ดาวโจนส์ดิ่งกว่า 400 จุดใกล้หลุด 31,000 ผวาเฟดขึ้นดบ.ฉุดศก.สหรัฐถดถอย

ดัชนีดาวโจนส์ดิ่งลงกว่า 400 จุดใกล้หลุดระดับ 31,000 จุด ต่อเนื่องจากที่ทรุดตัวลงวานนี้ ท่ามกลางความกังวลที่ว่า การเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย

ณ เวลา 20.53 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 31,041.23 จุด ลบ 448.84 จุด หรือ 1.43%

ดัชนีดาวโจนส์ดิ่งลงกว่า 1,100 จุดวานนี้ ซึ่งเป็นการทรุดตัวลงมากที่สุดภายในวันเดียวนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.2563 เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐเริ่มส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของบริษัทค้าปลีก

บริษัทโคห์ลส์ คอร์ป ซึ่งเป็นห้างค้าปลีกรายใหญ่ของสหรัฐ เปิดเผยกำไรในไตรมาสแรกต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้

นอกจากนี้ โคห์ลส์ได้ปรับลดคาดการณ์กำไรในปีนี้ สู่ระดับ 6.45-6.85 ดอลลาร์/หุ้น จากเดิมคาดการณ์ที่ระดับ 7.00-7.50 ดอลลาร์/หุ้น

ขณะเดียวกัน บริษัทคาดว่ายอดขายจะเพิ่มขึ้น 0-1% ในปีนี้ จากเดิมคาดว่าเพิ่มขึ้น 2-3%

การเปิดเผยผลประกอบการของโคห์ลส์ในวันนี้ สอดคล้องกับผลประกอบการที่น่าผิดหวังของทาร์เก็ต, โลว์ส และวอลมาร์ทก่อนหน้านี้ และเป็นการตอกย้ำว่าภาวะเงินเฟ้อได้เริ่มส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีก

นอกจากนี้ นักลงทุนยังวิตกว่า การที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วและแรง จะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย หลังจากหดตัวลง 1.4% ในไตรมาส 1/65 ขณะที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ยืนยันว่า เฟดไม่ลังเลที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงสุด หากมีความจำเป็นเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

ทั้งนี้ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า ขณะนี้นักลงทุนให้น้ำหนัก 100% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 0.50% ในการประชุมนโยบายการเงินอีก 2 ครั้ง ทั้งในเดือนมิ.ย.และก.ค. หลังจากที่เฟดเพิ่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือนพ.ค. เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนพ.ค.2543 และเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบกว่า 20 ปี

ขณะเดียวกัน เฟดเตรียมปรับลดขนาดงบดุล (Quantitative Tightening : QT) โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนมิ.ย. ซึ่งเฟดจะลดขนาดงบดุลในวงเงิน 4.75 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน และหลังจากนั้น 3 เดือน เฟดจะเพิ่มการลดขนาดงบดุลเป็น 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน

นอกจากนี้ นักลงทุนยังผิดหวังต่อการเปิดเผยตัวเลขคนว่างงานที่สูงกว่าคาดในวันนี้

กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 21,000 ราย สู่ระดับ 218,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 200,000 ราย

ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานดังกล่าวอยู่สูงกว่าระดับ 215,000 ราย ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยต่อสัปดาห์ในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐ

ขณะเดียวกัน กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่อง ลดลง 25,000 ราย สู่ระดับ 1.317 ล้านราย ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2512