พาณิชย์ จับมือหน่วยงานภาครัฐ-เอกชนป้องกันละเมิดสิทธิช่องทางค้าออนไลน์

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ กล่าวภายหลังเป็นประธานลงนามบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) ว่าด้วยความร่วมมือในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาบนอินเทอร์เน็ต ระหว่างหน่วยงานต่างๆ ของกระทรวงพาณิชย์ เจ้าของสิทธิ์ และผู้ประกอบการแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ชื่อดังว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้จัดทำกรอบความร่วมมือการแก้ปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาบนเครือข่าวอินเตอร์เน็ตในรูปแบบของเอ็มโอยูร่วมกับเจ้าของสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา 20 หน่วยงาน ผู้ประกอบการ 3 แพลตฟอร์มชั้นนำ ได้แก่ ลาซาด้า, ช้อปปี้ และเจดี เซ็นทรัล พร้อมทั้งดึงกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และกรมส่งเสรมิการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการค้าออนไลน์มาร่วมด้วย

สาระสำคัญของเอ็มโอยูดังกล่าวมี 2 ส่วนคือ การระงับการจำหน่ายสินค้าละเมิดบนแพลตฟอร์มออนไลน์ และการเสริมสร้างองค์ความรู้ในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาให้แก่ผู้ค้าออนไลน์ ถือเป็นการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาบนอินเทอร์เน็ตที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน และความไว้วางใจของผู้บริโภคต่อการซื้อขายสินค้าออนไลน์ ซึ่งจะมีส่วนช่วยสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี ในการเพิ่มมูลค่าสินค้า และบริการของไทยได้

ด้านนายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้โพสต์ขายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาบนเครือข่ายอินเตอร์เน็ตมากขึ้น ทั้งที่เป็นแพลฟตอร์มขายสินค้า และสื่อโซเชียลต่างๆ เช่น เฟซบุ๊ก ไอจี ฯลฯ ซึ่งสร้างความเสียหายต่อธุรกิจของเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาเป็นอย่างมาก ดังนั้น เอ็มโอยูฉบับนี้จะเป็นความร่วมมือในการแก้ปัญหาดังกล่าว โดยเมื่อเจ้าของสิทธิ์พบการละเมิดบนอินเตอร์เน็ตจะสามารถแจ้งไปยังแพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อให้ดำเนินการกับผู้ค้าที่ขายสินค้าละเมิด หรืออาจถอดออกจากการเป็นผู้ค้าในแพลตฟอร์ม ซึ่งจะช่วยให้การละเมิดลดลงได้

"กรมทรัพย์สินทางปัญญาเชื่อมั่นว่าเอ็มโอยูฉบับนี้จะเป็นอีกก้าวสำคัญในการพัฒนาประสิทธิภาพในการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของไทยให้เข้มแข็ง ซึ่งจะมีส่วนผลักดันการค้าออนไลน์ให้เติบโตยิ่งขึ้นต่อไป นอกเหนือจากการบังคับใช้กฎหมายเพื่อจับกุมผู้กระทำละเมิด โดยปี 63 ดำเนินคดีกับผู้ละเมิดผ่านออนไลน์มากถึง 231 คดี ยึดของกลางที่เป็นสินค้าละเมิด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการละเมิดเครื่องหมายการค้าแบรนด์ดังๆ จากต่างประเทศ 44,953 ชิ้น ส่วนตั้งแต่ปี 61-63 ศาลสั่งให้ปิดกั้นเว็บไซต์ละเมิด ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งศาลได้มีคาสั่งแล้วกว่า 1,500 URLs" นายวุฒิไกร กล่าว