*In Focus: วิกฤตการเมืองเมียนมา บททดสอบความเป็นเอกภาพในอาเซียน

สถานการณ์การเมืองในเมียนมาหลังจากที่กองทัพได้ก่อการรัฐประหาร ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนครบหนึ่งเดือนเต็มดูเหมือนจะยิ่งร้อนระอุขึ้นพอๆ กับสภาพอากาศในช่วงนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งรัฐบาลทหารเริ่มใช้กำลังเข้าปราบปรามประชาชนที่ออกมาชุมนุมต่อต้านการครอบครองอำนาจของกองทัพ โดยมีรายงานว่าในวันอาทิตย์เพียงวันเดียวมีผู้ประท้วงเสียชีวิตไปอย่างน้อย 18 คน และบาดเจ็บอีกหลายสิบ จากการที่ทหารใช้กระสุนจริงเข้าสลายการชุมนุมในหลายเมืองใหญ่ทั่วประเทศ ทั้งย่างกุ้ง ทวาย และมัณฑะเลย์ เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นดังกล่าว ได้ทำให้นานาชาติหันกลับมาตั้งคำถามกับประชาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ซึ่งเป็นเวทีความร่วมมือระดับภูมิภาคที่เมียนมาเป็นหนึ่งในสมาชิก ถึงการออกมาแสดงบทบาทเพื่อคลายวิกฤตให้จบลงโดยเร็วก่อนจะสร้างความเสียหายบานปลายจนยากจะแก้ไข


*อาเซียนเสียงแตก บ้างกังวล อีกส่วนบอกเป็นเรื่องภายใน

นับจากการลงนามร่วมกันในปฏิญญากรุงเทพเมื่อปี 2510 ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของประชาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันความร่วมมือดังกล่าวหรือที่รู้จักกันในชื่อ "อาเซียน" มีสมาชิกเพิ่มขึ้นจาก 5 ประเทศผู้ก่อตั้งมาเป็น 10 ประเทศ ความท้าทายสำคัญที่อาเซียนต้องเผชิญมาตลอดก็คือ ความหลากหลายในหมู่ประเทศสมาชิกที่มีระบอบการปกครอง สังคม และวัฒนธรรมแตกต่างกัน "การไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน" จึงเป็นหนึ่งในรากฐานสำคัญที่สมาชิกยึดถือไว้เพื่อสร้างเสถียรภาพและรักษาความสัมพันธ์ฉันท์มิตรระหว่างกัน ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ท่าทีของอาเซียนต่อเมียนมาที่เรามองเห็นนั้นดูจะราบเรียบไปสักนิด แม้แต่แถลงการณ์ของประธานอาเซียนอย่างบรูไน ก็ยังมีน้ำเสียงที่ประนีประนอม รอมชอม แบบบัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่น โดยร้องให้ทุกฝ่ายหันมาพูดคุยกันด้วยความยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตย นิติรัฐ ธรรมาภิบาล การเคารพ ปกป้องสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าภายใต้หลักการไม่แทรกแซงซึ่งกันและกันแล้ว ประเทศสมาชิกอาเซียนที่เป็นเพื่อนบ้านใกล้ชิดตั้งอยู่รายล้อมเมียนมาจะแสดงท่าทีที่โอนอ่อนต่อการกระทำของกองทัพเมียนมาไปทั้งหมด และในครั้งนี้ก็กลายมาเป็นอินโดนีเซียที่ออกมาเป็นตัวตั้งตัวตีแสดงความเคลื่อนไหวอย่างชัดเจนด้วยการเรียกร้องให้เพื่อนสมาชิกจัดการประชุมวาระเร่งด่วนเพื่อคลายวิกฤตในเมียนมา ทั้งยังส่งรัฐมนตรีต่างประเทศมาร่วมหารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐบาลทหารพม่าที่กรุงเทพฯ เมื่อเดือนที่แล้วด้วย

ขณะเดียวกันสิงคโปร์ก็เป็นอีกประเทศที่ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อการก่อรัฐประหารของเมียนมาเป็นประเทศแรกๆ โดยกระทรวงต่างประเทศสิงคโปร์ได้ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลอย่างมากต่อสถานการณ์ในเมียนมา และหวังว่าทุกฝ่ายจะใช้ความอดกลั้นต่อสถานการณ์ดังกล่าว พร้อมทั้งแสดงจุดยืนไม่สนับสนุนการคว่ำบาตรอย่างเหวี่ยงแหเพราะจะส่งผลกระทบต่อประชาชน เช่นเดียวกับเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียที่ได้ออกแถลงการณ์ผ่านกระทรวงต่างประเทศในลักษณะที่คล้ายกันว่า ต้องการให้ทุกฝ่ายในเมียนมาหาทางแก้ปัญหาเรื่องการเลือกตั้งอย่างสันติ และหันหน้ามาเจรจากันเพื่อเลี่ยงผลกระทบเชิงลบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน

ทางด้านฟิลิปปินส์และกัมพูชาดูเหมือนจะสงวนท่าทีมากกว่าบรรดาประเทศที่กล่าวมาข้างต้น โดยในช่วงแรกฟิลิปปินส์ได้ออกมาแถลงถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในเมียนมาว่า ฟิลิปปินส์ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของชาวฟิลิปปินส์ที่อาศัยอยู่ในเมียนมา และมองว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นกิจการภายในของเมียนมาที่ไม่ควรเข้าไปแทรกแซง ก่อนจะออกมาแสดงความกังวลต่อการรัฐประหาร และเรียกร้องให้มีการแก้ปัญหาวิกฤตในครั้งนี้อย่างสันติวิธีในภายหลัง ขณะที่กัมพูชานั้นย้ำจุดยืนที่ชัดเจนมาตั้งแต่ต้นว่า จะไม่เข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของเมียนมาตามหลักการของอาเซียน


*ไทยยึดหลักไม่แทรกแซง แนะถอยคนละก้าวเป็นทางออกสู่สันติภาพในเมียนมา

สำหรับประเทศไทยนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ออกมาพูดถึงจุดยืนของไทยต่อสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศเมียนมา หลังจากที่มีการทำรัฐประหารว่า จุดยืนของไทยจะยึดตามแนวทางของอาเซียน ในขณะที่นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ก็ออกมาเน้นย้ำถึงจุดยืนตามแถลงการณ์ของประธานอาเซียน

อย่างไรก็ตาม บทบาทของไทยต่อสถานการณ์ในเมียนมาต้องถูกจับตาอีกครั้ง เมื่อสื่อหลายสำนักออกมารายงานในทิศทางเดียวกันว่า นายวันนะ หม่อง ลวิน รัฐมนตรีต่างประเทศที่ได้รับการแต่งตั้งจากกองทัพเมียนมา ได้เดินทางมายังประเทศไทย เมื่อวันที่ 24 ก.พ. ที่ผ่านมา โดยได้เข้าคารวะนายกรัฐมนตรี และมีการหารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศไทย ร่วมกับนางเร็ตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศของอินโดนีเซียซึ่งได้เดินทางมายังประเทศไทยในเวลาเดียวกันด้วย

การมาเยือนไทยครั้งนี้ ซึ่งนับเป็นการเยือนต่างประเทศครั้งแรกของรัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมานับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารขึ้นในประเทศ ได้ส่งผลให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาเป็นอย่างมาก ทั้งจากฝ่ายที่มองว่าเป็นความพยายามในการร่วมกันแก้วิกฤตของสมาชิกกลุ่มอาเซียน และอีกฝ่ายที่มองเป็นการแสดงถึงการยอมรับการยึดอำนาจของกองทัพเมียนมา ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศของไทยก็ได้ออกมาเปิดเผยในภายหลังว่า การพบกันระหว่างนายดอน และนางมาร์ซูดี ได้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับการส่งเสริมความร่วมมือในภูมิภาคโดยมีอาเซียนเป็นแกนกลางและเห็นพ้องกันถึงบทบาทที่สำคัญของอาเซียนในการส่งเสริมเสถียรภาพและสันติภาพในภูมิภาค นอกจากนี้ ไทยและอินโดนีเซียมีความเห็นสอดคล้องกันว่าเมียนมาเป็นประเทศสมาชิกที่สำคัญของครอบครัวอาเซียนและอาเซียนสามารถเป็นเวทีการหารืออย่างสร้างสรรค์ระหว่างเมียนมากับประเทศสมาชิกอื่นๆ ได้ โดยคำนึงถึงหลักการของกฎบัตรอาเซียนและประโยชน์ของประชาชนเมียนมา

