อินฟลูเอนเซอร์

อินฟลูเอนเซอร์ในไทยเป็นกลุ่มบุคคลที่มีชื่อเสียงในแวดวงต่างๆ และได้รับความสนใจและติดตามจากกลุ่มผู้บริโภคในช่องทางที่หลากหลาย ข้อมูลจากบริษัท แคสติ้งเอเชีย จำกัด ซึ่งเป็นผู้ให้บริการโซลูชั่นการทำตลาดด้วยอินฟลูเอนเซอร์ เปิดเผยว่า ในประเทศไทยนั้น ยูทูปเป็นแพลตฟอร์มที่อินฟลูเอนเซอร์เลือกใช้ในการทําคอนเทนต์สูงสุดเป็นอันดับแรก ตามมาด้วย อินสตาแกรม โดย 42% ของอินฟลูเอนเซอร์ในหมวดศิลปะและบันเทิง, แฟชั่นและไลฟ์สไตล์ และการท่องเที่ยวเลือกที่จะสร้างคอนเทนต์ในรูปแบบวิดีโอและภาพ ซึ่งยูทูปและอินสตาแกรม เนื่องจากเป็นสื่อที่มีคุณสมบัติที่สามารถตอบโจทย์อินฟลูเอนเซอร์ในสายดังกล่าว

หากพิจารณาตามประเภทของอินฟลูเอนเซอร์ในไทย จะเห็นได้ว่า ไมโครอินฟลูเอนเซอร์เป็นอินฟลูเอนเซอร์กลุ่มใหญ่ที่สุด คิดเป็นสัดส่วน 40% ในขณะที่นาโนอินฟลูเอนเซอร์และมาโครอินฟลูเอนเซอร์นั้น ค่อยๆ เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ คิดเป็น 25.8% และ 22.4% ตามลําดับ

ในประเทศไทย ยูทูป เป็นแพลตฟอร์มที่ไมโครอินฟลูเอนเซอร์เลือกใช้ ในขณะที่อินสตาแกรม เป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่เป็นที่นิยมสําหรับผู้ใช้ทั่วไป ขณะที่เฟซบุ๊กเป็นแพลตฟอร์มที่เหมาะสําหรับกลุ่มท็อปสตาร์

นอกจากสื่อที่มีบทบาทอย่างยูทูป อินสตาแกรม และเฟซบุ๊กแล้ว ติ๊กต็อก (TikTok) ก็เป็นสื่อที่มาแรงสำหรับอินฟลูเอนเซอร์ด้วยเช่นกัน

อินฟลูเอนเซอร์ยอดฮิตบนแพลตฟอร์มต่างๆ

ยูทูป - สะใภ้เกาหลี by korean

สะใภ้เกาหลี by korean ช่องยูทูปของ “ซอ” สุไพพร นันทะเดช หรือ “ซอฮยอน” เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า อินฟลูเอนเซอร์ที่มีความสามารถและจุดเด่น แม้ว่าจะอยู่ต่างแดนก็สามารถสร้างฐานคนดูในไทยได้ไม่แพ้อินฟลูเอนเซอร์ในประเทศ ซอเริ่มถ่ายคลิปลงยูทูป ตั้งแต่เดือนมกราคม 2562 เพราะต้องการช่วยครอบครัวทั้งของตัวเองและครอบครัวสามีหารายได้เพิ่ม เนื้อหาในวิดีโอเป็นการเล่าประสบการณ์ชีวิตของการเป็นสะใภ้อยู่ที่เกาหลีใต้ ช่วยปลูกผัก เก็บผัก ช่วยงานร้านอาหารและงานอื่นๆ ของครอบครัวสามี ตลอดจนการนำเสนอกิจกรรมการทำอาหารหลากหลายเมนู พร้อมทั้งบอกสูตรอาหารเกาหลีจากทางร้านอาหารของคุณแม่สามี โดยซอจะพาไปผู้ชมไปชมตั้งแต่การเก็บวัตถุดิบไปจนถึงขั้นตอนการนำมาปรุงเป็นอาหารและรับประทานร่วมกันในครอบครัว ในสไตล์ที่น่ารักและเป็นกันเอง จนมีแฟนคลับให้ความสนใจติดตามจำนวนมาก 

