วิทยุ

ความแพร่หลายของเทคโนโลยีในยุคดิจิทัลทำให้ผู้บริโภคฟังเพลงออนไลน์และใช้บริการสตรีมมิ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศ ส่งผลให้ผู้ประกอบกิจการวิทยุต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดรายการ การจัดกิจกรรม และทำธุรกิจ เพื่อเอาตัวรอด การปรับเปลี่ยนของสื่อวิทยุในช่วงโควิด-19 นั้น มีทั้งการจัดกิจกรรมให้กับแฟนคลับแบบออนไลน์ การจัดรายการวิทยุจากที่บ้านของดีเจ

ดีเจยกพลจัดรายการที่บ้าน เว้นระยะห่างช่วงโควิด-19

ในช่วงเวลาที่รัฐบาลได้ขอความร่วมมือให้ประชาชนเว้นระยะห่างทางสังคมและทำงานจากบ้าน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นั้น ผู้ประกอบกิจการวิทยุหลายรายก็ได้ปรับรูปแบบการจัดกรายการจากการจัดการรายการที่สตูดิโอมาเป็นการจัดรายการที่บ้านพักของดีเจ อย่างเช่น COOLfahrenheit รายการวิทยุของบริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ที่ได้แบ่งทีมดีเจออกเป็น Team A และ Team B เข้าจัดรายการสลับกัน และใช้เทคโนโลยี Voice from Home เพื่อรองรับการจัดรายการสดจากที่บ้าน นอกจากนั้นยังเพิ่มช่วงรายการใหม่ให้เข้ากับสถานการณ์ เช่น ช่วง “Work from Home Request” ให้ผู้ฟังเลือกเพลงที่อยากฟังในช่วงที่ต้องทำงานจากบ้าน ผ่านทาง Inbox Facebook Fanpage: COOLfahrenheit รวมถึงเพิ่มคอนเทนต์ “COOL Working Space” นำเสนอเคล็ดลับง่าย ๆ ในการดูแลตัวเอง ทั้งเรื่องอาหาร การออกกำลังกาย และการลดความเครียดในช่วงที่ต้องทำงานจากบ้าน

ที่มา: https://www.rs.co.th/th/93coolfahrenheit-work-from-home/

ส่วนทางด้านบริษัท เอไทม์ มีเดีย จำกัด ผู้ประกอบการ 3 คลื่นวิทยุดัง ได้แก่ กรีนเวฟ 106.5 เอฟเอ็ม, อีเอฟเอ็ม 94 และชิล ออนไลน์ ก็นำทีมดีเจจัดรายการวิทยุจากบ้านเพื่อขานรับนโยบายของภาครัฐ โดยกรีนเวฟ 106.5 เอฟเอ็ม เป็นวิทยุคลื่นแรกของไทยที่จัดรายการจากบ้าน ส่วนอีเอฟเอ็ม 94 ก็ใช้วิธีเดียวกัน แต่ในช่วงรายการทอล์กที่ต้องเข้ามาจัดในสตูดิโอเพราะต้องรับสายโทรศัพท์หน้าไมค์ ก็มีมาตรการป้องกันด้วยการให้ดีเจใส่หน้ากากอนามัยและนั่งห่างกัน รวมถึงทำความสะอาดสตูดิโอและอุปกรณ์หลังดีเจจัดรายการเสร็จทุกช่วง ขณะที่คลื่นชิล ออนไลน์ ได้ปรับเป็น “Music All Day Long” หรือเปิดเพลงยาวต่อเนื่องในเวลาทำงานของกลุ่มคนฟังตั้งแต่ต้นปี 2563 มาก่อนหน้านี้แล้ว จึงไม่ได้รับผลกระทบมากนัก และในส่วนของรายการทอล์กก็เปลี่ยนสถานที่จัดรายการจากในสตูดิโอเป็นที่โล่งแจ้งแทน

