อินฟลูเอนเซอร์ "ผู้ส่งอิทธิพลทางความคิด" ในสายตา คุณปู - สุวิตา จรัญวงศ์ ซีอีโอ "Tellscore"

อินฟลูเอนเซอร์ "ผู้ส่งอิทธิพลทางความคิด"

สุวิตา จรัญวงศ์

อินฟลูเอนเซอร์ในมุมมองของ คุุณปู – สุวิตา จรัญวงศ์ ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท เทลสกอร์  (Tellscore) หนึ่งในผู้ให้บริการชั้นนำด้านแพลตฟอร์มอินฟลูเอนเซอร์ มาร์เก็ตติ้งนั้น ไม่ใช่ผู้ทรงอิทธิพลทางความคิด หากแต่เป็น “ผู้ส่งอิทธิพลทางความคิด” เนื่องจากผู้ส่งอิทธิพลทางความคิดเหล่านี้ได้ส่งต่อพลังและจุดประกายให้เกิดความเคลื่อนไหวในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการระบาดของโควิด-19 ผู้ “ส่ง”อิทธิพลทางความคิดเหล่านี้ยิ่งเข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้นในกลุ่มผู้บริโภค แต่จะมีความเคลื่อนไหวและบทบาทอย่างไรบ้างนั้น “คุณปู” พร้อมที่จะมาบอกเล่าให้ฟังกัน

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอันเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้ทุกสาขาอาชีพ รวมถึงอินฟลูเอนเซอร์ต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ทำให้เกิดอินฟลูเอนเซอร์สายใหม่ๆ ที่มีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งในมุมหนึ่งนั้นถือว่าส่งผลดีต่อแบรนด์

นอกจากนี้ โควิด-19 ยังส่งผลให้เกิดดีมานด์ใหม่ ๆ ในกลุ่มผู้บริโภคจนนำไปสู่การแจ้งเกิดของอินฟลูเอนเซอร์หน้าใหม่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นอินฟลูเอนเซอร์สายจัดโต๊ะคอมพ์, สายสัตว์เลี้ยง หรือสายต้นไม้ ด้วยความที่สถานการณ์การแพร่ระบาดทำให้ผู้บริโภคต้องใช้เวลาอยู่กับบ้านมากขึ้น หลังจากที่มีการใช้มาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม

บทบาทในการนำเสนอคอนเทนต์ที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการการผ่อนคลาย หรือบริหารจัดการสภาพแวดล้อมการทำงานและการเรียนที่บ้านในช่วงโควิด-19 จึงเข้าถึง “ใจ” ผู้บริโภคในวงกว้างได้เป็นอย่างดี

ขณะเดียวกันในด้านจิตใจผู้บริโภคเองก็ต้องการการเยียวยาเพราะความตึงเครียดจากสถานการณ์โควิดที่ทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา เช่น การหย่าร้าง ภาวะซึมเศร้า ซึ่งนำไปสู่ความต้องการด้านคำปรึกษาและบริการเทเลเมดิซีน (Telemedicine) มากขึ้น ส่งผลให้บล็อกเกอร์หรืออินฟลูเอนเซอร์จัดทำคอนเทนต์ที่ตอบรับกับภาวะที่ผู้คนต้องการการเยียวยา เช่น การทำคอนเทนต์แบบ ASMR (Autonomous Sensory Meridian Response) เพื่อทำให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย ซึ่งก่อนหน้านี้ กระแสคอนเทนต์รูปแบบ ASMR ได้ซาลงไปบ้างแล้ว แต่กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งจากผู้บริโภค และเติบโตอย่างมากในปี 2564

คุณปู เล่าว่า แต่เดิมนั้น เสียง ASMR หรือที่เรียกว่า “เสียงสีขาว” (White noise) เป็นการบำบัดรูปแบบหนึ่งโดยใช้เสียง ปกติมักจะเป็นเสียงคลื่นในทะเล ต่อมาเสียง ASMR ได้ขยายขอบเขตออกไปเป็นเสียงฝีเท้า, เสียงเมือง, เสียงรถ สะท้อนความมีชีวิต ซึ่งเสียงเหล่านี้ช่วยบรรเทาความเหงาได้

