ทวิตเตอร์ยังเติบโตต่อเนื่อง

ทวิตเตอร์ (Twitter) เป็นสื่อที่มีการใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย เนื่องจากเป็นแพลตฟอร์มที่ผู้ใช้งานนิยมใช้พูดคุยถึงสถานการณ์และความเคลื่อนไหวที่กำลังเป็นประเด็น เช่น การเมือง โควิด-19 กระแสสังคมทั้งในไทยและต่างประเทศ รวมทั้งเรื่องทั่ว ๆ ไป และการที่ทวิตเตอร์ได้เพิ่มฟีเจอร์ใหม่อย่าง ทวิตเตอร์ สเปซ (Twitter Space) ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ผู้ใช้งานหลายกลุ่มเลือกใช้ทวิตเตอร์เป็นพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในกลุ่มคนที่มีความสนใจร่วมกัน

จากข้อมูล we are social และ Hootsuite ชี้ว่า ยอดผู้ใช้งานทวิตเตอร์ในไทย ณ เดือนตุลาคม 2564 อยู่ที่ 11.25 ล้านราย เพิ่มขึ้นเกือบ 4 ล้านราย เมื่อเทียบกับช่วงเดือนมกราคม 2564 ที่มียอดผู้ใช้งาน 7.35 ล้านราย ส่งผลให้ไทยติดอันดับประเทศที่มีผู้ใช้งานทวิตเตอร์สูงสุดอันดับ 10 ของโลก

แบรนด์และองค์กรยังให้การตอบรับเปิด Account บนทวิตเตอร์ต่อเนื่อง

รูปแบบการใช้ทวิตเตอร์นั้นมีความหลากหลายตามกลุ่มผู้ใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงาน องค์กร หรือกลุ่มผู้ใช้งานทั่วไป ซึ่งก่อนหน้านี้ กลุ่มผู้ใช้งานทวิตเตอร์หลัก ๆ จะเป็นกลุ่มวัยรุ่นที่นิยมศิลปินเกาหลีแต่ในเวลาต่อมากลุ่มผู้ใช้งานได้ขยายวงกว้างมากขึ้น 

หากเป็นบริษัทหรือองค์กรแล้ว การใช้งานทวิตเตอร์มักจะมีเป้าหมายในการสื่อสารข้อมูลให้เข้าถึงกลุ่มผู้ใช้งานที่อายุยังไม่มากนัก รวมทั้งผู้ใช้งานทั่วไปที่เพิ่มทวิตเตอร์เข้ามาเป็นหนึ่งแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เพื่อรับและกระจายข้อมูลในวงกว้างอย่างรวดเร็ว

ตัวอย่างของหน่วยงานหรือองค์กรที่เลือกใช้ทวิตเตอร์เป็นหนึ่งในสื่อกลางเผยแพร่ข้อมูลของหน่วยงานในปี 2564 ซึ่งเป็นปีที่โควิด-19 ระบาดอย่างหนัก คือ ศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศปก.ศปค. (@oc_ccsa) ที่ตัดสินใจเปิดบัญชีทวิตเตอร์เมื่อเดือนมกราคม 2564 เพื่อสื่อสารกับประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่องในประเทศ รวมถึงมาตรการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19

Photo credit: ศปก.ศบค. (@oc_ccsa)

ทั้งนี้ ผู้ให้บริการสตรีมมิ่งหน้าใหม่ที่เปิดตัวในไทยปี 2564 อย่าง “ดิสนีย์พลัส ฮอตสตาร์” (Disney+ Hotstar) ก็เลือกเปิดบัญชีทวิตเตอร์ดิสนีย์พลัส ฮอตสตาร์ ประเทศไทย (@ disneyplusth) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เพื่อนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับคอนเทนต์บนแพลตฟอร์ม รวมถึงแพคเกจต่าง ๆ  แก่กลุ่มผู้ใช้บริการ

