นิตยสารกับโลกยุคดิจิทัล

หากจะพูดถึงสื่อสิ่งพิมพ์อย่างนิตยสารแล้ว คำกล่าวของรองศาสตราจารย์พรทิพย์ สัมปัตตะวนิช อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คงจะสะท้อนให้เห็นภาพได้อย่างชัดเจนว่า นิตยสารอาจต้องเน้นเจาะตลาดกลุ่มเป้าหมายเฉพาะด้านเนื่องจากสื่อประเภทนิตยสารมักเป็นผลผลิตมาจากผู้เขียนที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านและได้เขียนงานในขอบเขตหัวข้อที่ตนเองรู้ลึก รู้จริง กลายมาเป็นจุดขายเฉพาะตัว เพื่อความอยู่รอด หากให้ความสำคัญกับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะด้านโดยปรับตัวให้เท่าทันกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง อาจเป็นทางรอดหนึ่งของนิตยสารตีพิมพ์ ซึ่งเริ่มเลือนหายไปตามยุคสมัย

สมมติเราชอบเรื่องที่เกี่ยวข้องกับดนตรี ถ้าเป็นนิตยสารดนตรีโดยเฉพาะ มันคือที่หาความรู้ของคนรักดนตรีจริง ๆ เทียบกับการค้นหาผ่านกูเกิ้ลด้วยตนเอง และต้องดูว่าเนื้อหามีความน่าเชื่อถือไหม มีความถูกต้องหรือเปล่า แต่ถ้าเป็นนิตยสาร จะมีการคัดสรรเนื้อหาที่มีความน่าเชื่อถือโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาเรียบร้อยแล้ว

อาจารย์พรทิพย์ยกตัวอย่าง

ด้วยเหตุนี้ เราจึงได้เห็นนิตยสารหรือหนังสือหลายเล่มที่ยังคงจัดทำเล่มพิเศษหรือนิตยสารเฉพาะทางขึ้นมาให้กับเหล่านักอ่าน นักสะสมหรือบรรดาแฟนตัวยง แม้กระทั่งการก้าวเข้าสู่วงการ NFT Art (Non-fungible Token Art) หรืองานศิลปะต่าง ๆ ที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้น มีความเฉพาะตัว และถูกนำไปแปลงเป็นโทเคน โดยสามารถซื้อขายกันด้วยสกุลเงินคริปโตเคอร์เรนซี ซึ่งนักสะสมผลงานศิลปะต่าง ๆ สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนได้ผ่านแพลตฟอร์ม Opensea, Rarible, Nifty Gateway, SuperRare, Foundation, Enjin Marketplace และแพลตฟอร์มอื่น ๆ อีกมากมาย

เมื่อ “ขายหัวเราะ” ก้าวสู่โลกแห่งสินทรัพย์ดิจิทัลอย่าง NFT

แม้ว่า นิตยสารและสื่อสิ่งพิมพ์จะพยายามเอาตัวรอดด้วยการหันมาทำฉบับดิจิทัลลงเว็บไซต์หรือจัดทำเล่มพิเศษมาอย่างต่อเนื่อง แต่การเคลื่อนไหวให้สอดคล้องกับยุคดิจิทัลที่ซึ่งโลกแห่งศิลปะก็เป็นอีกหนึ่งวงการที่ได้ผสานเข้ากับสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น ถือเป็นโอกาสและปรากฎการณ์ที่น่าสนใจสำหรับสื่อสิ่งพิมพ์ที่อยู่ในช่วงขาลงมาโดยตลอด เมื่อหนังสือการ์ตูน “ขายหัวเราะ” ได้ก้าวเข้าสู่โลกศิลปะในยุคดิจิทัล ด้วยการนำหน้าปกที่เป็นเอกลักษณ์มาแปลงเป็นภาพดิจิทัลแล้ววางขายในตลาด NFT (Non-fungible Token) ที่ซื้อขายกันด้วยสกุลเงินคริปโตเคอร์เรนซี

ทั้งนี้ หนังสือการ์ตูนไทยรายสัปดาห์ชื่อดังอย่าง “ขายหัวเราะ” แห่งสํานักพิมพ์บันลือสาส์น ได้นำภาพปกฉบับแรก ตีพิมพ์เมื่อพ.ศ. 2516 พร้อมลายเซ็นของคุณวิธิต อุตสาหจิต บรรณาธิการของขายหัวเราะ มาเปิดประมูลในตลาด NFT ซึ่งก็มีนักสะสมนิรนามซื้อไปในราคา 17.3 ETH หรือประมาณ 1,078,932.90 บาท เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2564 (อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันดังกล่าว)

