ทริสฯ จัดดับเครดิตองค์กร BRR ที่ BBB- แนวโน้ม Stable

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จัดอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ. น้ำตาลบุรีรัมย์ (BRR) ที่ระดับ "BBB-" ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงประสบการณ์ที่ยาวนานในธุรกิจน้ำตาล ตลอดจนการกระจายความเสี่ยงจากธุรกิจน้ำตาลไปสู่ธุรกิจผลิตไฟฟ้าและบรรจุภัณฑ์ อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากการที่บริษัทมีโรงงานผลิตน้ำตาลเพียงแห่งเดียว รวมไปถึงราคาน้ำตาลที่เป็นวัฏจักรขึ้นลง ปริมาณผลผลิตอ้อยที่มีความผันผวน และระดับหนี้ของบริษัทที่อยู่ในระดับสูง


ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

-ประสบการณ์ที่ยาวนานในธุรกิจน้ำตาล

สถานะทางธุรกิจของบริษัทเกิดจากประสบการณ์ที่สั่งสมมายาวนานถึงเกือบ 60 ปีในธุรกิจน้ำตาล ผลิตภัณฑ์หลักของบริษัทประกอบด้วยน้ำตาลทรายดิบ และน้ำตาลทรายขาวสีรำ ทั้งนี้บริษัทได้เริ่มขยายการผลิตไปสู่ผลิตภัณฑ์น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

ประมาณ 80% ของผลผลิตน้ำตาลของบริษัทได้ส่งออกผ่านตัวแทนการส่งออกระหว่างประเทศ ส่วนสัดส่วนที่เหลือประมาณ 20% เป็นการจัดจำหน่ายภายในประเทศ สำหรับตลาดในประเทศ ช่องทางการจัดจำหน่ายส่วนใหญ่จะผ่านทางตัวแทนจำหน่ายสินค้า ซึ่งผลิตภัณฑ์ของบริษัทเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในเขตจังหวัดบุรีรัมย์ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ

นอกจากนี้ บริษัทยังได้ขยายการจำหน่ายผ่านทางตัวแทนจำหน่ายสินค้าไปยังพื้นที่ภาคใต้ ภาคกลาง และภาคตะวันออก รวมถึงการจำหน่ายผ่านช่องทางธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่และธุรกิจให้บริการด้านอาหารอีกด้วย

เป็นผู้ผลิตน้ำตาลขนาดเล็กที่มีความเสี่ยงจากการมีโรงงานน้ำตาลเพียงแห่งเดียว

บริษัทมีโรงงานผลิตน้ำตาลเพียงแห่งเดียวในจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งการมีสถานประกอบการเพียงแห่งเดียวส่งผลต่อความเสี่ยงในเรื่องการดำเนินงานและการจัดหาวัตถุดิบ อย่างไรก็ตามความเสี่ยงด้านการจัดหาวัตถุดิบของบริษัทถูกลดทอนลงบางส่วนจากการที่เป็นผู้ประกอบการเพียงรายเดียวในจังหวัดบุรีรัมย์ นอกจากนี้บริษัทและโรงงานน้ำตาลในจังหวัดใกล้เคียงได้มีการแบ่งพื้นที่รับซื้ออ้อยเพื่อป้องกันปัญหาการแย่งอ้อยระหว่างกัน

ในด้านของปริมาณน้ำตาล ผลผลิตน้ำตาลของบริษัทค่อนข้างน้อยหากเทียบกับโรงงานน้ำตาลรายอื่นของประเทศ บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาด 2.4%-2.9% ของปริมาณผลผลิตน้ำตาลในประเทศในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา รายได้จากธุรกิจน้ำตาลของบริษัทอยู่ที่ระดับ 2.9-4.7 พันล้านบาทในช่วงเวลาเดียวกัน แม้ว่าบริษัทจะเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายเล็ก แต่บริษัทก็มีผลผลิตน้ำตาลต่อหน่วยพื้นที่ (Sugar Yield) สูงสุดติดอันดับ 1 ใน 3 จากจำนวน 57 โรงงานน้ำตาลในประเทศ ซึ่งผลผลิตน้ำตาลที่มีคุณภาพของบริษัทมาจากคุณภาพอ้อยที่ดีที่อยู่รอบ ๆ โรงงาน


- กระจายความเสี่ยงไปยังธุรกิจผลิตไฟฟ้า

บริษัทได้ขยายการลงทุนไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอ้อยและน้ำตาล เพื่อใช้ประโยชน์สูงสุดจากอ้อยและผลิตภัณฑ์ผลพลอยได้ โดยธุรกิจเกี่ยวเนื่องหลักคือธุรกิจผลิตไฟฟ้า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาบริษัทมีรายได้จากธุรกิจผลิตไฟฟ้าประมาณ 9%-10% ของรายได้รวมของบริษัท

