Over-the-Top TV


“Over-the-Top TV” (OTT TV) หรือสื่อที่เผยแพร่เนื้อหาข้อมูลในรูปแบบข้อความ ภาพ หรือเสียง ผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ตตามนิยามของสำนักงาน กสทช. หรือบริการสตรีมมิ่งวิดีโอนั้น นับได้ว่าเป็นอีกสื่อที่มีความเคลื่อนไหวอย่างโดดเด่นในปี 2562 เนื่องจากผู้บริโภคมีพฤติกรรมการรับสื่อที่แตกต่างไปจากเดิม ประกอบกับผู้ให้บริการ OTT TV ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศต่างระดมผลิตคอนเทนต์ให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายของตนเอง นำเสนอค่าบริการที่ดึงดูดให้ใช้บริการ ส่งผลให้การแข่งขันด้านคอนเทนต์ในกลุ่ม OTT TV ร้อนแรง และทำให้ OTT TV ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น

จากผลการสำรวจพฤติกรรมการรับชมรายการสื่อภาพเคลื่อนไหวของผู้ชมในประเทศไทย ภายใต้โครงการสำรวจพฤติกรรมและแนวโน้มการบริโภคสื่อของไทย 2562 ที่สำนักนโยบายและวิชาการกระจายเสียงและโทรทัศน์ สำนักงาน กสทช. ได้จัดทำขึ้นร่วมกับสถาบันอาณาบริเวณศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้วยการสำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 10,000 ครัวเรือนทั่วประเทศใน 5 ภูมิภาคตามเกณฑ์ของสำนักงาน สถิติแห่งชาติ ประกอบด้วย กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ ภาคใต้

พบว่า พฤติกรรมการบริโภค “สื่อภาพเคลื่อนไหว” ซึ่งรวมถึง รายการโทรทัศน์ ทั้งรายการปกติซึ่งรับชมสดตามตารางการออกอากาศ/ผังรายการ และการรับชมย้อนหลัง หรือรับชมตามความต้องการ ตลอดจนการรับชมวิดีโอตามต้องการหรือ วิดีโอออนดีมานด์ (Video on Demand) ผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันต่าง ๆ นั้น เครื่องรับโทรทัศน์ดิจิทัลยังคงเป็นอุปกรณ์หลักที่ผู้ชมเลือกใช้ในการรับชม คิดเป็นสัดส่วน 33.6% ตามด้วยโทรศัพท์เคลื่อนที่ 27.2% เครื่องรับโทรทัศน์แอนะล็อก 20.1% สมาร์ททีวี 11.1% ที่เหลือเป็นการรับชมผ่านทางคอมพิวเตอร์ทั้งตั้งโต๊ะ และคอมพิวเตอร์พกพา (โน๊ตบุ๊ก) รวมกัน 8% ในส่วนสถานที่รับชมนั้น ส่วนใหญ่เป็นการรับชมจากที่พักถึง 93.6% ที่เหลือเป็นการรับชมจากที่ทำงาน 4.9% รับชมระหว่างเดินทาง และสถานที่อื่น ๆ 1.2% และ 0.3% ตามลำดับ 

ส่วนพฤติกรรมการรับชมรายการย้อนหลัง หรือออนดีมานด์ (On Demand) เทคโนโลยีและการขยายการครอบคลุมของเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ทั้งในเรื่องความครอบคลุมในการเข้าถึง ความเร็วของสัญญาณ และประสิทธิภาพในการรับส่งข้อมูล ทำให้ผู้ชมมีทางเลือกมากขึ้น ส่งผลให้พฤติกรรมการ รับชมรายการตามความต้องการหรือออนดีมานด์ (On Demand) เติบโตสูงขึ้น อย่างไรก็ดี จากการสำรวจในครั้งนี้พบว่า ผู้ชมรายการส่วนใหญ่กว่า 84.9% ยังคงรับชมรายการสดตามตารางการออกอากาศของ สถานีโทรทัศน์ โดย 49.9% เป็นผู้รับชมสดตามตารางการออกอากาศเท่านั้น และอีก 35% เป็นการรับชมสดตามตารางการออก อากาศควบคู่ไปกับการรับชมแบบ On Demand ขณะที่ 15.1% เป็นการรับชมแบบ On Demand เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งผลการสำรวจดังกล่าวสะท้อนให้เห็นความสำคัญของกิจการโทรทัศน์ที่ออกอากาศตามผังรายการ ปกติที่ยังคงมีอิทธิพลอยู่มากต่อประชาชนในยุคของความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต

