เว็บไซต์กับการปรับรูปแบบการนำเสนอคอนเทนต์

เว็บไซต์ยังคงเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มหลักที่องค์กร บริษัท หรือสื่อมวลชน เลือกใช้เพื่อนำเสนอข้อมูลข่าวสารมาโดยตลอด ไม่ว่าสถานการณ์แวดล้อมจะเป็นอย่างไร ขณะที่คอนเทนต์นั้น คติที่ว่า “Content is King” ก็ยังคงเป็นคติที่ยังนำมาใช้ได้อยู่ทุกยุคทุกสมัย และปี 2564 ก็เป็นอีกปีที่เว็บไซต์หลายเว็บซึ่งให้ความสำคัญกับคอนเทนต์ได้ปรับรูปแบบการนำเสนอคอนเทนต์ให้มีความน่าสนใจและตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการปรับปรุงการใช้งานภายในเว็บให้ผู้อ่านใช้งานได้อย่างสะดวกสบาย

คุณขณพัทธ จินฎาสงวน กรรมการผู้จัดการ บริษัท Verve Public Relations Consultancy ได้ให้ความเห็นไว้ว่า

หากพูดถึงเรื่องความน่าเชื่อถือของแบรนด์ สื่อที่จะเผยแพร่ความน่าเชื่อถือก็ต้องเป็นเว็บไซต์ ด้วยความที่เว็บไซต์เป็นสื่อที่เผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องมาจากแบรนด์เลย ข้อมูลไม่ถูกเบี่ยงเบน ไม่ถูกคนมาวิพากษ์วิจารณ์ เว็บไซต์จึงยังคงเป็น Formal Platform ในรูปแบบ Online เรียกว่าเป็น Own Channel ของเรา

ด้วยความที่เว็บไซต์เปรียบเสมือน “หน้าบ้าน” ของหน่วยงานหรือองค์กร “คอนเทนต์” ก็เปรียบเสมือนโต๊ะรับแขกที่จะคอยดูแลรับรองแขกที่เข้ามาเยือนบ้าน ประกอบกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีความต้องการข้อมูลเชิงลึกมากยิ่งขึ้น หลังจากที่ต้องเผชิญการแพร่ระบาดอย่างหนักของโควิด-19 ซึ่งทำให้ผู้บริโภคแสวงหาข้อมูลข่าวสารจากหลายแหล่งและเจาะลึกไปยังข้อมูลที่จะสามารถนำมาใช้ประโยชน์กับชีวิตประจำวันของตนเอง ดังที่รองศาสตราจารย์พรทิพย์ สัมปัตตะวนิช อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบันที่ต้องการเจาะลึกข้อมูลต่าง ๆ ว่า

“รสนิยมการบริโภคข่าวสารของผู้บริโภคยุคปัจจุบันมีความต้องการรู้ลึก เจาะลึก และรับสารจากหลากหลายช่องทางมากขึ้น สำนักข่าวใดที่นำเสนอข้อมูลข่าวสารได้ละเอียด มีความน่าเชื่อถือ จะดึงความสนใจจากผู้บริโภคยุคใหม่ได้มากกว่า”