นอกจากจะทวีตคอนเทนต์ที่ต้องการเผยแพร่แล้ว “ดิสนีย์พลัส ฮอตสตาร์” ยังได้ซื้อโฆษณา เพื่อโปรโมทคอนเทนต์และบริการบนทวิตเตอร์ด้วยเช่นกัน

Photo credit: DisneyPlusTH (@disneyplusth)

แม้แต่แบรนด์สินค้าที่มีมาอย่างยาวนานอย่าง “Lolane” ก็หันมาเปิดแอคเคาท์ทวิตเตอร์ในปี 2564 เช่นกัน โดยเปิดบัญชีการใช้งาน @LolaneOfficial เมื่อเดือนกันยายน 2564 เพื่อนำเสนอสินค้าและกิจกรรมของแบรนด์ รวมถึงสร้าง Brand Love ด้วยการดึงพลังแฟนคลับเหล่า “อากาเซ่” ของแบมแบม – กันต์พิมุกต์ ภูวกุล สมาชิกวง GOT7 มาเป็นกระบอกเสียงให้กับแบรนด์

Photo credit: Lolane Offical (@LolaneOfficial)

จะเห็นได้ว่า รูปแบบการใช้ทวิตเตอร์มีการขยายวงกว้างไปสู่ภาคธุรกิจ จนทำให้ทวิตเตอร์กลายเป็นหนึ่งในเครื่องมือทำการตลาดยอดนิยมของแบรนด์หรือหน่วยงานต่าง ๆ

ส่องแบรนด์แจ้งเกิดบนทวิตเตอร์ในปี 2564

โรงพยาบาลบำรุงราษฏร์เป็นหนึ่งในองค์กรที่ประสบความสำเร็จในการใช้ทวิตเตอร์ ดังจะเห็นได้จากยอดผู้ติดตาม (Follower) แอคเคาท์ทวิตเตอร์ของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ที่เพิ่มขึ้นถึง 500% ในปี 2564 จากยอดผู้ติดตามหลักหมื่นในปี 2563 จนมีผู้ติดตามเพิ่มขึ้นเกือบ 200,000 รายในปี 2564

นอกจากนี้ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ยังได้รับรางวัล #BestOfTweets ประเภท “Best Campaign for Driving Positive Change in Society” ประจำปี 2564 จากทวิตเตอร์ ประเทศไทยในแคมเปญ #เราเลือกได้ อีกด้วย

โดยแคมเปญดังกล่าวได้ถ่ายทอดเรื่องราวของคุณหมอ – อดีตผู้ป่วยโรคมะเร็ง เพื่อส่งต่อพลังบวกและบอกเล่าแก่ผู้ป่วยโรคมะเร็งว่าไม่ได้สู้อย่างโดดเดี่ยว แต่ยังมีอีกหลาย ๆ คนที่พร้อมสู้ไปด้วย ทั้งนี้ ธีรพล อำไพ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการตลาดโซเซียลมีเดียของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้กล่าวกับ The Secret Sauce ของเดอะ สแตนดาร์ด ว่า “ในช่วงที่เกิดสถานการณ์โควิด-19 แบรนด์ได้ทดลองทำสิ่งใหม่ ๆ หนึ่งในนั้นคือ ทวิตเตอร์ ซึ่งแต่เดิมเคยคิดว่าไม่เหมาะกับแบรนด์ แต่เมื่อพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป คนมองภาพใหญ่มากขึ้น จึงมองว่า Emerging Media หรือสื่อใหม่ อาจเป็นคำตอบที่ทำให้แบรนด์ประสบความสำเร็จยิ่งขึ้น”
Photo credit: Bumrungrad Hospital (@BumrungradH)
อีกหนึ่งตัวอย่างของการใช้ทวิตเตอร์ในภาคธุรกิจ คือ บมจ.แสนสิริ ซึ่งเปิดบัญชีใช้งานมาตั้งแต่ปี 2552 และจุดกระแสได้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ตัวอย่างที่น่าสนใจของแบรนด์แสนสิริ มิใช่เพียงแค่การมีบัญชีทวิตเตอร์หลักอย่างเป็นทางการเท่านั้น แต่คือการใช้ทวิตเตอร์ในนามของผู้บริหารที่หลายครั้งได้เข้ามาร่วมวงสนทนาด้วย