ที่มา: YouTube สะใภ้เกาหลี by Korean (เม.ย. 64)

สุไพพร เปิดเผยว่า จุดเด่นที่ทำให้มียอดผู้ติดตามทางยูทูปเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น เพราะคนให้ความสนใจเรื่องการใช้ชีวิตในชนบทที่ประเทศเกาหลีใต้ และที่แฟนคลับบอกเป็นเสียงเดียวกันก็คือ ความเป็นธรรมชาติของทุกคนในบ้าน และความสัมพันธ์ในครอบครัวที่อบอุ่น

จากกระแสความนิยมที่มาแรง ช่องยูทูปสะใภ้เกาหลี by korean มีผู้ติดตามเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังเปิดช่องได้เพียง 3 เดือน ก็มียอดผู้ติดตามไปแล้วกว่า 137,000 คน จนได้รางวัลโล่เงินจากยูทูบมาครอง ก่อนทำสถิติมียอดผู้ติดตามถึง 1 ล้านคน ได้ในเวลาไม่ถึงหนึ่งปี จนสามารถคว้ารางวัลโล่ทองจากยูทูบมาครองได้สำเร็จ

เฟซบุ๊ก - แซ่บอีสานบ้านๆ by เจ้ย

เพจเฟซบุ๊กของ เจ้ย อินฟลูเอนเซอร์สาวชาวร้อยเอ็ด ที่ใช้ชีวิตอยู่ที่ออสเตรเลีย มีเอกลักษณ์ตั้งแต่คำพูดทักทายเปิดรายการด้วยประโยค “สวัสดีจ้ะพี่น้องทักทาย…กับเจ้ย สาวอีสาน จังหวัดร้อยเอ็ด อำเภอหนองพอก นอกเขตเทศบาล” ปัจจุบันมียอดผู้ติดตามกว่า 3 ล้านคน (เม.ย. 64) เป็นช่องเกี่ยวกับการทานอาหารให้ดู ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาหารอีสานที่ทำเองได้ไม่ยาก พร้อมทั้งบอกวิธีทำ ด้วยลีลาการนำเสนอที่สนุกสนาน สร้างรอยยิ้มให้กับคนดู และยังจะได้เห็นวิถีชีวิตของเจ้ยที่ออสเตรเลีย

เจ้ยเคยให้สัมภาษณ์ถึงที่มาที่ไปก่อนที่จะมาเป็น “แซ่บอีสานบ้านๆ by เจ้ย” ว่า เธอเริ่มจากการโพสต์คลิปวิดีโอเกี่ยวกับอาหารลงในเพจเฟซบุ๊กครัวในบ้านอาหารทำเอง พร้อมคิดแคปชั่นที่น่าสนใจ จนมีแฟนคลับเรียกร้องให้เธอเปิดเพจของตัวเองขึ้นมา และผลจากการกักตัวช่วงโควิด-19 ผู้คนใช้เวลาในโลกออนไลน์มากขึ้น จนมีแฟนคลับเลียนแบบลีลาการพูดของเธอลงในติ๊กต็อกและกลายเป็นกระแสส่งให้เธอโด่งดังอีกครั้ง

ที่มา: https://www.facebook.com/แซ่บอีสานบ้านๆbyเจ้ย-1729808653968827

อินสตาแกรม - punpromotion

ที่มา: https://www.instagram.com/punpromotion/?hl=th

อินฟลูเอนเซอร์ที่รวบรวมข้อมูลโปรโมชั่นตั้งแต่อาหารการกิน ข้าวของเครื่องใช้ เสื้อผ้า รองเท้า ฯลฯ ไปจนถึงงานอีเวนต์สินค้าลดราคา โดยทางเพจให้เหตุผลที่ทำให้ปันโปรแตกต่างกับจากเพจอื่นๆ ที่นำเสนอเนื้อหาคล้ายคลึงกันก็คือ ความพยายามที่จะปรับเปลี่ยนคอนเทนต์ให้ตรงตามความต้องการของผู้ติดตาม และนำเสนอข้อมูลเกี่ยวการซื้อของ เทคนิค หรือเงื่อนไขในการได้รับส่วนลดนั้นๆซึ่งเป็นการให้ข้อมูลที่กระชับและชัดเจนเพื่อให้ผู้ติดตามได้ประโยชน์มากที่สุดจากการเห็นโพสต์ๆ หนึ่ง