“อย่างข่าวน้ำท่วม ผู้ชมไม่ได้อยากรู้ว่า นํ้าท่วมที่ไหนเพียงอย่างเดียว ถ้าอย่างนั้นจะเป็นข่าวแบบ in general แต่ถ้ามีบางช่องที่รายงานว่า สาเหตุของนํ้าท่วมเกิดจากอะไร ปัญหาอยู่ที่ไหน และจะแก้ไขอย่างไร ก็จะมีโอกาสได้รับความนิยมจากผู้บริโภคมากกว่า” รศ.พรทิพย์กล่าว นอกจากความต้องการข้อมูลเชิงลึกแล้ว รูปแบบการรายงานข่าวแบบ Investigative news ก็ยังเป็นรูปแบบที่อาจารย์พรทิพย์มองว่า ก่อนหน้านี้ การรายงานข่าวในรูปแบบ Investigative news ได้ห่างหายไป และปัจจุบันการรายงานข่าวในรูปแบบนี้ได้กลับมาในที่สุด ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างในการรายงานข่าวของสื่อที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมในปัจจุบัน ในปี  2564 เราจึงได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่น่าจับตาของเว็บไซต์ที่ได้มีการปรับรูปแบบการนำเสนอคอนเทนต์ของสื่อหัวใหญ่อย่าง “ไทยรัฐออนไลน์” ที่ได้มีการพัฒนาคอนเทนต์ที่ตอบสนองกับความต้องการของกลุ่มผู้อ่านที่ต้องการข้อมูลเชิงลึกกับ “ไทยรัฐพลัส” นอกจากไทยรัฐพลัสแล้ว ยังมีเว็บไซต์ที่ปรับรูปแบบการใช้งานให้สะดวกสบายสำหรับผู้อ่านมากยิ่งขึ้น โดยเว็บไซต์ sanook.com ก็เป็นอีกตัวอย่างของเว็บไซต์ที่เพิ่มฟังก์ชั่นการดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกม ให้ผู้ใช้งานเว็บสามารถคลิกเลือกทำกิจกรรมเพื่อความบันเทิงในยุคที่โควิด-19 ทำให้หลายคนต้องเครียดไปกับสถานการณ์ต่าง ๆ

ไทยรัฐพลัส

เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ได้เปิดตัว “ไทยรัฐพลัส” ขึ้นในช่วงกลางปี 2564 เพื่อนำเสนอข่าวสารและข้อมูลเจาะลึกในประเด็นต่างๆ อย่างเข้มข้น เน้นกระบวนการคิดวิเคราะห์ ตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคสื่อรุ่นใหม่ ซึ่งมีความต้องการเสพสื่อในลักษณะข้อมูลเจาะลึก ข่าวสารและข้อมูลเจาะลึกดังกล่าวสามารถทำให้เกิดความเข้าใจที่ลึกซึ้งและนำองค์ความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์เพิ่มเติมได้มากกว่าการบริโภคข่าวสารเพื่อติดตามเรื่องราวหรือเหตุการณ์เพียงอย่างเดียว

ธนวลัย วัชรพล เจ้าหน้าที่บริหารสายงานปฏิบัติการออนไลน์ ไทยรัฐออนไลน์ (บริษัท เทรนด์ วีจี3 จํากัด) ได้กล่าวถึงการเปิดตัว “ไทยรัฐพลัส” ว่า

“นี่คือจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของไทยรัฐออนไลน์ แม้ในปัจจุบันเราจะเป็นเว็บไซต์ข่าวเป็นอันดับหนึ่งของประเทศไทย แต่เราต้องไม่หยุดพัฒนาสิ่งใหม่ๆ เพื่อผู้ใช้งานของเรา นี่คือเหตุผลที่เราตัดสินใจเริ่มโปรเจกต์ไทยรัฐพลัสขึ้นมา เพื่อนำเสนอแนวคิด มิติใหม่ๆ ให้กับผู้ใช้งานทุกคน โดยหวังว่าไทยรัฐพลัสจะเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนสังคมไทยให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างสร้างสรรค์”

การเปิดตัวไทยรัฐพลัสแสดงให้เห็นถึงการพัฒนาสื่อให้มีความทันสมัยและตรงตามความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ โดยทำอย่างตั้งใจ และเข้าใจว่าผู้บริโภคต้องการอะไร ด้วยการนำเสนอคอนเทนต์ในรูปแบบดังกล่าว จึงมีส่วนทำให้ไทยรัฐออนไลน์ยังคงเป็นเว็บไซต์ที่ติดอันดับ Top 5 ของสื่อประเภทสื่อและข่าวของไทยมาโดยตลอด อีกทั้งก้าวขึ้นมาเป็นเว็บไซต์อันดับ 1 ของเว็บไซต์สื่อประเภทสื่อและข่าวในช่วงเดือนกันยายน 2564 (อ้างอิงจากข้อมูล Similarweb)