ภาพปกขายหัวเราะฉบับแรกที่วางขายในรูปแบบ NFT

หลังจากที่ประสบความสำเร็จจากผลงานชิ้นแรกไปแล้ว “ขายหัวเราะ”จึงได้นำ “ต้นฉบับ”ของรูปภาพจำนวน 50 ภาพจากนักเขียนขายหัวเราะในยุคบุกเบิกอย่าง “อาวัฒน์”, “ตาโต”, “จุ๋มจิ๋ม” ฯลฯ มาวางขายในรูปแบบ NFT ผ่านแพลตฟอร์ม OpenSea โดยได้มีการเปิดตัวรูปภาพ 10 ภาพแรกไปเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2564 และสามารถขายได้หมดภายในระยะเวลาเพียงแค่ 1 ชั่วโมง จากนั้นทาง “ขายหัวเราะ” ก็ปล่อยภาพชุดต่อ ๆ ไปทุกวันอาทิตย์

ความสำเร็จในวงการ NFT ของ “ขายหัวเราะ” อาจจะเป็นตัวจุดประกายให้แก่นิตยสารหรือสื่อสิ่งพิมพ์เจ้าอื่น ๆ ในอนาคตก็เป็นได้ โดยเฉพาะนิตยสารหรือสื่อสิ่งพิมพ์ที่ยังคงตีพิมพ์เพื่อวางจำหน่ายอยู่ว่า จะสามารถนำคอนเทนต์หรือองค์ประกอบของนิตยสารหรือหนังสือมาหารายได้ด้วยการพาเข้าสู่วงการ NFT ได้หรือไม่ คงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามดูกันต่อไป

"กะทิ" Virtual Influencer สุดชิคขึ้นปกนิตยสารแฟชั่น

นอกจากนิตยสารจะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีล่าสุดอย่าง NFT แล้ว อีกหนึ่งปรากฏการณ์ครั้งสำคัญในแวดวงนิตยสารไทยคือ การนำเวอร์ชวล อินฟลูเอนเซอร์ (Virtual Influencer) มาขึ้นปก โดยในช่วงเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม 2564 “กะทิ” หรือในชื่อภาษาอังกฤษว่า “เคธี่” (Kathie) อินฟลูเอนเซอร์สาวจากโลกเสมือนคนล่าสุดของไทยได้เผยโฉมบนหน้าปกนิตยสารแฟชั่นไปแล้วอย่างน้อย 5 เจ้า ดังนี้

  • สุดสัปดาห์ ปก Digital Cover ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่กะทิปรากฎตัวร่วมกับ “มิว – ศุภศิษฏ์ จงชีวีวัฒน์” นักร้อง นักแสดงซีรีส์วายชื่อดัง
  • นิตยสาร L’Officiel Muse ปก Digital Cover ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2564 พร้อมบทสัมภาษณ์กะทิ
  • นิตยสาร Harper’s BAZAAR Thailand ปก Digital Cover ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2564 ภาพแฟชั่นเซ็ต
  • นิตยสาร Vogue ประเทศไทย โดยเผยโฉมร่วมกับ “ปันปัน – สุทัตตา อุดมศิลป์” นักแสดงชื่อดัง
  • นิตยสาร Kazz Magazine ฉบับที่ 182 โดยถ่ายแบบร่วมกับ “อัพ – ภูมิพัฒน์ เอี่ยมสำอาง” นักแสดงซีรีส์วายชื่อดัง

