หนังสือพิมพ์

ปี 2563 นับเป็นปีแห่งวิกฤตซ้อนวิกฤตสำหรับวงการหนังสือพิมพ์ เพราะนอกจากจะต้องเผชิญกับผลพวงจาก “Digital Disruption” ซึ่งลากยาวมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว สื่อดั้งเดิมอย่างหนังสือพิมพ์ยังต้องมาเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่ (โควิด-19) ที่ส่งผลกระทบไปทั่วทุกวงการอย่างสาหัสสากรรจ์

แม้ว่า ที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์ได้พยายามปรับตัว ไม่ว่าจะเป็นการปรับลดยอดการตีพิมพ์ลงเพื่อลดต้นทุน การรุกช่องทางออนไลน์และโซเชียลมีเดียเพื่อตอบสนองพฤติกรรมการเสพข้อมูลข่าวสารที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค ตลอดจนการจัดกิจกรรม เช่น งานสัมมนา เพื่อหารายได้เพิ่มเติมทดแทนรายได้จากโฆษณาที่ลดลง

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ของสื่อสิ่งพิมพ์ที่ดูเหมือนว่าจะยังไม่ดีขึ้น เมื่อพิจารณาจากเม็ดเงินโฆษณาที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องมาเจอวิกฤตโควิดซ้ำเติมเข้าไปอีก ทำให้ผู้ผลิตหนังสือพิมพ์หลายราย จำเป็นต้องเลือกทางออกสุดท้าย ด้วยการประกาศยุติการตีพิมพ์ และเปลี่ยนไปเป็นสื่อออนไลน์แบบเต็มตัว

ตัดแขนขาเพื่อรักษาชีวิต

หลังจากที่ประกาศปิดตัวหนังสือพิมพ์ “เดอะ เนชั่น” (THE NATION) หนึ่งในหนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษชั้นนำที่อยู่คู่แผงหนังสือของประเทศมาอย่างยาวนานถึง 48 ปี โดยตีพิมพ์ฉบับสุดท้ายไปเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2562 จนกระทั่งเข้าสู่ปี 2563 การตัดสินใจของบริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ก็ได้สะท้อนภาพขาลงของวงการสื่อดั้งเดิมในไทยอีกครั้ง เมื่อหนังสือพิมพ์ภาษาไทยในเครืออย่าง “คมชัดลึก” ประกาศปิดตำนาน 18 ปีไปอีกฉบับ โดยได้มีประกาศยุติการพิมพ์อย่างเป็นทางการในหนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 8 เมษายน 2563 ซึ่งเป็นฉบับสุดท้าย

สำหรับสาเหตุของการตัดสินใจเพื่อยุติการตีพิมพ์นั้น ทางคมชัดลึกอธิบายว่า เป็นเพราะสื่อสิ่งพิมพ์ได้รับความนิยมน้อยลง ส่งผลสืบเนื่องให้ธุรกิจโฆษณาเปลี่ยนแปลงไปตามพฤติกรรมของผู้บริโภค รายได้จากโฆษณาถูกแบ่งไปยังสื่ออื่น ทำให้ต้นทุนในการผลิตหนังสือพิมพ์สูงขึ้น แม้นสพ.คมชัดลึกตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงนี้มาเป็นเวลานาน และตัดสินใจให้กองบรรณาธิการคมชัดลึกเป็นองค์กรนำร่องในการทรานส์ฟอร์มไปสู่สื่อดิจิทัล โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะทรานส์ฟอร์มสื่อกระดาษหรือออฟไลน์ ไปสู่สื่อดิจิทัลหรือออนไลน์ 100% ภายในกลางปี 2563 แต่การระบาดของโควิด-19 เป็นปัจจัยเร่งที่ทำให้ “เราตัดสินใจที่จะทรานส์ฟอร์ม นสพ.คมชัดลึก ไปสู่ คมชัดลึกออนไลน์และสื่อดิจิทัลในเครือเร็วกว่าเป้าหมายที่เรากำหนดไว้” 

หน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์คมชัดลึก ฉบับสุดท้ายวันที่  8 เมษายน 2563 (ที่มา: https://www.komchadluek.net/newspaper)

