ก.เกษตรฯ-พาณิชย์ ชูสินค้าสำคัญผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ขยายตลาดผู้บริโภค

นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิตว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบแผนงานกิจกรรมที่จะดำเนินการในปีงบประมาณ 2565 ของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต ทั้ง 4 คณะ ได้แก่

1. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการสร้างข้อมูลจากฐานเดียวกัน (Single Big Data) โดยได้วางแผนดำเนินโครงการ/มาตรการ/กิจกรรม ในการเผยแพร่แดชบอร์ดสินค้าเกษตรที่ร้อยเรียงตลอดห่วงโซ่การผลิต และระบบเตือนภัย (Warning) จำนวน 3 สินค้า ในปี 2565 ได้แก่ ข้าว ปาล์มน้ำมัน และยางพารา รวมถึงการศึกษาแนวทางความเป็นไปได้ในการจัดทำแดชบอร์ดพืชแห่งอนาคต (Future crop) ที่ไทยมีศักยภาพ รวมถึงสินค้ากลุ่มประมง และปศุสัตว์

2. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการสร้างแพลตฟอร์มกลาง “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” จะดำเนินการต่อยอดผลักดันสินค้าเกษตร สินค้าประมง และสินค้าปศุสัตว์ที่มีศักยภาพ จากกลุ่มสหกรณ์ กลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน จำนวน 80 ราย (เพิ่มขึ้น 1 เท่าตัว) ขึ้นจำหน่ายบนแพลตฟอร์ม Thaitrade.com สำหรับจำหน่ายสินค้าไปยังต่างประเทศ จำนวน 10 ราย และ Phenixbox.com สำหรับจำหน่ายสินค้าภายในประเทศ จำนวน 70 ราย พร้อมทั้งการจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ ในระยะที่ 2

3. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการสร้างความเชื่อมั่นด้านคุณภาพ มาตรฐานความปลอดภัยและการตรวจสอบย้อนกลับ โดยวางแผนดำเนินโครงการ/มาตรการ/กิจกรรม ในการดำเนินการยกระดับและพัฒนาศักยภาพกลุ่มเกษตรกรต้นแบบ โดยจัดทำโครงการเพื่อยกระดับและพัฒนาศักยภาพกลุ่มเกษตรกรต้นแบบ แบ่งกลุ่มเป้าหมายตามชนิดสินค้า ดังนี้ ข้าว 2 กลุ่ม และทุเรียน 1 กลุ่ม

4. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาคนและผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของตลาด โดยมีแผนการดำเนินงานในปี 2565 จำนวน 10 โครงการ 1 มาตรการ ภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนการพัฒนาคนและผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของตลาด ปี 2564-2568 มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาคนให้สามารถผลิตสินค้าเกษตรได้ตรงตามความต้องการของตลาด และพัฒนากระบวนการผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของตลาด โดยใช้ BCG Economy Model เป็นกลไกในการพัฒนา

ทั้งนี้ มีเป้าหมายสินค้า 4 ประเภท ได้แก่ 1) ผลิตภัณฑ์สินค้าข้าว พืชไร่ และพืชสวน 2) ผลิตภัณฑ์สินค้าผลไม้ 3) ผลิตภัณฑ์สินค้าปศุสัตว์ และ 4) ผลิตภัณฑ์สินค้าประมง มีผู้เข้าร่วมโครงการฯ ประกอบด้วย เกษตรกรและกลุ่มเกษตรกร ผู้ประกอบการ ผู้บริโภคและผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร นักวิชาการและเจ้าหน้าที่ รวมทั้งสิ้น 41,850 ราย งบประมาณทั้งสิ้น 188,623,378 บาท

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ยังรับทราบผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต ปี 2564 ที่ผ่านมาของทั้ง 4 คณะ ได้แก่

1. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการสร้างข้อมูลจากฐานเดียวกัน (Single Big Data) ได้ดำเนินการจัดทำแดชบอร์ดสินค้าเกษตรที่ร้อยเรียงตลอดห่วงโซ่การผลิต พร้อมระบบเตือนภัย (Warning) เสร็จเรียบร้อยแล้ว 3 สินค้า คือ มันสำปะหลัง ทุเรียน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยแสดงผลบน www.คิดค้า.com และนำตัวเชื่อมข้อมูล (Link Banner) เผยแพร่บนเว็บไซต์กระทรวงพาณิชย์ www.moc.go.th และเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ www.nabc.go.th นอกจากนี้ กำลังพัฒนาแดชบอร์ดสินค้าอีก 3 สินค้า ได้แก่ ข้าว ปาล์มน้ำมัน และยางพารา รวมทั้งพิจารณาแนวทางการจัดทำแดชบอร์ดพืชแห่งอนาคต (Future Crop) ที่ไทยมีศักยภาพ

2. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการสร้างแพลตฟอร์มกลาง “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” โดยได้จัดให้มีแพลตฟอร์มกลางดังกล่าวในรูปแบบ B2B (Business-to-Business) รองรับทั้งในประเทศและต่างประเทศบนแพลตฟอร์ม Thaitrade.com และแพลตฟอร์ม Phenixbox.com ซึ่งได้เชื่อมโยงช่องทางเป็นศูนย์กลางการค้าสินค้าเกษตรไทยไว้บนหน้าเฉพาะ “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” บนเว็บไซต์ Moc.go.th โดยได้พัฒนาสหกรณ์การเกษตรนำร่องรวมจำนวน 26 สหกรณ์ ขึ้นจำหน่ายบนทั้งสองแพลตฟอร์ม และได้จัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ (Online Business Matching) ระหว่างสหกรณ์การเกษตรและผู้ซื้อทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมคู่เจรจา 100 คู่เจรจา เกิดมูลค่าการซื้อขาย 82,460,000 บาท

3. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการสร้างความเชื่อมั่นด้านคุณภาพ มาตรฐานความปลอดภัยและการตรวจสอบย้อนกลับ โดยได้มีการคัดเลือกกลุ่มเกษตรกรที่ได้มาตรฐาน GAP หรือ Organic และมาตรฐาน GI มาร่วมในแผนดำเนินการ สำหรับสินค้านำร่อง 2 ชนิด ได้แก่ ข้าวและทุเรียน โดยกลุ่มข้าว ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวทุ่งกุลาร้องไห้ จังหวัดร้อยเอ็ด และจังหวัดสุรินทร์ กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวอินทรีย์ จังหวัดอำนาจเจริญ และกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนภูเขาไฟ จังหวัดศรีสะเกษ

นอกจากนี้ ยังได้มีการอบรมระบบตามสอบย้อนกลับในสินค้าเกษตร (QR Traces on Cloud) ให้ความรู้แก่เกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกร จำนวน 192 ราย แบ่งออกเป็น สินค้าข้าว จำนวน 94 ราย และทุเรียน จำนวน 98 ราย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคถึงแหล่งที่มาของสินค้าเกษตรที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน อีกทั้งยังผลิตสื่อวีดิทัศน์ เรื่อง สินค้าเกษตรกับความเชื่อมั่นด้านคุณภาพมาตรฐาน ความปลอดภัยและการตรวจสอบย้อนกลับ เพื่อสร้างการรับรู้ด้านมาตรฐานสินค้าเกษตรให้กับเกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้ที่สนใจสามารถนำไปปฏิบัติใช้ได้อย่างถูกต้อง

4. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาคนและผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของตลาด ได้มีมติเห็นชอบกรอบแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนการพัฒนาคนและผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของตลาด ปี 2564-2568 และกรอบการนำเสนอมาตรการ/โครงการ/กิจกรรมที่ต้องการผลสำเร็จ (Quick Win) โดยได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามแผนที่กำหนดไว้

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 ม.ค. 65)

Tags: , ,
Back to Top