ต่อมายังได้วิวัฒนาการออกไปสู่เสียงการทานอาหารฉ่ำๆ ดูน่าอร่อย เหมือนอย่างที่อินฟลูเอนเซอร์ Kyutae Oppa ที่ประสบความสำเร็จจากการทำคอนเทนต์ด้าน ASMR ซึ่งแพทย์บางรายได้นำวิธีการนี้ไปช่วยคนไข้ลดน้ำหนัก เพราะเมื่อฟังบ่อย ๆ คนไข้จะรู้สึกเหมือนกับว่า ได้ทานอาหารไปแล้ว สำหรับบล็อกเกอร์สายผ่อนคลายความเครียดนั้น ก็มีการทำคอนเทนต์อื่น ๆ ผสมผสานกันไปด้วย พร้อมกับการขายภาพลักษณ์ที่ดึงดูดผู้ชม

นอกจากบล็อกเกอร์สายอาหารแล้ว ยังมีสายอี-สปอร์ต สาย Therapy ที่หันมาทำคอนเทนต์เสียง ASMR ด้วยเช่นกัน เรียกได้ว่า อินฟลูเอนเซอร์เหล่านี้มีความ Niche หรือมีรูปแบบที่มีความเฉพาะเจาะจงสูง หากแบรนด์ต่าง ๆ จะเลือกใช้อินฟลูเอนเซอร์สายนี้ก็ต้องเลือกใช้ให้ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายของแบรนด์

Photo Credit: facebook.com/KyutaeOppaTV

นอกจากนี้ การทำคอนเทนต์ลักษณะสารคดีแบบ Long form ก็เป็นอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในแวดวงอินฟลูเอนเซอร์ช่วงโควิด

จากกระแสคอนเทนต์ประเภทสารคดีที่ได้รับความสนใจบนสตรีมมิงแพลตฟอร์มอย่างเน็ตฟลิกซ์ หรือการทำคอนเทนต์ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการเรียนออนไลน์ อย่างอินฟลูเอนเซอร์สายบิวตี้ที่ทำคอนเทนต์การแต่งหน้าสมัยอียิปต์แล้วสอดแทรกความรู้ด้านประวัติศาสตร์ที่อธิบายได้อย่างน่าสนใจ ทำให้นักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไปติดตามได้ง่ายขึ้น เรียกได้ว่า บทบาทของอินฟลูเอนเซอร์ทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ได้แผ่ขยายไปในหลากหลายวงการ อีกทั้งยังชวนให้ติดตามว่า อินฟลูเอนเซอร์และแบรนด์จะเคลื่อนไหวต่อไปอย่างไร หลังจากที่เผชิญกับความท้าทายต่างนานาๆ จากโควิด-19 และคาดว่าเราจะได้เห็นคอนเทนต์รูปแบบใหม่อีกเรื่อยๆ ท่ามกลางการเติบโตของสังคม ทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ

อินฟลูเอนเซอร์ collab ยาวถึงปีหน้า ภายใต้สูตร 1+1 มากกว่า 2

คุณปู มองว่า รูปแบบการจับมือทำคอนเทนต์ร่วมกันของอินฟลูเอนเซอร์จะยังคงเกิดขึ้นต่อไป ซึ่งจริงๆ แล้ว เทรนด์นี้เกิดขึ้นมานาน เพียงแต่เราไม่ได้สังเกตว่า ความร่วมมือแบบ 1+1 ของอินฟลูเอนเซอร์นั้น ผลลัพธ์ที่ได้นั้น เกิน 2 ไปแล้ว แพทเทิร์นแบบนี้เกิดขึ้นโดยที่เราไม่ได้เอะใจว่า ความร่วมมือรูปแบบนี้เกิดขึ้นเพื่อความอยู่รอดและความหลากหลาย นอกจากนี้ เราจะสังเกตเห็นได้ว่า ตอนนี้อินฟลูเอนเซอร์หนึ่งคนเปิดช่องรายการหรือคอนเทนต์บนแพลตฟอร์มมากกว่าหนึ่งแพลตฟอร์ม คอนเทนต์แต่ละช่องหรือแพลตฟอร์มก็ไม่ซ้ำกันด้วย