หลังจากที่นสพ.คมชัดลึกได้อำลาแผง ก็ยังคงมีความเคลื่อนไหวจาก “เครือบางนา” ออกมาอีก โดยนายฉาย บุนนาค ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป ได้ออกประกาศเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2563 ระบุถึงการหยุดพิมพ์สื่อสิ่งพิมพ์อย่างหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจฉบับวันเสาร์-อาทิตย์ ลดจำนวนหน้าหนังสือพิมพ์ฉบับวันจันทร์-ศุกร์ จากเดิมวันละ 24 หน้า ให้เหลือวันละ 20 หน้า พร้อมจัดทำยุทธศาสตร์องค์กร 3 ปี ปรับตัวเข้าสู่ดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ โดยทั้งหมดนี้ต้องแล้วเสร็จภายใน 30 วัน (7 กันยายน 2563)

“โดยจากข้อมูลที่ปรากฏล่าสุด ยอดรายได้โฆษณารวมของสื่อสิ่งพิมพ์ถดถอยถึง 39% ในครึ่งปีแรก และลดลงกว่า 42% เมื่อวัดเดือนต่อเดือนเมื่อเทียบกับปีก่อน นี้คือ สัญญาณบ่งชี้ชัดถึงการเปลี่ยนแปลงที่ทวีความรุนแรงและรวดเร็วมากขึ้นของพายุ Digital Disruption ที่ผนวกกับพิษเศรษฐกิจที่โลกและประเทศกำลังเผชิญ โดยจากข้อมูลตัวเลขที่ทางธุรกิจที่ปรากฏและคาดการณ์ของกลุ่มธุรกิจสิ่งพิมพ์เป็นที่แน่ชัดว่าหากไม่ตัดสินใจเด็ดขาด สถานการณ์อาจสายเกินแก้”

อนึ่ง ปัจจุบัน เครือเนชั่นเหลือสื่อสิ่งพิมพ์เพียงฉบับเดียว ได้แก่ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

หยุดพัก เพื่อเริ่มใหม่

ด้านหนังสือพิมพ์ที่เปิดตัวไปเมื่อปี 2562 อย่าง หนังสือพิมพ์ธุรกิจรายสัปดาห์ Business Today ได้ประกาศยุติการตีพิมพ์ชั่วคราวเป็นเวลา 3 เดือน (เม.ย.-มิ.ย. 2563) โดยระบุว่า “สถานการณ์ปัจจุบันทำให้เราต้องตัดสินใจ และเป็นการตัดสินใจที่ยากลำบาก ด้วยช่องทางการจัดจำหน่ายที่ถูกปิด และเงื่อนไขการทำงานที่ทุกๆ คนต้องปรับตัว ทำให้เราต้อง “พัก” การตีพิมพ์ Business Today เป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือน”

หนังสือพิมพ์ Business Today ฉบับส่งท้ายก่อนยุติการตีพิมพ์ชั่วคราวเป็นเวลา 3 เดือน (ที่มา: https://bit.ly/3l45yrl)

นสพ. Business Today เปิดตัวมาได้ไม่ถึงหนึ่งปีดี (ฉบับปฐมฤกษ์วางแผงเดือนกันยายน 2562) ประกาศดังกล่าวทำให้เกิดคำถามตามมาที่ว่า การ “พัก” การตีพิมพ์ที่ว่านี้ จะเป็นเพียงชั่วคราวหรือไม่

โดย Business Today ได้ให้เหตุผลที่หยุดพักหลังตีพิมพ์มาได้เพียง 30 ฉบับว่า เป็นเพราะมหันตภัยโควิด-19 ได้ส่งผลให้ต้องมีการปิดสถานที่ต่างๆ เพื่อป้องกันการระบาด ซึ่งนสพ. Business Today ได้รับผลกระทบอย่างมาก เนื่องจากสถานที่วางจำหน่ายหลักคือ ห้างสรรพสินค้า ต้องปิดทำการ และไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าสถานการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติได้เมื่อไร ทางกองบรรณาธิการจึงตัดสินใจยุติการตีพิมพ์เป็นการชั่วคราว แต่ยังรายงานข้อมูลข่าวสารตามปกติทางเว็บไซต์ www.businesstoday.co