การที่ผู้บริหารเข้าร่วมพูดคุยบนทวิตเตอร์ ช่วยให้แบรนด์มีกระบอกเสียงที่แข็งแกร่งขึ้น สามารถกระจายข่าวสารของแบรนด์ ตลอดจนวิสัยทัศน์ นโยบายของบริษัทได้เป็นยิ่งดี นอกจากนี้ ยังเป็นสิ่งที่สามารถสะท้อนตัวตนของแบรนด์ได้อีกด้วย

Photo credit: Srettha Thavisin (@Thavisin)

อย่างไรก็ตาม การทำการตลาดและพีอาร์บนทวิตเตอร์ก็มีมุมที่ต้องระวังและท้าทายอยู่เช่นกัน เนื่องจากบางช่วงเวลาทวิตเตอร์เป็นพื้นที่ที่มีการพูดคุยถึงประเด็นที่อ่อนไหวในสังคมเป็นจำนวนมาก การใช้ทวิตเตอร์เพื่อสื่อสารแคมเปญหรือสินค้าต่าง ๆ จึงต้องพิจารณาเรื่องจังหวะเวลาในการใช้งานด้วยเช่นกัน

"Twitter Space" ฟีเจอร์ใหม่สุดร้อนแรง ตอบสนองความต้องการพูดคุยแบบเรียลไทม์

ทวิตเตอร์ได้เปิดตัว “ทวิตเตอร์สเปซ” (Twitter Space) เมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 ซึ่งเป็นบริการใหม่ที่ผู้ใช้งานสามารถพูดคุยกันในรูปแบบเสียงได้แบบเรียลไทม์ ซึ่งรูปแบบการใช้งานของทวิตเตอร์สเปซเรียกได้ว่าคล้ายคลึงกับ “คลับเฮาส์” แพลตฟอร์มที่มาแรงเมื่อต้นปี 2564

จุดเด่นของทวิตเตอร์สเปซ คือ การเปิดกว้างสำหรับผู้ใช้งานทุกคน โดยผู้ใช้งานสามารถเข้าร่วมรับฟัง และไม่จำกัดจำนวนผู้ฟัง สามารถใช้งานได้ทั้งระบบ iOS และ Android อีกทั้งยังสามารถส่ง DM หรือ Direct Message เพื่อเชิญผู้อื่นขึ้นมาพูดคุยได้ด้วย นอกจากนี้ ยังมีความคล่องตัวสูง ผู้ใช้งานสามารถทวีตข้อความ พูดคุยไปพร้อม ๆ กับการรับฟังบทสนทนาได้อีกด้วย

Photo credit: https://help.twitter.com/en/using-twitter/spaces

ดังนั้น การเปิดตัวของ “ทวิตเตอร์สเปซ” ไม่เพียงแต่สั่นสะเทือน “คลับเฮาส์” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่มีความคล้ายคลึงกันเท่านั้น แต่ยังปลุกให้แบรนด์หรือธุรกิจต่าง ๆ แห่ใช้ทวิตเตอร์สเปซกันอย่างคึกคัก

K-POP, C-POP และ T-POP ยกขบวนคุยกับแฟนคลับกันอย่างพร้อมเพียง

เริ่มที่แวดวงศิลปินและกลุ่มแฟนคลับ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีบทสนทนาบนทวิตเตอร์อย่างร้อนแรงมาโดยตลอดกับการเปิดทวิตเตอร์สเปซของ “แบมแบม” กันต์พิมุกต์ ภูวกุล ซึ่งในเวลานั้น แบมแบมเตรียมออกอัลบั้มเดี่ยวเป็นครั้งแรก หลังจากที่หมดสัญญาจากต้นสังกัดเก่า ทั้งนี้ แบมแบมได้เข้ามาร่วมพูดคุยกับเหล่าแฟนคลับของตนเองและได้รับกระแสตอบรับอย่างท่วมท้นจนคว้าอันดับ 1 ทวิตเตอร์สเปซที่มีผู้เข้าฟังสูงสุดในครึ่งปีแรกไปครอง