ขณะเดียวกัน เมื่อวานนี้ก่อนเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีอาเซียน นายดอนก็ได้ออกมากล่าวถึงจุดยืนของอาเซียนต่อสถานการณ์ในเมียนมาอีกครั้ง โดยระบุว่า "ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ในประเทศเมียนมาในขณะนี้ มีหลายเรื่องมากที่บรรดาประเทศสมาชิกต้องมาร่วมกันหารือ เพราะพวกเราไม่อยากเห็นเหตุการณ์บานปลายไปมากกว่านี้ อยากให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในเมียนมาถอยกันคนละก้าว มิฉะนั้น จะทำให้การหาจุดบรรจบที่จะไปสู่ทางออกนั้นทำได้ยาก ดังนั้นต้องขอให้มีการถอยคนละก้าวเพื่อนึกถึงประโยชน์ของประเทศและประชาชนของเมียนมาเอง รวมถึงผลประโยชน์ที่มีต่อภูมิภาคอาเซียน ต้องคิดถึงหลายมุม จะไปคิดแค่มุมใดมุมหนึ่งไม่เพียงพอ"


*10 ชาติสมาชิกร่วมถก ผ่าทางตันเมียนมา

หลังจากที่มีการจัดเจรจา 3 ฝ่ายที่กรุงเทพฯ ระหว่างนายวันนะ หม่อง ลวิน, นางเร็ตโน มาร์ซูดี และนายดอน ปรมัติวินัยเมื่อวันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา ในที่สุดรัฐมนตรีต่างประเทศของกลุ่มอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ รวมถึงนายวันนะ หม่อง ลวิน รัฐมนตรีต่างประเทศที่ได้รับการแต่งตั้งจากกองทัพเมียนมา ก็ตกลงที่จะจัดประชุมนัดพิเศษเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในเมียนมาผ่านทางวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ร่วมกันเมื่อวานนี้ แต่การประชุมดังกล่าวก็ถูกตั้งข้อสงสัยอีกว่าที่ประชุมมีการหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงหรือประณามกองทัพเมียนมา โดยแถลงการณ์ที่เผยแพร่ออกมาหลังการประชุมได้ระบุเอาไว้เพียงว่า กลุ่มรัฐมนตรีแสดงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมาและเรียกร้องให้ทุกฝ่ายละเว้นจากการยั่วยุให้เกิดความรุนแรงมากขึ้น และขอให้ทุกฝ่ายใช้ความอดกลั้นให้ถึงที่สุด รวมไปถึงใช้ความยืดหยุ่นอย่างเต็มที่ พร้อมทั้งเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องหาทางออกอย่างสันติผ่านทางการเจรจาที่สร้างสรรค์ และประนีประนอมกันเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน

อย่างไรก็ดี ระหว่างการประชุมออนไลน์เมื่อวานนี้ อินโดนีเซียได้ขอให้เมียนมาเปิดประตูรับอาเซียน ที่พร้อมให้ความช่วยเหลือเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ให้เข้าสู่ภาวะปกติ โดยยังคงยึดมั่นต่อหลักการไม่แทรกแซงซึ่งกันและกันเอาไว้ ขณะเดียวกัน นายฮิชามมมุดดิน ฮุสเซน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของมาเลเซีย ก็ได้เรียกร้องให้รัฐบาลทหารปล่อยตัวนางออง ซาน ซูจี และผู้ถูกจับกุมทางการเมืองคนอื่นๆ ในทันที พร้อมกับเตือนว่าหากสถานการณ์ในเมียนมาเลวร้ายลง จะกระทบกระเทือนต่อสันติภาพ ความมั่นคง และความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคนี้

สิ่งหนึ่งที่เห็นได้จากการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่เพิ่งจะเสร็จสิ้นไปก็คือ แนวคิดที่ยังคงเห็นต่างในหมู่ชาติสมาชิก โดยบางประเทศยังยืนยันให้เป็นเรื่องภายในของเมียนมา ขณะที่บางส่วนออกมาแสดงความกังวลและต้องการให้เมียนมาจัดการตัวเองให้เร็ว หากจะพูดกันตรงๆ การก่อรัฐประหารที่เมียนมา ในความเป็นจริงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไรเลย มิหนำซ้ำยังเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่ากับหลายประเทศในภูมิภาคแห่งนี้ แม้หลักการไม่แทรกแซงซึ่งกันและกันจะมีวัตถุประสงค์ในการประนีประนอมเพื่อสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประเทศสมาชิก ทว่าท่ามกลางบริบทของโลกที่ได้เปลี่ยนไปแล้ว ต้องไม่ลืมว่าความมั่นคงภายในของแต่ละประเทศคือความมั่นคงของภูมิภาค ดังคำเน้นย้ำที่ระบุไว้แถลงการณ์จากที่ประชุมวานนี้ว่า "เสถียรภาพและความมั่นคงทางการเมืองของสมาชิกอาเซียนทุกประเทศคือ กลไกสำคัญอันจะนำไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียนที่สันติสุข เป็นปึกแผ่น และรุ่งเรือง"