สำนักข่าว

การเปิดตัวของสำนักข่าวหน้าใหม่ที่ถือเป็นความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในวงการอย่างต่อเนื่องทั้งจากกลุ่มนักข่าวที่มีประสบการณ์มาอย่างยาวนาน หรือผู้ประกอบการธุรกิจสื่อที่ต้องการต่อยอดสื่อและคอนเทนต์ในเครือด้วยการเปิดตัวสำนักข่าว อย่างไรก็ดี การนำเสนอข่าวที่เน้นความรวดเร็วมากกว่าข้อเท็จจริง การเฟื่องฟูของสื่ออย่างโซเชียลมีเดีย การแข่งขันและความพยายามในการต่อยอดธุรกิจขององค์กรสื่อเพื่อขยายโอกาสในการสร้างรายได้ ก็เป็นประเด็นที่ถูกตั้งคำถามมาโดยตลอดเช่นกัน

สำนักข่าวออนไลน์ที่น่าจับตา

สำนักข่าวออนไลน์อย่าง THE REPORTERS ซึ่งก่อตั้งขึ้นจากการรวมตัวกันของ ฐาปณีย์ เอียดศรีไชย นักข่าวภาคสนามชื่อดังและเพื่อนนักข่าวภาคสนามมืออาชีพที่คร่ำหวอดอยู่วงการ โดยชูจุดเด่นการนำเสนอข่าวที่สดและเข้มข้นตรงจากภาคสนามนั้น สร้างสีสันให้กับวงการได้เป็นอย่างดี โดยจุดเด่นของสำนักข่าวออนไลน์แห่งนี้ สอดคล้องกับคำสัมภาษณ์ของฐาปนีย์ที่ว่า

เราอยากทำข่าวที่มันเป็นอิสระ ทันต่อเหตุการณ์ สะพายเป้ขึ้นเครื่องบินไปได้เลย แต่ถ้าทำในโครงสร้างเดิมมันมีความล่าช้า เราจึงตั้งสำนักข่าวนี้ขึ้นมา

THE REPORTERS ก้าวขึ้นมาเป็นสำนักข่าวออนไลน์ที่ถูกจับตา จากลีลาการนำเสนอข่าวเชิงลึกที่เข้มข้น สด และส่งตรงจากภาคสนาม ผนวกกับการใช้เทคโนโลยีอุปกรณ์มือถือไลฟ์สดผ่านช่องทางสื่อโซเชียลมีเดียประชาชนจึงสามารถติดตามข่าวแบบเรียลไทม์ผ่านมือถือได้ตลอดเวลา ซึ่งถือเป็นจุดต่างจากการรายงานข่าวแบบเดิมที่มีกรอบระยะเวลาในการนำเสนอ

อสมท ปรับโครงสร้าง ยกเครื่ององค์กรสู่ดิจิทัลเต็มรูปแบบ

อสมท เป็นองค์กรสื่อขนาดใหญ่ที่ดำเนินธุรกิจสื่อดั้งเดิมมาอย่างยาวนาน และได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค ตลอดจนการเติบโตของสื่อออนไลน์ ทว่าปี 2563 อสมท เผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่อีกครั้ง เมื่อรายได้จากสัมปทาน ช่อง 3 และทรูวิชั่นส์ สิ้นสุดลง ผนวกกับรายได้หลักจากทีวีและวิทยุในเครือถดถอยอสมท จึงจำเป็นต้องปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ ด้วยการประกาศลดจำนวนพนักงาน เดินหน้าเข้าสู่ดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อหาช่องทางสร้างรายได้ใหม่ ในช่วงที่สื่อดั้งเดิมถดถอย

เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2563 อสมท ประกาศปรับลดพนักงานประมาณ 600 ราย อันเนื่องมากจากวิกฤติด้านการเงินอย่างหนัก ซึ่งเกิดขึ้นจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ทีวีดิจิทัล การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อันเนื่องมาจากเทคโนโลยีดิจิทัล และสถานการณ์ของไวรัสโควิด-19

นายสิโรตม์ รัตนามหัทธนะ กรรมการและรักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ได้ส่งสารถึงพนักงาน ระบุว่า “กระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ถือหุ้นได้ประเมินธุรกิจลักษณะเดียวกับ อสมท ว่าจำนวนพนักงานที่เหมาะสมกับการประกอบธุรกิจในอนาคตของ อสมท คือ 700 คน ในขณะที่ปัจจุบัน อสมท มีพนักงานมากถึง 1,300 กว่าคน ไม่รวมถึงลูกจ้าง โดยแนะนำให้ อสมท พิจารณาจัดโครงการร่วมใจจากองค์กร (MSP) เพื่อปรับ ลดพนักงาน ให้เหมาะสม”

