วิทยุ


การฟังเพลงออนไลน์และบริการสตรีมมิ่งที่เติบโตอย่างรวดเร็วตลอดหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้สื่อวิทยุต้องดิ้นเอาตัวรอดอย่างหนักหน่วง หลายรายการบนคลื่นวิทยุที่หายไปจากผังรายการอย่างต่อเนื่อง อย่างในช่วงต้นปี 2562 คลื่นเพลงสากลยอดนิยม “Get 102.5” ของบริษัท อินดิเพนเดนท์ คอมมิวนิเคชั่น เน็ทเวอร์ค จำกัด ที่กล่อมผู้ฟังมายาวนานถึง 17 ปี ก็โบกมือลาวงการไป ส่วนสถานีที่ยังเหลืออยู่ในตลาดต่างก็ต้องปรับตัวตามพฤติกรรมของผู้ฟังที่เปลี่ยนไปสู่โลกออนไลน์ โดยกลยุทธ์การตลาดของสื่อวิทยุยังคงต่อยอดมาจากปีก่อน ๆ นั่นคือ การผนึกกำลัง “ออนแอร์-ออนไลน์-ออนกราวด์” ได้แก่ การนำคอนเทนต์จากออนแอร์ไปต่อยอดรายได้ (เช่น การนำคอนเทนต์จากรายการวิทยุไปสร้างซีรีส์) การขยายฐานผู้ฟังผ่านสื่อออนไลน์ (เช่น การเปิดตัวแอปพลิเคชัน หรือการจัดกิจกรรมให้ผู้ฟังร่วมสนุก) และการสร้างรายได้เพิ่มเติมจากกิจกรรมออนกราวด์ (เช่น การจัดคอนเสิร์ต หรือการลงพื้นที่เพื่อพบกลุ่มเป้าหมาย)

ที่มา: www.wham.asia

หนึ่งในสื่อวิทยุรายหลักของวงการอย่าง เอ-ไทม์ มีเดีย ในเครือบริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด (มหาชน) เจ้าของคลื่นวิทยุ Chill Online, EFM และ Greenwave ได้ปรับตัวเพื่อสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2562 มีการชูกลยุทธ์ “A-Time Media Solution 360 องศาที่เป็นมากกว่าวิทยุ” ซึ่งผนวกธุรกิจวิทยุ 6 ส่วนเข้าด้วยกัน ได้แก่ คลื่นวิทยุ แอปพลิเคชัน แพลตฟอร์มออนไลน์ คอนเทนต์ออนไลน์ โชว์บิซ และแอคทิวิตี้ โดยมีเป้าหมายในการสร้างรายได้จากทุกแพลตฟอร์ม คุณสมโรจน์ วสุพงศ์โสธร กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “เราได้ขยับตัวสู่โมเดลธุรกิจ A-Time Media Solution 360 องศาที่เป็นมากกว่าวิทยุ มีการต่อยอดคอนเทนต์ไปในหลายแพลตฟอร์ม ต้องปรับตัวให้เข้ากับยุคดิจิทัล ลูกค้าก็ให้การตอบรับดีเพราะมีหลายแพลตฟอร์ม เขาก็รู้สึกคุ้มค่า” 1

ในส่วนของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เจ้าของคลื่นวิทยุยอดนิยมหลายคลื่น เช่น FM 95 ลูกทุ่งมหานคร, Mellow 97.5 และ MET 107 ก็พยายามขยายช่องทางแพลตฟอร์มใหม่ โดยจับมือกับพันธมิตรสำคัญอย่างสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) รวมถึงบรรดาค่ายเพลงอิสระและมหาวิทยาลัยดนตรีชั้นนำ เปิดตัวแพลตฟอร์มดนตรี “WHAM” (www.wham.asia) เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ โดยคุณเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ปัจจุบันไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ได้เปลี่ยนแปลงไปตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้สะดวกต่อการสร้างเครือข่าย และเข้าถึงข้อมูลข่าวสารบนแพลตฟอร์มออนไลน์ได้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมดนตรี และวัฒนธรรมร่วมสมัย อสมท ได้เห็นถึงโอกาสในการพัฒนาคอนเทนต์บนแพลตฟอร์มออนไลน์ที่จะสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ทุกกลุ่ม โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและวัฒนธรรม จึงลงทุนใน platform ด้านดนตรีเพื่อเพิ่มโอกาสขยายฐานสู่คนรุ่นใหม่ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ด้าน digital ของ อสมท และการ change ขององค์กรในระยะยาว”2

สำหรับบริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) เจ้าของคลื่น COOLfahrenheit ปรับตัวด้วยการจัดกิจกรรมออนกราวด์อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ กิจกรรมท่องเที่ยว COOLouting, กิจกรรมพากินพาเที่ยว อิ๊งค์ Eat ALL Around และเทศกาลดนตรี COOL Music Fest นอกจากนั้นยังต่อยอดแพลตฟอร์มออนไลน์ด้วย Line@COOLanything คอมมูนิตี้ที่รวมสินค้ามาตรฐานทั้งแบรนด์ของตัวเองและแบรนด์ของพาร์ทเนอร์มาให้เลือกช็อปอย่างจุใจ โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มเครื่องสำอาง เพื่อเปลี่ยนผู้ฟังคลื่น COOLfahrenheit ให้กลายเป็นผู้ซื้อ


รุกทำพอดแคสต์

ที่มา: www.atimeonline.com/podcast

นอกเหนือไปจากการปรับตัวที่กล่าวถึงข้างต้นแล้ว อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวของผู้ประกอบการวิทยุที่เริ่มเด่นชัดมากขึ้นก็คือ การทำ “พอดแคสต์” โดยผู้ที่ลงมาเล่นอย่างจริงจังคือ เอ-ไทม์ ด้วยการผลิตรายการสำหรับพอดแคสต์โดยเฉพาะหลายรายการ เช่น “WORKOUT WORK เอง” นำเสนอวิธีการออกกำลังกายหลากหลายรูปแบบสำหรับคนวัยทำงาน และ “So Watch By Gossip Gun” อัปเดตความบันเทิงมากมายทั้งหนัง ซีรีส์ ละคร ฯลฯ ส่วนรายการที่ฮอตฮิตอยู่แล้วบนหน้าปัดวิทยุและออนไลน์ก็เพิ่มช่องทางการรับฟังผ่านพอดแคสต์เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น “Club Friday” รายการให้คำปรึกษาเรื่องความรักที่โด่งดังที่สุด หรือ “พุธทอล์ค พุธโทร” รายการที่คุยได้ทุกเรื่อง และ “อังคารคลุมโปง” รายการเล่าเรื่องลี้ลับชวนขนหัวลุก ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถรับฟังผ่านเว็บไซต์ แอปพลิเคชัน และยูทูบ

ที่มา: www.facebook.com/MELLOW975

ทางด้าน อสมท ก็ไม่น้อยหน้า โดยคลื่น Mellow 97.5 ได้เปิดตัว “Mellow Podcast” พร้อม 3 รายการใหม่ ได้แก่ “Touch Up Weekly” สร้างแรงบันดาลใจในการทำงานและการใช้ชีวิต “Money Balance” ปรับสมดุลทางด้านการเงินแบบง่าย ๆ และ “Mellow Music Releases” อัปเดตผลงานเพลงใหม่ของเหล่าศิลปิน


ชู “ดีเจ-คนดัง” เป็นแม่เหล็กดึงดูดผู้ฟัง

สิ่งที่ทำให้วิทยุแตกต่างจากบริการสตรีมมิ่งอย่าง Joox, Apple Music หรือ Spotify ซึ่งถือเป็นคู่แข่งที่มาแรงและดึงส่วนแบ่งของกลุ่มผู้ฟังไปจากสถานีวิทยุด้วยเช่นกัน ก็คือ การที่วิทยุมีดีเจคอยอยู่เป็นเพื่อน คอยพูดคุย บอกเล่าข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ คุณสมโรจน์ วสุพงศ์โสธร กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด (มหาชน) บอกเล่าถึงเหตุผลที่ผู้คนยังฟังสื่อวิทยุว่า “คนฟังให้เหตุผลว่า เวลาฟัง Playlist จาก Music Streaming อย่างเดียว รู้สึกเหงา เป็นการฟังเพลงอย่างเดียว ไม่มีดีเจ ไม่มีข่าว เพราะฉะนั้นนี่คือเสน่ห์ของวิทยุ ที่ทำให้คนยังฟังอยู่”3 และ “งานวิทยุที่ยังคงมีเสน่ห์กับทางผู้ฟัง คือ การมี Interactive ระหว่างดีเจที่จัดรายการกับผู้ฟัง หรือมีข่าวสาร โฆษณาให้ฟัง ทำให้คนที่รับฟังขณะเดินทางหรือกำลังทำงานรู้สึกว่าไม่เดียวดาย และกิจกรรมก็เป็นสีสันที่เข้ามาเสริมให้รู้สึกว่ายังมีเพื่อน ซึ่งการคิดรูปแบบรายการวิทยุได้ใกล้ชิดกับคนฟังได้มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งช่วยให้คนฟังไม่หนีไปจากเรา” 4