อย่างไรก็ดี การแตกแขนงแบบมัลติไทรบ์ (Multi-tribe) นี้ อย่างมากก็ได้แค่ 2-3 ไทรบ์ เพื่อที่จะเพิ่มกลุ่มเป้าหมาย (Audience) เช่น อินฟลูเอนเซอร์สายท่องเที่ยว อาจเกิดความคิดที่ว่า ถ้าเปิดช่องรายการอาหารขึ้นมาก็น่าจะไปต่อได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ใช่ว่าทุกคนจะทำอาหารได้ หรือคนที่ทำคอนเทนต์แบบ Cafe hopping เป็นหลักก็อาจจะถูกสถานการณ์บีบบังคับให้ไปทำอย่างอื่น เพราะแบรนด์เองก็ไม่ได้เข้ามากลุ่มนี้บ่อย เงื่อนไขจึงเป็นสิ่งที่บีบบังคับให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนนั่นเอง

จะว่าไปแล้ว แบรนด์เองต่างหากที่เป็นคนสอนให้เราเห็นการคอลแลบ ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่า แบรนด์คอลแลบกันเยอะมาก บล็อกเกอร์จึงเห็นตัวอย่างจากแบรนด์ว่าเราน่าจะทำอะไรที่ต่อยอดมาจากตรงนี้ได้ ซึ่งเป็นผลดีกับแบรนด์ในแง่ที่มีตัวช่วยว่าจะไปยังไงต่อ

KOC (Key Opinion Customer) หนึ่งในทางเลือกที่ตอบโจทย์การลดต้นทุน

เราได้เห็นความเคลื่อนไหวของฝั่งอินฟลูเอนเซอร์กันไปแล้ว หันมาดูด้านแบรนด์หรือภาคธุรกิจต่าง ๆ กันบ้างว่า มีรูปแบบการใช้อินฟลูเอนเซอร์เพื่อทำแคมเปญหรือสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายกันอย่างไรบ้าง ก็จะทำให้เราได้เห็นภาพของการทำตลาดผ่านอินฟลูเอนเซอร์แบบ KOC

คุณปูเล่าว่า KOC มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามวัตถุประสงค์การใช้งาน เช่น Employee Advocates, Consumer Advocates หรือ Big Fan Program ซึ่งแบรนด์นิยมนำมาใช้เพื่อลดต้นทุนในการทำคอนเทนต์ รวมถึงลดปัญหาการปลดพนักงานออกในช่วงวิกฤตทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 การใช้งานอินฟลูเอนเซอร์ในลักษณะนี้มักพบในกลุ่มธุรกิจ FMCG (Fast Moving Consumers Goods) หรือกลุ่มธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงองค์กรขนาดใหญ่ (Corporate) ที่มีจำนวนพนักงานในหลักพันหลักหมื่นคน

หากพูดถึงความสำเร็จของการใช้ KOC ในแคมเปญหรือกิจกรรมต่าง ๆ แล้ว คุณปู กล่าวว่า ในเบื้องต้นถือว่าประสบความสำเร็จ เพราะสามารถลดต้นทุนได้ทันที แต่อาจจะยังไม่สามารถใช้มาตรวัดเป็น KPI ที่สะท้อนเป็นเม็ดเงินได้อย่างชัดเจน เนื่องจากขณะนี้ อาจจะอยู่ในช่วงออนบอร์ด (Onboard) หรือการทดลองนำอินฟลูเอนเซอร์ประเภทนี้มาใช้

พร้อมกับยกตัวอย่างของรูปแบบการใช้ KOC ที่เป็นพนักงานว่า บริษัทหรือองค์กรจะสอบถามความสมัครใจจากพนักงานก่อนว่า พร้อมที่จะพูดถึงบริการหรือบริษัทในด้านบวกให้กับบริษัทหรือไม่ โดยบริษัทจะกำหนดหัวข้อให้พูดและให้พนักงานนำไปคิด ก่อนอัพโหลดขึ้นเฟซบุ๊กหรืออินสตาแกรมของพนักงาน เมื่อพนักงานโพสต์คอนเทนต์และมีหลักฐานของการโพสต์แล้วก็สามารถนำมาเบิกค่าใช้จ่ายกับบริษัทได้ นับเป็นความสำเร็จในแง่ของการปฏิบัติและกระบวนการว่า สามารถทำได้และยังช่วยเสริมภาพลักษณ์องค์กรตามจำนวนเพื่อนที่อยู่ในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่พนักงานคนนั้น ๆ  ซึ่งก่อนหน้านี้ วิธีการนี้ไม่ค่อยมีใครทำ แต่เพราะสถานการณ์ที่กดดันจึงทำให้องค์กรหันมาใช้ KOC ที่เป็นพนักงานภายในองค์กร จุดที่น่าสนใจของวิธีการนี้ คือ เมื่อพนักงานออกมาพูดถึงคอนเทนต์เป็นพัน ๆ คน ตัวเลขหรือผลลัพธ์ที่ได้จะช่วยตอกย้ำในเรื่องของความน่าเชื่อถือ