อย่างไรก็ดี นับเป็นข่าวดีสำหรับวงการหนังสือพิมพ์ เพราะในที่สุด Business Today ก็กลับมาตีพิมพ์ตามกำหนดการที่วางไว้ โดยมีการประกาศผ่านทางเว็บไซต์เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2563 ระบุว่า เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในไทย ถือว่าสามารถควบคุมได้แทบในระดับใกล้เคียงปกติ จนรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์เป็นลำดับ กิจกรรมต่างๆ กลับมาดำเนินการได้ตามปกติภายใต้มาตรการดูแล ทางกองบรรณาธิการ Business Today จึงตัดสินใจกลับมาตีพิมพ์อีกครั้ง โดยมีการปรับปรุงเนื้อหาให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตใหม่ หรือ New Normal เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับโลกยุคหลังโควิด-19

ผ่าตัดใหญ่เพื่อความอยู่รอด

ผลกระทบหนึ่งจากวิกฤตโควิด-19 ที่แทบทุกอุตสาหกรรมต้องเผชิญก็คือ การเลิกจ้างพนักงาน ซึ่งหนึ่งในนั้นรวมถึงอุตสาหกรรมสื่อ โดยเฉพาะสื่อดั้งเดิมอย่างหนังสือพิมพ์

สื่อเครือเนชั่นนอกจากจะยุติฉบับตีพิมพ์นสพ.คมชัดลึกแล้ว ยังได้มีการทำหนังสือเลิกจ้างถึงพนักงาน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 และระบุด้วยว่า บริษัทยินดีจ่ายค่าชดเชยจากการเลิกจ้างตามกฎหมาย

ด้านหนังสือพิมพ์ไทยรัฐมีแผนจ้างพนักงานออก 50% ของจำนวนพนักงานทั้งหมด เนื่องจากประสบภาวะขาดทุน โดยรายงานข่าวเผยว่า เป็นการเจรจาระหว่างผู้บริหาร หัวหน้าโต๊ะข่าว และพนักงานเพื่อตัดสินใจว่าจะให้ใครอยู่ ใครไป พร้อมทั้งระบุด้วยว่า อนาคตยังไม่สามารถตอบได้ว่า หากพนักงานคนใดได้โอกาสอยู่ต่อ ทางไทยรัฐจะประคับประคองธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ต่อไปได้อีกกี่เดือน กี่ปี แต่ถ้าออกตอนนี้ ยังได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยาเพื่อไปตั้งต้นชีวิตใหม่         

ในส่วนของเดลินิวส์ได้ประกาศปลดพนักงานออกแบบฟ้าผ่าเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 โดยเป็นกำลังคนฝ่ายออนไลน์ 50% พร้อมแจ้งว่าจะมีการพิจารณาเรื่องกำลังคนของส่วนหนังสือพิมพ์ต่อไปซึ่งความเคลื่อนไหวเรื่องการปลดพนักงานฝ่ายออนไลน์ดังกล่าวเกิดขึ้น หลังจากที่เมื่อเดือนเมษายน 2563 หนังสือพิมพ์เดลินิวส์เปิดโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดและให้พนักงานลาออกโดยสมัครใจมาแล้ว

นอกจากนี้ ยังมีรายงานด้วยว่า นายประชา เหตระกูล บรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ จะลาออกจากตำแหน่ง เปิดทางให้นางประภา เหตระกูล ศรีนวลนัด เข้ามาบริหารงานแทน ซึ่งทำให้เกิดคำถามว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในส่วนของบรรณาธิการข่าว โต๊ะข่าวต่างๆ รวมถึงนโยบายลดคนตามมาด้วยหรือไม่