หากพิจารณาจากช่วงกลุ่มอายุที่ได้มีการสำรวจและแบ่งกลุ่มอายุของกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ Gen Z (ช่วงอายุ 23 ปีหรือน้อยกว่า) Gen Y (อยู่ในช่วงอายุ 24-41 ปี) Gen X (อยู่ในช่วงอายุ 42-56 ปี) Baby Boomer (อยู่ในช่วงอายุ 57-75 ปี) และ G.I. Generation (อยู่ในช่วงอายุ 76 ปีขึ้นไป)  ครอบคลุมพฤติกรรมการบริโภคสื่อภาพเคลื่อนไหว การบริโภคสื่อทางเสียง การบริโภคสื่อออนไลน์ การบริโภคสื่อสิ่งพิมพ์ การบริโภคสื่อในโรงภาพยนตร์ และการบริโภคสื่อกลางแจ้งและสื่อกลางแจ้งแบบเคลื่อนที่ได้ พบว่า รูปแบบของการรับชมตามตารางการออกอากาศยังคงได้รับความนิยมสูงในกลุ่มเจเนอเรชัน เอกซ์ ขึ้นไป กล่าวคือ เจเนอเรชัน จี.ไอ. ที่มีอายุมากกว่า 76 ปีขึ้นไป นิยมการรับชมสดตาม ตารางที่ออกอากาศมากที่สุดถึง 97.1% รองลงมาเป็นกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ 85.3% เจเนอเรชัน เอกซ์ 65.6% และ เจเนอเรชัน วาย 41.0% โดยที่กลุ่มเจเนอเรชัน แซด เป็นกลุ่มที่รับชมรายการสดน้อยที่สุด และในทางกลับกัน การรับชมรายการแบบย้อนหลัง และ On Demand นั้น ได้รับความนิยมสูงสุดจากกลุ่ม เจเนอเรชัน แซด มากที่สุดถึง 28.5% รองลงมาเป็นกลุ่มเจเนอเรชัน วาย 17.9% กลุ่มเจเนอเรชัน เอกซ์ 6.7% และ กลุ่มเบบี้ บูมเมอร์เพียง 1.9% โดยที่กลุ่มเจเนอเรชัน จี.ไอ. ไม่นิยมการรับชมย้อนหลังหรือแบบ On Demand เลย

ที่มา: กสทช.

จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่า รูปแบบของการรับชมตามตารางออกอากาศได้รับความนิยมสูงในกลุ่มตั้งแต่ ช่วงวัยของกลุ่มเจเนอเรชัน เอกซ์ ขึ้นไป อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกลุ่มเจเนอเรชัน วาย และ เจเนอเรชัน แซด พบว่า มีพฤติกรรมการรับชมโทรทัศน์ตามตารางออกอากาศคู่ขนานไปกับการรับชมแบบย้อนหลัง/ ตามความ ต้องการเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า การแพร่ภาพออกอากาศโทรทัศน์โดยสถานีส่งสัญญาณภาพออกอากาศ จะมีฐานผู้รับชมเป็นคนช่วงวัยตั้งแต่อายุ 42 ปีขึ้นไป ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มของผู้รับสารทั่วโลก ที่ระบุว่าโทรทัศน์ คือ พื้นที่ของประชากรอายุ 40 ปีขึ้นไป

สำหรับการรับชมแบบย้อนหลัง หรือการรับชมรายการตามความต้องการ (ออนดีมานด์) ไม่ว่าจะผ่านเว็บไซต์ หรือผ่านแอปพลิเคชัน จากทั้งสถานีโทรทัศน์และสื่อสังคมออนไลน์ จะพบว่า กลุ่มเจเนอเรชัน แซด มีสัดส่วนการรับชมย้อนหลังสูงกว่าการรับชมตามตารางการออกอากาศ ซึ่งสะท้อนถึงพฤติกรรมการเป็นชาวดิจิทัลโดยกำเนิด (Digital Native) โดยที่การรับสารของคนรุ่นใหม่มีแนวโน้มรับข้อมูลข่าวสารบนแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ตสูงขึ้น อย่างชัดเจน1

เมื่อพิจารณาตามสถิติดังกล่าวจะเห็นได้ว่า การให้บริการ OTT TV ผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของวิดีโอออนดีมานด์มีแนวโน้มว่า จะได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น และส่งผลกระทบต่อธุรกิจทีวีแบบดั้งเดิมจนทำให้เกิดการแข่งขันขึ้นอย่างดุเดือด ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้ให้บริการ OTT TV ในประเทศอย่าง MONO MAX, AIS PLAY,  Bugaboo TV, Mello ผู้ให้บริการจากต่างประเทศ เช่น Netflix, Viu, WeTv และ Apple TV+ ที่พากันลงสนามเพื่อสร้างฐานผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด โดยบริษัท PwC ประเทศไทย คาดการณ์ว่า วิดีโอผ่านอินเทอร์เน็ต (Over-the-top video: OTT video) จะเป็นตลาดที่เติบโตเร็วที่สุดของประเทศไทยในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยได้รับแรงหนุนจากความต้องการบริโภควีดิทัศน์ตามคำขอ (Video on demand) ที่ขยายตัวมากขึ้น

ขณะที่มูลค่าการใช้จ่ายเพื่อรับชมวิดีโอผ่านอินเทอร์เน็ตในไทยปี 2561 อยู่ที่ 2,810 พันล้านบาท และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าในปี 2566 เป็น 6,080 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 16.64% ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับสื่อโทรทัศน์ในรูปแบบดั้งเดิมและโฮมวิดีโอ ที่จะเติบโตเฉลี่ยต่อปีเพียง 4.76% (จาก 1.97 หมื่นล้านบาทในปี 2561 เป็น 2.49 หมื่นล้านบาทในปี 2566)


