อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer)

อินฟลูเอนเซอร์ยังคงมีบทบาทอย่างมากในการทำตลาดแบบดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง (Digital Marketing) และยังมีแนวโน้มการเติบโตที่สดใส ไม่ว่าจะเป็นอินฟลูเอนเซอร์ที่เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงในโลกโซเชียลมีเดียหรือผู้ทรงอิทธิพลทางความคิดที่สร้างการรับรู้ให้กับแบรนด์ได้ในวงกว้าง กลยุทธ์การใช้อินฟลูเอนเซอร์ทำตลาดจึงได้ผลตอบรับที่ดี เพราะเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่าย และสามารถวัดผลได้ ด้วยเหตุนี้ ภาพรวมของอินฟลูเอนเซอร์ จึงมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ข้อมูลจากสมาคมโฆษณาดิจิทัลแห่งประเทศไทย (DAAT) ระบุว่า การใช้จ่ายด้าน Digital Advertising ในปี 2564 เติบโตขึ้น 11% จากปี 2563 ในขณะที่ข้อมูลจากหลายแหล่งระบุตรงกันว่า การใช้จ่ายด้านอินฟลูเอนเซอร์มาร์เก็ตติ้งในไทยเติบโตขึ้นถึง 40% ในปี 2564 จากสถิติปี 2563 และมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นในอนาคต เนื่องจากอินฟลูเอนเซอร์ไม่ได้มีบทบาทเป็นเพียงช่องทางในการโฆษณา (Advertising Channel) เท่านั้น แต่อินฟลูเอนเซอร์เป็นช่องทางการตลาด (Marketing Channel) ที่จะเชื่อมโยงลูกค้าเข้ากับแบรนด์ นั่นหมายความว่า…

มูลค่าการลงทุนในอินฟลูเอนเซอร์จะยังคงเติบโตขึ้น แม้ว่า เศรษฐกิจในภาคธุรกิจต่าง ๆ จะชะลอตัวลงก็ตาม

ขณะที่สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการดำเนินชีวิต เราจึงได้เห็นอินฟลูเอนเซอร์กลุ่มใหม่ ๆ ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในปี 2564 ทั้งในแง่ของจำนวนผู้ติดตามและแบรนด์ อาทิ อินฟลูเอนเซอร์สายสูงวัย, สายสิ่งแวดล้อม, สาย Docu หรือ Documentary, สายจัดโต๊ะคอมพ์, สายแม่บ้าน Smart Living,  สาย eSports เป็นต้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่แบ่งเป็นกลุ่มย่อย ๆ มากขึ้น ขณะที่นักการตลาดเองก็ต้องเรียนรู้และทำความเข้ำใจกลุ่มผู้บริโภค เพื่อเข้าถึงพฤติกรรมเชิงลึกของกลุ่มเป้าหมายใหม่ ๆ ปี 2564 ยังเป็นอีกปีที่เราได้เห็นเทรนด์บางอย่างในอินฟลูเอนเซอร์มาร์เก็ตติ้งที่ชัดเจนขึ้น และคาดว่าจะเป็นเทรนด์ที่เติบโตต่อไปในปี 2565 ด้วย เช่น บทบาทที่เพิ่มขึ้นของไมโครอินฟลูเอนเซอร์ (Micro Influencer), การที่แบรนด์หันมาพิจารณาใช้อินฟลูเอนเซอร์แบบ KOC (Key Opinion Customer) เพื่อโปรโมทสินค้า, บริการ ตลอดจนส่งเสริมภาพลักษณ์กันมากขึ้น, การร่วมงานกันระหว่างอินฟลูเอนเซอร์สองสาย และอีกหนึ่งเทรนด์ที่มาแรงซึ่งจะไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือ เวอร์ชวล อินฟลูเอนเซอร์

บทบาทและการเติบโตของไมโครอินฟลูเอนเซอร์

“ไมโครอินฟลูเอนเซอร์” เป็นอินฟลูเอนเซอร์ที่มีผู้ติดตามอยู่ที่ประมาณ 10,000-50,000 คน และปี 2564 เป็นปีที่ไมโครอินฟลูเอนเซอร์มีบทบาทที่โดดเด่น และครองสัดส่วนการใช้งบประมาณจากแบรนด์ต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอีกด้วย ในการทำอินฟลูเอนเซอร์มาร์เก็ตติ้งนั้น อินฟลูเอนเซอร์แต่ละกลุ่มจะมีบทบาทที่แตกต่างกัน เช่น หากต้องการสร้างการรับรู้ (Awareness) จะมีการใช้อินฟลูเอนเซอร์ที่มีผู้ติดตามเป็นจำนวนมากอย่างมาโครอินฟลูเอนเซอร์ (Macro Influencer) และใช้ไมโครอินฟลูเอนเซอร์เพื่อสร้างเอนเกจเมนท์ (Engagement) เจาะเข้าสู่กลุ่มเป้าหมายเพื่อกระตุ้นยอดขาย

