คลัง-EXIM BANK ชี้ช่องผู้ประกอบการไทย รุกตลาด-ลงทุนในเวียดนามหลังยุคโควิด

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวในงานสัมมนา “Vietnam in Focus 2022 : The Dream Journey” ว่า โลกในยุค Next Normal หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย ถือเป็นโอกาสใหม่ทางธุรกิจที่จะเริ่มกลับมาพร้อมกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะในตลาดใหม่อย่างเวียดนาม ซึ่งถือเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับ 4 ของไทย รองจากสหรัฐอเมริกา จีน และญี่ปุ่น

ทั้งนี้ การค้าระหว่างไทยกับเวียดนามมีการพัฒนาการดีอย่างก้าวกระโดด โดยมูลค่าการค้าโดยรวมระหว่างไทยกับเวียดนามในปี 2564 อยู่ที่ 2 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ เติบโต 20% จากปี 63 ซึ่งในจำนวนนี้เป็นการส่งออกจากไทยไปเวียดนามถึง 12,500 ล้านดอลลาร์ เติบโต 12.3%

ขณะเดียวกัน รัฐบาลเวียดนามยังมีนโยบายส่งเสริมการค้าเสรีและการลงทุนจากต่างประเทศ ทำให้เวียดนามเป็นแหล่งลงทุนเป้าหมายสำคัญของนักลงทุนต่างชาติ รวมทั้งไทยซึ่งเป็นนักลงทุนรายใหญ่อันดับ 8 ในเวียดนาม ผู้ประกอบการจึงควรขยายความร่วมมือกับเวียดนาม ไม่ว่าจะเป็นการค้าขายระหว่างประเทศ หรือการลงทุนร่วมกัน

“ตลาดเวียดนาม ถือเป็นโอกาสที่สำคัญของผู้ประกอบการไทย โดยควรมองหาโอกาสเพิ่มเติม นอกจากการค้าขายสินค้าเพียงอย่างเดียว โดยภาคบริการถือเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการไทยมีความเข้มแข็ง และมีขีดความสามารถ ทั้งภาคการท่องเที่ยว โรงแรม วัฒนธรรม และซอฟท์พาวเวอร์ ซึ่งไทยมีประสบการณ์และเชี่ยวชาญ จึงต้องพาสิ่งที่เรามีความเข้มแข็งออกไปเปิดตัวสู่ภูมิภาคให้มากขึ้น นอกเหนือจากการสร้างการเติบโตภายในประเทศ แต่ยังต้องแสวงหาประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากประเทศอื่น ๆ ในลักษณะคู่ค้า เพื่อสร้างรายได้กลับเข้ามาในประเทศไทย” นายอาคม กล่าว

รมว.คลัง กล่าวว่า รัฐบาลไทยพร้อมส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ทั้งในมิติการค้า-การลงทุนระหว่างประเทศ รวมทั้งมิติการเงิน-การคลัง ผ่านการสนับสนุนของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ที่ทำหน้าที่เชิงรุกในการพัฒนา ให้ความรู้ สร้างความเชี่ยวชาญผ่านเครื่องมือทางการเงิน และเครือข่ายพันธมิตร เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการไทยเข้าถึงโอกาสใหม่ ๆ ในตลาดการค้าโลก

ตลอดจนขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy) ของไทย เชื่อมโยงกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับภูมิภาคในกรอบความร่วมมือภายใต้อาเซียนและความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (APEC)

ด้านนายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวว่า ที่ผ่านมา ธนาคารได้ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการไทยเข้าไปอยู่ใน Supply Chain ธุรกิจ BCG ของเวียดนาม สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลเวียดนามที่ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนอย่างจริงจัง โดยปัจจุบันโครงการลงทุนในเวียดนามภายใต้การสนับสนุนของ EXIM BANK คิดเป็นมูลค่า 17,300 ล้านบาท ในหลากหลายธุรกิจ อาทิ โรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด และปิโตรเคมี เป็นต้น