โควิด-19 พิษร้ายบาดลึกวงการหนังสือพิมพ์

สิ่งหนึ่งที่เป็นตัวสะท้อนภาพรวมของอุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์ได้เป็นอย่างดี ก็คือ เม็ดเงินโฆษณา ซึ่งหลายปีที่ผ่านมา เม็ดเงินโฆษณาที่ไหลเข้าสู่สื่อสิ่งพิมพ์นั้นหดตัวมาโดยตลอด และเมื่อมาเจอวิกฤตโควิด-19 ถาโถมเข้าไปอีก ก็ยิ่งเป็นการตอกย้ำภาวะตลาดขาลงมากยิ่งขึ้น

นายภวัต เรืองเดชวรชัย ผู้อำนวยการธุรกิจ-สายงานการวางแผน และกลยุทธ์สื่อโฆษณา บริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด ได้กล่าวถึงการโฆษณาในยุคโควิดและหลังโควิด โดยกล่าวว่า Next Normal ที่เห็นได้ชัดที่สุด และบาดใจที่สุด “สื่อสิ่งพิมพ์” หนังสือพิมพ์ นิตยสาร จะเร่งตายเร็วขึ้น เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคจะไม่อยากจับแตะต้องสิ่งของที่เป็น Physical แต่สื่อที่อยู่ในบ้านจะมีการเติบโต ไม่ว่าจะเป็นสื่อทีวี หรือออนไลน์ เพราะคนอยู่บ้านมากขึ้น ทำกิจกรรมบ้านมากขึ้น สื่อที่บ้านมีบทบาทเยอะขึ้น

คำกล่าวข้างต้นยืนยันได้จากข้อมูลเม็ดเงินโฆษณา โดยบริษัท เอจีบี นีลเส็น ประเทศไทย ได้เปิดเผยว่า มูลค่าสื่อโฆษณาโดยรวมในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2563 พบว่า มีมูลค่าอยู่ที่ 86,046 ล้านบาท ลดลง 15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่าตลาด 101,765 ล้านบาท ซึ่งเม็ดเงินที่ลดลงมาจากผลกระทบสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

และหากเจาะลึกการใช้งบโฆษณาเป็นรายสื่อ พบว่า ในช่วงเดือนมกราคมถึงตุลาคมของปี 2563 มูลค่าสื่อโฆษณาในหนังสือพิมพ์อยู่ที่ 2,513 ล้านบาท ลดลง 35.25% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562

มูลค่าสื่อโฆษณาในหนังสือพิมพ์ช่วงครึ่งปีแรก ปี พ.ศ. 2561 - พ.ศ. 2563

ผลประกอบการ

เม็ดเงินโฆษณาสำหรับสื่อสิ่งพิมพ์ที่ปรับตัวลง ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของผู้ผลิตหนังสือพิมพ์หลายฉบับ ถึงแม้ว่าจะมีความพยายามปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับยุคดิจิทัลแล้วก็ตาม ด้วยสถานการณ์ดังกล่าว จึงทำให้หนังสือพิมพ์บางฉบับมีกำไรลดลง และบางฉบับถึงขั้นขาดทุนเลยทีเดียว

สำหรับตัวเลขผลประกอบการข้างต้นเป็นข้อมูลถึงแค่ปี 2562 ซึ่งยังไม่รวมผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ต้องรอดูกันอีกทีว่า เมื่อมีการเปิดเผยผลประกอบการปี 2563 บริษัทต่างๆ จะถูกพิษโควิดเล่นงานกันมากน้อยเพียงไร และจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสะเทือนวงการหนังสือพิมพ์อีกหรือไม่

ยอดการตีพิมพ์

ยอดการตีพิมพ์ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่บ่งบอกถึงทิศทางของธุรกิจหนังสือพิมพ์ จากการรวบรวมยอดการตีพิมพ์ของหนังสือพิมพ์ต่างๆ สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของปริมาณการตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ที่มีทั้งคงปริมาณการตีพิมพ์ไว้และปรับลดยอดการตีพิมพ์ลง โดยในปี 2563 หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ได้ปรับลดยอดการตีพิมพ์ลงเหลือ 500,000 ฉบับ จากยอดการตีพิมพ์ในปี 2562 ที่ 720,000 ฉบับ ซึ่งลดลงอย่างต่อเนื่องจากยอดการตีพิมพ์ที่ 810,000 ฉบับในปี 2561 ยอดการตีพิมพ์ที่ลดลงดังกล่าวนับเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ชี้ให้เห็นว่า พฤติกรรมของผู้บริโภคอ่านข้อมูลข่าวสารจากหนังสือพิมพ์ลดลงอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่หนังสือพิมพ์ฉบับอื่นๆ ยังคงยอดตีพิมพ์ไว้เท่าเดิม เช่น ไทยโพสต์ ข่าวสด และมติชน ซึ่งตีพิมพ์อยู่ที่ 950,000 ฉบับ ส่วนหนังสือพิมพ์แนวหน้า และสยามรัฐ ตีพิมพ์อยู่ที่ 900,000 ฉบับ และผู้จัดการรายวัน 360 องศา และผู้จัดการสุดสัปดาห์ ตีพิมพ์ 850,000 ฉบับในปี 2563