ผู้ให้บริการรายสำคัญในไทย

Netflix

  • บริการสตรีมมิงภาพยนตร์ ซีรีส์ สารคดี รวมถึงคอนเทนต์ ทั้งที่ผลิตเองหรือร่วมผลิตจากทั่วทุกมุมโลก
  • จัดแบ่งเลย์เอ้าท์ของคอนเทนต์แต่ละประเภทให้ค้นหาได้ง่าย
  • แสดงภาพและเสียงคุณภาพระดับสูงสุดที่ Ultra HD 4K (เลือกได้ตั้งแต่ความคมชัดระดับ Standard, HD, และ UHD ขึ้นอยู่กับความสามารถในการรับรองของอุปกรณ์)
  • มีคอนเทนต์หลากหลายให้เลือกชมทั้งจากฝั่งอเมริกา ยุโรป และเอเชีย พร้อมเสียงหรือคำบรรยายภาษาไทย
  • ติดตั้งมาพร้อมสมาร์ททีวีบางรุ่น

iflix

  • รวบรวมภาพยนตร์ฮอลลีวูดที่ได้รับความนิยมในอดีตไว้จำนวนมาก
  • บุกเบิกการสตรีมมิงคอนเทนต์ภาพยนตร์สั้นที่ใช้เวลาไม่เกิน 20 นาที ตอบโจทย์ผู้บริโภคในยุครีบเร่ง

HOLLYWOOD HD TV

  • แหล่งรวมหนังฟอร์มยักษ์จาก 6 ค่ายดังของสหรัฐ
  • การันตีคุณภาพความคมชัดระดับ HD พร้อมเสียงพากษ์และคำบรรยายภาษาไทย

Apple TV+

  • แอปสตรีมมิงน้องใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวล่าสุดในไทยช่วงปลายปี 2562
  • นำเสนอ Original Content จากผลงานความร่วมมือระหว่างค่าย Apple กับผู้ผลิตคอนเทนต์ทั่วโลก
  • ออกอากาศคอนเทนต์ที่ผลิตใหม่ทั้งหมด โดยไม่การฉายซ้ำคอนเทนต์จากแพลตฟอร์มอื่น ๆ
  • มีฟีเจอร์ให้สามารถดาวน์โหลดรายการโปรดมาดูแบบออฟไลน์ได้
  • ดึงดูดลูกค้าใหม่ ด้วยการมอบสิทธิดูฟรี 1 ปี ให้กับลูกค้าที่ซื้ออุปกรณ์ Apple และลงทะเบียนเข้าใช้งานเป็นครั้งแรก

HOOQ

  • เริ่มให้บริการในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2558 ผ่านความร่วมมือกับกับ AIS
  • สตรีมมิงภาพยนตร์ดัง ชีรีส์ดัง ทั้งเก่าใหม่จากทุกมุมโลก
  • ตัวเลือกในการรับบริการที่มากกว่า ด้วยแพคเกจการสมาชิกตั้งแต่รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน ไปจนถึงรายปี
  • ชู Original Content แตกต่างไม่เหมือนใคร ด้วยความร่วมมือกับผู้ผลิตที่ได้รางวัลจากโครงการประกวดคนทำหนังที่จัดขึ้นเอง

VIU

  • เจาะกลุ่มคอซีรีส์เกาหลี ด้วยคอนเทนต์ถูกลิขสิทธิ์จาก 3 ค่ายดังของเกาหลี SBS, KBS และ MBC
  • ชูจุดเด่นด้วยบริการสตรีมมิงซีรีส์เกาหลีพร้อมคำบรรยายไทย ภายใน 24 ชม. หลังออกอากาศในเกาหลี
  • ดาวน์โหลดซีรีส์เพื่อเก็บไว้ดูออฟไลน์ในระยะเวลา 7 วัน

WeTV

  • แอปสตรีมมิงจากค่ายยักษ์แดนมังกรอย่างเทนเซ็นต์ ที่ส่งซีรีส์ ละครจีน เข้ามาออกอากาศในตลาดประเทศไทย
  • ชูกลยุทธ์จับมือผู้ผลิตจากไทย ทำคอนเทนต์ป้อนตลาดจีน
  • เน้นเจาะฐานแฟนละครจีน ด้วยกิจกรรมแฟนมีตติ้งดาราดัง ตอบแทนสมาชิก WeTV VIP  

MONO MAX

  • แอปพลิเคชันวิดีโอสตรีมมิงที่รีแบรนด์มากจากเว็บไซต์ Doonung.com เว็บดูภาพยนตร์ยอดนิยมเจ้าแรกๆ ในประเทศไทย
  • นำเสนอคอนเทนต์หลากหลาย ตั้งแต่ภาพยนตร์ ซีรีส์ การ์ตูน ทีวีโชว์ มิวสิกวิดีโอ ไปจนถึงสารคดี ทั้งจากฝั่งอเมริกาและเอเชีย รวมถึงภาพยนตร์นอกกระแสและภาพยนตร์หายากจากทั่วทุกมุมโลก