เหตุผลที่ทำให้ “ไมโครอินฟลูเอนเซอร์” เติบโตเพิ่มขึ้น อาจกล่าวได้ว่าเป็นเพราะ “การสื่อสารที่ตรงไปตรงมาและเป็นธรรมชาติ” และ “อิทธิพลของผู้บริโภคที่มีส่วนให้รูปแบบการทำการตลาดเปลี่ยนแปลงไป” 

ในยุคแรก ๆ ของการทำตลาดแบบอินฟลูเอนเซอร์มาร์เก็ตติ้งนั้น แบรนด์มักจะวิ่งเข้าหาอินฟลูเอนเซอร์เบอร์ใหญ่หรือคนดังก่อน เนื่องจากอินฟลูเอนเซอร์กลุ่มนี้สามารถใช้วิธีการอย่างโพสต์รูปแล้วติดแฮชแท็กเพียงเท่านั้นก็สามารถดึงดูดความสนใจจากกลุ่มผู้บริโภคได้แล้ว แต่สำหรับไมโครอินฟลูเอนเซอร์ หากใช้วิธีการเดียวกันกับอินฟลูเอนเซอร์เบอร์ใหญ่ ผู้บริโภคจะจับสังเกตได้และขาดความน่าเชื่อถือในสินค้าหรือแคมเปญได้ ดังนั้น แบรนด์และเอเจนซี่จึงปรับกลยุทธ์การใช้ไมโครอินฟลูเอนเซอร์ โดยให้ไมโครอินฟลูเอนเซอร์มีอิสระในการสร้างสรรค์คอนเทนต์อย่างเป็นธรรมชาติและจริงใจกับผู้บริโภค ซึ่งกลยุทธ์ดังกล่าวสามารถดึงผู้บริโภคให้หันมาใช้ผลิตภัณฑ์หรือทำตามไมโครอินฟลูเอนเซอร์ได้เป็นอย่างดี

แบรนด์จึงเปิดใจและเปิดโอกาสให้อินฟลูเอนเซอร์พูดถึงฟีดแบ็กเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ไม่ใช่แค่ในเชิงบวกเท่านั้น แต่ยังสามารถกล่าวถึงจุดที่ควรปรับปรุงได้ด้วยเช่นกัน ดังนั้นการสื่อสารที่ตรงไปตรงมาของไมโครอินฟลูเอนเซอร์ในรูปแบบนี้ จึงได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้นในกลุ่มผู้บริโภคปัจจุบัน ควบคู่ไปกับการใช้มาโครอินฟลูเอนเซอร์

สำหรับการใช้งานมาโครอินฟลูเอนเซอร์และไมโครอินฟลูเอนเซอร์ในการทำแคมเปญร่วมกันนั้น ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีการที่มีการนำมาใช้มากขึ้น คุณสุวิตา จรัญวงศ์ ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท เทลสกอร์ (Tellscore) มองว่า ในหนึ่งแคมเปญ เอเจนซี่หรือแบรนด์ควรเลือกใช้มาโครอินฟลูเอนเซอร์ควบคู่กับไมโครอินฟลูเอนเซอร์ในสัดส่วน 1:16 เพื่อเพิ่มโอกาสความสำเร็จในการทำแคมเปญทั้งในแง่การสร้างการรับรู้และเอนเกจเมนท์ให้กับแบรนด์
ทางด้านคุณพรพรรณ ฉวีวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชมฉวีวรรณ จำกัด ได้เปิดเผยถึงการใช้อินฟลูเอนเซอร์แบบ KOL (Key Opinion Leader)  และ KOC (Key Opinion Consumer) ในงานพีอาร์ว่า การโพสต์ของ KOL อาจสร้างการรับรู้ในวงกว้าง ด้วยจำนวนผู้ติดตามระดับหลักแสนถึงล้าน แต่ KOC อาจสร้างการมีอิทธิพลหรือโน้มน้าวการตัดสินใจของกลุ่มเป้าหมายให้มาซื้อสินค้าได้จริง เนื่องจากผู้รับสารรู้สึกได้ถึงความน่าเชื่อถือและความเรียลที่เกิดขึ้น หากมองเป็นกราฟ จะพบว่า KOC จำนวนผู้ติดตามน้อยแต่มีความน่าเชื่อถือสูงสามารถมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของผู้คนได้ แต่ก็จะได้แค่เฉพาะคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น จึงอาจต้องใช้ KOC จำนวนมากเพื่อให้ได้คนหลาย ๆ กลุ่ม แต่ อย่างไรก็ตามการใช้ KOL ก็ควรจะมีอยู่เช่นกัน เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคที่จะตัดสินใจซื้อสิ่งใดสิ่งหนึ่งย่อมมีขั้นตอนการหาข้อมูลก่อนการตัดสินใจ เมื่อค้นหาแล้วพบว่า KOL ที่เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงจำนวนผู้ติดตามเยอะมีการพูดถึงสิ่งนี้ ก็จะนำไปสู่กระบวนการตัดสินใจซื้อได้ นอกจากนี้ การใช้ KOL ยังมีข้อดีคือแบรนด์หรือสินค้าจะได้ภาพลักษณ์จาก KOL มาด้วย ดังนั้นการทำงานพีอาร์ จึงต้องมีการผสมผสานเครื่องมือให้ลงตัวที่สุด