5 อันดับเว็บไซต์สื่อประเภทสื่อและข่าวยอดนิยม ปี 2564

หากเปรียบเทียบกับข้อมูล 5 อันดับเว็บไซต์ประเภทสื่อและข่าวที่ได้รับความนิยมสูงสุดในไทยเมื่อปี 2563 พบว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงรายการใน 5 อันดับนี้ (อ้างอิงข้อมูลจาก Similar Web ช่วง ธันวาคม 2564)  โดย sanook.com ยังคงได้รับความนิยมเป็นอันดับที่หนึ่ง มียอดเข้าชมเว็บไซต์อยู่ที่ 38.39 ล้านครั้งต่อเดือน

1) www.sanook.com

sanook.com หรือสนุกดอตคอม โดยเทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) เป็นเว็บไซต์ที่เกิดขึ้นด้วยจุดประสงค์มุ่งเน้นเพื่อการให้ความบันเทิง และนำเสนอข่าวบันเทิงเป็นหลัก ปัจจุบันได้กลายเป็นแหล่งอัปเดตข่าวสารไลฟ์สไตล์และชีวิตประจำวันยอดนิยมของคนไทย ไม่ว่าจะเป็นข่าวที่เป็นเรื่องใกล้ตัวอย่างสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยสถานการณ์การเมือง สังคม เศรษฐกิจ ไปจนถึงข่าวไลฟ์สไตล์และบันเทิงที่เป็นตัวชูโรงดั้งเดิมของเว็บสนุกดอตคอม นอกจากนี้สนุกดอตคอมยังเป็นช่องทางติดตามความเป็นไปของข้อมูลสำคัญที่ผู้คนจับตามอง เช่น ผลสลากกินแบ่งรัฐบาล อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ราคาในตลาดหุ้น ราคาทองคำ หรือราคานํ้ามัน

นอกจากการนำเสนอข้อมูลข่าวสารแล้ว ในปี 2564 เว็บไซต์สนุกดอตคอมยังได้เพิ่มช่องทางให้ผู้อ่านสามารถเข้าถึง รับชม และติดตามสื่อบันเทิงได้อย่างสะดวกสบายหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการฟังเพลง การฟัง Podcast ดูดวง อ่านการ์ตูน หรือรับชมทีวีออนไลน์ ด้วยการจัดทำ Layout ของเว็บไซต์ให้สามารถเข้าถึง 6 บริการที่ผู้บริโภคให้ความสนใจ ในชื่อ ตรวจหวย ดูดวง ฟังเพลง ดูหนัง อ่านการ์ตูน และเล่นเกมส์ ได้อย่างสะดวกรวดเร็วขึ้น เพียงแค่คลิกที่รูปไอคอนโลโก้ที่หน้าโฮมเพจ ก็จะเชื่อมโยงไปยังบริการด้านความบันเทิงอื่นๆ ในเครือเทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) และพันธมิตร ดังนี้

Photo credit: www.sanook.com

จากการเพิ่มไอคอนของคอนเทนต์และบริการที่ผู้บริโภคชื่นชอบที่หน้าโฮมเพจของเว็บ sanook.com จึงแสดงให้เห็นถึงการใช้เว็บไซต์เป็นสื่อ “หน้าบ้าน” ที่ช่วยประชาสัมพันธ์และเป็นสื่อกลางในการเชื่อมโยงไปสู่บริการอื่นๆ ของเครือเทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) ได้เป็นอย่างดี