บริษัทมีโรงไฟฟ้า 3 แห่ง มีกำลังการผลิตติดตั้งของโรงไฟฟ้ารวมที่ขนาด 29.7 เมกะวัตต์ โดยบริษัทมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจำนวน 16 เมกะวัตต์ ธุรกิจผลิตไฟฟ้าที่มีรายได้ที่มั่นคงจะช่วยลดทอนความผันผวนของราคาน้ำตาลลงได้บ้างบางส่วน


- ขยายธุรกิจไปยังบรรจุภัณฑ์

จากกลยุทธ์ของบริษัทที่มุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์ผลพลอยได้ของธุรกิจน้ำตาลและความนิยมในผลิตภัณฑ์รักษ์สิ่งแวดล้อม บริษัทจึงได้ขยายธุรกิจไปยังบรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้ โดยบริษัทใช้เยื่อจากชานอ้อยในการผลิตสินค้าบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น จานและชาม ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ (ประมาณ 90%) มีเป้าหมายในการส่งออกไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา ยุโรป และประเทศอื่น ๆ ภายใต้การรับผลิตสินค้า (Original Equipment Manufacturer -- OEM) ทั้งนี้ บริษัทยังขายสินค้าภายใต้แบรนด์ของตนเอง "SEW" ภายในประเทศอีกด้วย

ปัจจุบัน สัดส่วนรายได้จากธุรกิจนี้ยังน้อยมากอยู่ที่ระดับ 1% ของรายได้รวมของบริษัท บริษัทคาดว่ารายได้จากธุรกิจนี้จะเติบโตอย่างรวดเร็วและมีสัดส่วนประมาณ 7% ของรายได้รวมภายใน 2-3 ปีข้างหน้าจากยอดคำสั่งซื้อที่ได้รับ และแผนการขยายงานของบริษัท ตลอดจนการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ในผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ผลการดำเนินงานที่ฟื้นตัว

ทริสเรทติ้งคาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงเวลาประมาณการ ทั้งจากปริมาณผลผลิตอ้อยที่เพิ่มขึ้น และราคาน้ำตาลที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น

ในช่วงปี 2562-2564 ผลประกอบการของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมากจากภาวะภัยแล้งในประเทศ และการลดลงของการบริโภคน้ำตาลในช่วงเกิดการระบาดของโรคโควิด 19 ตลอดจนราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่ลดลงอย่างมาก ในช่วงวัฏจักรขาลงของธุรกิจน้ำตาล ราคาเฉลี่ยของน้ำตาลลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 12 เซนต์ต่อปอนด์ เทียบกับระดับ 16-18 เซนต์ต่อปอนด์ในช่วงปีก่อนหน้า ปริมาณอ้อยในประเทศก็ลดลงติดต่อกันเป็นระยะเวลา 3 ปี มาอยู่ที่ระดับ 66.7 ล้านตันในปี 2563/2564 ลดลง 50.6% เมื่อเทียบกับ 134.9 ล้านตันในปี 2560/2561 จากสภาวะอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยและปัญหาภัยแล้ง

ปริมาณอ้อยของบริษัทอยู่ที่ระดับ 1.8 ล้านตันในปี 2563/2564 ลดลง 44.2% เมื่อเทียบกับ 3.2 ล้านตันในปี 2560/2561 ซึ่งเป็นไปตามแนวโน้มเดียวกันทั่วประเทศ นอกจากนี้ ผลการดำเนิงานของบริษัทที่อ่อนแอลงมากยังเป็นผลมาจากการขาดทุนจากการผลิตน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ในปี 2562 ส่งผลให้รายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทลดลงมาอยู่ที่ระดับ 4-5 พันล้านบาทในปี 2562-2564 จากระดับ 5.7 พันล้านบาทในปี 2561 กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ก็ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 252-695 ล้านบาทในปี 2562-2564 จากระดับ 1 พันล้านบาทในปี 2561 กำไรจากธุรกิจน้ำตาลลดลงเนื่องจากการลดลงของปริมาณอ้อยและราคาน้ำตาล ในขณะที่กำไรจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าก็ลดลงจากต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นจากการขาดแคลนชานอ้อยที่เป็นเชื้อเพลิงหลัก

อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานของบริษัทปรับตัวดีขึ้นอย่างมากในไตรมาสแรกของปี 2565 ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณผลผลิตน้ำตาลและราคา ทั้งนี้ผลผลิตอ้อยของบริษัทในฤดูการผลิตล่าสุด (ปี 2564/2565) เพิ่มขึ้น 34.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ในขณะที่ราคาเฉลี่ยน้ำตาลเพิ่มขึ้น 14.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 18.6 เซนต์ต่อปอนด์ในไตรมาสแรกของปี 2565 ส่งผลให้รายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทเพิ่มขึ้น 108.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนมาอยู่ที่ระดับ 2.3 พันล้านบาทในไตรมาสแรกของปี 2565 ในขณะที่ EBITDA เพิ่มขึ้น 73.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนมาอยู่ที่ระดับ 534 ล้านบาท