ที่มา: อสมท

นอกจากการปรับโครงสร้างด้านบุคลากร อสมทยังปรับรูปแบบธุรกิจขององค์กรให้ตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมารับชมข้อมูลข่าวสารและคอนเทนท์ทางสื่อออนไลน์มากขึ้น ภายใต้วิสัยทัศน์ “The New Digital Journey” ผ่านการขยายการเดินทางสู่ 3 เส้นทางใหม่ ประกอบด้วย Digital Content, Digital Entertainment, และ Digital Solutions กล่าวคือ เพิ่มการผลิตคอนเทนต์ให้มีความหลากหลายมากขึ้น ขยายช่องทางด้านบันเทิงที่เป็นพระเอกไปอยู่บนแพลตฟอร์มพันธมิตรดิจิทัลที่ทันสมัยและเปิดตัวแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคสมัยใหม่

ปรับคอนเทนต์ข่าวด้วยกลยุทธ์ Digital Content

สำหรับกลยุทธ์แรก อสมท เดินหน้ายกระดับคอนเทนต์ออนไลน์ ซึ่งเป็นธรุกิจส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคอนเทนต์ข่าวทั่วไปเข้าสู่ดิจิทัลแพลตฟอร์มอย่างเต็มรูปแบบ โดยเริ่มที่ 3 แบรนด์หลัก

  • เว็บไซต์ mcot.net ปรับภาพลักษณ์ให้แตกต่างจากสำนักข่าวไทยออนไลน์ โดยพัฒนา MCOT Digital ขยายฐานผู้ชมในเมือง เสริมทัพด้วยคอนเทนต์สร้างสรรค์ พร้อมแคมเปญพิเศษคอนเทนต์ออนไลน์ เช่น อาหาร สายช้อป นักรีวิว ผ่านการผนึกกำลังพันธมิตร Food Story, Retty Thailand และ spoonwalk
  • สำนักข่าวไทย พลิกโฉมสำนักข่าวไทยบนแพลตฟอร์มดิจิทัลมาเป็นสำนักข่าวออนไลน์เต็มรูปแบบ  ด้วยกลยุทธ์ More Reach, More Impact เพิ่มความทันสมัย และเข้าถึงผู้ชมมากขึ้นด้วยชื่อ “MCOT Online News” พร้อมนำเสนอบทวิเคราะห์ (Exclusive Content)  ซึ่งมีสำนักข่าวต่างประเทศ เช่น China Media Group เป็นพันธมิตรหลัก นอกเหนือจาก Asia Vision และ OANA
  • รายการชัวร์ก่อนแชร์ เพิ่มการสร้างสรรค์คอนเทนท์รูปแบบ “Innovative Learning” เพื่อเข้าถึงเยาวชนมากขึ้น และมุ่งนำเสนอรายการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่สังคมอยากรู้ เพื่อต้านกระแสข่าวปลอม (Fake News) ทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยนักวิชาการชั้นนำและผู้เชี่ยวชาญ

รุกตลาดบันเทิงด้วย Digital Entertainment กับ 4 โปรเจค

สำหรับคอนเทนต์ด้านบันเทิงที่เปรียบเป็นตัวชูโรงขององค์กร อสมท ดำเนินการต่อยอดอุตสาหกรรมบันเทิงด้วย 4 โครงการ