2) www.thairath.co.th

Photo credit: www.thairath.co.th

เว็บไซต์สำนักข่าวไทยรัฐ หรือ ไทยรัฐออนไลน์ thairath.co.th ด้วยความเป็นหนึ่งในสื่อชั้นนำที่นำเสนอข่าวอย่างครอบคลุมทุกหมวดหมู่ และยังแตกแขนงวิธีการนำเสนอออกมาเป็นสื่อทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็นสื่อดั้งเดิมและออนไลน์ รวมไปถึงช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ โดยมีผู้ติดตามจำนวนสูงเป็นหลักล้านในโซเชียลมีเดียยอดนิยมของคนไทยอย่างเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์ (ข้อมูล ณ วันที่ 8 ตุลาคม  2564) นอกจากคอนเทนต์ประเภทบทความและข่าวแล้ว ผู้อ่านยังสามารถอ่านหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ดูช่องโทรทัศน์ของไทยรัฐ หรือฟังวิทยุออนไลน์ (Podcast) จากหน้าเว็บของไทยรัฐออนไลน์ได้เช่นกัน

นอกจากนี้ การที่ไทยรัฐออนไลน์ได้เปิดตัว “ไทยรัฐพลัส” โดยใช้วิธีนำเสนอข่าวสารหรือข้อมูลเจาะลึกในประเด็นต่างๆ นั้น ก็ช่วยดึงดูดความสนใจจากกลุ่มผู้อ่านได้เป็นอย่างดี

3) www.khaosod.co.th

Photo credit: www.khaosod.co.th

khaosod.co.th หรือข่าวสดออนไลน์ เว็บไซต์ข่าวภายใต้เครือมติชน ในปี 2564 ยังคงครองตำแหน่งอันดับ 3 ของเว็บไซต์ประเภทสื่อและข่าวในไทย ด้วยลักษณะการนำเสนอข่าวที่เข้าถึงง่าย ทำให้ผู้อ่านรับทราบความเป็นไปของเหตุการณ์ต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว และมีการเขียนพาดหัวข่าวให้น่าสนใจ เชิญชวนให้ผู้บริโภคคลิกเข้าไปอ่าน ข่าวที่นำเสนอส่วนมากจะมีลักษณะเป็น “ข่าวเด่น ประเด็นร้อน” ที่สดใหม่และมีการอัปเดตที่รวดเร็วตลอดทั้งวัน สอดคล้องกับชื่อเว็บข่าวสด

หมวดหมู่ข่าวที่สำคัญของข่าวสดออนไลน์จะเกี่ยวข้องกับประเด็นที่ผู้คนส่วนมากให้ความสนใจในชีวิตประจำวัน เช่น ข่าวเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ข่าวอาชญากรรม ข่าวเกี่ยวกับประเด็นดังในสังคมไทย เป็นต้น และในช่วงที่ไทยต้องเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 อย่างหนักในปี 2564 เมื่อเปิดหน้าโฮมเพจข่าวสดออนไลน์มาอย่างแรกจะพบกับหมวดหมู่ข่าว “เกาะติดสถานการณ์ไวรัสมรณะ โควิด-19” ซึ่งแสดงตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งในไทยและทั่วโลก รวมถึงการรวบรวมข่าว “ประเด็นร้อนโควิด” หรือข่าวสำคัญที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 จำนวน 9 ข่าวให้ผู้เข้าชมเว็บไซต์เปิดเข้ามาเห็นเป็นลำดับแรก สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคสื่อจะต้องการรับข้อมูลข่าวสารอย่างรวดเร็วให้ได้มากที่สุด

4) www.yahoo.com

Photo credit: www.yahoo.com

yahoo.com เป็นเว็บสื่อที่ได้รับความนิยมอย่างเป็นสากล เนื้อหาภายในเว็บไซต์จะเป็นภาษาอังกฤษ นำเสนอข่าวสารที่เป็นประเด็นน่าสนใจจากทั่วโลก ไม่ได้เจาะจงอยู่เพียงประเทศใดประเทศหนึ่ง Yahoo ไม่ใช่สำนักข่าว แต่เป็นบริษัทผู้ให้บริการด้านเว็บไซต์ ลักษณะข่าวที่ yahoo.com นำเสนอจึงเป็นข่าวอ้างอิงจากแหล่งที่มาซึ่งเป็นสำนักข่าวชื่อดังหรือสื่อยักษ์ใหญ่ที่เป็นที่รู้จักในระดับสากลอย่าง Reuters, AP หรือ INSIDER เป็นต้น

