สธ.เผยผู้ได้รับวัคซีนโควิด-19 เกิดผลข้างเคียง 270 ราย แต่ไม่ใช่อาการรุนแรง

นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า นับตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.64 จนถึงวันนี้มีผู้ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปแล้ว 17,697 ราย ประกอบด้วย บุคลากรทางการแพทย์/สาธารณสุข 15,981 ราย เจ้าหน้าที่อื่นที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 1,603 ราย ผู้ที่มีโรคประจำตัว 22 ราย และประชาชนในพื้นที่เสี่ยง 91 ราย ซึ่งพบผู้ที่เกิดอาการไม่พึงประสงค์ 270 ราย หรือคิดเป็น 1.5% แยกเป็น ปวดบวมที่ฉีด 24% คลื่นไส้ 15% เวียนศรีษะ 13% และปวดกล้ามเนื้อ 8%

"1 ใน 3 ของผู้รับวัคซีนโควิด-19 อาจพบอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้ แต่ไม่ใช่อาการรุนแรง ตามที่มีรายงานการฉีดวัคซีนในไทยเกิดผลข้างเคียงแค่ 1.5% ซึ่งถือว่าต่ำกว่าคาดหมาย" นพ.จักรรัฐ กล่าว

สำหรับกรณีแพทย์หญิงอายุ 28 ปีในจังหวัดสมุทรสาครนั้น ได้รับการฉีดวัคซีนเมื่อวันที่ 2 มี.ค.64 เวลา 11.40 น. จากนั้นเวลา 12.10 น.มีอาการเวียนศรีษะเล็กน้อยแต่ยังทำงานได้ เวลา 14.00 น.มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เวียนศรีษะ แต่ยังทำงานได้ เวลา 16.30 น.มีอาการเวียนศรีษะ แน่นหน้าอก เหงื่อออก ปลายมือปลายเท้าเย็น ความดันโลหิตตก หลังได้รับยาแล้วอาการดีขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังกลับไปสังเกตอาการที่ที่พักได้ถ่ายเหลว 4 ครั้ง วันที่ 3 มี.ค.64 อาการดีขึ้น ถ่ายเหลว 1 ครั้ง ใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ไม่ได้นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล เนื่องจากมีอาการข้างเคียงมากกว่าปกติ จึงได้นำเข้าสู่การพิจารณาของผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งมีความเห็นว่าเป็นอาการพึงประสงค์ชนิดไม่รุนแรง เนื่องจากสัญญาณชีพ ความดันเลือด อัตราการเต้นของหัวใจอยู่ในเกณฑ์ปกติ หลังเกิดอาการยังสามารถปฏิบัติงานได้ ส่วนอาการถ่ายเหลวอาจเป็นผลจากอาหารเป็นพิษ ส่วนประวัติการแพ้ยาเพนนิซิลลีนไม่น่าจะเกี่ยวข้อง

"ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้ให้ความเห็นตรงกันว่าอาจเป็นปฏิกิริยาจากวัคซีน แต่ไม่ใช่อาการรุนแรง" นพ.จักรรัฐ กล่าว

นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า สาเหตุของอาการไม่พึงประสงค์หลังได้รับวัคซีนอาจมาจากความกลัวการฉีดวัคซีน, มีโรคหรืออาการป่วยอื่นร่วมด้วย, ขณะนี้ฉีดวัคซีนมีความเย็นมากเกินไป เป็นต้น โดยอาการข้างเคียงจะพบน้อยลงเมื่อฉีดวัคซีนเข็มที่สอง แต่อาการปวดกล้ามเนื้อ อ่อนล้าอาจยังพบเมื่อฉีดเข็มที่สอง

ส่วนอาการข้างเคียงรุนแรง ได้แก่ มีไข้สูง, แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก, ปวดศรีษะรุนแรง, มีจุดเลือดออกจำนวนมาก, เป็นผื่นขึ้นทั้งตัว, อาเจียนมากกว่า 5 ครั้ง, ปากเบี้ยว กล้ามเนื้ออ่อนแรง, ชัก หมดสติ

สำหรับการเตรียมความพร้อมก่อนจะเข้ารับวัคซีน ได้แก่ ไม่ตั้งครรภ์ กำลังรักษาอาการป่วยรุนแรง มีอาการป่วยก่อนฉีดวัคซีน, ให้ประวัติเจ้าหน้าที่ก่อนฉีดวัคซีนหากเป็นผู้แพ้วัคซีนหรือยา, พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ควรงดอาหาร, ไม่ควรกินยาแก้ไข้หรือแก้ปวด เป็นต้น

"มีข่าวดีว่า วัคซีนของซิโนแวกที่เรากำลังใช้อยู่ มีผลทดลองระยะที่ 3 ในตุรกีมีประสิทธิภาพ 83.5%" นพ.จักรรัฐ กล่าว

นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศคงที่ แสดงถึงมาตรการควบคุมได้ดีทำให้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่อยู่ในระดับสองหลักต่อเนื่อง

สำหรับการควบคุมการระบาดเป็นกลุ่มก้อน เช่น ตลาดพรพัฒน์ จังหวัดปทุมธานี ขณะนี้สามารถควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว หลังดำเนินการคัดกรองเชิงรุก 12,066 ราย พบผู้ป่วยติดเชื้อรวม 527 ราย ส่วนกรณีผู้เข้าประกวดมิสแกรนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล ที่เดินทางมาจากประเทศเคนย่าและไนจีเรียนั้น สามารถตรวจพบขณะกักตัว จึงไม่ส่งผลกระทบต่อกองประกวดครั้งนี้ และหากรักษาอาการป่วยได้ทัน ก็สามารถเข้าร่วมการประกวดได้

ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบแนวทางควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในทวีปเอเชียจะพบว่าประเทศไทยสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ดีกว่าหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่นมีประชากร 126 ล้านคน มียอดผู้ป่วยสะสม 435,548 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 345 ต่อแสนคน, อินโดนีเซีย มีประชากร 271 ล้านคน มียอดผู้ป่วยสะสม 1,361,098 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 503 ต่อแสนคน, มาเลเซียมีประชากร 32 ล้านคน มียอดผู้ป่วยสะสม 307,943 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 964 ต่อแสนคน