นอกจากนี้ ในช่วงปี 2563 ทางเอไทม์ยังเปลี่ยนเวลาจัดรายการบางรายการ เพราะดีเจต้องจัดรายการอยู่ในช่วงเคอร์ฟิว รวมถึงมีนโยบายให้พนักงานเหลื่อมเวลาเข้าทำงาน เพื่อหลีกเลี่ยงความแออัดในการเดินทาง โดยเฉพาะพนักงานที่โดยสารรถสาธารณะ ขณะเดียวกัน คลื่นชิล ออนไลน์ มีการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับโรคโควิด-19 และการดูแลตัวเองเพื่อประโยชน์ของผู้ฟัง ส่วนคลื่นกรีนเวฟ 106.5 เอฟเอ็ม ได้สร้างการมีส่วนร่วมของผู้ฟังด้วยการจัดแคมเปญ “Greenwave Save Heroes 99 บาท ก้าวผ่านโควิด-19” เชิญชวนผู้ฟังร่วมบริจาคเพื่อซื้อชุด PPE และหน้ากากอนามัยให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ 50 โรงพยาบาลทั่วประเทศ

https://music.trueid.net/detail/Ww2k5al77QyD

นายสมโรจน์ วสุพงศ์โสธร กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด (มหาชน) ผู้บริหาร 3 คลื่นวิทยุในเครือเอไทม์ มีเดีย กล่าวถึงสถานการณ์โควิด-19 ว่า “…แต่ถ้ามองในแง่ดีโอกาสมันก็ดีตรงที่ว่าการที่คนทำงานอยู่บ้านเวลาว่างก็เยอะขึ้น การเสพสื่อก็มากขึ้น วิทยุเองแม้สถิติน้อยลง แต่อย่าลืมว่าวิทยุเรา Expand Platform ไปทุก Device ที่อินเทอร์เน็ตเข้าถึง ให้สอดรับกับพฤติกรรมผู้ฟังผู้ชมทั้งทาง Website / Application / Social Media (Youtube, FB, IG, Twitter) ซึ่งผู้ฟังสามารถเข้าถึงคอนเทนต์ต่าง ๆ ของเราได้ทุกช่องทาง”

อานิสงส์ Work from Home ดันยอดคนฟังวิทยุพุ่ง

สื่อวิทยุได้รับอานิสงส์จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลให้ประชาชนทำงานจากบ้านและใช้เวลาอยู่บ้านมากขึ้น เมื่อพิจารณาจากข้อมูลจำนวนผู้รับฟังวิทยุคลื่นหลักในระบบเอฟ.เอ็ม. จำนวน 40 สถานี (87.5 MHz – 107.0 MHz) จากทุกช่องทาง (เช่น เครื่องรับวิทยุ โทรศัพท์เคลื่อนที่ แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์) ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่รายงานโดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะเห็นได้ว่าจำนวนผู้ฟังวิทยุมีการเคลื่อนไหวขึ้นลงตามสถานการณ์โควิด-19

ในเดือนมกราคม 2563 ซึ่งพบผู้ป่วยโควิด-19 เป็นครั้งแรกในประเทศไทย (พบผู้ติดเชื้อชาวต่างชาติรายแรกช่วงกลางเดือน และพบผู้ติดเชื้อชาวไทยรายแรกช่วงปลายเดือน) พบว่าประชากรไทยอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป รับฟังวิทยุประมาณ 9.7 ล้านคน และทรงตัวในระดับใกล้เคียงกันในเดือนกุมภาพันธ์ (9.6 ล้านคน) และมีนาคม (9.4 ล้านคน) เนื่องจากในช่วงแรกจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ยังเพิ่มขึ้นในอัตราที่ไม่สูงมากนัก แต่เมื่อเกิดการระบาดครั้งใหญ่จากสนามมวยลุมพินีในเดือนมีนาคม และมียอดผู้ติดเชื้อสะสมเกิน 1,000 รายในช่วงปลายเดือน ส่งผลให้รัฐบาลต้องประกาศมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มข้นมากขึ้น ประชาชนจึงทำงานจากบ้านและใช้เวลาอยู่บ้านมากขึ้น จำนวนผู้ฟังวิทยุก็พุ่งขึ้นแตะระดับ 11.4 ล้านคนในเดือนเมษายน, 12.6 ล้านคนในเดือนพฤษภาคม และ 13.8 ล้านคนในเดือนมิถุนายน หลังจากนั้น เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลายตามลำดับ รัฐบาลได้ประกาศยกเลิกเคอร์ฟิว (มาตรการห้ามออกนอกเคหสถานทั่วราชอาณาจักรระหว่างเวลา 23.00-03.00 น.) พร้อมคลายล็อกดาวน์เฟส 4 ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2563 จำนวนผู้ฟังวิทยุก็ลดลงแตะระดับ 12.3 ล้านคนในเดือนกรกฎาคม และ 12 ล้านคนในเดือนสิงหาคม