AIS PLAY

  • เน้นคอนเทนต์บันเทิง ถ่ายทอดสดคอนเสิร์ตจากศิลปินดังทั่วโลกมาให้ชมถึงบ้าน ตามคอนเซป ‘Home of (Live) Concerts’
  • มีฟีเจอร์การรับชมหลายหน้าจอ  (Multi-Screen) สูงสุด 3 มุมกล้อง
  • คลังบันทึกการแสดงสด‘Library and Recorded Concert’ เก็บรวบรวมบันทึกการแสดงจากอดีต มาให้เลือกรับชมแบบย้อนหลัง
  • เสริมทัพด้วยคอนเทนต์ภาพยนตร์ ซีรีส์ กีฬา การ์ตูน ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์

DOONEE

  • แอปดูภาพยนตร์, ซีรีส์, การ์ตูน, รายการทีวี พร้อมเสียงภาพ และคำบรรยายภาพภาษาไทย
  • เน้นสตรีมมิงซีรีส์, รายการทีวีจากฝั่งตะวันตก

LINE TV

  • แพลตฟอร์มดูฟรีทีวี ซีรีส์ ละครไทย
  • รีรันคอนเทนต์หลังออนแอร์จบไม่กี่ชั่วโมง
  • จับมือผู้ผลิตในประเทศสร้าง LINE TV Originals คอนเทนต์เอ็กซ์คลูซีฟที่รับชมได้ใน LINE TV ที่เดียว

Disney+

  • แอปสตรีมมิงภาพยนตร์และแอนิเมชั่นในเครือดิสนีย์
  • คาดว่าจะเปิดให้บริการในประเทศไทยปี 2563

HBO MAX

  • สตรีิมมิ่งภาพยนตร์น้องใหม่จากค่าย Warner Media Entertainment
  • คาดกันว่า Warner อาจถอดคอนเทนต์จาก Netflix มาฉายบนแพลตฟอร์มนี้
  • เตรียมจับมือดาราดังผลิตเอกซ์คลูซีฟคอนเทนต์ที่แตกต่างจากค่ายอื่น ๆ
  • มีกำหนดการเปิดตัวครั้งแรกช่วงกลางปี 2563

ศึกแย่งฐานคนดู คอนเทนต์โดนใจ ราคาสบายกระเป๋า

ความสำเร็จของอุตสาหกรรมวิดีโอออนดีมานด์มาจากรูปแบบของบริการที่ตอบโจทย์วิถีชีวิตของคนยุคดิจิทัลที่ต้องการความยืดหยุ่น สะดวกสบาย หลุดพ้นจากกรอบเวลาและสถานที่แบบเดิม ๆ ซึ่งส่งให้อุตสาหกรรมนี้เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดไป พร้อม ๆ กับการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่แผ่ขยายครอบคลุมเกือบทุกพื้นที่ในประเทศไทย ซึ่ง We Are Social และ Hootsuite ได้สำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยระบุไว้ในรายงาน  “Global Digital 2019” พบว่า คนไทยทั่วประเทศที่มีอยู่ราว 70 ล้านคน สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ 57 ล้านคน โดยมีถึง 90% ที่ใช้งานอินเทอร์เน็ตทุกวัน ซึ่งส่วนใหญ่นิยมใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านทางโทรศัพท์มือถือ (71%) ผ่านคอมพิวเตอร์ โน๊ตบุ๊ค (25%) และแท็บเล็ต (12%) ขณะที่ระยะเวลาการใช้งานอินเทอร์เน็ตโดยเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 9 ชั่วโมง 11 นาทีต่อวัน  (นับรวมทุกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์), ใช้เวลาอยู่กับ Social Media 3 ชั่วโมง 11 นาทีต่อวัน (นับรวมทุกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์), ใช้เวลาดู Online Streaming หรือ Video On Demand 3 ชั่วโมง 44 นาทีต่อวัน และใช้เวลาฟังเพลงแบบ Music Streaming 1 ชั่วโมง 30 นาทีต่อวัน3 จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ OTT TV จะกลายมาเป็นแหล่งรายได้อันหอมหวานของผู้ให้บริการทั้งหน้าเก่าและใหม่ที่มีความพร้อมทั้งในแง่เงินทุนและเทคโนโลยี จนการแข่งขันในตลาดที่ปรากฏความเข้มข้นดุเดือด เพราะเหตุผลหนึ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ก็คือ ผู้บริโภคทุกคนมีเวลาอยู่กับตัวคนละ 24 ชั่วโมงเท่า ๆ กัน ชัยชนะในสนามนี้ก็คือการยึดครองเวลาจากผู้บริโภคเข้ามาในแพลตฟอร์มของตัวเองให้มากที่สุด จึงมีการแข่งขันเกิดขึ้นทั้งในแง่ราคาที่จับต้องได้ หรือแม้แต่การสร้างสรรค์เนื้อหาให้ถูกจริตผู้บริโภค เพื่อแย่งชิงเวลาของผู้บริโภคมาไว้ที่แพลตฟอร์มของตนเองให้ได้มากที่สุด

