*(เพิ่มเติม) คลัง เปิดลงทะเบียนเว็บ เราชนะ 29 ม.ค.-12 ก.พ.,คนละครึ่งรอบเก็บตก 20 ม.ค.

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบโครงการเราชนะ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือด้วยการลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยจะสนับสนุนวงเงินช่วยเหลือให้แก่ประชาชน จำนวนประมาณ 31.1 ล้านคน วงเงินไม่เกิน 3,500 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 2 เดือน สำหรับเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2564 วงเงินโครงการรวม 210,200 ล้านบาท

คาดว่าจะสามารถเริ่มสนับสนุนวงเงินให้แก่ผู้ได้รับสิทธิในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 โดยวงเงินช่วยเหลือเพื่อลดภาระค่าครองชีพดังกล่าว จะก่อให้เกิดการนำไปใช้เพื่อการใช้จ่ายสำหรับการอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคที่จำเป็น และค่าใช้จ่ายสำหรับการเดินทาง อันจะก่อให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไปในคราวเดียวกัน

การพิจารณาคัดกรองผู้ได้รับสิทธิจะพิจารณาจากความสามารถด้านรายได้ การมีระบบคุ้มครองทางสังคม และความช่วยเหลือจากภาครัฐที่ได้รับไปแล้วเป็นสำคัญ ซึ่งความช่วยเหลือจะครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่มอาชีพ เช่น ผู้ประกอบอาชีพอิสระ หาบเร่ แผงลอย รับจ้าง เกษตรกร เป็นต้น โดยผู้ได้รับสิทธิ์จะต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้

1. เป็นผู้มีสัญชาติไทย อายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ณ วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการฯ

2. ไม่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม ทั้งที่มีคุณสมบัติครบและไม่ครบตามเงื่อนไขการได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากสำนักงานประกันสังคม ณ วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการฯ

3. ไม่เป็นข้าราชการ พนักงานราชการ พนักงาน ลูกจ้าง เจ้าหน้าที่ หรือผู้ปฏิบัติงานอื่นใดในหน่วยงานของรัฐที่ได้รับค่าตอบแทนจากหน่วยงานของรัฐโดยตรง ณ วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการฯ ทั้งนี้ หน่วยงานของรัฐให้หมายความถึงหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561

4. ไม่เป็นข้าราชการการเมืองตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการการเมือง พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ณ วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการฯ

5. ไม่เป็นผู้รับบำนาญปกติหรือเบี้ยหวัดจากส่วนราชการ

6. ไม่เป็นผู้มีเงินได้พึงประเมินเกิน 300,000 บาท ตามฐานข้อมูลที่มีล่าสุด

7. ไม่มีเงินฝากรวมกันทุกบัญชีเกิน 500,000 บาท ตามฐานข้อมูลที่มีล่าสุด

นายอาคม กล่าวว่า เพื่อความรวดเร็วในการให้ความช่วยเหลือและบรรเทาภาระค่าของชีพให้แก่ประชาชนได้ทันต่อสถานการณ์ ภาครัฐจะคัดกรองและตรวจสอบข้อมูลกลุ่มที่มีฐานข้อมูลอยู่แล้วเป็นอันดับแรก ได้แก่ กลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และกลุ่มผู้ที่มีแอปพลิเคชัน "เป๋าตัง" ที่ได้ให้ความยินยอมให้นำข้อมูลไปประมวลผลหรือเปิดเผยเพื่อดำเนินมาตรการอื่น ๆ ของรัฐได้ สำหรับผู้ที่ไม่ได้อยู่ในฐานข้อมูลดังกล่าวสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ผ่านเว็บไซต์ www.เราชนะ.com ได้ตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม - 12 กุมภาพันธ์ 2564 ในช่วงเวลา 06.00 - 23.00 น.