รายการ Song About “เพลงนี้มีเรื่องเล่า” (ที่มา: www.youtube.com)

นอกจากดีเจจะดึงดูดผู้ฟังแล้ว ยังสามารถดึงดูดเม็ดเงินโฆษณาได้เช่นกัน คุณสุธาสี สุขพรสินชัย ผู้บริหารฝ่ายการตลาด บริษัท เอ-ไทม์ มีเดีย จำกัด กล่าวว่า “คลื่นเอ-ไทม์ มีดีเจทั้งหมด 20 กว่าคน ทุกคนนอกจากจัดรายการวิทยุได้แล้ว ยังเป็นอินฟลูอินเซอร์ของแบรนด์ได้ด้วย ทำให้พวกเขาเข้าใจว่าต้องสื่อสารอย่างไรกับคนฟังแต่ละกลุ่ม ยิ่งยุคนี้การโฆษณาไม่ได้จำกัดแค่ธุรกิจรายใหญ่ แต่รายย่อยระดับ SME ก็สนใจที่จะโฆษณาแบรนด์ของเขาผ่านสื่อหลักด้วย ดังนั้นทุกการทำงานต้องปรับตัว โดยทางบริษัทกำลังเฟ้นหาดีเจใหม่ที่มีความสามารถรอบด้าน เพื่อมาตอบสนองความต้องการของตลาดที่มีความหลากหลาย”5 ทั้งนี้ โปรเจคค้นหาดีเจหน้าใหม่ของเอ-ไทม์ เน้นไปที่คนรุ่นใหม่ที่มีรูปลักษณ์และคาแรคเตอร์โดดเด่น มีความสามารถรอบด้านทั้งในฐานะดีเจ พิธีกร นักแสดง ฯลฯ เพื่อให้สอดรับกับกลยุทธ์ “A-Time Media Solution 360 องศาที่เป็นมากกว่าวิทยุ”

นอกจากดีเจแล้ว บรรดาคลื่นวิทยุต่างก็ใช้ชื่อเสียงของคนดังมาช่วยสร้างความน่าสนใจให้กับรายการด้วยเช่นกัน อย่างคลื่น Mellow 97.5 มีรายการ Song About “เพลงนี้มีเรื่องเล่า” โดยเชิญนักแสดง นักร้อง อินฟลูเอนเซอร์ ฯลฯ มาเลือกเพลงที่ชื่นชอบและเล่าถึงความรู้สึกของตนเองที่มีต่อเพลงนั้น ๆ รวมถึงพูดคุยเรื่องราวต่าง ๆ ถือเป็นการผสมผสานรายการเพลงกับทอล์คโชว์ได้อย่างน่าสนใจ


จำนวนผู้รับฟังวิทยุจากทุกช่องทาง

เมื่อพิจารณาจากข้อมูลจำนวนผู้รับฟังวิทยุคลื่นหลักในระบบเอฟ.เอ็ม. จำนวน 40 สถานี (87.5 MHz – 107.0 MHz) จากทุกช่องทาง (เช่น เครื่องรับวิทยุ โทรศัพท์เคลื่อนที่ แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์) ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่รายงานโดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)6 พบว่า ในช่วงเดือนมกราคม-กันยายน 2562 จำนวนประชากรไทยที่รับฟังวิทยุมีการปรับตัวขึ้น-ลงอย่างผันผวน แต่ยังยืนเหนือระดับ 10 ล้านคนเกือบทุกเดือน


มูลค่าโฆษณาผ่านสื่อวิทยุ

เมื่อพิจารณาจากข้อมูลการโฆษณาผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียงคลื่นหลักในระบบเอฟ.เอ็ม. ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จํานวน 36 สถานี (88.0 – 91.5, 93.0 – 103.5 และ 104.5 – 107.0 MHz) ที่รายงานโดยกสทช.7 พบว่า ในช่วงเดือนมกราคม-กันยายน 2562 มูลค่าโฆษณาผ่านสื่อวิทยุค่อนข้างอยู่ในขาขึ้น โดยไต่ระดับจากหลัก 300 ล้านบาทในช่วงต้นปี จนมาแตะเหนือระดับ 400 ล้านบาทเมื่อสิ้นสุดไตรมาส 3 ปี 2562


อ้างอิง