บรรดาผู้ให้บริการ OTT TV จึงพากันใช้กลยุทธ์ทั้งในแง่ของรูปแบบคอนเทนต์และราคาค่าบริการมาเชือดเฉือนกัน โดยผู้ให้บริการส่วนใหญ่เน้นนำเสนอค่าบริการที่จับต้องได้เฉลี่ยต่อเดือนในหลักร้อยบาท พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้รับบริการสามารถแชร์ค่าบริการในหมู่เพื่อนหรือครอบครัวด้วยการรับสมัครรับบริการเพียงครั้งเดียวแต่สามารถเปิดดูได้หลายหน้าจอพร้อม ๆ กัน อาทิ Netflix ที่คิดค่าบริการรายเดือน 420 บาทต่อเดือน สามารถดูพร้อมกันได้ 4 หน้าจอ หรือเฉลี่ยแล้วคิดเป็นเงินเพียง 105 บาทต่อเดือนต่อการดูการคอนเทนต์ในอุปกรณ์หนึ่งเครื่อง ในขณะที่ Apple TV+ ก็ไม่น้อยหน้าเปิดตัวมาด้วยสนนราคาค่าบริการที่ 99 บาทต่อเดือน พร้อมมอบสิทธิพิเศษให้ลูกค้าที่ซื้ออุปกรณ์ใหม่ของ Apple สามารถใช้งานแอปพลิเคชัน Apple TV+ ได้ฟรีเป็นเวลา 1 ปี


การรุกตลาด OTT TV ของผู้ให้บริการในไทย

จากผลสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคไทยของนีลเส็น พบว่า คนไทยมีการรับชมรายการผ่าน Online platform มากขึ้นโดยกว่า 80% นิยมการรับชมแบบย้อนหลัง และใช้เวลาในการรับชมเฉลี่ย 58 นาทีต่อวัน 4 ซึ่งสอดคล้องกับการเปิดเผยของบริษัทไลน์ ประเทศไทย หนึ่งในผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม OTT TV รายใหญ่ของไทยอย่าง LINE TV ที่ระบุว่า ตั้งแต่เปิดตัวครั้งแรกในไทยจนปัจจุบันเป็นเวลา 5 ปีแล้ว มีคนดู​ LINE TV เกือบ 40 ล้านคน จากจำนวนผู้ใช้ LINE กว่า 44 ล้านคน และในจำนวนคนดูดังกล่าว มากถึง 40% ดูคอนเทนต์ผ่าน LINE TV เกือบทุกวัน ในขณะที่จำนวนคนดูทีวี (Traditional TV) ในไทยอยู่ที่กว่า 55 ล้านคน โดยไลน์ระบุว่า ความได้เปรียบสำคัญประการแรกที่ทำให้ “LINE TV” สามารถสร้างฐานคนดูเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มาจากการเป็นหนึ่งใน Business Ecosystem ของ “LINE” และให้บริการ “ฟรี” ก็ยิ่งทำให้คนเข้ามาดูคอนเทนต์บนแพลตฟอร์มนี้มากขึ้น โดยที่ Business Revenue ปัจจุบันยังมาจาก “รายได้โฆษณา” 5

เมื่อคนไทยใช้เวลาเฉลี่ยบนโลกอินเทอร์เน็ตกันมากขึ้น OTT หรือ Over-the-Top ซึ่งก็คือการให้บริการต่าง ๆ ผ่านอินเทอร์เน็ต โดยที่ผู้ให้บริการไม่ต้องลงทุนหรือเป็นเจ้าของโครงข่ายสัญญาณเอง ก็ได้รับความนิยมมากขึ้นตามไปด้วย เทรนด์การรับชมความบันเทิงของผู้บริโภคที่เปลี่ยนจากเดิมนี้ ได้เข้าไปกระตุ้นให้เหล่าบรรดาผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลต้องเร่งปรับตัวหาทางอยู่รอด โดยจะเห็นได้ว่าช่องทีวีหลายช่องที่ลงสนาม OTT TV ส่งคอนเทนต์ที่เผยแพร่ในช่องทีวีปกติเข้าสู่โลกอินเทอร์เน็ต ยกตัวอย่างเช่น ช่อง 7 ซึ่งแทบจะเรียกได้ว่าเป็นผู้ให้บริการ OTT TV เจ้าแรก ๆ ของประเทศไทยที่ตัดสินใจมาลงสนามนี้ตั้งแต่เมื่อ 8 ปีที่แล้ว ด้วยการเปิดตัวเว็บไซต์ BUGABOO.tv ขึ้นในปี 2554 ก่อนจะเปิดบริการในรูปแบบของแอปพลิเคชันในปี 25556 เช่นเดียวกับช่อง 3 ที่ส่ง Mello มาออกอากาศคอนเทนต์รีรัน และล่าสุดสถานีโทรทัศน์  Thai PBS ก็ออกมาประกาศเผยแพร่คอนเทนต์ผ่านช่องทาง OTT บนแพลตฟอร์มชื่อ VIPA Channel  ซึ่งเป็นช่องทางการออกอากาศบนสื่อใหม่ที่จะให้บริการทั้ง Audio และ Video Streaming เพื่อให้ผู้ชมสามารถเข้าถึงคอนเทนต์ได้ทุกที่ ทุกเวลาผ่านช่องทางออนไลน์ เว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย และแอปพลิเคชัน VIPA นำเสนอในหลายหมวดเนื้อหา พร้อมบริการภาษาทางเลือก โดยให้บริการ VIPA Live รายการสด ในเหตุการณ์และการแข่งขันกีฬาสำคัญ ๆ VIPA Archive คลังคอนเทนต์จากไทยพีบีเอส VIPA Original เนื้อหาที่นำเสนอเฉพาะช่อง VIPA และ VIPA UGC พื้นที่สร้างสรรค์ผลงานจากครีเอเตอร์ออนไลน์ 7

