PPP เห็นชอบปรับปรุงแผนจัดทำโครงการร่วมลงทุนรัฐ-เอกชน ปี 63-70 กว่า 1 ล้านลบ.

นางปานทิพย์ ศรีพิมล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการ PPP) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เห็นชอบการปรับปรุงแผนการจัดทำโครงการร่วมลงทุน พ.ศ. 2563-2570 ตามมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 เพื่อให้สอดคล้องกับสถานะ และความพร้อมของแต่ละโครงการ รวมถึงสถานการณ์ปัจจุบัน

โดยในแผนการจัดทำโครงการ PPP ฉบับดังกล่าว มีรายการโครงการที่ประสงค์จะร่วมลงทุนทั้งหมดรวม 77 โครงการจาก 9 กระทรวง มูลค่าลงทุนรวมประมาณ 1 ล้านล้านบาท เป็นโครงการร่วมลงทุนในกลุ่มที่มีความสำคัญ และความจำเป็นเร่งด่วน (High Priority PPP Project) จำนวน 20 โครงการ มูลค่าลงทุนรวมประมาณ 503,153 ล้านบาท ทั้งนี้ แผนการจัดทำโครงการ PPP จะช่วยสร้างความสนใจและดึงดูดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุนภายใต้แผนดังกล่าว ลดข้อจำกัดการลงทุนจากเงินงบประมาณแผ่นดิน และเงินกู้จากภาครัฐ ตลอดจนสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ

แก่ประชาชนจากความรู้ ความเชี่ยวชาญ และนวัตกรรมของเอกชนอีกด้วย

นอกจากนี้ คณะกรรมการ PPP ยังได้ผลักดันโครงการในกลุ่ม High Priority PPP Project ที่อยู่ระหว่างการจัดทำหลักการของโครงการและรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ ให้ดำเนินการตามมาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ ปี 2562 โดยการตั้งคณะทำงานเพื่อให้ความเห็นต่อรายงานดังกล่าว เพื่อให้โครงการมีความพร้อมในการเสนอโครงการต่อคณะกรรมการ PPP ได้ตามแผนงาน จำนวน 4 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวม 163,052 ล้านบาท ได้แก่

1) โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน - ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) (รฟม.) (124,791 ล้านบาท) 2) โครงการพัฒนาและบริหารจัดการที่พักริมทาง (Rest Area) บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน - นครราชสีมา (กรมทางหลวง) (1,606 ล้านบาท) 3) โครงการพัฒนาและบริหารจัดการที่พักริมทาง (Rest Area) บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่ - กาญจนบุรี (กรมทางหลวง) (1,454 ล้านบาท) 4) โครงการระบบขนส่งมวลชน จังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต - ห้าแยกฉลอง (รฟม.) (35,201 ล้านบาท)

รวมทั้งได้มุ่งเน้นการส่งเสริมให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการที่ตอบสนองกับทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในด้านต่างๆ เช่น ด้านสาธารณสุข ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านโลจิสติกส์ เป็นต้น ตลอดจนการกระจายการลงทุนและพัฒนาโครงการโครงสร้างพื้นฐานไปสู่ภูมิภาค

นางปานทิพย์ กล่าวด้วยว่า คณะกรรมการ PPP ได้เห็นชอบหลักเกณฑ์การพิจารณาความสำคัญของโครงการร่วมลงทุน

ที่มีมูลค่าตั้งแต่ 1,000 - 5,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยให้การดำเนินโครงการในกลุ่มข้างต้นภายใต้ พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ ปี 2562 มีกรอบแนวทางในการพิจารณาที่มีความชัดเจน และช่วยให้การดำเนินโครงการโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะมีความคล่องตัว และเป็นไปตามแผนที่กำหนด