วิจัยกสิกรฯ มองปี 65 เป็นปีแห่งความผันผวนสินทรัพย์ดิจิทัล แนะนลท.ศึกษาข้อมูลรอบด้าน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า เหลืออีกเพียงหนึ่งเดือนก็จะจบปี 2565 ที่ถือว่าเป็นปีที่เศรษฐกิจไทยผ่านพ้นจุดต่ำสุดหลังจากได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ติดต่อกันหลายปี ซึ่งในหลักการแล้ว การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจควรจะเป็นปัจจัยหนุนการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริง บรรยากาศการลงทุนในปีนี้กลับค่อนข้างผันผวน โดยเฉพาะสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงกว่าปกติ อย่างเช่น คริปโทเคอร์เรนซี ซึ่งขยายวงผลกระทบไปสู่ผู้เล่นในระบบนิเวศ (Ecosystem) อย่างเช่นแพลตฟอร์ม หรือโบรกเกอร์ขนาดใหญ่ที่เกี่ยวข้องด้วย โดยมีตัวอย่างเหตุการณ์สำคัญในต่างประเทศ

- เดือนพฤษภาคม 2565 การล่มสลายของ UST (TerraClassicUSD) ซึ่งเป็น Stablecoin และเหรียญดิจิทัล LUNA (Terra Classic: LUNC) โดยเกิดจากแรงเทขาย UST จำนวนมาก และจาก Algorithmic ที่ผูก UST ไว้กับ LUNA ทำให้ระบบได้สร้างเหรียญ LUNA ออกมาเพิ่มอย่างมาก จนทำให้ทั้งเหรียญ UST และ LUNA แทบไม่เหลือมูลค่า

- เดือนมิถุนายน 2565 ผลกระทบต่อเนื่องจากความปั่นป่วนของเหรียญ UST และ LUNA ทำให้กองทุน Three Arrows Capital ซึ่งเป็นกองทุนเฮดจ์ฟันด์คริปโทเคอร์เรนซีรายใหญ่ได้ยื่นล้มละลาย เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการที่ราคาคริปโทเคอร์เรนซีลดลงอย่างรุนแรง ประกอบกับการทำกลยุทธ์การเทรดในสินทรัพย์ความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะการเข้าร่วมลงทุนใน LUNA และ LUNA Foundation Guard (ซึ่งมีส่วนร่วมในการช่วยตรึงมูลค่า UST)

- เดือนกรกฎาคม 2565 Voyager Digital ซึ่งเป็นโบรกเกอร์สินทรัพย์ดิจิทัลในสหรัฐฯ ได้ยื่นฟ้องล้มละลายเพื่อฟื้นฟูกิจการ อันเนื่องมาจากภาวะตลาดคริปโทเคอร์เรนซีที่ผันผวนรุนแรง และผลกระทบของการผิดชำระหนี้ของ Three Arrows Capital ซึ่งมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 660 ล้านดอลลาร์ฯ

Celsius Network ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มกู้ยืมคริปโทเคอร์เรนซีรายใหญ่ได้ยื่นล้มละลายอย่างเป็นทางการ เนื่องจากประสบปัญหาสภาพคล่องจากภาวะตลาดผันผวนรุนแรง และการนำเงินของลูกค้าไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ UST และ LUNA

- เดือน พฤศจิกายน 2565 เกิดปัญหากับ FTX ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีอันดับ 2 ของโลก โดยเริ่มจากการโดนโจรกรรม ลามมาสู่ปัญหาความไม่เชื่อมั่น (ที่มีชนวนเริ่มมาจากการเทขายเหรียญ FTT ของ Binance) จนทำให้เกิดปัญหาการขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง และนำไปสู่การยื่นล้มละลายต่อศาลในสหรัฐฯ ในเวลาต่อมา

BlockFi ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มให้กู้ยืมคริปโทเคอร์เรนซีรายใหญ่ของโลกได้ประกาศระงับการถอนเงิน และห้ามลูกค้าฝากเงินบนแพลตฟอร์ม และกำลังพิจารณายื่นล้มละลายต่อศาลในสหรัฐฯ เพราะได้รับความเสียหายร้ายแรงจากการล้มละลายของ FTX และบริษัทในเครือทั้งหมด