นอกจากนี้ การร่วมงานกันหรือ Collab ระหว่างแบรนด์สองแบรนด์ หรืออินฟลูเอนเซอร์กับอินฟลูเอนเซอร์ก็เป็นอีกความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง คาดว่า ในปี 2565 จะได้เห็นการร่วมงานกันที่เพิ่มขึ้นระหว่างอินฟลูเอนเซอร์สองสาย เพราะผลลัพธ์ที่ได้นั้นขยายวงกว้างว่าการทำงานในแบบเดิม ๆ คุณสุวิตา จรัญวงศ์ ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท เทลสกอร์ (Tellscore) กล่าวว่า การแตกแขนงของอินฟลูเอนเซอร์แบบมัลติไทรบ์ (Multi-tribe) นั้นอย่างมากอาจทำได้เพียง 2-3 ไทรบ์ เพื่อขยายกลุ่มเป้าหมาย (Audience) เป็นต้นว่า กลุ่มท่องเที่ยวซึ่งได้รับผลกระทบหนักจากกิจกรรมการท่องเที่ยวที่หยุดชะงักลง กลุ่มนี้อาจมีไอเดียต่อยอดเปิดช่องอาหารในช่วงโควิด-19 ขณะที่คนอื่นที่ไม่ถนัดด้านอาหารก็ต้องหาทางออกไปทำคอนเทนต์อย่างอื่น

การปรับเปลี่ยนในรูปแบบการ Collab เช่นนี้จึงเกิดขึ้นเพราะสถานการณ์บีบบังคับให้ทำ อินฟลูเอนเซอร์จึงมองเห็นโอกาสที่ชัดเจนขึ้นว่าน่าจะทำอะไรที่ต่อยอดมาจากเงื่อนไขนี้ได้ ซึ่งเป็นผลดีกับแบรนด์ในแง่ที่สร้างโอกาสหรือมีแนวทางเพิ่มขึ้น

เวอร์ชวล อินฟลูเอนเซอร์ (Virtual Influencer)

เวอร์ชวล อินฟลูเอนเซอร์ นับเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งในไทยที่น่าจับตา แม้ว่า เวอร์ชวล อินฟลูเอนเซอร์ จะไม่มีตัวตนจริง ๆ เหมือนอย่างอินฟลูเอนเซอร์ที่เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงและทรงอิทธิพลทางความคิดอย่างที่เราคุ้นเคยกัน แต่ด้วยเทคโนโลยีและความสามารถในการสร้างคาแรคเตอร์ให้กับเวอร์ชวล อินฟลูเอนเซอร์ เราจึงได้เห็นบริษัทและแบรนด์ต่าง ๆ เปิดตัวหรือดึงเวอร์ชวล อินฟลูเอนเซอร์มาทำแคมเปญ ไม่ว่าจะเป็น “กะทิ” (Katie) เวอร์ชวล อินฟลูเอนเซอร์ สัญชาติไทยที่เกิดจากความร่วมมือของบริษัท แพลนบี มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เลมอนซ์ บางกอก (Lemonz Bangkok) และบริษัท AWW Inc. ซึ่งเป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านการสร้างงานมนุษย์เสมือนอันดับหนึ่งของญี่ปุ่น

