ศาลฎีกายกฟ้อง สมศักดิ์-อุดมเดช สับเปลี่ยนร่างรธน.แก้ไขที่มาส.ว. ชี้ไม่มีเจตนา

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษายกฟ้องในคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ ฟ้องนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา ในฐานะจำเลยที่ 1 และนายอุดมเดช รัตนเสถียร จำเลยที่ 2 กรณีสับเปลี่ยนร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมในเนื้อหาสำคัญถึงที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมรัฐสภา เนื่องจากไม่มีเจตนา

โดยคดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า ขณะเกิดเหตุนายสมศักดิ์ จำเลยที่ 1 เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร และเป็นประธานรัฐสภาโดยตำแหน่ง จำเลยที่ 2 เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ใช้อำนาจหน้าที่กระทำการที่มิชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยจำเลยที่ 2 สับเปลี่ยนร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่เสนอต่อประธานรัฐสภา โดยไม่มีสมาชิกรัฐสภาลงชื่อรับรอง ซึ่งร่างฉบับใหม่ที่นำมาสับเปลี่ยน ได้เพิ่มเนื้อหาแตกต่างจากร่างเดิมในหลักการที่เป็นสาระสำคัญ กล่าวคือ ผู้เคยดำรงตำแหน่ง ส.ว.ซึ่งสมาชิกภาพสิ้นสุดลง สามารถสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ว.ได้เลย โดยไม่ต้องรอให้พ้นระยะเวลา 2 ปี

และจำเลยที่ 1 รู้เห็นให้มีการสับเปลี่ยนร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับที่มาของ ส.ว. โดยไม่ตรวจสอบและสั่งการให้แก้ไขให้ถูกต้อง และจงใจนับกำหนดเวลาแปรญัตติย้อนหลัง ทำให้เหลือระยะเวลาให้สมาชิกรัฐสภาเสนอคำแปรญัตติเพียง 1 วัน อันเป็นการขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 291 ขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการ ป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172 และมาตรา 198

ซึ่งทั้งจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ได้ให้การปฏิเสธในแต่ละประการ ดังนี้

– ประการที่ 1 การสับเปลี่ยนร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับที่มาของส.ว.นั้น เชื่อว่าจำเลยที่ 2 เพียงต้องการแก้ไขร่างเดิมเพื่อให้มีเนื้อความถูกต้องตรงกับความประสงค์ของสมาชิกรัฐสภาที่ลงชื่อเสนอมาเท่านั้น หาใช่มีเจตนาแก้ไขตามความประสงค์ส่วนตัว อีกทั้งจำเลยที่ 2 มิได้ใช้อิทธิพลหรืออำนาจครอบงำสั่งการใดๆ บังคับ

รวมทั้งการนำร่างฉบับใหม่มาเปลี่ยนร่างเดิม ซึ่งมีตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมที่เคยปฏิบัติสืบทอดกันมา และจำเลยที่ 1 ได้เรียกผู้อำนวยการสำนักการประชุม สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ไปสอบถามแล้วยืนยันว่าสามารถทำได้ นับว่ามีเหตุผลให้จำเลยที่ 1 เชื่อได้ว่าทำได้ หากจำเลยที่ 1 ไม่เชื่อว่าทำได้ หรือเชื่อว่าทำไม่ได้จำเลยที่ 1 ก็ให้ฝ่ายจำเลยที่ 2 ไปดำเนินการเสนอร่างเข้ามาใหม่ โดยให้สมาชิกรัฐสภาร่วมลงชื่อเสนอญัตติเข้ามาใหม่ก็ทำได้โดยง่าย เพราะจำเลยทั้ง 2 สังกัดพรรคการเมืองเดียวกัน และผู้ร่วมลงชื่อ เสนอญัตติส่วนใหญ่ก็สังกัดพรรคการเมืองเดียวกันกับจำเลยทั้ง 2

“จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้ง 2 มีเจตนา และเจตนาพิเศษ การกระทำของจำเลยทั้ง 2 จึงไม่เป็นความผิดตามคำฟ้อง”

– ประการที่ 2 การที่จำเลยที่ 1 นำร่างฉบับใหม่ที่จำเลยที่ 2 เสนอบรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมรัฐสภาเป็นความผิดหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 กระทำเช่นนั้นเป็นผลต่อเนื่องมาจากการที่จำเลยที่ 1 เชื่อว่าผู้เสนอญัตติสามารถแก้ไขญัตติได้ หากประธานรัฐสภายังไม่ได้สั่งอนุญาตให้บรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมรัฐสภา จึงเป็นการสั่งไปโดยถือว่าได้มีการแก้ไขญัตติเดิมเป็นร่างฉบับใหม่เพียงฉบับเดียวแล้วนั่นเอง

“จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาและเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่สมาชิกที่ร่วมพิจารณาญัตติ ฟังไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดตามคำฟ้อง”

– ประการที่ 3 จำเลยที่ 1 จงใจนับกำหนดเวลาแปรญัตติย้อนหลัง ทำให้เหลือระยะเวลาให้สมาชิกรัฐสภาเสนอคำแปรญัตติเพียง 1 วัน เป็นการกระทำความผิดอาญาตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า เมื่อที่ประชุมรัฐสภาลงมติให้รับหลักการในวาระที่หนึ่งเมื่อวันที่ 4 เม.ย.2556 และข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2553 ข้อ 96 วรรคหนึ่ง กำหนดว่า การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมชั้นคณะกรรมาธิการ สมาชิกรัฐสภาผู้ใดเห็นควรแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ก็ให้เสนอคำแปรญัตติล่วงหน้าเป็นหนังสือต่อประธานคณะกรรมาธิการภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันถัดจากวันที่รัฐสภารับหลักการแห่งร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เว้นแต่รัฐสภาจะได้กำหนดเวลาแปรญัตติสำหรับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนั้นไว้เป็นอย่างอื่น มีผู้เสนอให้กำหนดเวลาเสนอคำแปรญัตติภายใน 60 วัน แต่เมื่อที่ประชุมรัฐสภายังไม่ได้มีการลงมติ ถือว่ารัฐสภาไม่ได้กำหนดเวลาเสนอคำแปรญัตติไว้เป็นอย่างอื่น

การที่จำเลยที่ 1 เรียกประชุมรัฐสภาอีกครั้งเมื่อวันที่ 18 เม.ย.56 และที่ประชุมรัฐสภาลงมติให้กำหนดเวลาเสนอคำแปรญัตติภายใน 15 วัน จำเลยที่ 1 วินิจฉัยให้นับแต่วันรับหลักการตามข้อบังคับข้างต้น เชื่อว่าจำเลยที่ 1 ตีความโดยจำเลยที่ 1 เชื่อเช่นนั้นจริง

การจะเป็นความอาญาตามฟ้อง ต้องมีข้อเท็จจริงให้รับฟังด้วยว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ และมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความ เสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือมิฉะนั้นก็มีเจตนาปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

“พยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวนของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่เพียงพอให้รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาและเจตนาพิเศษดังกล่าว จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิด ตามคำฟ้อง ศาลจึงพิพากษายกฟ้อง”

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ก.ย. 65)

Tags: , ,
Back to Top