กยศ. เตรียมแจงข้อมูลผลกระทบวุฒิสภา หลังสภาฯ ผ่านกม.ใหม่ยกเลิกดอกเบี้ยกู้-ปรับ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยถึงกรณีสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ฉบับที่ … โดยมีสาระสำคัญให้ ยกเว้นดอกเบี้ยกู้ยืมเหลือ 0% และไม่คิดค่าปรับผิดนัดชำระ โดยไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน และให้มีผลย้อนหลังผู้กู้ยืมเงินและผู้ค้ำประกันทุกราย ว่า ในฐานะ รมว.คลัง คงไม่ขอแสดงความเห็น เนื่องจากร่างกฎหมายดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากสภาไปแล้ว โดยกองทุน กยศ. จะต้องไปทำแผนบริหารเงินกองทุนในอนาคตตามร่างกฎหมายใหม่ ที่มีความแตกต่างในส่วนดอกเบี้ยและเบี้ยปรับที่จะหายไปทั้งหมด จากเดิมที่จะมีรายได้ส่วนนี้มาเป็นทุนหมุนเวียนเพื่อใช้ปล่อยกู้ต่อไป

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะมี/ไม่มีดอกเบี้ยการกู้ยืม หรือมี/ไม่มีเบี้ยปรับก็ตาม แต่วินัยทางการเงินยังคงเป็นเรื่องสำคัญ แม้ว่าจะมีการร่างกฎหมายใหม่ แต่วินัยทางการเงินของลูกหนี้ กยศ.จะต้องเหมือนเดิม ต้องชำระคืนเงินต้นตามกำหนด ซึ่งขณะนี้ยังไม่เห็นรายละเอียดกฎหมาย ถ้ากองทุนฯ มีความต้องการใช้เงินมากขึ้น เงินชำระคืนก็ต้องมากขึ้น แต่ถ้าลูกหนี้ไม่ชำระ ก็ไม่มีเงินกลับมา สภาพคล่องของกองทุนฯ ก็จะไม่มี เพราะถ้ามีดอกเบี้ย ก็จะมีความคล่องตัว

“คลังจะต้องมีการอุดหนุนงบประมาณเพื่อช่วยเหลือ กยศ. เพิ่มเติมหรือไม่หลังกฎหมายมีผลบังคับใช้นั้น จะต้องประเมินสภาพคล่องในอนาคต และความต้องการใช้เงินก่อน ว่ามีเงินชำระหนี้กลับมาเข้ามามากน้อยแค่ไหน” รมว.คลัง กล่าว

ด้านนายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการ กยศ. เปิดเผยว่า กยศ.เตรียมชี้แจงในชั้นคณะกรรมาธิการ วุฒิสภา ถึงผลกระทบจากปรับเปลี่ยนรายละเอียดเบี้ยปรับและการคิดดอกเบี้ยกู้ยืม จากเดิมที่เคยเสนอให้ลดเพดานคิดอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมไม่เกิน 2% และคิดเบี้ยปรับไม่เกิน 1% แต่ในชั้นพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ผ่านความเห็นชอบให้ลดเหลือ 0% โดยจะชี้แจงถึงบทบาทของ กยศ. ซึ่งที่ผ่านมาตั้งแต่ตั้งกองทุน 20 ปี ได้รับเงินงบประมาณอุดหนุน 4 แสนล้านบาท แต่ปัจจุบันไม่ได้รับเงินงบประมาณ และเป็นกองทุนหมุนเวียนที่มีความยั่งยืน

ทั้งนี้ จากงบประมาณที่ได้รับสนับสนุน สามารถปล่อยกู้ให้ได้รับการศึกษากว่า 6.9 แสนล้านบาท คิดเป็นลูกหนี้จำนวน 6.2 ล้านราย โดยปิดบัญชีไปแล้ว 1.6 ล้านราย เสียชีวิต 6.7 หมื่นราย อยู่ระหว่างการศึกษายังไม่ต้องชำระหนี้ 1 ล้านราย อยู่ระหว่างการชำระหนี้ 3.5 ล้านราย ซึ่งในจำนวนนี้ มีผู้ผิดนัดชำระหนี้กว่า 2.5 ล้านราย คิดเป็นมูลหนี้ 9 หมื่นล้านบาท อยู่ในชั้นการฟ้องร้องหลายแสนราย ขณะเดียวกัน กองทุนสามารถปล่อยกู้รายใหม่ได้ปีละ 4 หมื่นล้านบาท และรับชำระคืนปีละ 3 หมื่นล้านบาท โดยล่าสุดปี 2565 มีการชำระคืนแล้ว 2.7 หมื่นล้านบาท ไม่ได้ต่ำกว่าปีที่ผ่านมา

“กยศ. จะเอาข้อเท็จจริงทั้งหมดไปชี้แจงคณะกรรมธิการวุฒิสภาอีกครั้ง และหากมีความเห็นไม่ตรงกับสภาผู้แทนราษฎร ตามกระบวนการก็จะตีกลับกฎหมายไปที่ชั้นสมาชิกสภาผู้แทนฯ และต้องมีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมอีกครั้ง ซึ่งประเด็น การยกเว้นดอกเบี้ย และเบี้ยปรับ ขณะนี้มีการถกเถียงกันอย่างมาก และมีความเห็นหลายฝ่ายที่ต้องมาพิจารณาให้รอบคอบ” ผู้จัดการ กยศ.กล่าว

นายชัยณรงค์ กล่าวว่า กรณีที่จะต้องมีการคืนดอกเบี้ย และเบี้ยปรับให้กับผู้ที่ชำระไปก่อนหน้านี้นั้น จะต้องพิจารณารายละเอียดตามกฎหมาย ซึ่งยอมรับว่าทำได้ยาก เพราะมีการปล่อยกู้มานาน หากต้องจ่ายดอกเบี้ยคืนจริง ก็จะต้องกู้มาใช้คืน โดยปัจจุบัน กองทุนฯ มีรายได้จากดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ เฉลี่ยปีละ 6 พันล้านบาท ขณะที่มีต้นทุนในการบริหารจัดการกองทุน ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ประมาณปีละ 2 พันล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้ กองทุน กยศ.อยู่ได้ด้วยเงินทุนหมุนเวียน รุ่นพี่ชำระหนี้คืนตรงเวลา เพื่อนำไปปล่อยกู้ให้โอกาสกับรุ่นน้อง ซึ่งขณะนี้ ยังมีเงินกองทุนอยู่หลายหมื่นล้านบาท ยังเพียงพอเป็นหลักประกันทางการศึกษาให้กับทุกครอบครัว

“คิดในแง่ดี กฎหมายใหม่ที่กำหนดให้ไม่มีดอกเบี้ย และเบี้ยปรับ อาจจะกระตุ้นให้ลูกหนี้รีบคืนเงินต้น ซึ่งเงินกองทุนจะเพียงพอหรือไม่ ทุกอย่างอยู่ที่รุ่นพี่ จะให้โอกาสรุ่นน้องหรือเปล่า” นายชัยณรงค์ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ก.ย. 65)

Tags: , ,
Back to Top