"โครงการเราชนะ จะมีเป้าหมายกว้างกว่าโครงการคนละครึ่ง ครอบคลุมผู้ที่มีอาชีพรับจ้าง อาชีพอิสระ ผู้มีรายได้น้อย ทั้งหาบเร่แผงลอย รับจ้าง เกษตรกร...จะให้สิทธิผ่านแพลตฟอร์ม แอปพลิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือทั้งหมด เพื่อให้เกิดความสะดวกรวดเร็วในการรับโอนเงินจากรัฐบาล ลดภาระแบบปีที่แล้ว ที่ต้องมีการมาเข้าคิวกดเงินสดที่ตู้เอทีเอ็ม โดยจะโอนเงินเข้าแอป เป๋าตัง" รมว.คลังระบุ

อย่างไรก็ดี เนื่องจากโครงการเราชนะ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือด้วยการลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน ภาครัฐจึงเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถสะสมวงเงินช่วยเหลือและสามารถใช้จ่ายได้จนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2564 โดยรูปแบบการจ่ายเงินจะมีลักษณะเป็นการจ่ายรายสัปดาห์ เพื่อให้เกิดการกระจายการใช้จ่ายในแต่ละช่วงเวลาได้ ทั้งนี้ ภาครัฐจะดำเนินการจ่ายเงินให้แก่ผู้ได้รับสิทธิ์ในรูปแบบของวงเงินช่วยเหลือผ่าน 3 ช่องทาง ดังนี้

1. กลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะได้รับวงเงินช่วยเหลือตลอดระยะโครงการฯ ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยแบ่งเป็น

1.1 กลุ่มที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท/ปี ได้รับอยู่แล้ว 800 บาท/เดือน จะได้วงเงินช่วยเหลือเพิ่มอีก 675 บาท/สัปดาห์ (หรือ 2,700 บาท/คน/เดือน) วงเงินต่อคนตลอดระยะโครงการฯ จำนวน 5,400 บาท

1.2 กลุ่มที่มีรายได้เกิน 30,000 แต่ไม่เกิน 100,000 บาท/ปี ได้รับอยู่แล้ว 700 บาท/เดือน จะได้วงเงินช่วยเหลือเพิ่มอีกคนละ 700 บาท/สัปดาห์ (หรือ 2,800 บาท/คน/เดือน) วงเงินต่อคนตลอดระยะโครงการฯ จำนวน 5,600 บาท

ทั้งนี้ กลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะได้รับวงเงินช่วยเหลือทุก ๆ วันศุกร์ของแต่ละสัปดาห์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป หรือจนกว่าจะครบวงเงิน

2. กลุ่มผู้ที่มีแอปพลิเคชัน "เป๋าตัง" ที่ได้ให้ความยินยอมให้นำข้อมูลไปประมวลผลหรือเปิดเผยเพื่อดำเนินมาตรการอื่น ๆ ของรัฐได้ (กลุ่มผู้ที่มีแอปพลิเคชัน "เป๋าตัง") ที่ผ่านการคัดกรองคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนดจะได้รับวงเงินช่วยเหลือผ่านระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์โดยภาครัฐ (g-Wallet) แอปพลิเคชัน "เป๋าตัง" เป็นรายสัปดาห์ จำนวน 1,000 บาทต่อสัปดาห์ วงเงินต่อคนตลอดระยะโครงการ (หรือจนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2564) จำนวน 7,000 บาท

ทั้งนี้ กลุ่มผู้ที่มีแอปพลิเคชัน "เป๋าตัง"ฯ สามารถเข้าตรวจสอบสิทธิผ่านเว็บไซต์ www.เราชนะ.com ได้ตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 และจะเริ่มได้รับวงเงินช่วยเหลือทุก ๆ วันพฤหัสบดีของแต่ละสัปดาห์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป หรือจนกว่าจะครบวงเงิน

3. กลุ่มผู้ที่ไม่มีข้อมูลอยู่ในระบบฐานข้อมูลกลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและกลุ่มผู้ที่มีแอปพลิเคชัน "เป๋าตัง"ฯ (กลุ่มผู้ที่ไม่มีข้อมูลฯ) หลังจากลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.เราชนะ.com และผ่านการคัดกรองตามเกณฑ์ที่กำหนด จะต้องยืนยันตัวตนผ่านระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์โดยภาครัฐ (g-Wallet) แอปพลิเคชัน "เป๋าตัง" ก่อน จึงจะได้รับวงเงินช่วยเหลือเป็นรายสัปดาห์ จำนวน 1,000 บาทต่อสัปดาห์ วงเงินต่อคนตลอดระยะโครงการ (หรือจนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2564) จำนวน 7,000 บาท

