ภาวะตลาดเงินบาท: ปิด 34.76 อ่อนค่าตามทิศทางตลาด ติดตามตัวเลข GDPQ1/65 ไทยสัปดาห์หน้า

          นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ 34.76 บาท/ดอลลาร์ ปรับตัวอ่อนค่าจาก
เปิดตลาดเมื่อเช้าที่ระดับ 34.70 บาท/ดอลลาร์ เนื่องจากดอลลาร์แข็งค่าหลังมีแรงซื้อในตลาดโลก ระหว่างวันเงินบาทเคลื่อนไหวใน
กรอบ 34.67 - 34.78 บาท/ดอลลาร์
          "บาทอ่อนค่าตามทิศทางตลาดโลก ระหว่างวันทำนิวไฮในรอบ 5 ปีที่ระดับ 34.78 บาท/ดอลลาร์" นักบริหารเงิน กล่าว
          นักบริหารเงินประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันอังคารไว้ที่ 34.70 - 34.85 บาท/ดอลลาร์
          เนื่องจากสุดสัปดาห์นี้เป็นวันหยุดยาวอาจมีปัจจัยที่ส่งผลให้ค่าเงินบาทผันผวน ซึ่งต้องติดตาม ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยพันธบัตร
สหรัฐ ราคาน้ำมัน ราคาทองคำ ค่าเงินคริปโทเคอร์เรนซี และวันอังคาร สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภา
พัฒน์ จะมีการประกาศตัวเลข GDP ไตรมาสแรกของปี 65 ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2%
          
          * ปัจจัยสำคัญ  

          - เงินเยนอยู่ที่ระดับ 128.86 เยน/ดอลลาร์ จากเมื่อเช้าที่ระดับ 128.74 เยน/ดอลลาร์
          - เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.0383 ดอลลาร์/ยูโร จากเมื่อเช้าที่ระดับ 1.0378 ดอลลาร์/ยูโร
          - ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,584.38 จุด ลดลง 0.14 จุด, -0.01% มูลค่าการซื้อขาย 75,432.41 ล้านบาท
          - สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติขายสุทธิ 1,063.71 ล้านบาท (SET+MAI)
          - สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกของปี 2565 
และแนวโน้มปี 2565 ในสัปดาห์หน้า
          - รมว.คลัง เข้าร่วมการประชุม รมว.คลัง และผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน+3 (ASEAN+3 Finance Ministers’ 
and Central Bank Governors’ Meeting: AFMGM+3) ที่ประชุมฯ ได้รับทราบรายงานภาวะเศรษฐกิจโลกและภูมิภาค จากผู้แทน 
IMF ADB และ AMRO ซึ่งต่างเห็นพ้องว่าเศรษฐกิจโลกและภูมิภาคอาเซียน+3 ยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง สืบเนื่องจากการดำเนิน
มาตรการที่ตรงเป้าหมาย เพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และนโยบาย
การสนับสนุนการฟื้นตัว รวมทั้งการเพิ่มของอัตราการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในภูมิภาค
          - รัฐบาลฮ่องกงเปิดเผยข้อมูลในวันนี้ว่า เศรษฐกิจของฮ่องกงในไตรมาสแรกของปี 2565 หดตัว 4% จากช่วงเดียวกันของปี
ก่อนหน้า นับเป็นการสิ้นสุดการฟื้นตัว 4 ไตรมาสติดต่อกัน เนื่องจากฮ่องกงบังคับใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่
เข้มงวด 
          - นักเศรษฐศาสตร์ คาดธนาคารกลางจีน (PBOC) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะกลาง (MLF) ระยะ 1 ปีในวันจันทร์
หน้า (16 พ.ค.) ซึ่งเป็นวันที่จีนจะเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจหลายรายการ โดยอัตราดอกเบี้ย MLF ถือเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของจีน
          - ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้ออกมาระบุในวันนี้ว่า ยังไม่ถึงเวลาที่ BOJ จะปรับลดขนาดนโยบายผ่อนคลายการ
เงิน เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจในญี่ปุ่นนั้น "แตกต่างอย่างสิ้นเชิง" เมื่อเทียบกับสหรัฐและยุโรป ทำให้หนุนมุมมองว่า BOJ จะยังคงใช้
นโยบายผ่อนคลายการเงินต่อไป แม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และธนาคารกลางในยุโรปจะเริ่มกลับมาใช้นโยบายการเงินตามปกติ
เพื่อสกัดเงินเฟ้อ โดยความเป็นไปได้ของการใช้นโยบายการเงินที่แตกต่างกันดังกล่าวทำให้เงินเยนอ่อนค่าลง
          - นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ญี่ปุ่นจะให้ความช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาในการรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-
19 คิดเป็นมูลค่า 5 พันล้านดอลลาร์