายที่ 13.ยกระดับภาครัฐให้มีสมรรถนะสูงและคล่องตัว สามารถก้าวสู่การเป็นภาครัฐดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ รวมถึงการยกเลิกกฎหมายที่ไม่จำเป็นและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ

อย่างไรก็ตาม หลังจากผ่านกระบวนการยกร่างกรอบแผนพัฒนาฯ ข้างต้น สศช. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคส่วนต่างๆ 13 คณะ (ตาม 13 หมุดหมาย) เพื่อดำเนินการยกร่างรายละเอียดของตัวชี้วัดและกลยุทธ์ของแต่ละหมุดหมายในช่วงตลอด 4 เดือนที่ผ่านมา (มิถุนายน - กันยายน 2564) และภายหลังจากการประชุมในวันนี้ สศช. จะจัดให้มีการรับฟังและระดมความคิดเห็นต่อ (ร่าง) แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 อีกครั้งในช่วงธันวาคม 2564 - มกราคม 2565 พร้อมทั้งปรับปรุงแผนพัฒนาฯ จากความเห็นที่ได้รับอีกครั้ง ก่อนนำเสนอต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คณะรัฐมนตรี และรัฐสภา ตามลำดับ ก่อนจะเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณา และทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศใช้ในเดือนตุลาคม 2565 ต่อไป

นายวิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ประเทศไทยต้องวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมควบคู่ไปพร้อมกับการมองจุดเปลี่ยน (Tipping Point) ของประเทศ โดยประเทศไทยมีเรื่องที่ผ่าน Tipping Point มาแล้วคือสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก ที่สร้างผลกระทบเป็นอย่างมากต่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งผลลัพธ์แสดงให้เห็นแล้วว่าประเทศไทยยังขาดการเตรียมตัวตั้งรับกับเหตุการณ์ดังกล่าวในหลายๆ ด้าน

ดังนั้นจะต้องมีการวางแผนตั้งรับต่อเหตุการณ์ที่อาจเกิด Tipping Point โดยประเทศไทยมี Tipping Point ที่กำลังจะเกิดขึ้นอยู่ 7 ปัญหาด้วยกัน คือ 1. ปัญหาขนาดของภาครัฐไทยที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ทำให้มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงมากขึ้น ส่งผลให้ต้องมีการใช้งบประมาณในส่วนของเจ้าหน้าที่ระดับสูงมากขึ้น ซึ่งกระทบต่อการใช้งบด้านอื่นๆ 2. ปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้ที่มีฐานะ และผู้ยากจน ที่เริ่มเห็นเส้นแบ่งทางสังคมมากขึ้น ทั้งการเข้าถึงการศึกษา การเข้าถึงโอกาสในการทำธุรกิจ SME ของรายใหญ่และรายเล็ก รวมถึงการเข้าถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนารายได้ 3. ความสามารถในการแข่งขันของหลายผลิตภัณฑ์ไม่อยู่ในการผลิตข้ามชาติ (Global Value) ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านเปิดการค้าแบบเสรี ส่งผลให้ไทยมีการลงทุนจากต่างประเทศลดลง 4. ความเห็นต่างของคนระหว่างรุ่นที่มีความขัดแย้งทางความคิด ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเดินหน้าของประเทศ 5. คุณภาพของระบบการศึกษาไทย โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในอนาคต 6. ความสามารถจากการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่มีผลต่อต้นทุนชีวิต และ 7. ปัญหาการคอรัปชั่นที่มีความรุนแรง และหลากหลายระดับในสังคมมาอย่างยาวนาน

ทั้งนี้ การวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจจะต้องให้น้ำหนักกับเรื่องที่มีความสำคัญก่อน ต้องมีการจัดลำดับความสำคัญที่สอดคล้องกับทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด และแก้ปัญหาที่ต้นเหตุด้วยหลักแนวคิดที่มั่นคง โดยควรมีการเปลี่ยนแปลงแนวคิดการเป็นศูนย์กลางในทุกๆ ด้าน เนื่องจากเป็นแนวคิดสมัยเก่าและไม่สอดคล้องกับบริบทของโลกที่ปัจจุบันโลกเริ่มเปลี่ยนแปลงไป และไม่จำเป็นต้องมีศูนย์กลางอีกต่อไป เช่นเทคโนโลยี หรือการขนส่ง เป็นต้น

