💥*"รอยเตอร์" เปิดโปงบริษัทไทย ช่วยสหรัฐเลี่ยงมาตรการแบนแร่หายากของจีน

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานข่าวเชิงเจาะลึกในหัวข้อ "How US buyers of critical minerals bypass China's export ban" หรือ "วิธีการที่ผู้ซื้อแร่ธาตุสำคัญของสหรัฐหลีกเลี่ยงคำสั่งห้ามส่งออกของจีน" โดยระบุว่า สหรัฐได้ใช้บริษัทของไทยและเม็กซิโกเป็นทางผ่านในการส่งออกแร่หายากไปยังสหรัฐ

ทั้งนี้ รอยเตอร์ระบุว่า มีการส่งออกแร่แอนติโมนี (Antimony) ซึ่งเป็นโลหะที่ใช้ในแบตเตอรี่ ชิป และสารหน่วงไฟ จากประเทศไทยและเม็กซิโกเข้าสู่สหรัฐในปริมาณมากผิดปกติ นับตั้งแต่จีนสั่งห้ามส่งออกไปยังสหรัฐในปีที่แล้ว

จีนเป็นผู้นำในการผลิตและส่งออกแอนติโมนี รวมถึงแร่กัลเลียมและเจอร์เมเนียม ซึ่งเป็นแร่สำคัญในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม เซมิคอนดักเตอร์ และเทคโนโลยีทางการทหาร โดยเมื่อวันที่ 3 ธ.ค.2567 จีนได้สั่งห้ามส่งออกแร่เหล่านี้ไปยังสหรัฐ เพื่อตอบโต้ต่อการที่สหรัฐคุมเข้มการส่งออกชิปไปยังจีน

ข้อมูลทางการค้าบ่งชี้ให้เห็นว่ามีการเปลี่ยนเส้นทางขนส่งแร่หายากผ่านประเทศที่สาม ซึ่งทางการจีนเองก็ยอมรับในเรื่องนี้ โดยผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม 3 ราย ซึ่งรวมถึงผู้บริหารบริษัท 2 แห่งในสหรัฐ ยืนยันกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า พวกเขายังคงได้รับแร่ที่ถูกควบคุมจากทางการจีนในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา

ข้อมูลด้านศุลกากรของสหรัฐ ระบุว่า ระหว่างเดือนธ.ค.2567-เม.ย.2568 สหรัฐได้นำเข้าแอนติโมนีออกไซด์จำนวน 3,834 ตันจากไทยและเม็กซิโก ซึ่งมากกว่าปริมาณนำเข้ารวมกันเกือบ 3 ปีที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน ไทยและเม็กซิโกก็พุ่งขึ้นมาติดกลุ่มประเทศ Top 3 ที่นำเข้าแอนติโมนีจากจีนในปีนี้ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ในปี 2566 ทั้ง 2 ประเทศไม่ติด 10 อันดับแรก

นอกจากนี้ ทั้งไทยและเม็กซิโกต่างก็มีโรงงานถลุงแอนติโมนีเพียงประเทศละ 1 แห่งเท่านั้น ซึ่งในกรณีของเม็กซิโก โรงถลุงเพิ่งกลับมาเปิดทำการในเดือนเม.ย.2568 และที่สำคัญ ทั้งสองประเทศแทบไม่มีการทำเหมืองแร่ชนิดนี้เลย

ปริมาณการนำเข้าแอนติโมนี กัลเลียม และเจอร์เมเนียมของสหรัฐในปีนี้ยังคงใกล้เคียงหรืออาจจะมากกว่าก่อนที่รัฐบาลจีนออกคำสั่งห้ามส่งออกแร่หายาก แม้ว่าแร่ดังกล่าวมีราคาแพงขึ้นก็ตาม

กระทรวงพาณิชย์จีนเคยระบุในเดือนพ.ค.ว่า บริษัทต่างชาติบางแห่งได้สมคบคิดกับผู้กระทำผิดในประเทศ เพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการควบคุมการส่งออก

อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐ กระทรวงพาณิชย์ของไทย และกระทรวงเศรษฐกิจของเม็กซิโก ไม่ได้ตอบคำถามของสำนักข่าวรอยเตอร์ในประเด็นดังกล่าว

ทั้งนี้ กฎหมายของสหรัฐไม่ได้ห้ามผู้ซื้อในประเทศซื้อแร่แอนติโมนี กัลเลียม หรือเจอร์เมเนียมที่มีแหล่งกำเนิดจากจีน โดยบริษัทจีนสามารถส่งผ่านบริษัทในประเทศที่ 3 ซึ่งได้รับใบอนุญาต

นายลีวาย ปาร์กเกอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท Gallant Metals ของสหรัฐ เปิดเผยกับรอยเตอร์ว่า เขาได้นำเข้ากัลเลียมจากจีนราว 200 กิโลกรัม/เดือน โดยซื้อผ่านตัวแทนในจีน ซึ่งหลังจากนั้น บริษัทชิปปิ้งจะเปลี่ยนฉลากเป็น "เหล็ก สังกะสี หรืออุปกรณ์ศิลปะ" แล้วส่งต่อผ่านประเทศอื่นในเอเชีย

นายปาร์กเกอร์กล่าวว่า ที่จริงแล้ว เขาต้องการนำเข้ากัลเลียมจากจีนมากถึง 500 กิโลกรัม/เดือน แต่ปริมาณการนำเข้าที่สูงดังกล่าว มีความเสี่ยงต่อการถูกตรวจสอบ

รอยเตอร์รายงานว่า บริษัท ไทย ยูนิเพ็ท อินดัสทรี้ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ Youngsun Chemicals ผู้ผลิตแอนติโมนีจากจีน มีการทำการค้ากับสหรัฐอย่างคึกคักในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา

ImportYeti และ Export Genius ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการค้า ระบุว่า ยูนิเพ็ทได้ส่งออกผลิตภัณฑ์แอนติโมนีไปยังสหรัฐอย่างน้อย 3,366 ตัน ระหว่างเดือนธ.ค.2567-พ.ค.2568 โดยพุ่งขึ้นถึง 27 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ยูนิเพ็ทและ Youngsun Chemicals ยังไม่ได้แสดงความเห็นต่อรายงานดังกล่าวของสำนักข่าวรอยเตอร์

ทั้งนี้ จีนได้เปิดปฏิบัติการกวาดล้างการลักลอบขนส่งแร่หายากผ่านประเทศที่ 3 ในเดือนพ.ค. โดยมีโทษปรับและห้ามการส่งออก หรืออาจถึงขั้นจำคุกมากกว่า 5 ปี

นอกจากนี้ กฎหมายของจีนยังบังคับใช้กับบริษัทจีน แม้มีการทำธุรกรรมในต่างประเทศ และหากมีการส่งออกผ่านประเทศที่สาม บริษัทจีนก็อาจถูกดำเนินคดีจากการที่ไม่มีการตรวจสอบปลายทางอย่างเพียงพอ

แม้ว่าการเลี่ยงกฎหมายจะมีความเสี่ยงสูง แต่ผลกำไรจากการส่งออกแร่หายากก็สูงมากเช่นกัน เนื่องจากราคาที่พุ่งขึ้นหลังเกิดภาวะขาดแคลน