  • WHAM แพลตฟอร์มด้านดนตรีและศิลปะ นำเสนอสาระบันเทิงแบบรอบด้านไร้พรมแดน ไร้สังกัด จากพันธมิตรดนตรี 6 ค่ายเพลง 3 มหาวิทยาลัยดนตรีชื่อดัง เสริมทัพความสนุกกับ WHAM 360 Fusion Music รายการเพลงวาไรตี้ บน LINE TV ฮิตติดกระแสขึ้นสู่ Trend Twitter ในปี 2564 และเตรียมเปิดตัว WHAMER ศิลปินอินดี้น้องใหม่
  • IRIS Project การลงทุนร่วมกับนักพัฒนาชาวไทย เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมเกมในประเทศให้เติบโต ส่งเสริมนักพัฒนาเกมรุ่นใหม่ โดยใช้เกมเป็นสื่อสร้างสรรค์ และเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อสร้างธุรกิจ Non-Broadcast ให้เข้มแข็ง และรองรับนวัตกรรมบันเทิงของคนรุ่นใหม่
  • 9 Entertain แอปพลิเคชันบันเทิงโฉมใหม่ ที่มาพร้อมกับฟีเจอร์ต่างๆ Star Event ที่ให้สิทธิร่วมกิจกรรมพิเศษกับศิลปินดารา ทั้งคอนเสิร์ต ไลฟ์พิเศษ แฟนมีตติ้ง และอีกหนึ่งกิจกรรมที่โดดเด่นในแอปพลิเคชันคือ Star Voting & Ranking ที่เชิญให้กลุ่มเป้าหมาย ร่วมลุ้นรับของรางวัลพิเศษและใกล้ชิดกับศิลปินดารา
  • Little Yak แพลตฟอร์มเนื้อหาและชุมชนสร้างสรรค์ที่เหมาะสำหรับเด็กและครอบครัว และเป็นแหล่งรวมข้อมูลสำหรับผู้ปกครอง

เปิด 4 แพลตฟอร์ม Digital Solutions

นอกจากยกระดับธุรกิจหลักอย่างคอนเทนต์ข่าว และธุรกิจด้านความบันเทิง อสมท ยังดำเนินแผนการ Digital Solutions ด้วยการเปิดตัว 4 แพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์ของผู้บริโภคยุคใหม่

  • The Master แพลตฟอร์มที่รวบรวมกูรูจากหลากหลายสาขา ที่จะมาให้ความรู้ เคล็ดลับและทางลัดสู่ความสำเร็จ ตลอดจนสามารถเรียนรู้แนวคิดจากกูรูตัวจริงเกี่ยวกับแนวโน้มของโลกในปัจจุบัน และการรับมือสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงในอนาคต ภายใต้แนวคิด “Think Like The Master”
  • The Shot แพลตฟอร์มขายลิขสิทธิ์ Footage ทั้ง วิดีโอ ภาพนิ่ง และกราฟฟิก ที่ถ่ายทำโดยช่างภาพระดับมืออาชีพ และมุ่งเป้าเป็นศูนย์กลางของภาพถ่ายและ Footage ทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน ซึ่งช่างภาพมืออาชีพสามารถเข้าร่วมเป็นพาร์ทเนอร์ ขณะที่บุคคลทั่วไปเข้ามาร่วมสมัครเพื่อนำเสนอภาพถ่ายและวิดีโอด้วยเช่นกัน
  • แรงใจ แอปพลิเคชัน แพลตฟอร์มหางานที่พัฒนาขึ้นเพื่อช่วยจับคู่แรงงานกับกลุ่มผู้ประกอบที่มีความต้องการหาบุคลากรให้ตรงตามความต้องการของธุรกิจ ซึ่งจะช่วยให้แรงงานทั่วประเทศ ได้มีงานทำ โดยจะเน้นเป้าหมายฐานผู้ฟังคลื่นลูกทุ่งมหานคร FM95 คลื่นลูกทุ่งชั้นนำของไทยที่มีฐานผู้ฟังอยู่ทั่วประเทศ ครอบคลุมผู้ฟังกลุ่มแรงงานจากหลากหลายสาขาอาชีพ
  • ShopMania แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยเข้ามาทำธุรกิจบนอีคอมเมิร์ชได้ง่ายและสะดวกขึ้น ผ่านการร่วมมือกับ วายดีเอ็ม (ไทยแลนด์) บริษัทมาร์เก็ตติ้งโซลูชั่นของไทย และเป็นแหล่งรวมสินค้าคุณภาพที่คัดสรรแล้ว โดยเน้นคุณภาพ ที่ตอบโจทย์คนไทย ทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าเพื่อสุขภาพและความงามที่ได้รับมาตรฐาน และสินค้ายอดนิยมในท้องถิ่น

workpointTODAY จากการต่อยอดธุรกิจสู่สำนักข่าว

ท่ามกลางความเฟื่องฟูของเทคโนโลยีดิจิทัล  สำนักข่าวหลายแห่งพยายามต่อยอดความสำเร็จ และขยายโอกาสทางธุรกิจเพื่อเพิ่มช่องทางการสร้างรายได้มากขึ้น เช่นเดียวกับ Workpoint News สำนักข่าวออนไลน์ของเวิร์คพอยท์ ที่ตัดสินใจปรับโฉมแบรนด์ใหม่ ก้าวข้ามคำนิยามของสำนักข่าวออนไลน์แบบเดิม