ทั้งนี้ “กะทิ” เป็นผลงานสร้างสรรค์ของบริษัทสื่อโฆษณานอกบ้านอย่าง แพลน บี มีเดีย จำกัด (มหาชน) และ เลมอนซ์ บางกอก (Lemonz Bangkok) บริษัทลูกที่แตกยอดจาก SOUR Bangkok ซึ่งเป็นผู้สร้างคาแรคเตอร์อย่าง “แนนโน๊ะ” ที่โด่งดังจากซีรีส์เด็กใหม่ ร่วมกับบริษัท AWW Inc. ซึ่งถือเป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านงานสร้างมนุษย์เสมือน (Virtual Human) อันดับหนึ่งของญี่ปุ่น โดยกะทิถูกวางคาแรคเตอร์ให้เป็นสาวขอนแก่นคิ้วหนา ตากลม หน้าคม อมเซ็กซี่ ที่จะคงวัย 22 ปีตลอดกาล พร้อมรสนิยมแบบอินเตอร์ปนไทย ชอบกินครัวซองต์พอ ๆ กับแมลงทอด ตลอดจนไลฟ์สไตล์แบบเด็ก Gen Z ดูซีรีส์จนดึกดื่น เต้น cover เพลงเกาหลีพอ ๆ กับเซิ้งรำวง และแต่งผ้าซิ่นตีนจกถ่ายลง IG: Katii.Katie และ FB: @กะทิ

โปรเจ็กต์ “กะทิ” อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่น่าสนใจในแวดวงนิตยสารแฟชั่นไทยที่จะดึงดูดผู้อ่านด้วยการใช้อินฟลูเอนเซอร์ขึ้นปกหรือเนื้อหาได้ตามแบบที่ต้องการ โดยใส่เรื่องราวชีวิตภูมิหลัง สวมใส่เสื้อผ้า โพสต์ท่าเพื่อโปรโมตสินค้าในนิตยสารตามโจทย์ อีกทั้งยังปรับรูปร่างหน้าตาหรือกระทั่งเพศ/ไร้เพศ ให้ตรงกับค่านิยมของสังคม แถมไม่มีวันแก่ ไม่มีข่าวฉาวให้แบรนด์เสื่อมเสียอีกด้วย

นิตยสารกับบทบาทในการเป็นของสะสม

เมื่อกล่าวถึงความล้ำสมัยที่มากับโลกยุคดิจิทัลกันไปแล้ว หากหวนกลับมาดูนิตยสารในปัจจุบันที่ต้องยอมรับว่า ไม่สามารถแข่งขันกับสื่อโซเชียลมีเดียและออนไลน์ในหลาย ๆ ด้านได้แล้ว นิตยสารบางประเภทจึงยังคงเดินเกมด้วยการสร้าง “ของมีค่า” ที่ควรค่าแก่การสะสม ดังจะเห็นได้จากการจัดทำนิตยสารฉบับพิเศษของสำนักพิมพ์ต่าง ๆ

“ความจับต้องได้” เปรียบเสมือนเสน่ห์ของสื่ออย่างนิตยสารที่ตอบโจทย์ในเรื่องการเป็นของสะสม ที่มี “คุณค่าบางอย่างที่สื่อดิจิทัลไม่สามารถให้ได้”

ดังตัวอย่างจากนิตยสาร a day ที่ได้จัดทำ a day เล่ม “Mamuang” หรือ “มะม่วง” ฉบับที่ 245 โดยนำเสนอคอนเทนต์เกี่ยวกับตัวการ์ตูนเด็กผู้หญิงที่ชื่อ “มะม่วง” คุณเบลล์-จิราเดช โอภาสพันธ์วงศ์ บรรณาธิการนิตยสาร a day ในขณะนั้น ได้ให้สัมภาษณ์ใน “iCreator Clubhouse : อนาคตวงการหนังสือในปี 2021” ผ่านทางคลับเฮาส์ว่า  a day ฉบับมะม่วงขายไปได้กว่า 90% ก่อนที่จะเริ่มตีพิมพ์ด้วยซ้ำ ขายดีมากจนผู้อ่านเรียกร้องให้ตีพิมพ์อีก แต่กลับไม่มีใครสนใจที่จะซื้อฉบับ E-book เท่าไรนัก
Photo credit: https://adaymagazine.com/a-day-245-mamuang

ด้วยรูปลักษณ์ที่น่ารักของเด็กหญิง “มะม่วง” ซึ่งเป็นผลงานการสร้างสรรค์จากศิลปิน “ตั้ม วิศุทธิ์ พรนิมิต” ที่มีชื่อเสียงทั้งในไทยและต่างประเทศ อีกทั้งยังมีแฟนคลับติดตามผลงานเป็นจำนวนไม่น้อย การจัดทำ a day เล่มพิเศษนี้ ทั้งหน้าปกและเนื้อหาภายในเล่มที่เกี่ยวกับน้องมะม่วงจึงถูกใจและได้รับการตอบรับจากแฟนคลับได้ไม่ยากนัก