นอกจากจะพัฒนาแพลตฟอร์มของตัวเองขึ้นมาแล้ว ยังพบว่ามีผู้ประกอบการทีวีบางส่วนที่หันไปร่วมมือกับเจ้าแพลตฟอร์ม OTT TV เช่น Workpoint ที่หันไปจับมือร่วมธุรกิจกับ Viu (วิว) ผู้นำด้านการให้บริการผ่านระบบอินเทอร์เน็ตระดับภูมิภาคภายใต้กลุ่มบริษัท PCCW Media Group เพื่อให้แฟน ๆ Viu รับชมละครและรายการต่าง ๆ จาก Workpoint กว่า 1,500 ตอน ในปี 2562 หลังจากที่ก่อนหน้านี้ Viu ได้ทำข้อตกลงคอนเทนต์ครั้งแรกในประเทศไทยกับทาง GMM25 หนึ่งในบริษัทชั้นนำด้านความบันเทิงที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ เพื่อส่งตรงรายการพรีเมียมสุดฮิตซึ่งล้วนเหมาะกับผู้ชมออนไลน์ชาวไทยถึงหน้าจอมาแล้วเมื่อต้นปี 2562 8


Original Content อาวุธลับบนสมรภูมิ OTT TV 

การเข้ามามีบทบาทของ OTT TV ไม่เพียงกระทบต่อผู้ประกอบการธุรกิจทีวีดิจิทัลเพียงเท่านั้น แม้แต่ผู้ผลิตคอนเทนต์เองก็ต้องปรับตัวรับมือกันยกใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้บริโภคมีช่องทางการเสพสื่อเพื่อความบันเทิงเพิ่มมากขึ้น การแข่งขันระหว่างบรรดาผู้ให้บริการ OTT TV ในปัจจุบันจึงหนีไม่พ้นการสร้างสรรค์คอนเทนต์ในรูปแบบที่แตกต่าง มีเอกลักษณ์ และไม่สามารถหาดูได้จากที่ไหน ด้วยการเข้าจับมือกับผู้ผลิตคอนเทนต์ในท้องถิ่นสร้างคอนเทนต์หลากหลายมาดึงเวลาจากผู้ชมให้เข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มนานที่สุด

สำหรับปี 2562 ที่ผ่านมานั้น มี Original Content ที่เป็นภาษาไทยจากผลการผลิตของผู้ผลิตภาพยนตร์ชาวไทยที่ไปร่วมมือกับแพลตฟอร์มต่าง ๆ ปรากฏออกมาหลายเรื่อง และในจำนวนนั้นก็มีอยู่มากที่ได้เสียงตอบรับอย่างดีจากผู้คนทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น “เคว้ง” ออริจินัลซีรีส์ภาษาไทยเรื่องแรกจากความร่วมมือระหว่าง Netflix กับผู้ผลิตคอนเทนต์ชั้นนำของไทยอย่าง จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ และ H2L Media Group ที่เปิดตัวออกมาในช่วงปลายปี โดยออกอากาศให้ชมในครั้งแรก 7 ตอนรวดบนแพลตฟอร์ม Netflix ให้ผู้ชมกว่า 151 ล้านคนใน 190 ประเทศทั่วโลกได้รับชมไปพร้อม ๆ กัน

นอกจากแพลตฟอร์มใหญ่จากตะวันตกอย่าง Netflix แพลตฟอร์มอื่น ๆ ต่างก็งัดกลยุทธ์มาเชือดเฉือนกัน เช่น HOOQ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการ OTT TV รายแรก ๆ ที่เข้ามาทำตลาดในไทย ก็อาศัยความเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคในตลาดเอเชีย ส่งออริจินัลคอนเทนต์จากความร่วมมือกับผู้ผลิตรายการทั่วภูมิภาคออกป้อนตลาด รวมถึง ออริจินัลคอนเทนต์ที่มาจากการประกวดเฟ้นหาสุดยอดคนทำหนัง “HOOQ Filmmakers Guild” ที่เปิดโอกาสให้ผู้หลงใหลการสร้างสรรค์ภาพยนตร์ วิดีโอที่มีพรสวรรค์จากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดีย ส่งผลงานมาร่วมประกวดชิงเงินรางวัลเพื่อเป็นทุนสนับสนุนการผลิตซีรีส์ตอนแรก มาออกอากาศบนแอปพลิเคชันของ HOOQ และเรื่องที่ได้รับความนิยมจากคนดูมากที่สุดจะได้รับทุนจากคณะกรรมการให้สร้างต่อไปจนจบไม่เกิน 13 ตอน ส่วนในประเทศไทย HOOQ ได้เข้าไปร่วมมือกับ บริษัท สาระแน แปซิฟิค ผู้ผลิตคอนเทนต์ชื่อดังของไทย สร้างภาพยนตร์เรื่อง “สาระแน เลิฟยูววว” มาเป็นออริจินัลคอนเทนต์ภาษาไทยเรื่องแรกที่ฉายบน HOOQ