นอกจากนี้ความเชื่อมั่นต่อตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลไทยก็ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ข้างต้นเช่นกัน ขณะที่สำหรับบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทยล่าสุดยังมีเหตุการณ์เฉพาะจากในกรณีหุ้นขนาดเล็ก MORE ที่ขยายผลกระทบบางส่วนมายังบริษัทหลักทรัพย์ที่มีความเกี่ยวข้องเช่นกัน แม้โควิด-19 จะบรรเทาลงอย่างมาก แต่ความผันผวนของสินทรัพย์เสี่ยงก็ยังอยู่ในระดับสูง โดยระดับความผันผวน (วัดจากความแตกต่างของราคาในแต่ละวัน และคำนวณเป็นรายปี) ของตลาดหุ้น SET100 ราคาทองคำไทย ราคาทองคำโลก ราคาน้ำมัน WTI และบิทคอยน์สำหรับปี 65 แตกต่างจากปี 2564 เพียงเล็กน้อย ยกเว้นกรณีน้ำมันโลกที่มีระดับความผันผวนมากกว่า

สำหรับนักเก็งกำไรที่มีความเชี่ยวชาญ ความผันผวนสูงอาจไม่ใช่ปัจจัยลบเสมอไป เพราะการทำกำไรขึ้นอยู่กับฝีมือในการจับจังหวะการลงทุน แต่สำหรับนักลงทุนมือใหม่ หรือนักลงทุนที่ไม่ได้เชี่ยวชาญสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงมาก หรือมีปัจจัยเฉพาะสูงอย่างเช่นสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น หากจับจังหวะผิดก็อาจทำให้ไม่ได้รับผลตอบแทนสูงตามความเสี่ยงที่สูง ก็เป็นได้

ด้านความต้องการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงของนักลงทุนไทย ดูเหมือนว่าจะได้รับผลกระทบไปด้วย ดังจะเห็นได้จากความถี่ในการค้นหาคำว่า "บิทคอยน์" "ลงทุนหุ้น หรือหุ้น" รวมถึงกองทุนรวมที่ลดลงตามลำดับ ขณะที่ คำว่า "ฝากเงินดอกเบี้ยสูง 2565" กลับมีทิศทางโน้มสูงขึ้น นอกเหนือจากนั้นความสนใจยังกระจายไปที่หุ้นกู้ภาคเอกชนด้วยเช่นกัน สอดคล้องกับปริมาณหุ้นกู้เอกชนที่มีปริมาณการออกเพิ่มสูงขึ้นในปีนี้

ผู้ประกอบธุรกิจในตลาดทุนและตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลไทยได้รับผลกระทบจากปริมาณการทำธุรกรรมของนักลงทุนในประเทศที่ลดลง โดยฝั่งกองทุนรวม จะเห็นได้จากการปรับตัวลดลงของมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ (Net Asset Value: NAV) ในภาพรวมที่ปรับตัวลดลง

ขณะที่ฝั่งโบรกเกอร์ในตลาดหุ้น นอกจากจะสะท้อนผ่านกำไรสุทธิที่ปรับตัวลดลงในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ก็ยังเห็นมูลค่าการซื้อขาย (Turnover) ของนักลงทุนทั่วไปในตลาดหุ้นไทยที่ต่ำลงจากปีก่อน และการซื้อขายหุ้นก็มีการปรับมาเป็นแบบเงินสดถึง 93-94% ของทั้งหมดในช่วงไตรมาส 3/65 ถึงไตรมาส 4/65 จากในช่วงไตรมาส 1/65ที่จะยังมีส่วนผสมของ Net Settlement และ Margin ที่ 26.1% และ 7.7% ตามลำดับ

ส่วนตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล กิจกรรมที่คึกคักลดลงนี้สะท้อนผ่านการปรับตัวลดลงของมูลค่าการซื้อขายในตลาดเช่นกัน ซึ่งปรากฏขึ้นตั้งแต่เดือนพ.ค. 65 ที่เริ่มมีข่าวลบหนาตาขึ้นในต่างประเทศ

เมื่อเดินมาจนถึงจุดนี้ทำให้ได้เรียนรู้บทเรียนส่งท้ายปีได้ในหลายเรื่องด้วยกัน ดังนี้

1. สำหรับนักลงทุนที่เทรด หรือลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซี แม้ว่าจะเป็นนักเก็งกำไร ไม่ใช่นักลงทุน แต่ก็ยังต้องใส่ใจเรื่องโมเดลธุรกิจ การกำกับดูแล ธรรมาภิบาล ของตัวคริปโทเคอร์เรนซี แพลตฟอร์ม หรือผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เพื่อที่จะได้ไม่ถูกหลอก หรือสูญเสียเงินลงทุน เหมือนกับกรณีที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ

2. สำหรับนักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนมือใหม่ มีข้อควรระวังและการขยายความเพิ่มเติม คือ ไม่ควรลงทุนโดยมองการปรับขึ้นของราคาแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่ควรลงทุนโดยมองหา "คุณค่า" ของสินทรัพย์นั้นๆ ประกอบด้วย เพราะในหลายๆ กรณีที่เกิดขึ้นในระหว่างปี การปรับตัวขึ้นของราคา มาจากแรงซื้อขายของนักลงทุนรายใหญ่ หรือได้รับอิทธิพลจากข่าวความเคลื่อนไหวของผู้ที่ตลาดมองว่ามีน้ำหนัก ซึ่งอาจไม่ใช่มุมมองที่สามารถสะท้อนปัจจัยพื้นฐานหรือคุณค่าที่แท้จริงของสินทรัพย์นั้นๆได้ทั้งหมด

ทำการศึกษาสินทรัพย์ที่ลงทุนด้วยตนเอง อย่าเลือกฟังเฉพาะสิ่งที่อยากได้ยิน โดยอาจเริ่มจากการฟังความเห็นของผู้เชี่ยวชาญที่หลากหลายทั้งลบและบวก ค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมให้รอบด้าน เพื่อที่จะช่วยให้สามารถตัดสินใจบนวิจารณญาณที่ถูกต้องมากขึ้น นอกจากนี้อย่าลืมตรวจสอบความสามารถในการรับความเสี่ยงหากผลตอบแทนติดลบจนสูญเสียเงินต้นในระดับต่างๆ รวมถึงระยะเวลาที่ต้องการใช้เงินลงทุนนั้นๆ ในอนาคตเพื่อให้มั่นใจว่าจะ "รับได้" เมื่อขาดทุนเงินต้นมากกว่าระดับ 50-70%

การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล จำเป็นต้องอาศัยการดูข้อมูลที่ลึกขึ้น เพราะความเชื่อเกี่ยวกับเสถียรภาพของระบบ Decentralized หรือ Stable Coin ของหลายสินทรัพย์ดิจิทัล ที่มีข่าวลบเกิดขึ้นระหว่างปีไม่ได้เป็นไปตามระบบดังกล่าวจริงในทางปฏิบัติ ดังนั้นนักลงทุนจึงควรเข้าใจโมเดลธุรกิจที่แท้จริง ก่อนตัดสินใจลงทุน

การลงทุนในปัจจุบันอยู่บนโลกที่ไร้พรมแดน แต่การกำกับดูแลของทางการยังขึ้นกับกฎหมายและบริบทของแต่ละป

ระเทศ นั่นหมายความว่า แม้ทางการแต่ละประเทศจะพยายามออกแบบกฎกติกาเพื่อดูแลผู้ให้บริการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลงทุนในสินทรัพย์แต่ละประเภทอย่างละเอียดรอบคอบในบริบทที่เป็นปัจจุบันที่สุดแล้ว แต่นักลงทุนก็ควรต้องประเมินความเสี่ยง ความโปร่งใสในการทำธุรกิจและรายงานข้อมูล และธรรมาภิบาล เพื่อประเมินระดับความน่าเชื่อถือของแพลตฟอร์ม หรือนายหน้าการลงทุน (Brokers) ทั้งไทยและต่างประเทศ หรือผู้ให้บริการที่ใช้บริการด้วยตัวเองด้วย รวมถึงติดตามกิจกรรมการลงทุนหรือการดำเนินงานของผู้ให้บริการนั้นๆ อย่างสม่ำเสมอ เพราะเป็นแหล่งที่เรานำเงินไปฝากหรือทำธุรกรรมด้วยเพื่อการลงทุน ซึ่งถ้าเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด และมีความเชื่อมโยงผลกระทบมาจากต่างประเทศ ก็อาจทำให้ผู้ให้บริการนั้นๆขาดสภาพคล่องและไม่สามารถส่งมอบเงินลงทุนคืนได้เช่นกัน

กระบวนการการศึกษาข้อมูลและตรวจสอบผู้ให้บริการข้างต้น เป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการอย่างสม่ำเสมอ ไม่ใช่เลือกทำเฉพาะครั้งแรกที่ลงทุนเท่านั้น เนื่องจากสภาพแวดล้อมการลงทุนในยุคดิจิทัลเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ดังนั้น จึงทำให้ข้อมูลที่ใช้ตัดสินใจลงทุนในระยะก่อนหน้าอาจไม่สามารถใช้อ้างอิงสำหรับใช้ในการตัดสินใจครั้งต่อไปได้