ปัจจุบัน  punpromotion มีผู้ติดตามบนอินสตาแกรมกว่า 1.2 ล้านคน (เม.ย. 64) และยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง จนมีสินค้าที่ครอบคลุมหลาย ๆ ด้าน อาทิ อย่างปันโปร XL ที่เกี่ยวกับเรื่องอาหาร ส่วนลดร้านอาหาร คาเฟ่ใหม่ ๆ, ปันโปร 21 ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ด้านความสวยความงามสำหรับผู้หญิง และยังมีปันโปร Hopper ที่นำเสนอโปรโมชันสำหรับกิจกรรมการท่องเที่ยวและที่พัก

ติ๊กต็อก- ซูซี่ ณัฐวดี

“ซูซี่” ณัฐวดี ไวกาโล สาวลูกครึ่งไทย-มาลี อีกหนึ่งดาวติ๊กต็อกที่โด่งดังจากการสร้างความบันเทิงในช่วงโควิด-19 ด้วยการโคฟเวอร์เสียงและท่าทางของแม่ สิตางศุ์ บัวทอง เจ้าแม่แห่งวงการติ๊กต็อกลงในโลกออนไลน์ด้วยลีลาและจังหวะการเลียนแบบที่ถอดแบบมาจากต้นฉบับได้เป็นอย่างดีนั้น ทำให้เธอโด่งดังในชั่วข้ามคืน และถูกกล่าวถึงในวงกว้าง

นอกจากการให้ความบันเทิงกับผู้ชมแล้ว อินฟลูเอนเซอร์รายนี้ยังเป็นกระบอกเสียงในเรื่องความเท่าเทียมของมนุษย์ ด้วยความเชื่อที่ว่าไม่ว่าจะเป็นเพศใด สีผิวอะไร รสนิยมเป็นอย่างไร ก็ไม่ควรไปตีค่าของคนเพราะความแตกต่างเหล่านี้ ด้วยตัวเธอเองนั้นก็เติบโตมาจากการถูกเหยียดเรื่องรูปลักษณ์ภายนอก ที่ไม่เหมือนคนไทยทั่วไป ดังนั้นเธอจึงอยากที่จะเป็นกระบอกเสียงเล็กๆ ที่อยากจะประกาศความเท่าเทียมของมนุษย์ให้ดังขึ้นไปอีก ปัจจุบัน เธอมียอดผู้ติดตามกว่า 7 แสนคน (เม.ย. 64)

ที่มา: TikTok @suziewadee (เม.ย. 64)

การปรับตัวของอินฟลูเอนเซอร์ในยุคโควิด

ในช่วงที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงจนนำไปสู่การล็อกดาวน์นั้น อินฟลูเอนเซอร์สายท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างมาก ซึ่งในยามปกตินั้น การออกไปทำกิจกรรมข้างนอกถือเป็นหัวใจสำคัญที่ขับเคลื่อนอินฟลูเอนเซอร์กลุ่มนี้ แต่เมื่อวิกฤตมาเยือน อินฟลูเอนเซอร์เหล่านี้จึงต้องหาทางรับมือและปรับตัวไปตามสถานการณ์ให้ได้ ตัวอย่างอินฟลูเอนเซอร์ อาทิ I Roam Alone และ เถื่อน Channel ได้พยายามพยามปรับรูปแบบคอนเทนต์จนสามารถยืนหยัดอยู่ได้ในช่วงสถานการณ์โควิด-19

I Roam Alone

ช่องรายการท่องเที่ยวทางยูทูบของ “มิ้นท์” มณฑล กสานติกุล สาวนักเดินทางที่ออกเดินทางแบบฉายเดี่ยวมาแล้ว 80 กว่าประเทศ แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องการเดินทางเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 อย่างเลี่ยงไม่ได้ อินฟลูเอนเซอร์สายท่องเที่ยวอย่างมิ้นท์จึงต้องปรับกลยุทธ์เพื่อนำเสนอรายการในรูปแบบใหม่ แต่ยังคงสไตล์ความเป็นตัวตนและมาตรฐานของรายการเอาไว้