นอกจากการดึงจุดเด่นของงานศิลปะจากศิลปินชื่อดังมาใช้เป็นจุดขายแล้ว นิตยสารฉบับพิเศษในปี 2564 ก็ยังมีการนำ “อินฟลูเอนเซอร์” หรือดารานักแสดงที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาขึ้นปกและนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับบุคคลเหล่านี้ เพื่อจำหน่ายให้กับบรรดาแฟนคลับและผู้ที่สนใจในตัวดารานักแสดงได้ซื้อไปสะสมกัน ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์ที่ใช้ได้ผลอยู่ โดยตัวอย่างนิตยสารที่ได้ใช้กลยุทธ์ดังกล่าวคือ “L’Officiel Hommes Thailand” นิตยสารผู้ชาย-ไลฟ์สไตล์ ซึ่งนำ “พีพี – กฤษฏ์ อำนวยเดชกร” และ “บิวกิ้น – พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล” สองนักแสดงชายจากซีรีส์ไทยเรื่อง “แปลรักฉันด้วยใจเธอ” มาขึ้นปกในฉบับเดือนสิงหาคม 2564 และวางจำหน่ายเป็นเซ็ต 3 ปก คือรูปพีพี-บิวกิ้นบนปกแข็ง รูปพีพีบนปกอ่อน และรูปบิวกิ้นบนปกอ่อน พร้อมด้วยรูปถ่ายพีพี-บิวกิ้นแบบเอ็กซ์คลูซีฟ 2 ใบแถมมากับนิตยสารด้วย

ดังนั้น หากจะกล่าวว่า “ของสะสมเพื่อแฟนคลับ” เป็นกลยุทธ์ที่ยังคงประสบความสำเร็จสำหรับสื่อนิตยสารก็คงจะไม่ห่างไกลจากความเป็นจริงเท่าไรนัก

นิตยสารกับบทบาทในการเป็นของสะสม

แม้ว่า ธุรกิจต่าง ๆ จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เช่นเดียวกับธุรกิจสื่อ แต่ก็ต้องยอมรับว่าภายใต้สถานการณ์เดียวกันนี้เองกลับเป็นโอกาสสำหรับนิตยสารที่ทำคอนเทนต์เกี่ยวกับบ้านที่อยู่อาศัย อย่างนิตยสาร “บ้านและสวน” ของบริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) ที่ได้ร่วมมือกับหนังสือการ์ตูน “ขายหัวเราะ” หนึ่งในตำนานของหนังสือการ์ตูนไทย สร้างสรรค์นิตยสารฉบับพิเศษประจำเดือนมีนาคม 2564 ขึ้นมา โดยแลกเปลี่ยนเนื้อหาและจุดเด่นที่เป็นลักษณะเฉพาะตัวซึ่งกันและกัน

นิตยสารบ้านและสวน ฉบับ “Happy Home” ประจำเดือนมีนาคม 2564 ซึ่งได้ร่วมมือกับ “ขายหัวเราะ” ได้เปลี่ยนมาใช้ฟอนต์และสีแบบเดียวกับที่ปรากฎใน “ขายหัวเราะ” พร้อมกับออกแบบหน้าปกนิตยสารเป็นรูปการ์ตูนแก๊กจาก “อาวัฒน์” นักเขียนการ์ตูนแห่งขายหัวเราะ ส่วนเนื้อหาหลักในเล่ม จะเป็นการพาไปดูบ้านของ “คุณต่าย ขายหัวเราะ” เจ้าของตัวการ์ตูน “ปังปอนด์” ชื่อดัง พร้อมเผยตัวจริงของปังปอนด์และฉากในการ์ตูนที่มาจากบ้านของตัวผู้เขียนเอง ตามด้วยคอลัมน์การจัดบ้านที่ใช้ภาพประกอบเป็นการ์ตูน “หนูหิ่น อินเตอร์” จากลายเส้นของ “คุณเอ๊ะ” คอลัมน์ปรับแต่งห้องทำงานของ “เฟน สตูดิโอ” เจ้าของผลงาน “สาวดอกไม้กะนายกล้วยไข่” ปิดท้ายด้วยคอลัมน์สถานที่และองค์ประกอบที่พบได้บ่อยในขายหัวเราะ