Photo Credit: Twitter Thailand (@TwitterThailand)
Photo credit: BamBam (@BamBam1A)

ฝั่ง C-POP ก็ไม่น้อยหน้า โดย “แพม” เปมิกา สุขสวี ศิลปินไทยที่ไปโลดแล่นอยู่ในแวดวงศิลปินจีนกับวง SIS ก็ได้จัดทวิตเตอร์สเปซเพื่อบอกเล่าเรื่องราวของการเป็นศิลปินที่ประเทศจีน อีกทั้ง ยังได้เปิดพื้นที่เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าที่กำลังเผชิญอยู่ด้วย

Photo credit: pam (@MigaPam)

แวดวง T-POP เองก็ได้รับความสนใจไม่แพ้กัน โดยศิลปินไทยวง 4EVE ร่วมกับทวิตเตอร์ ประเทศไทย  (@TwitterThailand) จัดทวิตเตอร์สเปซเพื่อพูดคุยกับเหล่าแฟนคลับและผู้ใช้งานทวิตเตอร์ในแคมเปญ  #TweetYourMusic เนื่องในวันดนตรีโลก (World Music Day) พร้อมกับถ่ายทอดเรื่องราวผลงานล่าสุด ชีวิตบนเส้นทางดนตรี และมีผู้สนใจเข้าร่วมฟังเป็นอย่างดี

Photo credit: Twitter Thailand (@TwitterThailand)

วงการสื่อร่วมจัดทวิตเตอร์สเปซรับวัน "เสรีภาพสื่อมวลชนโลก"

นักข่าวและสื่อมวลชนต่าง ๆ ก็นิยมใช้งานทวิตเตอร์กันอย่างแพร่หลาย หลังจากที่ทวิตเตอร์กลายเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มที่ผู้คนนิยมใช้ในการติดตามข่าวแบบเรียลไทม์ ด้วยความที่ทวิตเตอร์มีความคล่องตัวสูง สามารถเผยแพร่ข่าวได้อย่างรวดเร็ว

เนื่องในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ทวิตเตอร์ ประเทศไทย จึงได้ร่วมมือกับสื่อมวลชนอย่าง สุทธิชัย หยุ่น (@suthichai) จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ (@jomquan) นภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์ (@noppatjak) และ ฐปณีย์ เอียดศรีไชย (@thapanee3miti) ร่วมกันจัดทวิตเตอร์สเปซเพื่อพูดคุยในเรื่องราวเกี่ยวกับการเป็นนักข่าว การทำหน้าที่สื่อมวลชน และเสรีภาพสื่อ

Photo Credit: suthichai (@suthichai)

ฝั่งอินฟลูเอนเซอร์ไม่น้อยหน้า จับมือให้ความรู้ทางภาษี การเงินและการลงทุน ผ่านทางทวิตเตอร์สเปซ

ในสภาวะที่เศรษฐกิจฝืดเคืองจากโควิด-19 ผู้คนย่อมอดที่จะกังวลถึงความไม่มั่นคงในอนาคตไม่ได้  บรรดาอินฟลูเอนเซอร์สายการลงทุน ภาษี และการเงิน อย่าง @TAXBugnoms, @moneycoach4thai และ @office04TH ซึ่งมองเห็นถึงสถานการณ์ในเรื่องนี้ จึงได้รวมตัวกันจัดการพูดคุยในประเด็น “วางแผนชีวิตและการเงินในปี 2022 อย่างไรไม่เจ็บปวด” ผ่านทางทวิตเตอร์สเปซ #FinanceOnSpaces