หากจะตั้งคำถามถึงเรื่องการตรวจสอบคอนเทนต์ว่า บริษัทมีวิธีการตรวจสอบว่าพนักงานได้เผยแพร่คอนเทนต์ของบริษัทอย่างไรบ้างนั้น คุณปูเล่าให้ฟังว่า บริษัทที่เพิ่งเริ่มต้นใช้ KOC แบบ Employee Advocate นั้น มักจะดูที่คอนเทนต์ก่อน และเมื่อเริ่มต้นแคมเปญไปแล้วประมาณ 3-4 เดือน ส่วนใหญ่ก็จะไม่ดูแล้วเพราะมีคอนเทนต์เป็นจำนวนมาก บริษัทจึงใช้รูปแบบของการทำสัญญากับพนักงานแทน โดยจะมีการเซ็นสัญญาเแล้วกำหนดให้ประเด็นการอัปเดตคอนเทนต์เป็นความลับ ในบางกรณีอาจให้เซ็นสัญญาแล้วระบุว่า ห้ามกล่าวถึงองค์กรในเชิงเสียหาย แล้วสุ่มเช็คในภายหลัง โดยอาจจะให้เอเจนซี่ช่วยตรวจสอบให้กับแบรนด์

เมื่อแบรนด์ไทยเริ่มใช้ "เวอร์ชวลอินฟลูเอนเซอร์"

ชั่วโมงนี้คงไม่พูดถึงเวอร์ชวลอินฟลูเอนเซอร์ (Virtual Influencer) ไม่ได้แล้ว เพราะการมาของซูเปอร์เทรนด์อย่างเมตาเวิร์ส (Metaverse) หรือแนวคิดเกี่ยวกับสร้างสภาพแวดล้อมของโลกที่เราอยู่ให้ผสานเข้ากับโลกเสมือนจริง โดยใช้เทคโนโลยี AR (Augmented Reality) และ VR (Virtual Reality) ช่วยเชื่อมโยงโลกจริงและโลกเสมือนจริงให้กลายเป็นพื้นที่โลกเดียวกันนั้น ถูกกล่าวขานเป็นอย่างมาก

ล่าสุด แบรนด์หรือเอเจนซี่ในไทยอย่าง SIA Bangkkok ก็ได้เปิดตัว “ไอ-ไอรีน” เวอร์ชวลอินฟลูเอนเซอร์สาววัย 21 ปี ที่มาพร้อมคาแรคเตอร์โฉบเฉี่ยว ตอบรับแนวคิดโลกเมตาเวิร์ส ในเกาหลีก็มีน้องโรซีที่ถูกพูดถึงกันมาก

Photo Credit: Instagram @ai_ailynn

คุณปู กล่าวถึงการมาของเวอร์ชวลอินฟลูอินฟลูเอนเซอร์ว่า จริง ๆ แล้วในฝั่งจีนหรือญี่ปุ่นเองนั้นมีเวอร์ชวลอินฟลูเอนเซอร์เยอะมาก และมีมาเกือบ 10 ปีแล้ว เวอร์ชวลอินฟลูเอนเซอร์ที่ว่าเป็นภาพเรนเดอร์ของคอมพิวเตอร์กราฟิกที่ใช้เทคโนโลยี 4G และยังไม่มีอะไรที่เป็น AI หรือปัญญาประดิษฐ์ แต่คิดว่าที่เรียก AI เพราะเป็นคำที่ฟังแล้วติดหูดี ซึ่งอาจต้องระวังในการเรียกชื่ออยู่บ้าง เพราะจะโยงไปถึงระบบ Robotic ในสายการผลิตด้วย