ก่อนหน้านี้ Workpoint News ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อนำเสนอข่าวสารอย่างครบถ้วน ทั้งเหตุการณ์ภายในประเทศและต่างประเทศ ข่าวสังคม ตลอดจนข่าวสังคม และข่าวที่เกาะติดกระแสโลก ทว่าว่าคอนเทนต์ที่ได้รับความนิยมไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแต่ข่าวรูปแบบเดิม แต่ยังรวมถึงคอนเทนต์เชิงลึก ในลักษณะของบทความ และสกู๊ป เช่น คลิปวีดีโอที่มีชื่อว่า “ยาชุด ซองยามรณะ ยิ่งกิน ยิ่งใกล้ตาย” อธิบายเรื่องความอันตรายของยาชุดซองละ 10 บาท ซึ่งมียอดคนดูสูงแตะ 10.5 ล้านวิว ทางกองบรรณาธิการจึงตัดสินใจรีแบรนด์ และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น workpointTODAY เพื่อครอบคลุมการนำเสนอข่าวที่มากขึ้น และไม่จำกัดตัวเองเป็นสำนักข่าวแบบเดิม

กองบรรณาธิการ ระบุผ่านทางเว็บไซต์ว่า “Workpoint News นับจากวันนี้เป็นต้นไป เราจะรีแบรนด์ และเปลี่ยนชื่อเป็น workpointTODAY โดยมีสโลแกนว่า What Works TODAY (สิ่งที่เวิร์คสำหรับวันนี้) โดยจะเน้นข่าวสารทั้งไทย และต่างประเทศ มิติข่าวเชิงลึก การเมือง ธุรกิจ เศรษฐกิจ โดยเราเตรียมพร้อมทั้งบทความ บทสัมภาษณ์ วีดีโอ และ Podcast ที่มั่นใจว่าจะตอบโจทย์ของคนตามข่าวสารออนไลน์ ในยุคปัจจุบัน โดยทีมผู้จัดทำ ยังคงเป็นทีมนักข่าวจาก Workpoint News ที่การันตีความน่าเชื่อถือเช่นเคย”

ขณะเดียวกัน นอกจากปรับโฉมธุรกิจสู่สำนักข่าวออนไลน์สมัยใหม่แล้ว workpointTODAY ยังต่อยอดธุรกิจด้วยการรับจัดงานอีเวนท์ออนไลน์ ทั้งวิชาการและบันเทิง พร้อมกับเทคโนโลยี การนำเสนอ คำแนะนำในเรื่องเนื้อหาที่แหลมคม ตรงกับเป้าหมายความต้องการเช่นกัน

อ้างอิง

  • มติชนสุดสัปดาห์. 2562. ชีวิต “นักข่าวฟรีแลนซ์” ของ “ฐปณีย์” กับเพจ “The Reporters” และร้านขนมจีน “บ้านพี่แยม” [ออนไลน์]. จาก https://www.matichonweekly.com/column/article_333711

  • เดอะบางกอกอินไซด์. 2563. การเงินวิกฤติ! ‘อสมท’ เปิดโครงการ ‘ร่วมใจจาก’ ลดพนักงาน 600 คน [ออนไลน์]. จาก https://www.thebangkokinsight.com/461219/

  • แบรนด์ บุฟเฟ่ต์. 2563. 68 ปี “อสมท” ขอพลิกโฉม เปิด 4 แพลตฟอร์ม “ดิจิทัล โซลูชั่นส์” ปั้นรายได้ใหม่หลังหมดยุคสัมปทาน [ออนไลน์]. จาก https://www.brandbuffet.in.th/2020/08/mcot-to-gear-up-for-new-digital-services/

  • เวิร์คพอยท์ ทูเดย์ 2563. แนะนำตัว ‘workpointTODAY’ สำนักข่าวที่ตั้งใจทำงานเพื่อให้วันนี้ดีกว่าเมื่อวาน  [ออนไลน์]. จาก https://workpointtoday.com/workpointtoday-says-hello/

  • เวิร์คพอยท์ ทูเดย์ 2563. เปิดตัว ‘workpoint TODAY’ สำนักข่าวที่ตั้งเป้านำเสนอสาระความรู้ที่น่าเชื่อถือ เข้าถึงคน 35 ล้านราย [ออนไลน์]. จาก https://workpointtoday.com/press-release-workpointtoday/

รายงานภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2564
ผู้ที่สนใจรายงานภาพรวมภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2564 (ฉบับภาษาอังกฤษ) สามารถดาวน์โหลดได้ที่นี่