Photo credit: thaipr.net

การเปิดตัวของ “กะทิ” บนป้ายบิลบอร์ดใจกลางกรุงนั้น ถือเป็นการเชื่อมโยงระหว่างสื่อ Out of Home กับผู้คนที่ชี้ให้เห็นว่า การเชื่อมต่อระหว่างสื่อกลางแจ้งและผู้บริโภคยังเป็นกิจกรรมที่ไปต่อได้ แม้ว่าจะต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 และยังสะท้อนให้เห็นว่า การโปรโมท “กะทิ” บนโลก On ground สามารถเชื่อมต่อโลก Online ได้ เข้ากับคอนเซ็ปต์ชีวิตยุคไฮบริด

และที่ปฏิเสธไม่ได้เลยสำหรับอินฟลูเอนเซอร์ที่นิยมใช้อินสตาแกรมเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มที่จะดึงความสนใจผู้คนให้ติดตามความเคลื่อนไหวและความเป็นไปของตนเอง เวอร์ชวล อินฟลูเอนเซอร์อย่างกะทิจึงมีบัญชีอินสตาแกรมด้วยเช่นกันที่ @katii.katie ภายหลังจากที่ “กะทิ” เผยโฉมบนบิลบอร์ดแล้ว กะทิก็ปรากฎตัวอีกครั้งในลุคนางแบบบนหน้าปกนิตยสารแฟชั่นชั้นนำ

นอกจากกะทิแล้ว ยังมีการเปิดตัว “ไอ-ไอรีน (Ai- Ailynn)” อินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริงอย่างเต็มรูปแบบโดยบริษัท SIA Bangkok ซึ่งเป็นเอเจนซี่ด้านดิจิทัล ไอรีนมีคาแรคเตอร์เป็นหญิงสาววัย 21 ปี บุคลิกโฉบเฉี่ยว มั่นใจในตัวเอง น่าค้นหา กล้าลองสิ่งใหม่ ๆ และชอบทดลองแก้ปัญหาด้วยวิธีแปลกใหม่ด้วย สะท้อนความเป็น Gen Z โดยบริการของไอรีนนั้น ครอบคลุมตั้งแต่การเป็นพรีเซนเตอร์ ถ่ายแบบโฆษณา มิวสิควิดีโอ หรือแม้แต่การรีวิวสินค้าที่จะทลายข้อจำกัดต่าง ๆ ของแบรนด์ ไอรีนยังมีอินสตาแกรมของตัวเองเช่นเดียวกับ Bangkoknaughtyboo โดยใช้ชื่อว่า ai_ailynn 

Photo credit: positioningmag.com

การมาของ “ไอรีน” หรือ “กะทิ” นั้น ตอกย้ำถึงเทรนด์เมทาเวิร์ส (Metaverse) ซึ่งเป็นหนึ่งในเมกะเทรนด์แห่งโลกอนาคตที่ต่อยอดจากยุค 5G โดย Metaverse เป็นเทรนด์การผสมผสานระหว่างโลกแห่งความเป็นจริงกับโลกเสมือนจริงเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน หรือจะเรียกว่าเป็นโลกคู่ขนานไปกับโลกแห่งความเป็นจริงก็คงได้  โดยเฉพาะ Metaverse Human ที่สามารถสร้างเอนเกจเมนท์ในเชิงของการสื่อสาร สร้างประสบการณ์ให้กับผู้บริโภคได้จริง

บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือ AIS เป็นอีกแบรนด์ที่ได้ดึงไอรีน มาร่วมเป็นหนึ่งใน AIS Family ในฐานะ Brand Ambassador คนใหม่ ซึ่งเท่ากับเป็น Virtual Brand Ambassador คนแรกของ AIS ไปโดยปริยาย เพื่อตอกย้ำเป้าหมายการเป็น Digital Life Service Provider ของ AIS
Photo credit: www.infoquest.co.th

ปรัธนา ลีลพนัง หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าทั่วไป AIS กล่าวว่า หนึ่งสิ่งในเทรนด์ Metaverse ที่เราคิดว่าสามารถจับต้องและสามารถส่งมอบประสบการณ์ดิจิทัลให้กับคนไทยได้ก็คือ Metaverse Human หรือมนุษย์ในโลกเสมือน

โดยวันนี้เราได้ Virtual Influencer คนแรกของไทย อย่าง น้องไอ-ไอรีน เข้ามาร่วมงาน เป็นหนึ่งใน AIS Family ที่จะมาทำให้โลกเสมือนเข้าใกล้กับโลกจริงของพวกเราในทุกไลฟ์สไตล์ และแน่นอนว่า น้องไอ-ไอรีน จะมาเป็น Brand Ambassador คนใหม่ของและจะเป็น Virtual Brand Ambassador คนแรกของ AIS อีกด้วย โดยเธอจะเป็นตัวแทนในการส่งเสริมภาพลักษณ์ของโลกยุคใหม่ และที่สำคัญคือการเป็นผู้บุกเบิกการสร้าง Community โลกเสมือนในรูปแบบต่างๆ ให้เกิดขึ้น