คุณมิ้นท์ กล่าวว่า เธอมีคอนเทนต์สำรองของรายการไว้พอสมควร ประกอบกับเริ่มมีการกระจายรูปแบบของชิ้นงานให้หลากหลายมากขึ้นก่อนสถานการณ์จะมาถึงจุดนี้ ทำให้มีแง่มุมอื่นมานำเสนอ และมีคอนเทนต์ที่ผลิตออกมาแล้วไม่ฉีกจากตัวตนของตัวเองมากนัก นอกจากนี้ ยังมีการใช้ฟุตเทจเก่าที่ไม่เคยผ่านสายตาผู้ชมมาก่อนมาตัดต่อและรีรันใหม่ ทั้งหมดจะถูกยืดระยะเวลาตามการประเมินสถานการณ์โควิด เพื่อใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้คุ้มค่า เรียกได้ว่าเป็นการปรับตัวของอินฟลูเอนเซอร์ที่น่าสนใจอีกรูปแบบหนึ่ง

ที่มา: https://vogue.co.th/lifestyle/article/mintiroamalone

นอกจากการปรับกลยุทธ์ที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว มิ้นท์ยังได้เลือกเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทยแทน และในบางทริปได้ชวนคุณแม่มาร่วมถ่ายทำคอนเทนต์ด้วย

รายการเถื่อน Channel ผุดตอนพิเศษ “COVID Hero”

รายการเถื่อน Channel ซึ่งดำเนินรายการโดยวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล เป็นหนึ่งในรายการท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องด้วยรูปแบบคอนเทนต์ที่ต่างไปจากรายการท่องเที่ยวอื่นๆ  จากการไปเยือนสถานที่ที่น้อยคนนักจะกล้าไป และสำหรับช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนักในไทยนั้น รายการเถื่อน Channel ได้จัดทำคอนเทนต์ตอนพิเศษขึ้นมาในชื่อว่า “COVID Hero” โดยมีจุดประสงค์เพื่อนำเสนอเรื่องราวของคนกลุ่มเล็กๆ ที่เปรียบเสมือน “ฮีโร่” ผู้หยิบยื่นความช่วยเหลือให้ผู้ที่เดือดร้อนจากวิกฤติโควิด-19 โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เปราะบางในสังคมที่ยากจะเข้าถึงความช่วยเหลือจากส่วนกลาง  โดยรายการเริ่มออกอากาศช่วงปลายเดือนเมษายน-กรกฎาคม 63 ที่ผ่านมา

รายการ COVID Hero  ได้ลงพื้นที่เพื่อพูดคุยกับคนกลุ่มเล็กๆ ที่ให้ความช่วยเหลือเพื่อนมุนษย์ ซึ่งมีตั้งแต่หญิงขายบริการและคนทำงานในสถานบันเทิงทั้งในกรุงเทพฯ และพัทยา กลุ่มแรงงานชาวเมียนมาในจังหวัดสมุทรปราการ ผู้อาศัยอยู่ในชุมชนแออัดย่านคลองเตยและทองหล่อ ตลอดจนการลงพื้นที่ไปยังสวนสัตว์เปิดเขาเขียวเพื่อติดตามดูชีวิตความเป็นอยู่ของสัตว์และการปรับตัวของสวนสัตว์ โดยลักษณะการให้ความช่วยเหลือนั้นมีตั้งแต่การทำอาหารมาแจกจ่ายและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างแอปพลิเคชันส่งอาหารเพื่อกระจายรายได้ให้ร้านค้าเล็กๆ ในชุมชนที่ขาดแคลนรายได้ในช่วงโควิด หรือการทำแผนที่เพื่อรวบรวมข้อมูลผู้เดือดร้อนเพื่อกระจายความช่วยเหลือได้ตรงจุด