“สื่อวิทยุเป็นอีกสื่อที่ได้ผู้ฟังเพิ่มขึ้นในช่วงสถานการณ์นี้ และเป็นสื่อที่ผู้ฟังสามารถรับฟังในระหว่างทำงานไปด้วยได้ตลอดวัน จึงถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งสื่อที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการและนักการตลาด...”

เม็ดเงินโฆษณาลดลงสวนทางจำนวนผู้ฟัง

แม้ว่าจำนวนผู้ฟังวิทยุจะเพิ่มขึ้น แต่เม็ดเงินโฆษณาในสื่อวิทยุกลับลดลงสวนทางกัน ไม่ต่างจากที่เกิดขึ้นกับสื่ออื่น ๆ ทั้งทีวี สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อนอกบ้าน สื่อในโรงภาพยนตร์ และสื่อในห้าง เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจแทบทุกประเภท โดยเฉพาะธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ส่วนบุคคลและเครื่องสำอาง ยานยนต์ และท่องเที่ยว ซึ่งเป็นกลุ่มหลักที่ใช้เม็ดเงินโฆษณาลดลง

ข้อมูลการโฆษณาผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียงคลื่นหลักในระบบเอฟ.เอ็ม. ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จํานวน 36 สถานี (88.0 – 91.5, 93.0 – 103.5 และ 104.5 – 107.0 MHz) ที่รายงานโดยกสทช. ชี้ให้เห็นว่า มูลค่าโฆษณาผ่านสื่อวิทยุอยู่ในระดับ 300 ล้านบาทในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 (มกราคม 314 ล้านบาท, กุมภาพันธ์ 302 ล้านบาท และมีนาคม 330 ล้านบาท) ก่อนที่จะลดลงสู่ระดับ 200 ล้านบาทในไตรมาสสอง (เมษายน 274 ล้านบาท, พฤษภาคม 277 ล้านบาท และมิถุนายน 267 ล้านบาท) ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในไทย โดยเม็ดเงินโฆษณาลดลงหลังเกิดการระบาดครั้งใหญ่จากสนามมวยในเดือนมีนาคม ก่อนที่เม็ดเงินโฆษณาจะดีดตัวกลับสู่ระดับ 300 ล้านบาทในเดือนกรกฎาคม หลังจากที่รัฐบาลประกาศยกเลิกเคอร์ฟิวตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2563 

ขยายช่องทางสร้างรายได้ เอาชีวิตรอดท่ามกลางคลื่นลมแรง

นับตั้งแต่แพลตฟอร์มฟังเพลงออนไลน์เข้ามาช่วงชิงฐานผู้ฟังจากสื่อวิทยุ ผู้ประกอบกิจการวิทยุก็ต้องปรับตัวเพื่อพยุงรายได้ตลอดหลายปีที่ผ่านมา สำหรับปี 2563 กลยุทธ์การสร้างรายได้ของสื่อวิทยุยังคงเป็นเทรนด์เดียวกับปีก่อน ๆ นั่นคือ การสร้างรายได้จากหลายช่องทาง ไม่ใช่แค่จากโฆษณาผ่านรายการวิทยุเพียงอย่างเดียว ยกตัวอย่างผู้เล่นรายใหญ่อย่างอาร์เอส ซึ่งประกาศกลยุทธ์ “แม่น้ำ 3 สาย” ได้แก่ แม่น้ำสายที่ 1 COOLfahrenehit (ธุรกิจคลื่นเพลง) แม่น้ำสายที่ 2 COOLive (ธุรกิจคอนเสิร์ตและอีเวนต์) และแม่น้ำสายที่ 3 COOLanything (ธุรกิจคอมเมิร์ซ) เพื่อลดการพึ่งพารายได้ช่องทางใดช่องทางหนึ่งมากเกินไป ลดความเสี่ยงทางธุรกิจ และสร้างการเติบโตอย่างก้าวกระโดดแต่มั่นคงและยั่งยืน