ทั้งนี้ กลุ่มผู้ที่ไม่มีข้อมูลฯ สามารถตรวจสอบสิทธิผ่านเว็บไซต์ www.เราชนะ.com ได้ตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564 และจะเริ่มได้รับวงเงินช่วยเหลือทุก ๆ วันพฤหัสบดีของแต่ละสัปดาห์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป หรือจนกว่าจะครบวงเงิน

อย่างไรก็ดี กลุ่ม 2 และ 3 จะได้รับเงินโอนเข้าช้ากว่ากลุ่ม 1 ดังนั้น รัฐบาลจะทบต้นโดยโอนให้ในงวดแรก 2,000 บาท

สำหรับผู้ได้รับสิทธิตามโครงการฯ สามารถใช้วงเงินช่วยเหลือได้ที่ (1) ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ (2) ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง และ (3) ร้านค้าและผู้ให้บริการที่มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการเราชนะ ทั้งนี้ สำหรับร้านค้าและผู้ให้บริการที่สนใจสามารถลงทะเบียนผ่าน www.เราชนะ.com ตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม - 31 มีนาคม 2564

"ผู้ที่ได้รับสิทธิตามโครงการเราชนะ สามารถนำไปใช้ซื้อสินค้าตามร้านค้าที่ได้สิทธิเข้าโครงการ เช่น ร้านธงฟ้าประชารัฐ ร้านที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่งอยู่แล้ว รวมทั้งใช้จ่ายในค่าบริการขนส่ง เช่น แท็กซี่ วินมอร์เตอร์ไซค์ ที่ได้ลงทะเบียนเป็นผู้ให้บริการในโครงการเราชนะ...เมื่อโอนเงินเข้าไปแล้ว ระยะเวลาการใช้งานจะมากกว่าคนละครึ่ง โดยยืดให้ถึง 31 พ.ค.64 เมื่อเงินอยู่ในกระเป๋า ก็ต้องวางแผนการใช้งานให้ดี" รมว.คลังกล่าว

ส่วนโครงการคนละครึ่ง ในรอบเก็บตกจากเฟส 1 และเฟส 2 ซึ่งยังมีสิทธิเหลืออีก 1.34 ล้านสิทธินั้น จะเริ่มเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ คนละครึ่ง.com ได้ตั้งแต่เวลา 06.00 น. ของวันที่ 20 ม.ค.64 โดยเริ่มใช้สิทธิซื้อสินค้าได้ตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค.64 ซึ่งเงื่อนไขต่างๆ ยังเหมือนเดิม เพียงแต่ก่อนจะใช้สิทธิต้องรอรับ SMS แจ้งยืนยันก่อน

นายอาคม ประเมินว่า คนละครึ่ง มีกระแสเงินสดหมุนเวียนเฟสละ 6 - 7 หมื่นล้านบาท แต่โครงการเราชนะ รัฐบาลจ่ายฝ่ายเดียว ดังนั้น เม็ดเงิน 2.1 แสนล้านบาทใช้ได้ถึง พ.ค.64 ซึ่งเงินจะหมุนเวียนไปในระบบเศรษฐกิจ คาดว่ามีผลต่อ GDP ราว 0.5-0.6% และถ้ารวมกับโครงการคนละครึ่งแล้ว ก็จะได้ราว 1%

"จะเกิดการหมุนเวียนแบบเศรษฐกิจชาวบ้าน เป็นกำลังซื้อสำคัญ ตอนนี้เศรษฐกิจเรา ดีมานด์จากต่างประเทศยังไม่มา โดยเฉพาะการท่องเที่ยว หากการบริโภคที่เข้าไปกระตุ้น จะทำให้มีการใช้จ่ายมากขึ้น เราต้องกระตุ้นการบริโภคต่างประเทศให้มากขึ้น" รมว.คลังระบุ