Photo credit: TAXBugnoms (@TAXBugnoms)

โดยประเด็นและคำแนะนำที่ได้จากการพูดคุยในเรื่อง “วางแผนชีวิตและการเงินในปี 2022 อย่างไรไม่เจ็บปวด” บนทวิตเตอร์สเปซนั้น  TAXBugnoms ได้สรุปไว้ เช่น การรักษารายได้ให้ดี มองหาช่องทางรายได้อื่น ๆ เพิ่ม หรือการสำรองเงินสำรองฉุกเฉินสำหรับ 6 เดือน ซึ่งต้องระมัดระวังในการใช้ เป็นต้น

และด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังไม่สิ้นสุดลง รวมถึงการใช้มาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม การทำงานจากที่บ้านหรือการเรียนออนไลน์ ทำให้ผู้คนยังใช้เวลาอยู่กับที่พักอาศัยมากขึ้น ผู้บริโภคจึงหันมาซื้อสินค้าบนโลกออนไลน์เพิ่มขึ้น

หลายแบรนด์ทั้งผลิตภัณฑ์ บริการ และองค์กร จึงหันมาร่วมจัดกิจกรรมผ่านทวิตเตอร์สเปซอยู่อย่างต่อเนื่อง

จับตาบทสนทนาที่ผลิบานบนโลกทวิตเตอร์

Photo Credit: marketing.twitter.com

เมื่อกลุ่มผู้ใช้งานทวิตเตอร์ขยายวง ย่อมเป็นธรรมดาที่บทสนทนายอดนิยมบนทวิตเตอร์จะถูกเก็บเป็นฐานข้อมูล  ทวิตเตอร์ ประเทศไทย ได้เปิดเผยข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับบทสนทนาที่กำลังเติบโตบนโลกทวิตเตอร์ โดยบทสนทนาที่มีการเติบโตรวดเร็วที่สุดคือ บทสนทนาที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน (One Planet)  ซึ่งขยายตัวขึ้นถึง 191%

ประเด็นต่อมาคือ บทสนทนาที่เกี่ยวข้องกับการแสดงความเป็นอัตลักษณ์ความเป็นตัวตน (My Identity) ซึ่งเพิ่มขึ้น 97%  

นอกจากนี้ คนไทยยังให้ความสนใจกับสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัว โดยให้ความสำคัญกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันไปพร้อม ๆ กับการมีมุมมองที่เป็นบวกต่ออนาคต บทสนทนาที่บอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน (Everyday Wonder) จึงเติบโตขึ้น 45% 

ส่วนบทสนทนาที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยี  (Tech Life) ก็ปรับตัวเพิ่มขึ้น 31% สอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่อยู่บนโลกออนไลน์มากขึ้น

ในขณะที่ เทรนด์เรื่องการมีสุขภาพที่ดีแบบองค์รวม (Wellbeing) ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น 16% ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ผู้ใช้งานต้องการมีชีวิตที่ดีขึ้นทั้งกายและใจ

แฮชแท็กที่สุดแห่งปีบนทวิตเตอร์ไทย

ทวิตเตอร์ ประเทศไทย ได้เปิดเผยแฮชแท็กที่มีการทวีตมากที่สุดประจำปี 2564 ได้แก่ #คณะราษเปซ #โควิด19 #เป๊กผลิตโชค #ม็อบ18กรกฎา #โรงงานกิ่งแก้วไฟไหม้ #โหนกระแส #bambam #bbrightvc #nft #popcat (เรียงตามลำดับของตัวอักษร) จากแฮชแท็กดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่า คนไทยให้ความสนใจกับประเด็นทางสังคม สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศ ตลอดจนความเคลื่อนไหวที่กำลังเป็นกระแส ไม่ว่าจะเป็น #โควิด-19 หรือเหตุการณ์ #โรงงานกิ่งแก้วไฟไหม้  นอกจากนี้ รายการ #โหนกระแส ที่มักหยิบประเด็นในสังคมหรือเรื่องราวที่กำลังเป็นประเด็นร้อนมานำเสนอก็ได้รับความสนใจจากผู้ใช้งานจนถูกทวีตถึงมากที่สุดเช่นกัน

