รมว.คมนาคม ขีดเส้นรฟท.ปรับแผนบริหารสถานีกลางบางซื่อใหม่ กำชับต้องไม่ขาดทุน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังการลงพื้นที่ตรวจความพร้อมในการเปิดเดินรถ โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ที่สถานีกลางบางซื่อ และทดสอบการเดินรถจากบางซื่อ-ตลิ่งชันว่า ได้ให้นโยบายในการบริหารพื้นที่สถานีกลางบางซื่อ จะต้องมีรายได้มากกว่ารายจ่าย นโยบายจะให้เปิด PPP หาเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนบริหารการเดินรถและบริหารสถานีกลางบางซื่อ แต่ยังมีขั้นตอนคาดว่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 3 ปี ดังนั้นในช่วงแรกปี 64-67 ประมาณ 4 ปี รฟท.จะบริหารเองไปก่อน

โดยตามแผนที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เสนอ จะมีค่าบริหารจัดการ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าทำความสะอาด ค่ารักษาความปลอดภัย ค่าซ่อมบำรุง รวม 4 ปี ประมาณ 1,440 ล้านบาท ขณะที่พื้นที่ของสถานีที่จะนำมาบริหารเชิงพาณิชย์ 5% (39,000 ตรม.) จะมีรายได้ประมาณ 267 ล้านบาทเท่านั้น หรือขาดทุนมาก ดังนั้นจึงยังไม่สามารถยอมรับและนำไปสู่การปฏิบัติได้

รมว.คมนาคม กล่าวว่า จากที่สถานีกลางบางซื่อลงทุนไปกว่า 30,000 ล้านบาท เปิดแล้วขาดทุนคงไม่ได้ จึงให้รฟท.กลับไปทำแผนใหม่ ปรับการใช้พื้นที่เป็น Smart Station โดยต้องปฎิบัติตามกฎหมาย มีหลักธรรมาภิบาล โดยรฟท.ต้องไปหาทางสร้างรายได้ให้ได้ประมาณ 400 ล้านบาทต่อปี เพื่อให้เพียงพอกับค่าใช้จ่าย โดยให้เวลารฟท. 1 สัปดาห์ในการจัดทำ และเสนอแผนใหม่ให้กระทรวงพิจารณา

นอกจากนี้จะต้องพิจารณาจัดสรรพื้นที่ภายในสถานีกลางบางซื่อไว้สำหรับกลุ่มสินค้าโอทอปให้เข้ามาใช้พื้นที่สร้างประโยชน์อย่างยั่งยืนร่วมกันทั้งสองฝ่าย ภายใต้หลัก Profit Sharing หรือแบ่งปันกำไรกัน และเลือกผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย ตรงนี้จะมีการคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือก ซี่งให้รฟท. ร่วมกับกรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย และกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดตั้งศูนย์จำหน่ายและกระจายสินค้าโอทอป เพื่อส่งเสริมการสร้างงาน และสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนในท้องถิ่น โดยตั้งเป้าหมายเปิดให้บริการได้ภายในเดือนก.ค.64

ส่วนการเดินรถจาก บางซื่อ-ตลิ่งชัน ระยะทาง 15 กม. มีจำนวน 3 สถานี คือ บางซื่อ-บางบำหรุ-ตลิ่งชัน ซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 15 นาที เร็วกว่าถนนที่ใช้เวลา ประมาณ 1 ชั่วโมง จะเป็นทางเลือกในการเดินทางของประชาชน แต่เนื่องจากโครงสร้างต่างๆ มีการก่อสร้างเสร็จมากว่า 5 ปีแล้ว ดังนั้นก่อนการเปิดเดินรถในเชิงพาณิชย์เดือน พ.ย. 64 รฟท.จะต้องมีการซ่อมบำรุง ให้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพในการเดินรถ โดยใช้เวลาซ่อมบำรุง 4 เดือน (ม.ค.-เม.ย.64)