ถึงแม้ว่าจะมีความท้าทายหลายด้านในอนาคตอันใกล้ ทั้งจากปัญหาการขาดแคลนเรือขนส่ง การเพิ่มขึ้นของต้นทุนจากภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ทริสเรทติ้งก็คาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในอนาคตข้างหน้า ทั้งนี้ ปริมาณอ้อยที่เพิ่มขึ้นไม่เพียงส่งผลบวกต่อธุรกิจน้ำตาลแต่ยังมีผลดีต่อธุรกิจผลิตไฟฟ้าด้วย นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าผลประกอบการจากธุรกิจบรรจุภัณฑ์จะดีขึ้น โดยสมมติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าราคาน้ำตาลโลกจะอยู่ที่ระดับประมาณ 20 เซนต์ต่อปอนด์ในปี 2565 และจะปรับตัวลดลงเป็น 18 และ 15 เซนต์ต่อปอนด์ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ ทริสเรทติ้งยังคาดว่ารายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 5.4-6 พันล้านบาทในปี 2565-2567 ในขณะที่ EBITDA จะอยู่ที่ระดับ 800-1,000 ล้านบาทในช่วงเวลาเดียวกัน


- ภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้น

การลงทุนในโครงการใหม่ ๆ กอปรกับกำไรที่ลดลงในช่วงวัฏจักรขาลงส่งผลให้ภาระหนี้สินของบริษัทเพิ่มขึ้นมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

ณ เดือนมีนาคม 2565 หนี้สินทางการเงินของบริษัทอยู่ที่ระดับ 6.9 พันล้านบาท เพิ่มจาก 5.8 พันล้านบาทในปี 2560 อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 10.2 เท่าในปี 2564 และ 8.3 เท่า (ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปีโดยใช้ข้อมูลย้อนหลัง 12 เดือน) ในไตรมาสแรกของปี 2565 เทียบกับระดับ 5.3 เท่าในปี 2560 ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 74.4% จากระดับ 70.2% ในปี 2560

ทริสเรทติ้งคาดว่าระดับหนี้สินของบริษัทจะค่อย ๆ ลดลงตามการฟื้นตัวของผลประกอบการ ทั้งนี้ ยังคาดว่าบริษัทจะมีค่าใช้จ่ายในการขยายงานและลงทุนประมาณปีละ 200 ล้านบาทในปี 2565-2567 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในธุรกิจบรรจุภัณฑ์ ทั้งนี้เราคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจะลดลงมาอยู่ที่ 68% ในปี 2567 ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA จะปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 6.2-6.5 เท่าในปี 2565-2567


- มีสถานะสภาพคล่องที่เพียงพอ

ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ทริสเรทติ้งคาดหวังว่าสภาพคล่องของบริษัทจะยังคงเพียงพอ ภายใต้สมมติฐานคาดว่าอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 800-1,000 ล้านบาทต่อปีในปี 2565-2567 ตามการฟื้นตัวของราคาน้ำตาลที่อยู่ในระดับที่น่าพอใจ

ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 บริษัทมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 56 ล้านบาท และวงเงินที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกจำนวน 2.1 พันล้านบาท ทั้งนี้บริษัทมีดอกเบี้ยจ่ายและภาระหนี้สินระยะยาวที่จะครบกำหนดชำระภายในหนึ่งปีรวม 700 ล้านบาท


สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

รายได้จากการดำเนินงานของบริษัทคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 5.4-6 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2565-2567

อัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จะอยู่ในระดับ 16% ในปี 2565 และ 14%-15% ในช่วงปี 2566-2567

ค่าใช้จ่ายลงทุนจะอยู่ที่ระดับประมาณ 200 ล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2565-2567


แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมน้ำตาลในประเทศไทยไว้ได้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะดำรงสภาพคล่องหรือมีวงเงินสินเชื่อสำรองที่เพียงพอสำหรับรองรับการชำระหนี้ นอกจากนี้ ระบบแบ่งปันผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมน้ำตาลไทย ตลอดจนรายได้จากธุรกิจไฟฟ้า และธุรกิจบรรจุภัณฑ์จะช่วยลดความผันผวนของธุรกิจผลิตน้ำตาลได้บางส่วน


ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

โอกาสการปรับเพิ่มอันดับเครดิตของบริษัทมีจำกัดในระยะสั้น อย่างไรก็ดี การปรับเพิ่มอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากบริษัทมีผลการดำเนินงานและโครงสร้างเงินทุนที่ดีกว่าคาดอย่างต่อเนื่อง ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลงกว่าที่คาดการณ์ หรือบริษัทมีการก่อหนี้ในการลงทุนจนส่งผลให้งบดุลและกระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้ของบริษัทอ่อนแอลงจนส่งผลทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายเพิ่มสูงขึ้นเกินกว่า 8 เท่าอย่างต่อเนื่อง