ในมุมมองของคุณปูนั้นเทรนด์ของเวอร์ชวลอินฟลูเอนเซอร์ในไทยอาจจะยังจำกัดวงเฉพาะในกลุ่มแบรนด์ที่ต้องการพรีเซ็นตัวเองด้านนวัตกรรม 

นอกจากนี้ การที่ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ผู้บริหารเฟซบุ๊กได้เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Meta เพื่อให้รับกับเทรนด์ Metaverse ก็สะท้อนการมาของ AR+VR ได้อย่างชัดเจนขึ้น อย่างไรก็ดี ซูเปอร์เทรนด์นี้ยังมีข้อจำกัดเพราะด้วยต้นทุนที่สูงประกอบกับจังหวะในการมาของเวอร์ชวลอินฟลูเอนเซอร์นั้นอยู่ในจังหวะที่คนกำลังต้องการ Human touch จากแบรนด์สูงสุด ทำให้กลุ่มเป้าหมายแบ่งออกเป็นสองฝั่ง ฝั่งที่ต้องการ Human touch นั้น จะมองหาแบรนด์ที่มี Empathy ซึ่งเข้าอกเข้าใจผู้บริโภค หรือใส่ใจสิ่งแวดล้อมก็เข้าข่ายด้วย ขณะที่กลุ่มผู้บริโภคอีกฝั่งมีความต้องการเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มภาพลักษณ์ก็อาจจะยึดถือ Human touch ไม่ได้ตลอด ขึ้นอยู่กับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์นั้นๆ

วงการสื่อ-โฆษณา-พีอาร์ รับมือกับการมาของ Metaverse อย่างไร

สำหรับประเด็นนี้ คุณปูให้ความเห็นว่า การมาของซูเปอร์เทรนด์ทุกครั้ง ย่อมส่งผลต่อระบบอีโคซิสเต็มอยู่เสมอมากน้อยแตกต่างกันไป แต่สำหรับการทำธุรกิจนั้น การทดลองทำโมเดลทางธุรกิจเพื่อให้ทันกระแสที่เกิดขึ้นถือว่า “จำเป็น” เพราะไม่อย่างนั้นจะตกยุค อย่างในตอนนี้ เทลสกอร์ก็ได้หารือกับสมาคมโฆษณาว่าจะทำอะไรเพิ่มเติมจากเทรนด์ Metaverse ได้บ้าง เช่น การรีวิวสินค้าและบริการ อย่างไรก็ดี คงยังไม่ได้ทำตอนนี้ เนื่องจากต้นทุนที่สูงมาก แต่ก็ต้องคิดวางแผนเพื่อเปิดรับนวัตกรรม และถือโอกาสทดลอง เรียนรู้ และรับฟังความเห็นจากผู้บริโภคไปในตัวด้วย

สำหรับเทลสกอร์แล้ว ซูเปอร์เทรนด์ Metaverse จะเริ่มต้นที่ AR+VR ก่อน โดยจะทดลองลงมือทำและให้ลูกค้าทดลองใช้ นอกจาก Metaverse แล้ว ยังมีเทเลเมดิซีนด้วยที่ป็นหนึ่งใน 12 ซูเปอร์เทรนด์ อย่างเช่นแพทย์รุ่นใหม่ ๆ มีการนำ AI มาใช้ในการวินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำมากขึ้น ซึ่งเทลสกอร์ก็มีการวางแผนและคิดอยู่เสมอว่าจะนำซูเปอร์เทรนด์เหล่านี้มาใช้งานอย่างไร โดยมีการวางแผนปรึกษากับคุณหมอที่เป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ว่า จะทำอะไรได้บ้าง

เมื่อถามว่าซูเปอร์เทรนด์ต่าง ๆ จะแจ้งเกิดในไทยหรือไม่

คุณปูมองว่า เทรนด์เหล่านี้มาแน่นอน แต่ขึ้นอยู่กับว่าจะกระทบกับอินฟลูเอนเซอร์แค่ไหน โดยหนึ่งในนั้นคือ เทรนด์อีคอมเมิร์ซที่เกิดขึ้นมาสักพักแล้ว แต่สำหรับไทยนั้น คงเกาะขบวนอีคอมเมิร์ซไม่ทันแล้ว เพราะจีนครองตลาดนี้ไปแล้ว สิ่งที่เรายังพอทำได้คือ ธุรกิจแบบ C2C ซึ่งเป็นการค้าขายระหว่างผู้ประกอบการรายย่อยแต่สร้างรายได้ให้ไทยสูงมาก ซึ่งเป็นข่าวดีสำหรับธุรกิจรายเล็ก ๆ และถือเป็นซูเปอร์เทรนด์ที่มีผลต่ออินฟลูเอนเซอร์มาร์เก็ตติ้งโดยตรง เทลสกอร์ก็ได้จับกระแสอีคอมเมิร์ซไปเมื่อสองปีที่แล้ว เรื่องซูเปอร์เทรนด์นั้นเป็นอะไรที่มากกว่าแค่ AR, VR