ที่มา: https://www.facebook.com/watch/TuenChannel/

บทบาทของอินฟลูเอ็นเซอร์ในช่วงโควิด-19

รายงานเรื่อง State of Influencer Marketing in Asia 2020 ซึ่งบริษัท แคสติ้งเอเชีย จำกัด ได้รวบรวมและวิเคราะห์แคมเปญการตลาดผ่านอินฟลูเอนเซอร์จากฐานข้อมูลอินฟลูเอนเซอร์ของบริษัท ระหว่างช่วงเดือนกันยายน 2562 – สิงหาคม 2563 เปิดเผยว่า หลังจากที่องค์การอนามัยโลกประกาศให้โควิด-19 เป็นภาวะการระบาดใหญ่ทั่วโลกเมื่อเดือนมีนาคม 2563 ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฮ่องกง ไต้หวัน และญี่ปุ่นใช้กลยุทธ์การตลาดผ่านอินฟลูเอนเซอร์เพื่อโปรโมทแบรนด์ในช่วงโควิด-19 เพิ่มขึ้นถึง 85%

นอกจากนี้ยังมีการใช้อินฟลูเอนเซอร์ในด้านโครงการเพื่อสังคมและประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับการเว้นระยะห่างทางสังคม เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการความปลอดภัยและป้องกันโควิด-19 เพิ่มขึ้นถึง 130% ด้วย

สำหรับในไทยนั้น เราอาจแยกบทบาทของอินฟลูเอนเซอร์ในช่วงที่ผ่านมาได้เป็น 2 รูปแบบ นั่นก็คือ บทบาทในการช่วยเหลือสังคมและบทบาทในการเป็น Marketing tool ของแคมเปญ

บทบาทในการช่วยเหลือสังคม

สำหรับในไทยนั้น เราจะเห็นได้ว่า อินฟลูเอนเซอร์เป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญที่มีบทบาทต่อการสื่อสารในช่วงโควิด-19 อินฟลูเอนเซอร์หลายรายได้ใช้ช่องทางของตนเองเพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับโควิด-19 สร้างความตระหนักรู้และเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการระบาด ขณะที่หน่วยงานภาครัฐก็เลือกที่จะสื่อสารโดยใช้อินฟลูเอนเซอร์เป็นกระบอกเสียงในการต่อสู้กับข่าวปลอมและขยายการรับรู้ข่าวสารที่จำเป็นให้ประชาชนได้รับอย่างทั่วถึง ซึ่งเราจะเห็นความร่วมมือในลักษณะของจิตอาสาด้วยเช่นกัน

เริ่มที่ Drama-addict เพจเฟซบุ๊กของน.พ.วิทวัส ศิริประชัย หรือที่รู้จักกันในโลกออนไลน์ว่า “จ่าพิชิต ขจัดพาลชน” เป็นอีกหนึ่งอินฟลูเอนเซอร์ที่เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ด้วยการสกัดข่าวปลอมและชี้แจงประเด็น “ดราม่า” ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาดังกล่าว ทั้งอาการของโควิด-19, การรับประทานส้มตำป้องกันโควิด-19, การใส่หน้ากากอนามัยและเฟสชิลด์ เป็นต้น

ที่มา: https://www.facebook.com/DramaAdd/

ทางด้านเพจเฟซบุ๊กหมอแล็บแพนด้าของคุณภาคภูมิ เดชหัสดิน นักเทคนิคการแพทย์ ที่มักนำเสนอคอนเทนต์เกี่ยวกับสุขภาพ ในขณะเดียวกันก็เรียกเสียงหัวเราะจากผู้อ่านไปพร้อมกัน ได้ร่วมมือกับพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ออกบริการตรวจเชื้อไวรัส COVID-19 ให้ชาวกรุง ด้วยหน่วยเคลื่อนที่ออกไป SWAB ให้ประชาชนถึงบ้าน และหากพบว่าผลเป็น positive ทางกทม. จะรีบนำตัวผู้ติดเชื้อเข้าสู่การรักษาทันที เพื่อดึงผู้ป่วยออกมาจากชุมชนและส่งตัวเข้าสู่ระบบการรักษา เท่ากับเป็นการตัดวงจรการแพร่ระบาดของโควิด-19 

ที่มา: https://positioningmag.com/1272354
ที่มา: https://th-th.facebook.com/pg/storybearcat/photos/?ref=page_internal