สำหรับผลการดำเนินงานของ EXIM BANK ณ สิ้นเดือน ส.ค.65 มียอดคงค้างสินเชื่อโครงการระหว่างประเทศ 67,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยธนาคารฯ ได้สนับสนุนธุรกิจไทยไปสู่กลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) และตลาดใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยช่วง 8 เดือนแรกของปี 65 (ม.ค.-ส.ค.) ธนาคารฯ มีสินเชื่อคงค้าง CLMV และตลาดใหม่ อยู่ที่ 53,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นสินเชื่อคงค้างในเวียดนาม 14,900 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 55.4%

นางสุภาพร สุขมาก ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) และอัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการพาณิชย์) ณ นครโฮิจิมินห์ ประเทศเวียดนาม กล่าวว่า ในช่วงหลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลายแล้ว ประชาชนในเวียดนามต่างให้ความใส่ใจและคำนึงถึงเรื่องสุขอนามัยมากขึ้น รวมถึงกระแสรักสุขภาพ จึงทำให้กลุ่มธุรกิจหรือสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพได้รับความนิยมต่อเนื่อง เช่น ถุงมือยาง, แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อโรค, อาหารเพื่อสุขภาพ เป็นต้น และกลุ่มสินค้าและธุรกิจประเภทนี้มีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่องในตลาดเวียดนาม

นอกจากนี้ พฤติกรรมของผู้บริโภคเวียดนามในช่วงระบาดของโควิด มีการใช้จ่ายซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์มากขึ้น โดยมีสัดส่วนมากถึง 50% และยอมรับว่า e-Commerce ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ซึ่งทำให้เห็นแนวโน้มการเปลี่ยนไปสู่สังคมไร้เงินสดมากขึ้น

นางสุภาพร กล่าวด้วยว่า ตลาดเวียดนามที่มีประชากรกว่า 100 ล้านคน มีความพิเศษตรงที่เป็นทั้งตลาดผู้ผลิต และตลาดผู้บริโภค และกำลังจะกลายเป็น Middle Class Income โดยมีประชากรในกลุ่มวัยทำงานมากกว่า 50% ซึ่งมีความพร้อมที่จะจับจ่ายใช้สอยเพื่อตอบสนอง life style เป็นโอกาสที่ธุรกิจต่างๆ มองเห็นช่องทางนี้ จึงทำให้เป็นตลาดที่มีทั้งโอกาสและการแข่งขันสูง ดังนั้นหากธุรกิจใดที่ต้องการจะเข้ามาแล้วประสบความสำเร็จในตลาดเวียดนาม จำเป็นต้องศึกษาตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภคมาอย่างดี

อย่างไรก็ดี ทัศนคติของชาวเวียดนามที่มีต่อสินค้าไทยถือว่าเป็นในทิศทางที่ดี เนื่องจากชาวเวียดนามมองว่าสินค้าจากไทยเป็นสินค้าที่มีคุณภาพดี ดังนั้นการที่สินค้าไทยได้รับการยอมรับแล้ว นอกเหนือไปจากนั้น ผู้ประกอบการก็จะต้องมีการปรับกลยุทธ์และเรียนรู้ตลาด และพฤติกรรมของผู้บริโภคในเวียดนามอย่างเข้าใจ เพื่อให้สามารถประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจในเวียดนามได้

ทั้งนี้ ได้แนะนำแนวทางสำหรับผู้ประกอบการไทย ที่จะสร้างโอกาสประสบความสำเร็จในตลาดเวียดนาม คือต้องมี 3 รู้ ดังนี้

1. รู้เขา คือเรียนรู้พฤติกรรมของผู้บริโภค แต่ประชาชนในแต่ละภาคมีพฤติกรรมการผู้บริโภคสินค้าที่แตกต่างกัน เช่น ภาคเหนือ จะค่อนข้างมี Brand Royalty ในขณะที่ภาคใต้ ผู้บริโภคกลับชื่นชอบที่จะได้ทดลองสินค้าใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนไป

2. รู้เรา ว่าควรวาง position ของสินค้าในตำแหน่งใด รู้จักคู่แข่ง เพื่อให้สามารถเจาะตลาดได้ตรงเป้าหมาย

3. รู้จักปกป้องตัวเอง โดยเฉพาะความเสี่ยงในการทำธุรกิจจากปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ เช่น ความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยน

ด้านนายนิกรเดช พลางกูร เอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม กล่าวว่า ประเทศเวียดนาม ถือเป็น Middle Power หรือเป็นประเทศอำนาจระดับกลาง ถัดมาจากลุ่ม G20 เนื่องจากจำนวนประชากรที่มากว่า 100 ล้านคน อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) สูงกว่าระดับ 7% เป็นประเทศที่มีการผสมผสานนโยบาย และสามารถมองหาจุดยืนในสิ่งที่จะเป็นประโยชน์กับประเทศได้เสมอ ซึ่งแม้ที่ผ่านมา ประเทศมหาอำนาจจะมีปัญหาขัดแย้งกันไม่ว่าจะเป็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน หรือสงครามระหว่างประเทศรัสเซีย-ยูเครน แต่เวียดนามก็เป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบน้อยมาก สามารถอยู่รอด และไม่ตกเป็นเหยื่อของความขัดแย้งใดๆ

“ถ้าต้องการจะรู้ว่าเวียดนามจะไปทางไหน ไม่มีคำตอบ เพราะเวียดนามเหมือนเป็น Swing State เขาจะไม่ตกเป็นเหยื่อของความขัดแย้ง สามารถ balance ได้ดี หาจุดยืนที่ตัวเองจะได้รับประโยชน์ได้เสมอ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งระหว่างสหรัฐ-จีน หรือความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ก็แทบจะไม่มี effect ใดกับเวียดนาม หรือมีก็น้อย” นายนิกรเดช กล่าว

พร้อมระบุว่า เวียดนาม ยังเป็นตลาดสำรองที่น่าสนใจสำหรับประเทศมหาอำนาจ จากพื้นฐานความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ ผ่านมุมมองจากองค์กรระดับชาติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารโลก (World Bank) ที่ประมาณการเติบโตเศรษฐกิจของเวียดนามในปีนี้ไว้ถึง 7.5% ส่วนปี 66 คาดจะเติบโตได้ 6.7% มูดี้ส์จัดอันดับเวียดนามเพิ่มจาก Ba3 เป็น Ba2 ซึ่งถือเป็นประเทศเดียวในเอเชียแปซิฟิกที่มูดี้ส์ปรับเพิ่มอันดับให้ ขณะที่ค่าเงินดองของเวียดนาม ถือว่ามีเสถียรภาพอยู่ในอันดับที่ 2 รองจากดอลลาร์ฮ่องกง

นายนิกรเดช กล่าวด้วยว่า รัฐบาลเวียดนามยังได้ประกาศผ่านในหลายเวทีว่าต้องการจะผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว ผ่านการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดอย่างจริงจัง โดยตั้งเป้าที่จะเป็น Net Zero ในปี 2593 ขณะเดียวกัน เวียดนามเป็นประเทศที่มีความต้องการใช้พลังงานสูงมาก แต่การจัดหาในประเทศยังไม่เพียงพอ ดังนั้นจึงเป็นที่มาว่าเหตุใดนักลงทุนไทยรายใหญ่ๆ ด้านพลังงานหมุนเวียนจึงนิยมเข้าไปลงทุนในเวียดนาม อย่างไรก็ดี ต้องจับตาดูแผน PDP8 ของเวียดนามว่าจะออกมาอย่างไร

นอกจากนี้ เวียดนามยังมีนโยบายสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งจะเห็นว่าในปี 64 เศรษฐกิจดิจิทัลเติบโตถึง 31% ธุรกิจสตาร์ทอัพของเวียดนาม สามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติถึง 1,300 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าในรอบ 1 ปี โดยปัจจุบันเวียดนามมีธุรกิจสตาร์ทอัพราว 3,800 ราย และเป็นยูนิคอร์น 4 บริษัท เกี่ยวกับธุรกิจเกมส์ออนไลน์ ธุรกิจ e-Commerce ธุรกิจ e-Payment และ e-Wallet โดยประมาณการว่าเศรษฐกิจดิจิทัลของเวียดนามจะใหญ่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2568

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ก.ย. 65)

Tags: , , ,
Back to Top