ด้านนายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) กล่าวว่า การวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมทั้ง 13 หมุดหมาย จะต้องมีความสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน เนื่องจากทุกเรื่องจะมีความเชื่อมโยงและส่งผลกระทบต่อกัน รวมทั้งจะต้องมีการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนว่าต้องการวางแผนเพื่ออะไร โดยแผนนั้นจะต้องมีเป้าหมายที่ท้าทาย และเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยมากที่สุด (Thailand First) ซึ่งต้องมีการเปลี่ยนวิธีการตั้งเป้าหมายให้เป็นแบบ OKR (Objective key result) หรือวิธีการตั้งเป้าหมายเพื่อวัดผลความสำเร็จ รวมถึงต้องมีการจัดลำดับความสำคัญ และต้องมีการประเมินทิศทางตลาด (Market Timing) ว่าในขณะนั้นควรดำเนินงานในส่วนใดมากที่สุด

สำหรับยุทธศาสตร์ยานยนต์ไฟฟ้า ควรเน้นส่งเสริมการทำรถในเชิงพาณิชย์ก่อน เพื่อเป็นการสร้างอุตสาหกรรมพื้นฐานให้ประเทศ สอดคล้องกับการจัดลำดับความสำคัญ คือการทำโครงสร้างพื้นฐานให้แข็งแรงก่อน และค่อยกระจายนโยบบายไปยังส่วนอื่นๆ โดยต้องมีการวางแผนให้สอดคล้องกับอุปสงค์ และอุปทาน นอกจากนี้ ประเทศไทยต้องสร้างสินค้าสุดยอดของแต่ละจังหวัด (Product Champion) เพื่อส่งเสริมการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ และเทคโนโลยีของไทยให้สามารถแข่งขันกับนานาชาติได้ รวมทั้งต้องมีการสร้างสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ เพื่อให้เกิดการแข่งขันลงทุนในภาคเอกชนในทุกๆ ภาคธุรกิจ

น.ส.สุทธาภา อมรวิวัฒน์ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี อบาคัส จำกัด (SCB Abacus) กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการใช้ชีวิตประจำวัน และเป็นแนวทางการดำเนินธุรกิจของโลกในอนาคต แต่การใช้เทคโนโลยีในประเทศไทยได้สร้างความเหลื่อมล้ำค่อนข้างสูง ซึ่งรัฐมีความจำเป็นต้องแก้ปัญหาโดยการสร้างความมั่นคงพื้นฐานเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านประชาชน ที่จะต้องแก้ปัญหาด้วยแนวคิด เข้าถึง เข้าใจ และพัฒนา โดยจะต้องแก้ปัญหาที่ Asset หรือการใช้ให้เกิดประโยชน์ ด้วยการทำให้เข้าถึงกลุ่มคนที่เข้าถึงสินค้า และบริการเทคโนโลยี และ Abuse หรือการแก้ปัญหาการใช้เทคโนโลยีในทางที่ผิด เนื่องจากมีคนบางกลุ่มโดนผลักดันให้มีความจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยี แต่ไม่มีความรู้ในการป้องกันข้อมูล และสิทธิของตนเองมากเพียงพอ ซึ่งอาจเกิดผลเสียได้มหาศาล

2.ด้านพื้นที่กลางระบบโครงสร้างพื้นฐาน ที่มีปัญหาคือรายย่อยไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลของส่วนกลางได้เมื่อเทียบกับรายใหญ่ และ 3.ด้านกฎกติกาของภาครัฐ ที่ต้องได้รับการแก้ปัญหา เนื่องจากมีการออกกฎที่เอื้อต่อการดำเนินการของภาครัฐเอง หรือเอื้อต่อการดำเนินการของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมากเกินไป จึงอาจก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการดำเนินธุรกิจ และเกิดการแข่งขันที่ไม่เท่าเทียม ดังนั้นรัฐจึงมีความจำเป็นต้องกำหนดบทบาทของตนเองให้ชัดเจนมากขึ้น