ความท้าทายของการทำตลาดโดยใช้อินฟลูเอนเซอร์

เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 ศิลปิน ดารา อินฟลูเอนเซอร์หลายคนได้ออกมาคอลล์ เอาท์ (Call out) เกี่ยวกับการบริหารงานด้านสถานการณ์โควิด-19 ของรัฐบาล และในเวลาต่อมา นายสนธิญา สวัสดี ที่ปรึกษากรรมาธิการ การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ได้ยื่นร้องเรียนต่อตำรวจนครบาลให้ตั้งคณะกรรมการกำกับตรวจสอบกรณีดังกล่าว โดยระบุว่าเป็นการแสดงความเห็นที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง ส่งผลให้เกิดกระแสต่าง ๆ ตามมามากมายบนโซเชียลมีเดีย ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายการทำการตลาดโดยใช้อินฟลูเอนเซอร์ซึ่งแบรนด์ต้องขบคิดอย่างหนักและหาทางรับมือหากเกิดกรณีเช่นนี้อีกในอนาคต

เพราะการใช้อินฟลูเอนเซอร์เปรียบเสมือนกระจกที่สะท้อนภาพลักษณ์ของแบรนด์ ดังนั้นความเคลื่อนไหวของอินฟลูเอนเซอร์ในประเด็นที่อ่อนไหวและสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดแรงกระเพื่อมที่คาดเดาทิศทางได้ยากนั้น ทำให้แบรนด์ส่วนหนึ่งเลิกใช้อินฟลูเอนเซอร์ ทั้งกลุ่มที่ออกมา Call Out หรือไม่ออกมาเคลื่อนไหวก็ตาม เพราะไม่กล้าที่จะเสี่ยงและไม่รู้ว่าจะส่งผลอย่างไรต่อแบรนด์

สำหรับในเรื่องนี้ คุณสุวิตา จรัญวงศ์ ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท เทลสกอร์ (Tellscore) มองว่า ประเด็นดังกล่าวเป็นโจทย์ที่ต้องคิดหนัก เพราะการคอลล์ เอาท์ เป็นการตัดสินใจเลือกของคน บวกกับเทรนด์อิสรภาพทางความคิด กระแสต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก อาทิ Black Live Matter, #MeToo รวมถึงการประท้วงในฮ่องกง ล้วนเป็นตัวอย่างให้เห็นมาก่อนและมีส่วนกระตุ้นให้คนไทยเริ่มหันมาทำตาม โดยเฉพาะในคนรุ่นใหม่

แต่สำหรับแบรนด์นั้นไม่ใช่เรื่องสนุก เพราะเมื่อใดก็ตามเมื่ออินฟลูเอนเซอร์ส่งเสียงถึงกลุ่มการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่้ง แบรนด์ก็เริ่มลำบากใจแล้ว นั่นไม่ใช่เพราะแบรนด์ต่อต้านเรื่องการเมือง แต่เป็นเรื่องของ Code of Conduct ขององค์กรโดยเฉพาะแบรนด์ฝั่งตะวันตกที่อยู่ในไทย เพราะการที่จ้างใครมาแล้วทำให้คนฟังหรือกลุ่มเป้าหมายแบ่งเป็นสองฝ่าย ถือเป็นเรื่องที่ขัดต่อกฎหมาย

อินฟลูเอนเซอร์กับบทบาทในการช่วยเหลือสังคมช่วงวิกฤตโควิด-19

เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่รุนแรงในช่วงไตรมาส 2-3 บรรดาอินฟลูเอนเซอร์จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเป็นกระบอกเสียงในการให้ความช่วยเหลือ รวมถึงการให้ความรู้แก่ประชาชน ด้วยการคัดกรองข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและจำเป็นในยามวิกฤต เราจะเห็นได้ว่ามีอินฟลูเอนเซอร์หลายรายที่ใช้พลังบนโลกออนไลน์ที่ตัวเองมีเพื่อช่วยเหลือสังคม อาทิ เพจเฟซบุ๊กของหมอแล็บแพนด้า หรือทนพ.ภาคภูมิ เดชหัสดิน นักเทคนิคการแพทย์ หัวหน้างานตรวจโรคติดเชื้อทางโลหิตวิธีอณูชีววิทยาศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทยที่ยังคงมีบทบาทอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2563