การจัดอีเวนต์ การทำงานในแวดวงการตลาดในปี 2565 จะเป็นอย่างไร

ภายหลังจากที่ทุกคนได้เผชิญกับวิกฤตโควิด-19 คุณปู กล่าวว่า จะเป็นรูปแบบอะไรก็ได้ เพราะเราไม่ใช่คนรุ่นใหม่จ๋า แต่เป็นบริษัทของคนรุ่นใหม่ อะไรก็ได้ที่ทำให้เราได้สร้างคอมมิวนิตี้ต่อไป ถ้าเกิดล็อกดาวน์ขึ้นอีกเราก็ไม่กังวลแล้ว เพราะเราผ่านช่วงที่หนักที่สุดมาแล้ว ถ้าเกิดล็อกดาวน์ก็โยกไปจัดออนไลน์แค่นั้นเอง ที่เหลือก็ถือว่าง่ายด้วยซ้ำ มันมีแต่ทางสว่าง จะว่าไปถือว่าประสบความสำเร็จด้วย เพราะคนดูได้กำไรเยอะกว่า ส่งลิงก์ไปก็ดูได้แล้ว สร้างการมีส่วนร่วมได้เยอะขึ้น ดูจบไม่จบ เราก็เห็นทราฟฟิกเห็นเรทได้ นักข่าวเองก็ได้ไปเต็ม ๆ สามารถเข้าไปฟังและเจาะถามได้ ในขณะที่ถ้าเป็นอีเวนต์สดมันผ่านแล้วผ่านเลย บางทีเป็นฟุตเทจคนก็ไม่อยากดูเพราะมันไม่สดก็เลยคิดว่าเป็นไอเดียที่ดีที่เราจะนำประสบการณ์ที่เราเคยทำงานไปต่อยอดเพื่อทำ Physical event อาจจัดอีเวนต์ย่อยแทรกเป็นออนไลน์

ส่องงานมอบรางวัลอินฟลูเอนเซอร์ อะไรคือความต่างของ "Tellscore"

หากจะพูดถึงงานอีเวนต์ช่วงปลายปี คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่างานมอบรางวัลให้กับแบรนด์หรืออินฟลูเอนเซอร์เป็นเสมือนหนึ่งสีสันที่หลายคนรอดูว่า แต่ละเวทีมีแบรนด์หรืออินฟลูเอนเซอร์สายไหนได้รางวัลอะไรยังไงบ้าง คุณปู กล่าวถึงงาน Thailand Influencer Awards 2021 ที่เทลสกอร์จัดว่า จะพุ่งเป้าไปที่ไมโครอินฟลูเอนเซอร์ที่มีผู้ติดตามไม่เกินหนึ่งแสน เราเป็นเวทีของคนแจ้งเกิด คนเปลี่ยนสายอาชีพ เช่น นักข่าว แอร์ สจ๊วต ดารา ที่ผันตัวมาเป็นอินฟลูเอนเซอร์ แต่ของปีนี้ก็มีอินฟลูเอนเซอร์เบอร์ใหญ่ อย่าง The Standard ที่ได้รางวัล Best Publisher

Photo Credit: thailandinfluencerawards.com/awards/2021

เวทีของเทลสกอร์จึงเป็นการฉีกออกจากกรอบ เพราะเราให้คำจำกัดความอินฟลูเอนเซอร์ได้กว้าง อินฟลูเอนเซอร์คือใครก็ได้ เราไม่ได้มองอินฟลูเอนเซอร์เป็นผู้ทรงอิทธิพลทางความคิด เราอยากจะแบนคำนี้ด้วยซ้ำ แต่เป็นผู้ส่งอิทธิพลทางความคิด