เพจเฟซบุ๊ก “ก็ขึ้นชื่อว่ามนุษย์แฟน” หนึ่งในอินฟลูเอนเซอร์ที่ร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (Depa) เพื่อรณรงค์เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องตามหลักสุขอนามัยป้องกันโควิด-19 โดยทางเพจได้จัดทำภาพอินโฟกราฟิกในชื่อว่า “ห่างกัน สักพัก ฉบับคนมีแฟน” เมื่อช่วงเดือนมีนาคม 2563 ซึ่งมีเนื้อหาที่ส่งเสริมการเว้นระยะห่างทางสังคมในแบบฉบับคนมีแฟน ทั้งในการรับประทานอาหาร ไม่ใช้ของใช้ร่วมกัน รวมถึงการหมั่นล้างมือบ่อยๆ และอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าหลังกลับจากทำธุระข้างนอก

บทบาทในการเป็นเครื่องมือการทำตลาดของแคมเปญ

ที่มา: facebook.com/AmazingThaitayCompetition2020

อินฟลูเอ็นเซอร์ยังคงเป็นกลุ่มที่ได้รับความสนใจในแง่ของการทำตลาดผ่านสื่อดิจิทัล ดังจะเห็นได้จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศผ่านไอเดียและมุมมองของเหล่าบล็อกเกอร์และอินฟลูเอ็นเซอร์ โดยหนึ่งในกิจกรรมที่สะท้อนถึงบทบาทของอินฟลูเอนเซอร์ในการเป็นเครื่องมือการทำตลาดได้ชัดเจนนั่นคือ โครงการประกวด “amazing ไทยเท่ Competition 2020” ซึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ภูมิภาคภาคกลาง จัดขึ้นร่วมกับพันธมิตรด้านการท่องเที่ยว เพื่อเฟ้นหาสุดยอดความคิดสร้างสรรค์ทริปท่องเที่ยวไอเดียเท่ ๆ 10 สไตล์ เอาใจสายเที่ยว Gen Y ประกอบด้วย สไตล์ Hipster, Green Lover, Young@Heart, Conqueror, Digital nomad, Social Story, Camera is My life, Voluntourist, Me Myself & I และสไตล์ Foodie18

กิจกรรมครั้งนี้มีผู้สมัครเข้าแข่งขันทั้งสิ้น 260 ทีมจากทั่วประเทศ โดยคณะกรรมการได้คัดเลือก Finalist จำนวนทั้งสิ้น 50 ทีม โดยเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ทั้ง 50 ทีมได้ลงพื้นที่ทำภารกิจนำเสนอ สร้างสรรค์ไอเดียและวิธีการเที่ยวในแบบเท่ ๆ ตามสไตล์ของทีม เพื่อนำเสนอมุมมองและแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในพื้นที่ 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ ซึ่งจะนำไปสู่การแบ่งปันให้เกิดแรงบันดาลใจในการท่องเที่ยวตามมาบนแนวคิด “เมืองไทยสวยทุกที่ เท่ทุกสไตล์”

สำหรับเกณฑ์การตัดสินหาทีมผู้ชนะมีการแบ่งคะแนนออกเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วยคะแนนที่มาจากคณะกรรมการ 60 % และคะแนน Social Engagement 40 % โดยทีมที่มีผลคะแนนรวมสูงสุดจะเป็นผู้ชนะ ได้รับรางวัลมูลค่ารวม 500,000 บาท ซึ่งมีการประกาศผลผู้ชนะไปเมื่อเดือนสิงหาคม 63 ที่ผ่านมา

การตลาดผ่านอินฟลูเอนเซอร์ยังไปได้ไกล LINE พัฒนาฟีเจอร์ใหม่ “Influencer Commerce” รองรับตลาด

จากกระแสความนิยมในกลยุทธ์การทำตลาดด้วยอินฟลูเอนเซอร์ที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผู้พัฒนาแอปพลิเคชันอย่าง LINE จึงได้พัฒนาช่องทางใหม่เพื่อรองรับแนวโน้มการขยายตัวของการตลาดผ่านอินฟลูเอนเซอร์ขึ้นมาโดยเฉพาะ

เมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 LINE ประเทศไทย ร่วมกับ Tellscore ผู้ให้บริการ Influencer Marketing Automation Platform เปิดตัว Influencer Commerce ซึ่งต่อยอดจาก LINE IDOL ที่เปิดตัวไปเมื่อเดือนมีนาคม 2561 โดยผสานจุดแข็งของ LINE ที่มีผู้ใช้งานเป็นจำนวนมาก โดยในไทยมีผู้ใช้งานอยู่ราว 46 ล้านคนจากประชากรทั้งหมด 66 ล้านคน และจากสถิติยังพบว่า คนไทยใช้เวลาโดยเฉลี่ยบนหน้าจอโทรศัพท์วันละ 200 นาที ใช้ไลน์ 60 นาที ขณะที่ Tellscore เองก็มีเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญเชิงลึกด้านการตลาดผ่านอินฟลูเอนเซอร์

การเปิดตัว Influencer Commerce ยังมีเป้าหมายเพื่อชิงส่วนแบ่งในตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศ ด้วยกระแสการซื้อสินค้าออนไลน์ที่มาแรงในช่วงล็อกดาวน์เพื่อป้องกันโควิด-19 เห็นได้จากตัวเลขมูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซไทยที่เติบโตขึ้นจากการช้อปปิ้งสินค้าในช่วงดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะมีเม็ดเงินพุ่งสูงขึ้นถึง 200,000 ล้านบาทในปี 2563 หรือขยายตัวกว่า 25% จากปีก่อนหน้า ขณะที่การทำธุรกิจผ่าน LINE Official Account ก็มีแนวโน้มเติบโตเช่นกัน

การเปิดตัว Influencer Commerce ยังเป็นการขยายขอบเขตของ LINE IDOL ให้ครอบคลุมกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ได้มากยิ่งขึ้น ตั้งแต่ระดับ Macro Influencer จนถึงระดับ Micro Influencer การเกิดขึ้นของช่องทางใหม่นี้จะเปิดพื้นที่ให้อินฟลูเอนเซอร์ไทยสามารถนำเสนอคอนเทนต์ของตัวเองให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

ที่มา: https://techsauce.co/news/line-idol-influencer-commerce-with-tellscore

นอกจากนี้ ยังมีฟีเจอร์พิเศษอย่าง LINE MyShop ที่ช่วยให้การช้อปปิ้งออนไลน์เป็นเรื่องง่าย โดยลูกค้าสามารถเลือกซื้อสินค้าและจ่ายเงินได้ทันทีบน LINE ที่เดียว และในอนาคตอินฟลูเอนเซอร์ที่อยู่บนแพลตฟอร์ม LINE จะสามารถสร้างรายได้ในรูปแบบของค่าคอมมิชชั่นจากยอดขายที่เกิดขึ้น นอกเหนือจากการรีวิวสินค้าหรือค่าโฆษณาให้กับแบรนด์อีกด้วย

