(เพิ่มเติม) นายกฯ รับห่วงหลังยังพบผู้ติดเชื้อโควิดที่สมุทรสาคร/โชว์ผลตรวจไร้โควิด

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม พร้อมด้วยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย และตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล (Video Conference) จากตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ไปยังจังหวัดสมุทรสาคร ที่มีนายธีรพัฒน์ คัชรมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร, นพ.ธรรมวิทย์ เกื้อกูลเกียรติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกระทุ่มแบน, นพ.อนุกูล ไทยถานันดร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมุทรสาคร, นพ.พรเทพ พงศ์ทวิกร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านแพ้ว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

นายกรัฐมนตรี กล่าวยอมรับในที่ประชุมว่า มีความกังวลใจ หลังได้รับรายงานสถิติผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากการตรวจสอบคัดกรองที่มีอยู่ แต่ยังมีความเชื่อมั่นว่าการทำงานของภาครัฐที่ทำงานกันอย่างเต็มที่ ทั้งเสียสละและอดทน รวมถึงการดำเนินการตามมาตรการที่รัฐบาลกำหนดไว้อย่างดี เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้ผ่านพ้นไปให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นแรงงานต่างด้าว แรงงานเถื่อน หรือกลุ่มอื่น จะต้องไม่ให้มีการแพร่ระบาด รวมทั้งแสดงความเป็นห่วงอาการป่วยของผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ที่ขอชื่นชมการทำงานและให้กำลังใจมาตลอด

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ได้แสดงผลตรวจโควิด-19 ในช่วงเช้า เพื่อยืนยันว่า ยังปลอดภัยอยู่ ไม่พบว่าติดเชื้อโควิด-19 แต่อย่างใด และยังได้กำชับให้ผู้ปฏิบัติงานโดยเฉพาะที่อยู่หน้างานระมัดระวัง และย้ำว่านายกรัฐมนตรีเป็นห่วงทุกคน นอกจากนี้ ยังกำชับให้ตรวจสอบว่ายังมีการลักลอบใช้แรงงานผิดกฎหมายหรือไม่

ด้านนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยและได้สั่งการให้กองทัพช่วยเหลืออย่างเต็มที่ พร้อมทั้งแสดงความเป็นห่วงทั้งแรงงานต่างชาติและแรงงานไทยที่ไม่มีงานและไม่มีรายได้ในช่วงนี้ โดยขอให้จังหวัดประสานกับกระทรวงแรงงาน เร่งตรวจสอบตัวเลขแรงงานต่างชาติ ทั้งที่ถูกกฎหมายและที่ไม่ถูกกฎหมาย เพื่อจะได้ทราบตัวเลขที่แท้จริง รวมทั้งฝากจังหวัดและภาคเอกชนช่วยดูแลแรงงานเท่าที่จะทำได้ เช่น คงการจ้างงาน เพื่อให้ยังอยู่ได้โดยไม่ต้องออกจากพื้นที่ ลดความเสี่ยงการกระจายเชื้อไปพื้นที่อื่น

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้ขอบคุณและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่รวมทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครที่ทำงานอย่างเต็มที่ด้วยความเสียสละ ขอให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวังให้มากที่สุด เพราะยังพบผู้ติดเชื้อในพื้นที่อยู่มาก ซึ่งนายกรัฐมนตรีเองก็ระมัดระวังตนเองไม่ให้ป่วย โดยมีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 อยู่เสมอ เพราะยังมีงานอีกหลายเรื่องที่ต้องทำ พร้อมยืนยันว่า ขณะนี้นายกรัฐมนตรีปลอดภัยไม่มีเชื้อโควิด-19

สำหรับการเปิดตลาดกลางกุ้งในครั้งนี้ ต้องมีมาตรการควบคุมอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะจะต้องคัดกรองคนในพื้นที่ ผู้ซื้อ ผู้ขาย ผู้ขนส่ง รวมไปถึงชาวประมงที่นำเรือขึ้นฝั่งด้วย เพื่อลดความเสี่ยงไม่ให้เกิดการแพร่เชื้ออีก รวมทั้งอาจจัดตั้งให้มีตลาดกลางซื้อ-ขายสินค้าเพิ่มเติม เพื่อให้สินค้าอาหารทะเลสามารถกระจายไปได้มากขึ้น

ด้านนายธีรพัฒน์ คัชมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า ในพื้นที่ตลาดกลางกุ้ง มีแรงงานต่างชาติอาศัยอยู่ 2,847 ราย ได้มีการกักกันแยกไว้ที่โรงพยาบาลสนาม 1,547 ราย ซึ่งมีผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ด้วย ทำให้คนกลุ่มนี้ไม่สามารถแพร่เชื้อ และในวันที่ 22 ม.ค.64 จะตรวจหาเชื้อเพิ่มเติมอีกครั้ง หากพบผู้ติดเชื้อจะทำการคัดแยกมาที่โรงพยาบาลสนาม รวมทั้งมีกำหนดทำ Big Cleaning Day ในวันที่ 26 ม.ค.64 เพื่อให้ตลาดกลางกุ้งสามารถกลับมาเปิดดำเนินการได้อีกครั้งในวันที่ 27 ม.ค.64

ส่วนการจัดตั้งจุดคัดกรองทั้งทางบกและทางน้ำ ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี พร้อมกำชับประชาชนให้ใช้แอปพลิเคชัน "หมอชนะ" และ "ไทยชนะ" เพื่อบันทึกการเดินทาง ขณะเดียวกันจังหวัดสมุทรสาครยังคงใช้มาตรการปิดสถานที่เสี่ยงในหลายๆ แห่ง ยกเว้นสถานที่ที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ เช่น ร้านค้าปลีก โดยไม่ให้กระทบต่อการจ้างงาน แต่ยังอยู่ภายใต้มาตรการของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.)

ด้านภาพรวมสถานการณ์โควิด-19 ของจังหวัดสมุทรสาคร นับตั้งแต่การพบผู้ติดเชื้อครั้งแรกที่ตลาดกลางกุ้ง 1 ราย เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.63 และพบผู้ติดเชื้อเพิ่มจำนวนมากจนมีคำสั่งล็อกดาวน์ตลาดกลางกุ้ง เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.63 ถึงปัจจุบันนี้พบผู้ป่วยยืนยันสะสม 4,679 ราย ประกอบด้วยทั้งคนไทยและต่างด้าว รักษาหายแล้ว 3,059 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 1,619 ราย เสียชีวิต 1 ราย

สำหรับโรงพยาบาลสนาม หรือศูนย์ห่วงใยคนสาคร มีทั้งหมด 9 แห่ง มีเตียงรองรับ 3,620 เตียง พร้อมใช้งาน 5 แห่ง จำนวน 1,560 เตียง และใช้งานแล้ว 556 เตียง ยังคงเหลือที่สามารถใช้งานได้อีก 1,004 เตียง และยังมีโรงพยาบาลสนามเตรียมพร้อมอีก 4 แห่ง จำนวน 2,060 เตียง

พร้อมกับยืนยันว่า มีโรงพยาบาลและเตียงเพียงพอรองรับผู้ป่วยทั้งในปัจจุบันและอนาคต และยังได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนในพื้นที่จัดตั้งศูนย์ห่วงใยแรงงานสาคร Factory Quarantine ซึ่งมีทั้งหมด 15 แห่งด้วยกัน โดยพร้อมจะดูแลทั้งแรงงานไทยและแรงงานต่างชาติในพื้นที่