Photo credit: https://www.baanlaesuan.com/223519/arts/baanlaesuanxkaihuaror

การตลาดแบบ Collaboration Marketing นี้เองเป็นประโยชน์ต่อนิตยสารทั้ง 2 ค่ายที่มีกลุ่มเป้าหมายคนละกลุ่ม ขายหัวเราะก็ได้ประโยชน์จากการมีคอนเทนต์แปลกใหม่ที่สอดรับกับสถานการณ์โควิด-19 ส่วนบ้านและสวนก็ได้โปรโมทงาน “บ้านและสวนแฟร์” ที่จัดขึ้นเมื่อ 17-21 มีนาคม 2564 ณ ไบเทค บางนา

ส่องกลยุทธ์นิตยสาร Vacationist รับมือโควิด-19

นิตยสาร Vacationist เป็นอีกตัวอย่างของความสำเร็จของนิตยสารท่องเที่ยวและไลฟ์สไตล์ที่สามารถพลิกรูปแบบการทำงานในช่วงที่เผชิญกับโควิด-19

“คุณโอ๋” อรวรรณ โปร่งฟ้า บรรณาธิการนิตยสาร Vacationist ได้ให้สัมภาษณ์ “อินโฟเควสท์” เกี่ยวกับการบริหารจัดการคอนเทนต์ภายหลังจากที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จนทำให้กองบรรณาธิการไม่สามารถลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูลตามสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ให้ฟังว่า ในส่วนของการทำเนื้อหานั้น ในช่วงประมาณ 4 เดือนแรกของปี 2564  ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เนื่องจากเนื้อหาส่วนใหญ่ของนิตยสารและเว็บไซต์เป็นเรื่องท่องเที่ยวเป็นหลักเมื่อไม่มีการเปิดให้เดินทางทำให้ข้อมูลในการจัดทำขาดแคลน

แต่หลังจากที่หลายประเทศมีการเปิดให้เดินทางในส่วนเนื้อหานำเสนอจึงไม่มีผลกระทบใดๆ แต่กระทบในส่วนของรายได้ค่าโฆษณาซึ่งลูกค้าโดยมากของทางเราเป็นบริษัทท่องเที่ยว ทัวร์และโรงแรม เมื่อยังไม่มีการเปิดท่องเที่ยวแบบข้ามประเทศจึงส่งผลกระทบค่อนข้างมาก

Photo credit: Vacationist

ด้วยเหตุนี้ ทางทีมงานจึงได้มีการปรับรูปแบบการทำงาน คุณโอ๋ เล่าว่า รูปแบบการทำงานในช่วงต้นปี 2564 เนื้อหาจะออกมาในลักษณะของรายงานรวบรวมสถานการณ์ของสถานที่ท่องเที่ยว รวมทั้งเนื้อหาในลักษณะสถานที่ยอดนิยมในแต่ละประเทศแทน  

แต่หลังจากประมาณต้นเดือนกรกฎาคม 2564 ในต่างประเทศหลาย ๆ ประเทศได้อนุญาตให้มีการเดินทางระหว่างประเทศใกล้เคียงได้ ดังนั้นทางนิตยสารจึงมีเนื้อหาในการนำเสนอที่เป็นปัจจุบัน สำหรับในปี 2565 เมื่อการเดินทางทั้งในไทยและต่างประเทศสามารถทำได้ในพื้นที่ใกล้ ๆ การทำเนื้อหาของทีมงานจึงไม่มีปัญหาใด ๆ

อย่างไรก็ดี ทางกองบรรณาธิการ Vacationist ก็ยังสามารถสร้างสรรค์คอนเทนต์ได้ ด้วยข้อได้เปรียบของทีมงานที่อยู่ทั้งในต่างประเทศและต่างจังหวัด โดยนักเขียนของทางนิตยสารและเว็บไซต์ ส่วนหนึ่งไม่ได้อยู่ในประเทศไทย นักเขียนท่านหนึ่งเป็นนักเขียนที่มีธุรกิจอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ส่วนอีกหนึ่งท่านเป็นพนักงานอยู่ที่บริษัทที่เยอรมนี นอกจากนี้ Vacationist ยังมีทีมงานนักเขียนที่ประจำอยู่ในต่างจังหวัด ซึ่งในช่วงที่นักเขียนในกรุงเทพฯ ไม่สามารถออกไปรีวิวสถานที่ท่องเที่ยวในต่างจังหวัดได้เพราะการล็อกดาวน์หรือมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมในช่วงการระบาดอย่างหนักของโควิด-19 ในประเทศ นักเขียนที่อยู่ต่างจังหวัดจึงสามารถรับหน้าที่ในการเขียนคอลัมน์ที่เกี่ยวกับการเดินทางและการท่องเที่ยวในจังหวัดบางจังหวัดทดแทนได้ คุณโอ๋เล่าว่า…