โดยเมื่อเดือนมิถุนายน 2564 ซึ่งยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้เพิ่มสูงขึ้นจนจำนวนเตียงในโรงพยาบาลต่าง ๆ มีไม่เพียงพอกับสัดส่วนผู้ป่วย เพจหมอแล็บแพนด้าได้ใช้พื้นที่เพจเฟซบุ๊กเพื่อเป็นช่องทางให้ประชาชนเข้ามาโพสต์ขอความช่วยเหลือหาเตียงให้กับคนใกล้ชิดที่ติดโควิดหรือผู้ป่วยคนอื่น ๆ โดยโพสต์ดังกล่าวนั้นมีการแชร์ออกไปกว่า 4.4 พันครั้งในเวลาเพียงชั่วโมงเดียว

Photo credit: https://m.facebook.com/MTlikesara/

นอกจากนี้ เพจหมอแล็บแพนด้ายังได้เผยแพร่ข้อมูลเพื่อเตือนให้ประชาชนตระหนักและระมัดระวังอันตรายของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ตลอดจนให้ข้อมูลในการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันไม่ให้ติดโรค

ขณะที่อีกหนึ่งเพจที่ขับเคลื่อนโดยอินฟลูเอนเซอร์และมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19 นั่นก็คือ เพจเราต้องรอด ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของคนในวงการบันเทิงอย่างได๋ ไดอาน่า จงจินตนาการ ดารา-พิธีกร และจ๊ะ นงผณี มหาดไทย  นักร้องลูกทุ่ง โดยมีจุดเริ่มต้นจากการที่ได๋ได้ปรึกษาจ๊ะว่าจะสามารถทำอะไรได้บ้างในช่วงที่โควิด-19 เริ่มระบาดในไทย

จากจุดเริ่มต้นในการช่วยประสานงานหาโรงพยาบาลให้ผู้ป่วยเคสหนึ่งได้สำเร็จ จ๊ะจึงได้นำประกาศว่าทั้งสองสามารถช่วยประสานงานส่งตัวผู้ป่วยโควิดเข้ารับการรักษาได้สำเร็จ โดยในเวลาต่อมาได้มี นิหน่า สุฐิตา ปัญญายงค์ พิธีกรและนักแสดงเข้ามาร่วมด้วยและจัดทำเพจเราต้องรอดขึ้นเพื่อเป็นช่องทางช่วยผู้ติดเชื้อโควิด-19 ประสานงานให้กับผู้ติดเชื้อไปยังโรงพยาบาลสนามหรือฮอสปิเทล รวมถึงจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยารักษาโรค เครื่องวัดระดับออกซิเจน นอกจากนี้ ทางเพจยังประสานหาฌาปนกิจสถานให้ผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ด้วยเช่นกัน

Photo credit: facebook.com/savethailandsafe/

พลังของอินฟลูเอนเซอร์ยังกระจายออกไปสู่การให้ความช่วยเหลือในภาคธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจร้านอาหารซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักหลังรัฐบาลประกาศมาตรการห้ามนั่งรับประทานในร้านอาหาร โดยทีมอาสาสมัครซึ่งเกิดจากการรวมกลุ่มของคนในวงการตลาดและการสื่อสาร ได้ผุดแคมเปญ “Stay aLIVE ให้ร้านได้เป้าเท่ากับรอด!” ร่วมกับแพลตฟอร์มขนส่งอาหารแบบกึ่งแอนะล็อก “Locall Thailand” เพื่อให้ธุรกิจร้านได้มีโอกาสในการสร้างยอดขาย

สำหรับการให้ความช่วยเหลือนั้น แพลตฟอร์ม Locall Thailand จะรับออร์เดอร์ทาง LINE สั่งอาหารทางโทรศัพท์ โดยให้วินมอเตอร์ไซค์รับและนำไปส่งให้คนในแต่ละพื้นที่ในช่วงเวลาที่กำหนด เพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการทั้งร้านค้าและผู้จัดส่ง โดยผู้ใช้บริการจะชำระค่าอาหารและค่าจัดส่งโดยโอนให้กับร้านอาหารโดยตรง จึงมั่นใจได้ว่าร้านค้าจะได้รับยอดเงินทั้งหมด โดยแพลตฟอร์มและผู้ดำเนินโครงการไม่คิดค่าบริการเพิ่มเติมแต่อย่างใด

Photo credit: facebook.com/LocallThailand/

ในการจัดแคมเปญ “Stay aLIVE ให้ร้านได้เป้าเท่ากับรอด!” ทางผู้จัดโครงการได้ดึงเหล่าอินฟลูเอนเซอร์และคนดังในวงการบันเทิงมากมาย มาร่วมกันนำเสนอเรื่องราวและแชร์ข้อมูลร้านอาหารสุดโปรดเพื่อกระตุ้นยอดจำหน่ายและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบ โดยมีการจัดไลฟ์สดผ่านทางเพจ ตามตารางที่กำหนด