สถานการณ์ทางการเมืองก็เป็นอีกประเด็นที่ผู้ใช้ทวิตเตอร์ให้ความสนใจจนทำให้เกิดแฮชแท็ก #ม๊อบ รายวัน นอกจากนี้ คนไทยยังใช้ทวิตเตอร์สเปซควบคู่ไปกับการใช้แฮชแท็กเพื่อพูดคุยและผลักดันประเด็นทางการเมือง จนเกิดเป็นปรากฎการณ์ #คณะราษเปซ  ที่ผู้ใช้งานให้ความสนใจจนติด 1 ใน 10 แฮชแท็กที่ถูกทวีตมากที่สุดในปี 2564

ขณะที่ บทสนทนาเกี่ยวกับศิลปิน/นักแสดงที่ชื่นชอบก็ยังได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2564 คนบันเทิงติดอันดับในหมวดแฮชแท็กที่ถูกพูดถึงมากที่สุดแห่งปี 3 คน คือ #bambam หรือ แบมแบม – กันต์พิมุก ภูวกุล, #เป๊กผลิตโชค หรือ เป๊ก – ผลิตโชค อายนบุตร และ #bbrightvc หรือ ไบร์ท – วชิรวิชญ์ ชีวอารี นอกจากนี้ ปี 2564 ยังมีกระแสเกมสุดฮิตจากต่างประเทศอย่าง #popcat รวมถึงกระแส #nft ติดเข้ามาเป็น 1 ในบทสนทนาที่คนไทยให้ความสนใจที่สุดอีกด้วย

Photo credit: Twitter Thailand (@TwitterThailand)

สำหรับแอคเคาท์ที่ผู้ใช้ทวิตเตอร์ทวีตถึงมากที่สุดในปี 2564 เป็นแอคเคาท์ที่เชื่อมโยงกับผู้ใช้งานโดยหยิบยกเรื่องราวใกล้ตัวหรือเรื่องราวที่อยู่ในกระแสมานำเสนอ ตลอดจนแอคเคาท์ที่ผลิตคอนเทนต์ในรูปแบบ Quote หรือคำคมที่จับใจผู้อ่านก็ได้รับการตอบรับอย่างมากบนทวิตเตอร์ ไม่ว่าจะเป็น 기 (@23jpeg) , qt pie , (@532am_) , LODE (@LODE1994_) และ mars. (@yoxrgravity)

ขณะที่ แบมแบม – กันต์พิมุกต์ (@BamBam1A) ศิลปินไทยที่โลดแล่นอยู่ในแวดวงบันเทิงเกาหลีก็ยังได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง ติดแอคเคาท์ที่คนทวีตถึงมากที่สุดสองปีติดต่อกัน  นอกจากนี้ ศิลปินไทยอย่างมิว – ศุภศิษฏ์ จงชีวีวัฒน์ (@MSuppasit) ก็ได้รับความนิยมจากผู้ใช้งานจนติดเป็นหนึ่งในแอคเคาท์ที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในปี 2564 เช่นกัน

ส่วนแอคเคาท์ที่นำเสนอคอนเทนต์เกี่ยวกับศิลปินเกาหลีหรือเรื่องราวของประเทศเกาหลี ซึ่งเป็นคอนเทนต์ที่ได้รับความนิยมจากผู้ใช้งานมาโดยตลอด ก็ยังคงได้รับความนิยมต่อเนื่อง โดยปี 2564 แอคเคาท์คิม (@Doublezeek) ที่มักทวีตเกี่ยวกับศิลปินเกาหลีวง NCT ติดอันดับเป็น 1 ใน 10 แอคเคาท์ที่คนทวีตถึงมากที่สุด เช่นเดียวกับแอคเคาท์ไดโนเสาร์เกาหลี (@stitch_pololo) ซึ่งนำเสนอเรื่องราวของประเทศเกาหลี ไม่ว่าจะเป็นข่าวสารที่เกิดขึ้นในเกาหลี วัฒนธรรมเกาหลี รวมถึง K-POP ก็ติดอันดับเข้ามาด้วย