คือ ถ้าคุณเป็นผู้ส่งอิทธิพลทางความคิดให้เพื่อนคุณ แค่ 50 คน 100 คน คุณก็เป็นอินฟลูเอนเซอร์ได้แล้ว สีสันของเทลสกอร์จึงอยู่ที่เรามีความเซอร์ไพรส์เยอะนิดหนึ่ง คนอาจสงสัยว่าเอ๊ะ คนนี้ใครอ่ะ ในช่วงตัดสินรางวัล กรรมการก็ถกเถียงกันอย่างดุเดือด ซึ่งตรงนี้เป็นจุดที่ทำให้เทลสกอร์ต่างไปจากเวทีอื่น

ในฐานะเทคสตาร์ทอัพ เทลสกอร์ให้ความสำคัญกับ Data หรือข้อมูล ก่อนจะส่งข้อมูลให้กับทางคณะกรรมการ ข้อมูลเราต้องผ่านก่อน คุณปูยกตัวอย่างว่า ในไทย Engagement rate ที่ออร์แกนิคจะอยู่ที่ 5% ซึ่งใช้สำหรับอินฟลูเอนเซอรทุกไซส์ เทียบจากฐานประชากรไทยทั้งประเทศประมาณ 70 ล้านคน คือถ้าเพื่อน 100 คน ต้องมีคนมากดไลก์ 5 ไลก์ถึงจะใช้ได้ แต่ถ้าสายบิวตี้จะต้อง 10% เพราะการแข่งขันสูง มีเม็ดเงินเข้ามามาก แต่ถ้าเป็นตลาด Niche เช่น เทคโนโลยีกลุ่มใหม่ ๆ หรือบล็อกเชน เอนเกจเมนท์ได้ 3% ก็ถือว่าดีมากแล้ว คือเราก็จะมีเอนเกจเมนท์เรท ยอดผู้ติดตาม ผลงานที่ผ่านมาในรอบหนึ่งปี คอนเทนต์เฉลี่ยเขาเป็นยังไง แล้วจึงเป็นหน้าที่ของกรรมการมาถกกันว่า คนนี้ใช่ไม่ใช่ คนนี้ครีเอทีฟจริงหรือเปล่า คนนี้สตอรี่เทลลิ่งไม่ได้ คนนี้อิมแพคไม่ดี คนนี้หยาบคาย คนนี้อาจจะปังแต่แค่ประโยคพาดหัว พอเข้าไปดูคอนเทนต์จริงๆ มันไม่ปังเท่าคำพาด คือ เราต้องวิเคราะห์จากคุณภาพด้วย

คุณปูปิดท้ายการสัมภาษณ์ด้วยการย้ำถึงความสำคัญของ Data และ Performance ว่า เป็นสิ่งที่ทั้งอินฟลูเอนเซอร์และแบรนด์ต้องติดตามมากขึ้น เนื่องจากนับวันจำนวนอินฟลูเอนเซอร์จะมีมากขึ้น จนกลายเป็นเศรษฐกิจเต็มรูปแล้ว

คุณปูเคยคุยกันกับสมาคมโฆษณาว่า

นี่ไม่ใช่อินฟลูเอนเซอร์ มาร์เก็ตติ้งแล้ว แต่เป็นอินฟลูเซอร์ อีโคโนมี (Influencer Economy) ซึ่งมีความเป็นศาสตร์ในตัวของมันเอง เป็น Paid media เต็มรูปแบบ ไม่ได้เป็นมีเดียไซด์ไลน์เหมือนสมัยก่อน

นี่คือผีเสื้อที่โตเต็มวัย ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะมีข้อมูลเข้ามาช่วย การเลือกใช้งานอินฟลูเซอร์จึงมีเรื่องราคาของ Reach, Engagement เข้ามาเป็นปัจจัยที่แบรนด์พิจารณาใช้ในการเลือกอินฟลูเอนเซอร์ด้วย

ส่วนเรื่อง Performance จะมาคู่กับ Data คือ แบรนด์ต้องการให้อินฟลูเอนเซอร์ขายของได้จริง ไม่ใช่แค่ถือของสวยๆ แต่กำลังมองหาคนที่อยู่ด้วยกันแล้วช่วยสร้างยอดขายได้ Data และ Performance จึงต้องมาคู่กัน

Topics

More Posts