อ้างอิง
  • AnyMind Group. 2563. CastingAsias influencer overview for Thailand (Thai version)  [ออนไลน์] จาก https://anymindgroup.com/th/news/report/8026/
  • TrueID. 2563. สะใภ้เกาหลี by korean ชีวิตสาวไทยในแดนกิมจิ [ออนไลน์] จาก https://bit.ly/34eBC4L
  • ไทยรัฐออนไลน์. 2563. จากศูนย์สู่ล้านซับฯ “ซอฮยอน” สะใภ้เกาหลี เผยเทคนิคทำยูทูบ สร้างรายได้ [ออนไลน์] จาก https://www.thairath.co.th/news/business/1909035?cx_testId=0&cx_testVariant=cx_0&cx_artPos=0#cxrecs_s
  • TrueID. 2563. 5 ช่อง YouTube สาวไทยในต่างแดน สุดปัง [ออนไลน์] จาก https://bit.ly/2Scho6a
  • YouTube. 2563. สาวเจ้ย แซ่บอีกสานบ้านๆ สัมภาษณ์สดกับวู้ดดี้ ที่นี่ที่แรกกก!! [ออนไลน์] จาก https://www.youtube.com/watch?v=SBgJKdPGUd8
  • Jobthai. 2563. กฤษฎา ตั้งกิจ: ตัวจริงเรื่องของเซลล์ สู่เพจปันโปร เพจโปรโมชันที่รู้เร็วและจริงใจกับลูกเพจ [ออนไลน์] จาก https://bit.ly/3l0oNSs
  • สนุก.คอม. 2563. ประวัติ “ซูซี่ ณัฐวดี” ลูกครึ่งสาวดาว Tiktok ผู้เป็นกระบอกเสียงความเท่าเทียมของคน  [ออนไลน์] จาก https://www.sanook.com/campus/1400951/
  • สยามรัฐ. 2563. เอเจนซี่และอินฟลูเอนเซอร์ในช่วงโควิด-19 รับมืออย่างไรให้รอด  [ออนไลน์] จาก https://siamrath.co.th/n/148054
  • เนชั่นทีวี. 2563. “เบลล่า ราณี” สลัดลุคนางเอก สวมบทบาทฮาคลายเครียดในแอป ติ๊กต๊อก [ออนไลน์] จาก https://www.nationtv.tv/main/content/378769854/
  • The Growth Master. 2563. เทรนด์ในการทำ Influencer Marketing ในปี 2020 มีอะไรที่คุณต้องรู้บ้าง?  [ออนไลน์] จาก https://thegrowthmaster.com/blog/influencermarketing2020#C4
  • โว้ก. 2563. เปิดชีวิต ‘มิ้นท์ I Roam Alone’ กับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปของเพจท่องเที่ยวชื่อดังช่วงโควิด [ออนไลน์] จาก https://vogue.co.th/lifestyle/article/mintiroamalone
  • เฟซบุ๊ก Wannasingh Prasertkul (วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล). 2563. COVID Hero รายการใหม่จาก เถื่อนChannel รายการที่จะพาทุกคนไปดู Hero ที่ช่วยเหลือผู้คนในช่วงที่ไวร้สกับแพร่ระบาด !!! [ออนไลน์] จาก https://www.facebook.com/wannasingh/posts/2911161805588288/
  • YouTube. 2563. Covid Hero : แอปอาหารเพื่อชุมชน สั่งได้ทุกร้านย่านบ้านคุณ [ออนไลน์] จาก https://www.youtube.com/watch?v=e7HrH1E_Lc4
  •  AnyMind Group. 2563. CastingAsia’s State of Influencer Marketing in Asia 2020 report [ออนไลน์] จาก https://anymindgroup.com/news/announcement/7784/
  • แนวหน้า. 2563. ‘จ่าพิชิต’เตือนอย่าตื่นตระหนก! หลังWHOเผย’โควิด-19’แพร่กระจายเชื้อในอากาศ [ออนไลน์] จาก https://www.naewna.com/likesara/481120
  • Positioningmag. 2563. กทม.ผนึก “หมอแล็บแพนด้า” เปิดบริการ BKK COVID-19 ตรวจเชื้อให้คนกรุงถึงบ้าน [ออนไลน์] จาก https://positioningmag.com/1272354
  • เฟซบุ๊กก็ขึ้นชื่อว่ามนุษย์แฟน. 2563. ไม่ปรากฏชื่อเรื่อง [ออนไลน์] จาก https://www.facebook.com/storybearcat/posts/2707343279379064
  • อาร์วายทีไนน์. 2563. ททท. ประกาศผล 10 สุดยอดทริปเอาใจสายเที่ยว Gen Y จากการประกวด “amazing ไทยเท่ Competition 2020” [ออนไลน์] จาก https://www.ryt9.com/s/iqml/3153799
  • The Story Thailand. 2563.LINE IDOL เปิดตัว Influencer Commerce ดันมือสมัครเล่นสู่มืออาชีพ [ออนไลน์] จาก https://www.thestorythailand.com/09/07/2020/3210/
  • YouTube. 2563. เปิดตัว Influencer Commerce by LINE IDOL x Tellscore ตัวช่วยใหม่สำหรับนักการตลาดออนไลน์! [ออนไลน์] จาก https://www.youtube.com/watch?v=YwupBumbs1g&feature=youtu.be
รายงานภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2564
ผู้ที่สนใจรายงานภาพรวมภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2564 (ฉบับภาษาอังกฤษ) สามารถดาวน์โหลดได้ที่นี่