ข้อมูลเรามีปัญหาในช่วงแรก ๆ ที่ไม่ได้เดินทางดังที่กล่าวมาข้างต้น แต่ในช่วงครึ่งปีหลังตั้งแต่ทางต่างประเทศเปิดให้เดินทาง และล่าสุด นักเขียนที่เขียนงานประจำที่อยู่เมืองไทยก็สามารถเดินทางไปในโซนยุโรปได้แล้ว ดังนั้นเนื้อหาในปี 2565 ทางนิตยสารและเว็บไซต์คาดว่าจะไม่มีปัญหาเรื่องข้อมูลสำหรับเนื้อหาต่างประเทศ เช่นเดียวกันกับเนื้อหาของประเทศไทย ทางเรามีนักเขียนที่มีที่พำนักอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี และภูเก็ต เนื้อหาในโซน 2 ภูมิภาคนี้จึงมีปัญหาเฉพาะในช่วงแรกที่ประเทศของเราห้ามเดินทางข้ามจังหวัด แต่ปัจจุบันยังไม่ประสบปัญหาใด ๆ

นอกจากการปรับรูปแบบการทำงานและข้อได้เปรียบที่มีอยู่แล้ว ทาง Vacationist ยังได้เปิดเพจเฟซบุ๊กเพิ่มอีก 3 เพจที่มีเนื้อหาเจาะลึกเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวในประเทศที่คนไทยนิยมเดินทางไป ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีพอสมควร ได้แก่ เพจประเทศไทย “ThailandStation”, เพจประเทศญี่ปุ่น “JapanStation” และเพจประเทศเกาหลีใต้ “KoreaStation

“เพจ 3 เพจที่เปิดขึ้นมาเป็นช่วงคาบเกี่ยวของเหตุการณ์โควิด เนื่องจากมีสมาชิกเพจส่วนหนึ่งที่มีความสนใจในญี่ปุ่นและเกาหลี โดยเฉพาะ แพลนเดิมคือจะมีการจัดกลุ่มท่องเที่ยวเล็ก ๆ เดินทางไปในประเทศดังกล่าว จึงตั้งเพจขึ้นมาเพื่อสื่อสารให้ตรงกับกลุ่ม แต่ด้วยสถานการณ์โควิดทำให้โปรแกรมและแผนกำหนดการบางอย่างถูกยกเลิกและเลื่อนออกไป” คุณอรวรรณ กล่าว

ทั้งนี้ การรับทำนิตยสารให้กับองค์กร และเอกสารแผ่นพับประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ ก็เป็นอีกงานที่ทาง Vacationist ทำ เพื่อหารายได้เสริมในช่วงที่รายได้จากการโฆษณาหดหายไปอันเนื่องมาจากโควิด-19

ส่วนการนำเสนอคอนเทนต์ในปี 2565 จะอยู่ในรูปแบบใดนั้น คุณอรวรรณ กล่าวว่า สำหรับในปี 2565 ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาว่าจะปรับเป็นราย 3 เดือน หรือราย 2 เดือนแต่เป็นรูปแบบ ebook เพียงอย่างเดียว

"นิตยสาร" งบโฆษณาต่ำสุดในสื่อทุกประเภท

แม้ว่า นิตยสารจะพยายามปรับรูปแบบการนำเสนอคอนเทนต์ และพลิกกลยุทธ์เพื่อความอยู่รอด แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า งบโฆษณาของนิตยสารในปี 2564 นั้นลดลงอย่างมาก เมื่อเทียบกับงบโฆษณาของสื่ออื่น ๆ  โดยข้อมูลจากสมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย (MAAT) พบว่า…

งบโฆษณาในนิตยสารช่วง 9 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ย.) ของปี 2564 มีเพียง 443 ล้านบาท ลดลง 94 ล้านบาท จากช่วงเวลาเดียวกันปี 2563 หรือคิดเป็นสัดส่วนที่ลดลง 18% นับว่ามีงบโฆษณาต่ำที่สุดในสื่อทุกประเภท และเมื่อเปรียบเทียบกับงบโฆษณาทั้งหมดแล้ว งบโฆษณาในนิตยสารคิดเป็นเพียง 1% เท่านั้น