ที่น่าจับตาคือแม่น้ำสายที่ 3 COOLanything ที่เปลี่ยนผู้ฟังเป็นผู้ซื้อ โดยเปิดโอกาสให้ผู้ฟังสามารถฟังเพลงและช้อปปิ้งออนไลน์ไปพร้อม ๆ กันผ่านแอปพลิเคชัน COOLISM ภายใต้คอนเซปต์ “ฟังเพลงได้ ช้อปเพลิน ในแอปเดียว” ซึ่งสามารถดึงดูดผู้ฟังได้อย่างมีประสิทธิภาพท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ทั้งยังตอบโจทย์แบรนด์ที่เข้ามาเป็นผู้สนับสนุนรายการ โดยทางสถานีได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายให้กับแบรนด์สินค้าต่าง ๆ ทางแอป COOLISM ผ่านทางดีเจ พีอาร์ และสปอตโฆษณา

ที่มา: https://bit.ly/34aReqb

“จากการระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคต้องกักตัวอยู่บ้าน และ Work from Home ตลอด 3 เดือน ทำให้ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไป…

...นอกจากนี้ เพื่อเป็นการต่อยอดธุรกิจคอมเมิร์ซ ธุรกิจในเครือ อาร์เอส กรุ๊ป COOLISM จึงได้พัฒนาแอปพลิเคชัน COOLISM พร้อมก้าวสู่ Entertainmerce เต็มรูปแบบ ด้วยการเปิดตัว COOLanything ภายใต้คอนเซปต์ “ฟังเพลงได้ ช้อปเพลิน ในแอปเดียว” เพื่อตอบรับชีวิตแบบวิถีใหม่ (New Normal) ให้ง่ายและสะดวกขึ้น และเป็นแอปพลิเคชันแรกที่ผู้ฟังจะได้ทั้งฟังเพลงได้อย่างต่อเนื่อง และช้อปปิ้งสินค้าที่หลากหลายเหมาะกับไลฟ์สไตล์ในราคาคุ้มค่า พร้อมโปรโมชั่นพิเศษที่หาจากที่อื่นไม่ได้”

จนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะสิ้นสุดลงเมื่อใด ผู้ประกอบกิจการวิทยุต้องมีความสามารถในการรับมือ ปรับตัว และคว้าโอกาสจากวิกฤตที่เกิดขึ้น จึงจะสามารถผ่านพ้นสถานการณ์นี้และเติบโตต่อไปได้

อ้างอิง

  • ผู้จัดการออนไลน์. 2563. Covid-19 ระบาด แต่ไม่ขาดเสียง “ดีเจ” ยกพลจัดรายการ work from home [ออนไลน์] จาก https://mgronline.com/business/detail/9630000040878
  • กสทช. 2563. รายงานสภาพตลาดกิจการกระจายเสียงเเละกิจการโทรทัศน์ [ออนไลน์] จาก http://broadcast.nbtc.go.th/bcj/index.php
  • ผู้จัดการออนไลน์. 2563. COVID-19 ดันยอดคนฟังวิทยุพุ่ง เปิดพฤติกรรมผู้ฟัง กทม.-ปริมณฑล แต่งบโฆษณาตกลง [ออนไลน์] จาก https://mgronline.com/business/detail/9630000060242
  • กสทช. 2563. รายงานสภาพตลาดกิจการกระจายเสียงเเละกิจการโทรทัศน์ [ออนไลน์] จาก http://broadcast.nbtc.go.th/bcj/index.php
  • อาร์เอส. 2563. COOLISM ในเครือ อาร์เอส กรุ๊ป ก้าวสู่ Entertainmerce เต็มรูปแบบ” [ออนไลน์] จาก https://bit.ly/34aReqb 
รายงานภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2564
ผู้ที่สนใจรายงานภาพรวมภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2564 (ฉบับภาษาอังกฤษ) สามารถดาวน์โหลดได้ที่นี่