ในช่วงแรกโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน มีกำหนดการทดสอบระบบ และทดสอบการเดินรถเสมือนจริง เริ่มช่วงเดือนมี.ค. 64 ให้แล้วเสร็จก่อนเปิดให้ประชาชนทดลองใช้รถไฟฟ้าในเดือนก.ค. 64 จากนั้นกำหนดเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการ ในเดือนพ.ย.64 โดยประมาณการอัตราค่าโดยสารจะคิดตามระยะทาง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ค่าแรกเข้าไม่เกิน 14 บาท และค่าโดยสารตลอดเส้นทางถึงรังสิต ไม่เกิน 42 บาท และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ค่าแรกเข้าไม่เกิน 14 บาท และค่าโดยสารตลอดเส้นทางถึงตลิ่งชัน ไม่เกิน 42 บาท เช่นกัน อีกทั้งในอนาคตจะพัฒนาระบบตั๋วโดยสารร่วม เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่ใช้บริการด้วย

ส่วนสถานีรถไฟหัวลำโพง นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า เป้าหมายคือ เมื่อเปิดเดินรถสายสีแดง เดือนพ.ย. 64 จะต้องไม่มีขบวนรถไฟทางไกลวิ่งเข้าสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) อีกแล้ว จากแผนที่รฟท.เสนอ ว่ายังมีการเดินรถไฟเข้าสถานีหัวลำโพงไปจนถึงปี 66 ซึ่งตนเห็นว่า รฟท.สามารถปรับให้เป็นไปตามเป้าหมายได้ ทั้งนี้หากมีข้อจำกัด ความจำเป็นที่จะต้องเดินรถบางขบวนเข้าหัวลำโพง จะให้ปรับตารางเวลาเดินรถที่จำเป็น วิ่งเข้าหัวลำโพงช่วงระหว่าง 22.00 น.-04.00น. เท่านั้น เพื่อไม่ให้กระทบต่อการจราจร ที่เป็นจุดตัดกับถนน

นอกจากนี้ ให้รฟท.ไปคิดว่า เส้นทางเข้าหัวลำโพง เมื่อไม่มีรถไฟวิ่งไปแล้วจะนำมาปรับปรุงเพื่อใช้ประโยชน์ให้ประชาชนได้อย่างไร เช่น ทำเป็นทางวิ่งสำหรับออกกำลังกาย ส่วนพื้นที่ข้างทางจะปรับปรุงเพื่อพื้นที่ค้าขาย โดยมีการจัดระเบียบให้เรียบร้อย และสะอาด เป็นต้น ส่วนสถานีหัวลำโพง จะปรับปรุงเป็นแลนด์มาร์กและสามารถเลี้ยงตัวเองได้ และรักษาพร้อมกับการพัฒนา ทั้งนี้ ได้ให้รฟท.ไปศึกษาว่าทำอย่างไรมีรายได้มากกว่ารายจ่าย

"เรื่องนี้ให้ประธานบอร์ดรฟท. ,ผู้ว่าฯรฟท. และปลัดคมนาคม รับไปดำเนินการ ให้ได้ข้อสรุปและทำแผนใหม่ภายใน 30 วัน เพื่อตัดสินใจ และเสนอนายกรัฐมนตรี เช่น จัดหาระบบขนส่งมวลชนอื่น รับผู้โดยสารเข้ามา ซึ่งอาจจะเป็นรถขสมก. หรือรถไฟฟ้าสายต่างๆ ทำแผนบูรณาการกัน เพื่อแก้ปัญหา เป็นโจทย์ที่ให้รฟท.ไปทำแผนมา เน้นจะต้องไม่ตัดการจราจรได้อย่างไร" รมว.คมนาคมกล่าว

ส่วนการบริหารพื้นที่รอบสถานีกลางบางซื่อ จำนวน 2,325 ไร่ ซึ่งมีแบ่งออกเป็น 9 แปลงนั้น เบื้องต้น รฟท.ยืนยันว่า 5 แปลงแรก คือ แปลง A, E, G, D, B จะสามารถออกเงื่อนไข RFP เปิดประมูลได้ในปี 64 ซึ่งจะมีทั้งการพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัย สำนักงาน ศูนย์การค้า เป็นคอมมูนิตี้ ครบวงจรได้ในพื้นที่ ส่วน อีก 4 แปลงคือ แปลง C, F, H, I ซึ่ง ยังไม่มีความพร้อมเนื่องจากต้องย้ายโรงซ่อมรถจักรบางซื่อ สถานีขนส่งหมอชิต ให้รฟท.เร่งไปทำไทม์ไลน์การดำเนินการรื้อย้ายหรือการจัดการพื้นที่ เพื่อกำหนดการประมูล เพื่อให้พื้นที่ 4 แปลงหลัง ได้ตัวผู้พัฒนาในช่วงเวลาที่ต่อเนื่องจาก 5 แปลงแรก