ด้าน Viu อีกหนึ่งผู้ให้บริการวิดีโอสตรีมมิงจากฝั่งเอเชียก็ไม่น้อยหน้าจับมือกับบริษัทเวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ ผู้ผลิตคอนเทนต์ชื่อดังของไทยส่ง “โฮะ แฟมิลี่” เป็นออริจินัลซีรีส์ภาษาไทยเรื่องแรกออกฉายบนแพลตฟอร์ม Viu ในกว่า 17 ประเทศ และช่อง Workpoint เมื่อต้นปี 2562 ที่ผ่านมา โดยได้กระแสตอบรับเป็นอย่างดี จนสามารถคว้ารางวัล  Regional Winner Best Comedy Programme จากเวทีแห่งความภาคภูมิใจสุดยิ่งใหญ่อย่าง Asian Academy Creative Awards 2019 ซึ่งเป็นเวทีที่มอบรางวัลเพื่อเชิดชูและเป็นเกียรติแก่ผู้คิดค้น สร้างสรรค์ และผลิตคอนเทนต์ที่มีคุณภาพในภูมิภาคเอเชียมาครองได้สำเร็จ อีกทั้งยังได้รับเกียรติให้เป็นตัวแทนคอนเทนต์ไทยบินลัดฟ้าไปแข่งขันในระดับเอเชียในการประกาศผลรอบสุดท้ายที่ประเทศสิงคโปร์  ขณะเดียวกัน WeTv ผู้ให้บริการสตรีมมิงรายใหญ่จากจีนก็เตรียมส่ง “ฉลาดเกมส์โกง เดอะซีรีส์” ซึ่งรีเมคจากภาพยนตร์ชื่อดังอย่าง ฉลาดเกมส์โกง มาลงจอในช่วงปี 2563 นี้ด้วย


กสทช.คาดจำนวนผู้ชม OTT TV ในไทยแตะ 2 ล้านรายภายในปี 2566

อุตสาหกรรม OTT TV ในประเทศไทยเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดหลายปีมานี้และคาดว่าจะมีการขยายตัวต่อไปในอนาคต โดยคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้คาดการณ์ไว้ว่า ในปี 2562 จะมียอดผู้ใช้บริการ OTT ทั้งในรูปแบบของการเป็นสมาชิกผู้ให้บริการรับชมทีวีออนไลน์แบบเรียกเก็บค่าสมาชิก ซึ่งเป็นการเลือกรับชมย้อนหลังในรูปแบบวิดีโอสตรีมมิง (SVOD) และการรับชมทีวีออนไลน์แบบรับชมสดตามประเภทที่ออกอากาศ (SLIN) รวมกันอยู่ที่ 1.3 ล้านราย เพิ่มขึ้น 18.80% จากปี 2561 ที่มียอดผู้ชมอยู่ที่ 1.09 ล้านราย และจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.1 ล้านรายในปี 2566

ทั้งนี้ หากแยกเป็นประเภทจะพบว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีผู้รับบริการแบบ SVOD ในสัดส่วนที่สูงมาก โดยมีจำนวนผู้เป็นสมาชิกในปี 2562 อยู่ที่ 1.13 ล้านราย และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.91 ล้านรายในปี 2566 ในขณะที่บริการแบบรับชมสดตามโปรแกรมที่จัดวางจะมีการเติบโตในสัดส่วนที่น้อยกว่ามาก โดยในปี 2563 จะมีผู้ใช้บริการแบบรับชมสดอยู่ที่ 170,000 รายเท่านั้น และจะเติบโตเพียงเล็กน้อย โดยจะมีตัวเลขผู้ให้บริการเพียงแค่ 190,000 รายเท่านั้นในปี 2566

สำหรับกลุ่มผู้ให้บริการหลักของวิดีโอสตรีมมิงแบบ SVOD ในไทยนั้น Netflix เป็นผู้ให้บริการรายใหญ่ เช่นเดียวกับในหลาย ๆ ประเทศ โดยเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยด้วยการจับมือกับผู้ผลิตคอนเทนต์รายใหญ่ในไทยหลายราย ผลิตซีรีส์ไทยออกอากาศในช่องทาง Netflix เท่านั้น ในขณะที่กลุ่มผู้ให้บริการแบบการรับชมสดในไทยนั้น ได้แก่ ผู้ให้บริการผ่านแอปพลิเคชัน เช่น AIS Play} LOOX TV และ True ID เป็นต้น

ที่มา: กสทช.