การเดินทางสู่ตลาดเฉพาะทาง เพื่อผู้อ่านเฉพาะกลุ่ม

เมื่อนิตยสารไม่ใช่สื่อที่ผู้บริโภคเลือกเสพในวงกว้างแล้ว ประกอบกับงบโฆษณาในนิตยสารก็ปรับตัวลดลงมาโดยตลอด แต่ก็ยังมีนิตยสารสำหรับผู้อ่านที่มีความสนใจเฉพาะด้านอย่างนิตยสาร “ยอดมวยโลก” ที่นายนริส สิงหวังชา ประธานมวยสากลอาชีพแห่งประเทศไทย ตัดสินใจเปิดตัวนิตยสารรายปักษ์ เพื่อเอาใจคอมวยโดยเฉพาะ

“ยอดมวยโลก” ไม่ได้วางจำหน่ายตามแผงหนังสือทั่วไป แต่เปิดให้สมัครเป็นสมาชิกเท่านั้น โดยจัดรอบการจัดส่งนิตยสารทุกวันที่ 5 และ 20 ของเดือน และเปิดให้เลือกสมัครเป็นสมาชิก 4 แบบ ได้แก่ แบบซื้อเล่มเดียว ราคา 45 บาท บวกค่าส่งลงทะเบียนอีก 20 บาท, แบบ 3 เดือน 6 เล่ม 380 บาท, แบบ 6 เดือน 12 เล่ม 740 บาท และแบบ 1 ปี 24 เล่ม 1,440 บาท

Photo credit: https://www.facebook.com/Yod.Muayloke/

กรณี “ยอดมวยโลก” นับเป็นการใช้สื่อประเภทนิตยสารมาทำการตลาดแบบ “Niche Market” หรือเจาะตลาดเฉพาะกลุ่ม คือไม่เน้นให้ผ่านสายตาประชาชนทั่วไปตามแผงหนังสือ แต่มุ่งเข้าถึงเฉพาะคอมวยที่ยังสนใจอ่านนิตยสารจริง ๆ เท่านั้น และเพิ่มความเอ็กซ์คลูซีฟด้วยคำโปรยบนปกที่บอกว่า “ยอดมวยโลก” จะเป็นนิตยสารมวยเล่มสุดท้ายของเมืองไทย เพื่อเรียกความสนใจจากกลุ่มเป้าหมายที่ชื่นชอบในกีฬามวย

แม้ว่า นิตยสารยอดมวยโลกจะเปิดตัวในปี 2564 ซึ่งเป็นปีที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 เป็นปีที่ 2 แต่ก็มีนิตยสารมวยที่ต้องปิดตัวไป คือ “มวยตู้” นิตยสารมวยรายสัปดาห์ของ “เฮียชอร์” ธนันท์ ทยานุกูล ที่ตีพิมพ์ฉบับแรกเมื่อเดือนกันยายน 2529 ต่อเนื่องมา 35 ปีจนถึงฉบับสุดท้ายเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2564 ส่วนอีกเจ้าก็คือนิตยสารรายสัปดาห์ “มวยโลก” ของ “ชายพจน์ ” สุพจน์ ชีรานนท์ ในเครือของสยามกีฬาที่ยืนหยัดมาเกือบ 40 ปี ตั้งแต่ฉบับแรกเดือนกุมภาพันธ์ 2525 จนถึงฉบับสุดท้ายเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2564

5 อันดับนิตยสารยอดนิยมปี 2564

1. Around

ยอดตีพิมพ์ 500,000

นิตยสารแจกฟรีรายเดือนในเครือบริษัท ไลฟ์สไตล์ แอนด์ ทราเวล มีเดีย จำกัด โดยร่วมกันจัดทำกับ Citibank เนื้อหาว่าด้วยไลฟ์สไตล์ของคนเมืองทั้งในเรื่องการกิน ดื่ม เที่ยว ช้อปปิ้ง แฟชั่น และความบันเทิง สามารถอ่านได้ในฉบับออนไลน์ที่ https://www.aroundonline.com