ที่น่าสนใจคือ แอคเคาท์ที่นำเสนอเกี่ยวกับสถานการณ์และความเคลื่อนไหวที่กำลังเป็นประเด็นในสังคมไทย ได้แก่ อ๊อฟ – ชัยนนท์ หาญคีรีรัตน์ (@Offchainon) รวมถึงนักเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่าง บอล – ธนวัฒน์ วงศ์ไชย (@tanawatofficial) ก็ติดอันดับเข้ามาเป็นหนึ่งในแอคเคาท์ที่คนทวีตถึงมากที่สุดในปี 2564 ด้วย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมของผู้ใช้งานที่ใช้ทวิตเตอร์ในการติตตามข่าวสาร รวมถึงพูดคุยถึงสถานการณ์และความเคลื่อนไหวที่กำลังเป็นประเด็นมากขึ้น นอกเหนือจากคอนเทนต์เกี่ยวกับศิลปินเกาหลีที่ยืนหนึ่งมาโดยตลอด

Photo credit: Twitter Thailand (@TwitterThailand)

ส่วนแบรนด์ที่คนไทยทวีตถึงมากที่สุดในปี 2564 นั้น แพลตฟอร์มสตรีมมิงทั้งวีดีโอสตรีมมิงและสตรีมเพลงมาและติดอันดับแบรนด์ที่คนพูดถึงมากที่สุดบนทวิตเตอร์ไปถึง 5 อันดับจาก 10 อันดับ โดยเน็ตฟลิกซ์ ประเทศไทย (Netflix Thailand) – @netflixtgh คว้าอันดับ 1 แบรนด์ที่คนพูดถึงมากที่สุดบนทวิตเตอร์ไปครอง รองลงมาคือ แพลตฟอร์มสตรีมเพลงอย่างสปอติฟาย ประเทศไทย (Spotify Thailand) – @SpotifyThailand ขณะที่ วีทีวี ประเทศไทย (WeTV Thailand) – @WeTVThailand ตามมาเป็นอันดับที่ 3 ส่วนแพลตฟอร์มสตรีมมิงรายอื่น ๆ ได้แก่ ดิสนีย์พลัส ฮอตสตาร์ ประเทศไทย (Disney Plus Thailand) อยู่ในลำดับที่ 7 และ จูกซ์ ประเทศไทย (Joox Thailand) – @JOOXTH คว้าอันดับที่ 10 ไปครอง

นอกจากนี้ แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซก็มาแรงไม่แพ้กัน ช้อปปี้  ประเทศไทย (Shopee Thailand) – @ShopeeTH คว้าอันดับที่ 4 แบรนด์ที่คนทวีตถึงมากที่สุดบนทวิตเตอร์ โดยมีลาซาด้า ประเทศไทย (Lazada Thailand) – @LazadaTH ตามมาติด ๆ ในอันดับที่ 5 ส่วนภาคธุรกิจโทรคมนาคมก็ไม่น้อยหน้า โดยเอไอเอส (AIS) – @AIS_Thailand คว้าอันดับแบรนด์ที่คนทวีตถึงมากที่สุดเป็นลำดับที่ 6 ส่วนดีแทค (Dtac) – @dtac อยู่ในลำดับที่ 8 นอกจากนี้ กูเกิล ประเทศไทย (Google Thailand) – @GoogleThailand ยังติดอันดับเป็น 1 ใน 10 ของแบรนด์ที่คนทวีตถึงมากที่สุดในปี 2564 อีกด้วย โดยคว้าอันดับที่ 9 ไปครอง

อ้างอิง

Topics

More Posts