Photo Credit: Similar Web

นอกเหนือจากผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย yahoo.com ยังเป็นเว็บไซต์ที่อยู่อันดับ 1 ในหมวดหมู่เว็บไซต์สื่อประเภทสื่อและข่าวระดับโลก (อ้างอิงจากเว็บไซต์ Similarweb เดือนธันวาคม 2564) ชี้ให้เห็นว่า yahoo.com เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับความยอมรับและมีความนิยมล้นหลามทั่วทุกมุมโลก

5) www.bangkokbiznews.com

Photo credit: www.bangkokbiznews.com

เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ bangkokbiznews.com โดยเครือเนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป ยังคงมุ่งเน้นการนำเสนอข่าวในแวดวงธุรกิจ เศรษฐกิจ การเงินในไทย  แต่ในเว็บไซต์ก็มีหมวดหมู่ข่าวต่างประเทศ ข่าวการเมือง ข่าวสังคม หรือข่าวไลฟ์สไตล์ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นหมวดหมู่ข่าวใดก็ยังคงแนวทางของกรุงเทพธุรกิจ คือ แม้หัวข้อข่าวจะไม่เกี่ยวกับธุรกิจโดยตรง แต่ตัวข่าวจะมีประเด็นเกี่ยวโยงถึงธุรกิจหรือสามารถนำไปต่อยอดในเชิงธุรกิจได้

ด้วยความที่เครือเนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป ได้จัดงานสัมมนาอยู่เป็นประจำ เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจจึงใช้พื้นที่แบนเนอร์ขนาดใหญ่ด้านบนสุดของโฮมเพจเพื่อการประชาสัมพันธ์งานเสวนาต่างๆ ที่จัดโดยเครือเนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป ทำให้ผู้อ่านสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับวงการธุรกิจ – เศรษฐกิจของเมืองไทยได้แม้จะอยู่ในยุคของโควิด-19 และยังสามารถประชาสัมพันธ์งานขององค์กรในเครือได้อย่างทั่วถึงและต่อเนื่อง

นอกจากนี้ เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจยังได้เพิ่มข้อมูลความเคลื่อนไหวของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล โดยดึงข้อมูลของสกุลเงินดิจิทัลจาก Bitkub มานำเสนอ อัปเดตอย่างเรียลไทม์ คัดเลือกข้อมูลของสกุลเงินดิจิทัลที่ผู้คนให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก อาทิ BTC ETH หรือ DOGE ฯ ซึ่งสอดคล้องกับความสนใจของผู้บริโภคในกลุ่มที่เป็นนักลงทุน

รวมไปถึงการนำเสนอความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับผลสลากกินแบ่งรัฐบาล ราคาทองคำ ราคานํ้ามัน อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา และยอดตัวเลขที่สำคัญเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย นอกจากนี้ยังนำเสนอหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจในรูปแบบออนไลน์ ตลอดเปิดให้ดาวน์โหลดข้อมูลตารางหุ้น เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจจึงเป็นเหมือนแหล่งข้อมูลที่รวบรวมหลากหลายแง่มุมของวงการธุรกิจและเศรษฐกิจไทยเข้าไว้ด้วยกัน

อ้างอิง
  • ไทยรัฐ. 2564. “ไทยรัฐพลัส” ก้าวสำคัญของไทยรัฐออนไลน์ มุ่งสู่การเป็นผู้นำสื่อยุคใหม่ สร้างแรงขับเคลื่อนสู่สังคม. [ออนไลน์] จาก https://www.thairath.co.th/news/local/2162235

Topics

More Posts