ด้านหนังสือพิมพ์คมชัดลึกมียอดตีพิมพ์ลดลงอย่างชัดเจนมากที่สุดโดยลดลงจาก 900,000 ฉบับในปี 2561 ลงมาอยู่ที่ 300,000 ฉบับ และ 200,000 ฉบับในปี 2563 ตามลำดับ ก่อนประกาศยุติการตีพิมพ์

อ้างอิง

  • นิตยสารโพซิชันนิ่ง. 2563. ปิดฉาก 18 ปี “คมชัดลึก” ตีพิมพ์ฉบับสุดท้าย เลิกจ้างพนักงาน ชดเชย 10 เดือน [ออนไลน์] จาก https://positioningmag.com/1272235

  • ผู้จัดการออนไลน์. 2563. รุกครั้งใหญ่รอบ49ปีสู้ศึกดิจิทัล ‘เครือเนชั่น’ ลุยทรานส์ฟอร์ม [ออนไลน์] จาก https://mgronline.com/onlinesection/detail/9630000081340

  • บิซพร้อมอินโฟ.คอม. วิกฤตสื่อต่อเนื่อง ‘Business Today’ พักสิ่งพิมพ์อย่างน้อย 3 เดือน [ออนไลน์] จาก https://bit.ly/3l45yrl

  • บิสเนสทูเดย์. 2563. พบโฉมใหม่ของ Business Today กับการวิเคราะห์ ตอบโจทย์ แม่นยำ ยิ่งกว่าเดิมม! [ออนไลน์] จาก https://www.businesstoday.co/business/22/07/2020/45210/

  • สยามโพสต์. 2563. ระทึก! วงการสื่อ ไทยรัฐ ปลดคน 50% เดลินิวส์ เปลี่ยนบก.ใหญ่ [ออนไลน์] จาก https://www.facebook.com/SiamPost2020/posts/147541150264339

  • เรนเมคเกอร์. 2563. เดลินิวส์ ปลดฟ้าผ่า! ปลดพนักงานฝ่ายออนไลน์ 50% [ออนไลน์] จาก https://www.rainmaker.in.th/dailynews-layoff-50-online/

  • สนุก.คอม. 2563. เดลินิวส์ เปิดโครงการเกษรียณอายุก่อนกำหนด จ่ายชดเชยสูงสุด 13 เดือน [ออนไลน์] จาก https://www.sanook.com/money/756475/

  • นิตยสารโพซิชันนิ่ง. 2563. Next Normal วงการสื่อหลังยุค COVID-19 “สิ่งพิมพ์” เร่งตาย คนไม่อยากจับของ [ออนไลน์] จาก https://positioningmag.com/1275800

  • ผู้จัดการออนไลน์. 2563. งบโฆษณาครึ่งปี 63 ร่วงระนาว 13% “โควิด” ทุบสื่อโรงหนังหนักสุด 55% [ออนไลน์] จาก https://mgronline.com/business/detail/9630000072823

  • สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย. 2563. ADVERTISING INFORMATION SERVICES DATA [ออนไลน์] จาก http://www.adassothai.com/include/upload/images/th_exp_file/2020072305023769252.pdf

รายงานภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2564

ผู้ที่สนใจรายงานภาพรวมภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2564 (ฉบับภาษาอังกฤษ) สามารถดาวน์โหลดได้ที่นี่