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม.เห็นชอบให้เปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการ คนละครึ่ง รอบใหม่นี้ โดยจะให้ผู้ที่ถูกตัดสิทธิ์เนื่องจากไม่ใช้จ่ายภายใน 14 วัน ในโครงการคนละครึ่งระยะที่ 1 และโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 2 สามารถลงทะเบียนในรอบใหม่นี้ได้ หากยังมีจำนวนสิทธิเหลือ

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า การเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการฯ ครั้งนี้ ไม่กระทบหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการดำเนินโครงการในส่วนอื่นๆ ของโครงการระยะที่ 1 และระยะที่ 2 และไม่กระทบต่อแหล่งเงินดำเนินโครงการ ซึ่งเบิกจ่ายภายใต้วงเงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ ประกอบด้วย วงเงินกู้สำหรับโครงการ ฯ ระยะที่ 1 จำนวน 30,000 ล้านบาท และวงเงินกู้สำหรับโครงการ ฯ ระยะที่ 2 จำนวน 22,500 ล้านบาท รวมวงเงิน 52,500 ล้านบาท

โดยวันพรุ่งนี้ (20 ม.ค.) กระทรวงการคลังจะนำสิทธิที่เหลือของโครงการคนละครึ่ง และโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 2 จำนวนรวม 1.34 ล้านสิทธิ เปิดให้ประชาชนลงทะเบียนเพิ่มเติมผ่านเว็บไซต์ www.คนละครึ่ง.com ระหว่างเวลา 06.00 น. - 23.00 น. จนกว่าจะครบจำนวน โดยการลงทะเบียนรอบเพิ่มเติมนี้ ผู้ที่ถูกตัดสิทธิโครงการคนละครึ่ง และโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 2 จากการไม่ใช้สิทธิภายใน 14 วัน สามารถลงทะเบียนได้

ด้านน.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบผู้ได้รับสิทธิเบื้องต้นในกรอบที่ ครม.เห็นชอบ 31.1 ล้านคนนั้น เบื้องต้นจะมีผู้ที่ได้รับสิทธิแน่นอน คือ ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 13.8 ล้านคน โดยไม่ต้องทำอะไรเลย คลังจะตรวจสอบสิทธิและโอนเงินรอบแรกในวันที่ 5 ก.พ.64 ให้สัปดาห์ละ 675 และ 700 บาท

ส่วนกลุ่มผู้ที่มีแอปพลิเคชัน เป๋าตัง จะคิดจากฐานข้อมูล 16.8 ล้านคน โดยจะคัดกรองตามเกณฑ์ 7 ข้อ และจะเปิดให้ตรวจสอบสิทธิวันที่ 5 ก.พ. โดยเงินสัปดาห์แรกวันที่ 18 ก.พ. ให้ 2,000 บาท จากนั้นจะโอนต่อสัปดาห์ละ 1,000 บาท

ส่วนกลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มที่ไม่ได้อยู่ในฐานข้อมูล ซึ่งเกษตรกรสามารถมาลงทะเบียนในกลุ่มนี้ได้ ผ่านเว็บไซด์ www.เราชนะ.com ในวันที่ 29 ม.ค.64-12 ก.พ.64 และตรวจสอบสิทธิได้ในวันที่ 8 ก.พ.2564 โดยโอนเงิน โดยเงินสัปดาห์แรกวันที่ 18 ก.พ. ให้ 2,000 บาท จากนั้นจะโอนต่อสัปดาห์ละ 1,000 บาท จนครบ 7,000 บาท เช่นเดียวกัน

น.ส.กุลยา กล่าวว่า จากข้อมูลประชากร 66 ล้านคน คัดกรองผู้ไม่เข้าเกณฑ์ตามวิธี Negative Lists พบว่า มีกลุ่มที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี 14 ล้านคน, กลุ่มเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐ 3.7 ล้านคน, กลุ่มแรงงานในระบบ ตามมาตรา 33 อีก 11.1 ล้านคน, กลุ่มผู้มีเงินฝากเกิน 5 แสนบาท 1.7 ล้านคน และกลุ่มผู้มีเงินได้พึงประเมินเกิน 3 แสนบาท ที่ 4.4 ล้านคน จึงเหลือผู้ที่เข้าเกณฑ์รับเงินเยียวยา 31.1 ล้านคน