ในส่วนของทิศทางการเติบโตของบริการแบบ SVOD และ SLIN นั้น กสทช.ระบุว่า ตลาดผู้ชม OTT ของประเทศไทย มีการเติบโตสูงในกลุ่มบริการวิดีโอสตรีมมิงแบบ SVOD มากกว่าบริการรับชมสดอย่างชัดเจน โดยในปี 2562 ตลาดบริการกลุ่มนี้เติบโตถึง 21.60% จากยอดจำนวนผู้ชมที่คาดการณ์ในปี 2562 พบว่ามีจำนวน 1.13 ล้านราย และจะเพิ่มเป็น 1.30 ล้านรายในปี 2563 ส่วนบริการแบบรับชมสดมีอัตราการเติบโตในระดับ 2-3% ต่อปีเท่านั้น ซึ่งสวนทางกับทิศทางตลาดโลกที่ บริการแบบการรับชมสดจะมีอัตราการเติบโตสูงกว่า ซึ่ง กสทช. ได้ให้เหตุผลในเรื่องนี้ว่า ที่การเติบโตของบริการแบบ SVOD ในภูมิภาคเอเชียและโอเซียเนีย ซึ่งรวมถึงประเทศไทยมีการเติบโตสูงกว่านั้น เป็นเพราะประเภทคอนเทนต์ และความนิยมที่แตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค โดยผู้ชมในเอเชียส่วนใหญ่นิยมรับชมรายการผ่านแพลตฟอร์มสตรีมมิงในรูปแบบของการรับชมย้อนหลัง เนื่องจากบริการประเภทนี้เปิดโอกาสให้สามารถรับชมได้ตามความต้องการ ขณะที่ภาพรวมในตลาดโลกบริการประเภทนี้กำลังเติบโตจากบริการประเภทรับชมสด จากความน่าสนใจของรายการ เช่น ข่าวหรือการแข่งขันกีฬารายการสำคัญ ๆ  ที่คนจำนวนมากต้องการรับชมไปพร้อม ๆ กันทั่วโลก


ความเคลื่อนไหวภาครัฐกับอุตสาหกรรม OTT TV

นอกเหนือไปจากการแข่งขันและทิศทางการเติบโตแล้ว ประเด็นการเรียกเก็บรายได้จากผู้ให้บริการ OTT TV ยังเป็นประเด็นที่ยังค้างคาอยู่ ที่ผ่านมา บริการ OTT TV ถูกมองว่าเป็นบริการที่ต้องใช้ดาต้าสูง ใช้ทราฟฟิกของอินเทอร์เน็ตภายในประเทศเป็นจำนวนมาก สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. จึงเสนอแนวคิดที่จะเรียกเก็บเงินจากผู้ให้บริการประเภทนี้ ซึ่งเคยเสนอมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 2559 โดยในปี 2562 กสทช. ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมใหญ่ผู้นำองค์กรกำกับดูแลด้านกิจการโทรคมนาคมในภูมิภาคอาเซียนครั้งที่ 25 หรือที่เรียกกันว่า “การประชุม 25th ASEAN Telecommunication Regulators’ Council (ATRC) and Related Meetings” และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ในฐานะประธานอาเซียน ได้ยกหยิบเรื่องดังกล่าวขึ้นมาหารืออีกครั้งเพื่อหาข้อสรุปในเรื่องแนวทางการกำกับดูแลบริการประเภท OTT ในการประชุมซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 – 23 สิงหาคม 2562 ที่กรุงเทพฯ ผลปรากฏว่า ที่ประชุม ATRC มีมติร่วมกันให้ประเทศสมาชิกทุกประเทศจัดเก็บรายได้จากผู้ให้บริการ OTT แต่จะต้องไม่ใช่การเก็บภาษีเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชน แต่รูปแบบการจัดเก็บจะเป็นอย่างไรนั้น ให้แต่ละประเทศนำมติกลับไปพิจารณาหารือกับรัฐบาลของตนเองและเจรจากับผู้ให้บริการ OTT

ในส่วนของประเทศไทยนั้น จะเสนอเข้าที่ประชุมบอร์ด กสทช. ก่อนเสนอเข้าที่ประชุมของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อตัดสินใจเลือกโมเดลที่เหมาะสม เนื่องจากการจัดเก็บรายได้ดังกล่าว จะถือเป็นรายได้ของแผ่นดินที่ กสทช. จะต้องส่งเข้ากระทรวงการคลัง ไม่ใช่เป็นรายได้ของ กสทช.

“หลักสำคัญในการจัดเก็บรายได้คือ ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อค่าบริการของประชาชน และ OTT ต้องร่วมมือ ซึ่งในสิงคโปร์และมาเลเซียจะเก็บรายได้ในรูปแบบภาษี ส่วนอินโดนีเซียจะเก็บผ่านธุรกรรมทางการเงินที่ธนาคารกลางของประเทศดูแลอยู่” ในไทยอาจจะเป็นการใช้ปริมาณการใช้งานโครงข่าย” 9


อ้างอิง