อีเวนท์ยอดนิยมช่วงปลายปีอย่างงาน Thailand Influencer Awards 2021

งานประกาศรางวัลอินฟลูเอนเซอร์ยอดเยี่ยมแห่งปีอย่าง Thailand Influencer Awards ถือเป็นอีกงานที่สะท้อนให้เห็นถึงความคึกคักในวงการอินฟลูเอนเซอร์มาร์เก็ตติ้ง งานดังกล่าวจัดขึ้นโดยบริษัท เทลสกอร์ จำกัด ร่วมกับพันธมิตร เพื่อเฟ้นหาอินฟลูเอนเซอร์คุณภาพที่สร้างพลังขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกต่อสังคม นำไปสู่การส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานการสร้างคอนเทนต์ที่ดีอย่างสร้างสรรค์ และมีจิตสำนึกต่อสังคม ซึ่งจะต่อยอดไปสู่การสร้างสังคมอินฟลูเอนเซอร์ให้เป็นเครือข่ายสังคมที่รวมคนคุณภาพให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ

สำหรับคอนเซ็ปต์การจัดงานในปี 2564 คือ “THE REAL PLAYER” เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ที่ยังคงส่งผลกระทบต่อธุรกิจในวงกว้างไม่สิ้นสุด มีแต่ผู้เล่น “ตัวจริง” เท่านั้นซึ่งรู้จักปรับตัวและยังคงอยู่รอดได้ ดังนั้น การมอบรางวัลในปีนี้จึงเป็นการตอกย้ำและสะท้อนเรื่องราวความสำเร็จของเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ตัวจริง แบรนด์ตัวจริง เอเจนซี่ตัวจริง

สำหรับเกณฑ์การตัดสินนั้น แบ่งเป็นการให้คะแนนจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในวงการการตลาดและสื่อดิจิทัล รวมถึงตัวแทนจากภาครัฐและเอกชนระดับประเทศทั้ง 18 ท่าน คิดเป็น 70% ส่วนอีก 30% เป็นคะแนนจากการโหวตทั่วประเทศ โดยในปีนี้ยังคงมีอินฟลูเอนเซอร์หน้าใหม่ที่สร้างสรรค์ผลงานคุณภาพเกิดขึ้นในสาขาที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งมีการประกาศผลไปเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2564 ในรูปแบบการจัดงาน Online Event ผ่านช่องทาง LIVE Facebook: Tellscore โดยมีผลการตัดสินดังต่อไปนี้

18 สาขารางวัลอินฟลูเอนเซอร์

  1. Best Beauty & Fashion Influencer: soundtiss
  2. Best Foodie Influencer: Mawinfinferrr
  3. Best Health & Sports Influencer: Forcejun
  4. Best Travel Influencer: The Gaijin Trip
  5. Best Tech, Gadget and eSports Influencer: GUZAP
  6. Best Parenting Influencer: Guy Haru Family
  7. Best Pets Lover Influencer: Gluta Story
  8. Best Entertainment Lifestyle Influencer: จีบหนูหน่อย #หนูอ่อยไม่เป็น
  9. Best Financial & Investment Influencer: Money Diaries
  10. Best Real Estate & Property Influencer: โบวี่ อัฐมา ชีวนิชพันธ์
  11. Best Automotive Influencer: เบียร์ ใบหยก
  12. Best Silver Content Influencer: อุ้ยเกี๋ยงและผองเพื่อน
  13. Best Healthcare Professional Influencer: Dr. V
  14. Best Publisher Influencer: The Standard
  15. Best Digital Marketing Influencer: Ad Addict
  16. Best Social Change Maker Influencer: หมอแล็บแพนด้า
  17. Best Green Change Maker Influencer: ก้องกรีนกรีน วิธีรักษ์โลก
  18. Best Youth Influencer: Samitanan Tookchit
จะเห็นได้ว่าการจัดงานในปี 2564 มีการปรับลดและเพิ่มหมวดหมู่ตามเทรนด์ที่มาแรงซึ่งผู้คนให้ความสนใจตลอดปีที่ผ่านมา โดยมีการเพิ่มรางวัล Best Green Change Maker Influencer ให้กับอินฟลูเอนเซอร์สายกรีนที่ทำคอนเทนต์มุ่งให้ความรู้ สร้างความตระหนัก และนำเสนอวิธีแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม

การจัดงานในปี 2564 ยังมีความพิเศษที่ต่างไปจากการจัดงานสองปีที่ผ่านมาโดยได้เพิ่มหมวด Brand Awards เพื่อมอบรางวัลให้กับแบรนด์ที่ทำผลงานร่วมกับอินฟลูเอนเซอร์ได้อย่างยอดเยี่ยม รวมทั้งสิ้น 14 สาขา โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อผลักดัน Influencer Economy ของประเทศไทยให้เติบโตขึ้นอีกทางหนึ่ง

รายชื่อแบรนด์ที่ทำผลงานร่วมกับอินฟลูเอนเซอร์ได้ยอดเยี่ยม ทั้ง 14 สาขานั้น มีดังนี้

  1. Best Beauty Influencer Campaign: Srichand SELENE
  2. Best Mom & Baby Influencer Campaign: Nestlé for Healthy Kids submitted by IPG Agency
  3. Best Food & Beverage Influencer Campaign: Lay’s
  4. Best Restaurant Influencer Campaign: KFC submitted by IPG Agency
  5. Best Health Care & Aesthetic Center Influencer Campaign: Bumrungrad Hospital
  6. Best Consumer Electronics & Devices Influencer Campaign: Dyson
  7. Best Home Solution Influencer Campaign: Schneider
  8. Best Financial & Investment Influencer Campaign: TrueMoney
  9. Best Retail Store & Shopping Mall Influencer Campaign: Makro
  10. Best Mobile Network & Data Service Influencer Campaign: AIS PLAY
  11. Best Delivery & Logistics Influencer Campaign: foodpanda
  12. Best Energy Influencer Campaign: ERC Power Fund กองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)
  13. Best Social Change Maker Influencer Campaign: Thai Health Promotion Fund สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
  14. Best Green Change Maker Influencer Campaign: GreeneryChallenge submitted by Creative Move Agency

การเพิ่มรางวัลตอกย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของการใช้อินฟลูเอนเซอร์ในการทำการตลาด รวมถึงส่งเสริมภาพลักษณ์ขององค์กร และจากผลการประกาศรางวัล จะเห็นได้ว่าแบรนด์ที่ผ่านการคัดเลือกนั้น ส่วนใหญ่จะอยู่ในหมวดธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค อาหาร และบริการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน ซึ่งการใช้อินฟลูเอนเซอร์ในแคมเปญดังกล่าวนั้นประสบความสำเร็จทั้งในแง่การสร้างการรับรู้ เพิ่มเอนเกจเมนท์ และบรรลุเป้าหมายในการกระตุ้นยอดขาย

ตัวอย่างเช่น เครื่องหนีบผมของ Dyson ในชื่อแคมเปญว่า “Dyson Corrale: Blend & Broke ทลายความคิด กลบด้วยความคิด” ซึ่งใช้อินฟลูเอนเซอร์รวม 21 คน ทั้งระดับ Macro,  Medium และ Micro  หลังจบแคมเปญนั้น แบรนด์สามารถกวาดยอดขายไปได้ถึง 88% หรือจะเป็นอีกตัวอย่างของมันฝรั่ง Lay’s MAX กับแคมเปญ “กินคู่กัน มันส์เต็มแมกซ์” ที่สร้างสีสันในการทานมันฝรั่งเลย์ โดยจับคู่เลย์ 2 รสชาติเข้าด้วยกัน กินเลย์คู่กับเมนูโปรด หรือจะเลือกอร่อยกับเครื่องดื่มสูตรพิเศษ แคมเปญนี้ใช้อินฟลูเอนเซอร์ระดับ Macro 8 คน และ Micro อีกกว่า 30 คน สร้างพลังการรับรู้ได้ถึง 6.8 ล้าน และยอดขายเพิ่มขึ้น 10 ตันใน 1 เดือน

อินฟลูเอนเซอร์จึงยังคงมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากสามารถพิสูจน์ให้เห็นได้ว่า การใช้อินฟลูเอนเซอร์เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ในการทำการตลาดที่มีประสิทธิภาพ จากข้อได้เปรียบที่อินฟลูเอนเซอร์เป็นเครื่องมือทางการตลาดที่มีความเป็นมนุษย์ จึงสามารถถ่ายทอดความรู้สึก เข้าถึง และสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้บริโภคได้โดยตรง ขณะเดียวกัน เรายังคงเห็นความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในวงการอินฟลูเอนเซอร์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งนักการตลาดและแบรนด์ต้องติดตาม เพื่อปรับกลยุทธ์การใช้อินฟลูเอนเซอร์ให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่เสมอเพื่อความสำเร็จทางธุรกิจ

อ้างอิง

Topics

More Posts