2. ทีวีพูล

ยอดตีพิมพ์ 450,000

นิตยสารบันเทิงรายปักษ์ในเครือบริษัท ทีวีพูล กรุ๊ป จำกัด ที่มียอดจำหน่ายสูงสุดในประเทศไทย เนื้อหาว่าด้วยเรื่องการงานและชีวิตส่วนตัวของดารานักแสดง ไปจนถึงข่าวซุบซิบ ข่าวสารในวงการบันเทิง ไลฟ์สไตล์สำหรับผู้หญิง ไปจนถึงการดูดวง สามารถอ่านเนื้อหาทางออนไลน์ได้ที่ https://www.tvpoolonline.com

3. ชีวจิต

ยอดตีพิมพ์ 360,000

นิตยสารรายปักษ์ในเครือบริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) เนื้อหาว่าด้วยวิธีรักษาสุขภาพกายและสุขภาพใจแบบองค์รวม สมุนไพร ธรรมชาติบำบัด การออกกำลังกาย ตลอดจนการลดน้ำหนัก สามารถอ่านเนื้อหาทางออนไลน์ได้ที่ https://th-th.facebook.com/CheewajitMagazine

4. บ้านและสวน

ยอดตีพิมพ์ 320,000

นิตยสารรายเดือนในเครือบริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) เนื้อหาว่าด้วยการแต่งบ้าน ไม้ประดับและการจัดสวน สกู๊ปพิเศษเรื่องการแต่งบ้านประจำฉบับ ตลอดจนสถาปัตยกรรมและการออกแบบ สามารถอ่านเนื้อหาทางออนไลน์ได้ที่ https://www.baanlaesuan.com

5. Gourmet & Cuisine

ยอดตีพิมพ์ 300,000

นิตยสารรายเดือนในเครือบริษัท มีเดีย แอสโซซิเอตเต็ด จำกัด เนื้อหาว่าด้วยสูตรทำอาหาร รีวิวร้านอาหารอร่อย ไลฟ์สไตล์ ตลอดจนข่าวสารในแวดวงอาหารและเครื่องดื่ม สามารถอ่านเนื้อหาทางออนไลน์ได้ที่ https://www.gourmetandcuisine.com
อ้างอิง
  • Blockdit.com. 2564. [วันนี้สรุป..มา] สรุปจาก iCreator Clubhouse : อนาคตวงการหนังสือในปี 2021. [ออนไลน์] จาก https://www.blockdit.com/posts/60315c239664610bcaaf1386
  • efinancethai.com. 2564. เปิดตัวคอลเล็กชัน NFT ‘ขายหัวเราะ’ 10 ภาพแรก พร้อมขายเกลี้ยงใน 1 ชม.. [ออนไลน์] จาก https://www.efinancethai.com/LastestNews/LatestNewsMain.aspx?release=y&ref=M&id=NVBkMmEwYUNLaXc9
  • Positioning Magazine. 2564. ขายหัวเราะเล่มแรกพร้อมลายเซ็น บก วิธิต ในรูปแบบ NFT ประเดิมขายให้นักสะสมแล้วเมื่อวันที่ 2 เมษายน [ออนไลน์] จาก https://positioningmag.com/1326666
  • NET. 2564. กะทิ Virtual Influencer คนล่าสุดของไทย สวยตลก แต่สมจริงระดับอินเตอร์ | ThaiPR.NET. [ออนไลน์] จาก https://www.thaipr.net/entertain/3126623
  • VOGUE Thailand. 2564. “กะทิ” สาวอารมณ์ขันกับสไตล์สุดชิค ไอคอนแฟชั่นคนใหม่ที่ไม่ใช่มนุษย์ แต่เป็น Virtual Influencer. [ออนไลน์] จาก https://www.vogue.co.th/fashion/article/virtual-influencer-katie
  • ข่าวสด. ปิดตำนาน มวยโลก หนังสือมวยเล่มสุดท้ายเมืองไทย – รอวัดใจอาจมีฮึด รายเดือน. [ออนไลน์] จาก https://www.khaosod.co.th/sports/news_6568146
  • บ้านและสวน. บ้านและสวนxขายหัวเราะ ฉบับ Happy Home การร่วมมือระหว่างสองนิตยสาร. [ออนไลน์] จาก https://www.baanlaesuan.com/223519/arts/baanlaesuanxkaihuaror
  • มติชนออนไลน์. ‘เสี่ยนริส’ ยันหนังสือไม่มีวันตาย อุ้ม ‘ยอดมวยโลก’ แจกฟรี 200 เล่ม!. [ออนไลน์] จาก https://www.matichon.co.th/sport/boxing/news_2938533

Topics

More Posts