YouTube แพลตฟอร์มที่คนไทยใช้งานมากที่สุดปี 64

ยูทูบ (Youtube) เป็นสื่อที่นอกจากผู้บริโภคจะนิยมใช้งานเพื่อความบันเทิงและพักผ่อนหย่อนใจแล้ว ภายหลังจากที่ต้องเผชิญกับผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่อันเนื่องมาจากการระบาดของโควิด-19 ยูทูบได้กลายเป็นหนึ่งในสื่อยอดนิยมที่ผู้บริโภคใช้งาน เพื่อพัฒนาและเพิ่มพูนทักษะการเรียนรู้ ตลอดจนหารายได้

จากรายงาน Global Digital Report 2021 โดย Hootsuite และ We are Social พบว่า ยูทูบเป็นแพลตฟอร์มที่คนไทยใช้งานมากที่สุดมาเป็นอันดับ 1 ที่ระดับ 94.2% เฉือนเอาชนะเฟซบุ๊กไปอย่างเฉียดฉิวซึ่งมียอดการใช้งานอยู่ที่ 93.3% 

Photo credit: We are Social และ Hootsuite เดือนมกราคม 2564

ตัวเลขที่สะท้อนถึงความนิยมของยูทูบดังกล่าวสอดคล้องกับพฤติกรรมการเสพคอนเทนต์ออนไลน์ของคนไทย ซึ่งผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตจะให้ความสนใจกับการรับชมวิดีโอออนไลน์มาเป็นอันดับ 1 ตามมาด้วยการฟังดนตรีผ่านสตรีมมิง เป็นอันดับ 2 และการรับชม Vlogs เป็นลำดับที่ 3 ซึ่งทั้งหมดเป็นคอนเทนต์ที่มีให้รับชมได้ผ่านแพลตฟอร์มของยูทูบทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาทำให้เกิดกระแสความสนใจใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น โดยจากเดิมที่ผู้บริโภคนิยมใช้ยูทูบเพื่อความบันเทิงเป็นหลัก กลับกลายเป็นว่า ผู้บริโภคมีพฤติกรรมการรับชมคอนเทนต์ในยูทูบเพื่อพัฒนาทักษะการเรียนรู้ของตนเองในช่วงโควิด-19 กันมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงปี 2563-2564 โดยข้อมูลจากเว็บไซต์ Think with Google ระบุว่า ผู้บริโภคได้ใช้เวลาในการรับชมวิดีโอที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเงินบนยูทูบเพิ่มขึ้นถึง 100% ในเดือนเมษายน 2564 เมื่อเทียบกับข้อมูลเดือนเมษายน 2563

ระยะเวลาในการรับชมวิดีโอกลุ่มคอนเทนต์ด้านการเงินที่พุ่งขึ้นถึง 100% เมื่อเทียบเป็นรายปีนี้ เนื่องจากผู้บริโภคไทยเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับสถานะทางการเงินมากขึ้นภายหลังจากที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19  เพื่อเพิ่มพูนความรู้ให้กับตนเอง แสวงหาช่องทางการลงทุน และเตรียมพร้อมรับมือกับความผันผวนที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ

ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับผลสำรวจของธนาคารยูโอบีที่ระบุว่า 64% ของคนไทยได้เปลี่ยนวิธีบริหารการเงิน และเริ่มจดบันทึกค่าใช้จ่ายเพื่อรักษาวินัยทางการเงินในช่วงโควิด-19 โดยเฉพาะในกลุ่มมิลเลนเนียลที่กว่า 66% มีพฤติกรรมการเงินที่ค่อนข้างรัดกุมอย่างเห็นได้ชัด และเป็นกลุ่มที่ใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อติดตามสถานะทางการเงิน ตลอดจนหาข้อมูลความรู้ต่าง ๆ ในด้านการเงินอีกด้วย โดยพฤติกรรมของกลุ่มมิลเลเลียลถือว่าเป็นที่น่าจับตา เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อในตลาดสูง โดยเฉพาะบริการบนแพลตฟอร์มดิจิทัลและอีคอมเมิร์ซ

ทั้งนี้ สำนักข่าวอินโฟเควสท์เองก็เป็นหนึ่งในสำนักข่าวที่ได้พัฒนาคอนเทนต์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเศรษฐกิจ การเงิน การลงทุน สกุลเงินดิจิทัล เพื่อเผยแพร่ผ่านทางยูทูบในช่อง InfoQuestNews

ตัวอย่างการนำเสนอคอนเทนต์ด้านสาระการเงินบนแพลตฟอร์มยูทูบจากช่อง InfoQuestNews

ยอดสตรีมเมอร์หน้าใหม่พุ่ง-คนดังแห่ทำช่องยูทูบ

นอกจากการเพิ่มพูนทักษะความรู้แล้ว ในปี 2564 ผู้บริโภคยังได้ผันตัวมาเป็นสตรีมเมอร์บนยูทูบกันมากขึ้น ทั้งในแง่ของการทำเป็นงานอดิเรกเพื่อคลายเครียด หรือหารายได้เป็นอาชีพเสริมท่ามกลางเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองในช่วงโควิด-19 ขณะที่หลายคนที่สามารถจับทางได้ก็หันมาประกอบเป็นอาชีพหลักเต็มตัวบนแพลตฟอร์มที่เปิดกว้างให้กับไอเดียที่หลากหลายอย่างยูทูบ

โดยจำนวนชั่วโมงของคอนเทนต์ที่ถูกอัปโหลดบนยูทูบนั้นเพิ่มขึ้นมากถึง 80% และจำนวนช่องยูทูบที่เพิ่มขึ้นนั้น ก็มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจคือ ช่องยูทูบของดาราและศิลปินไทยที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกันในปี 2564

ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากที่งานในแวดวงบันเทิงได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนทำให้ไม่สามารถถ่ายทำรายการ ละคร หรือจัดงานอีเวนต์ได้ตามปกติ รวมถึงความนิยมของผู้คนในปัจจุบันที่นิยมชมคอนเทนต์ตามความสนใจและช่วงเวลาที่สะดวกของตัวเอง โดยไม่จำกัดว่าจะต้องรับชมตามตารางเวลาในโทรทัศน์เหมือนเดิม ช่อง Landmark ของหมาก ปริญ สุภารัตน์ เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า ดาราที่มีชื่อเสียงได้หันมาทำคอนเทนต์ของตนเอง เพื่อเผยแพร่ผ่านทางช่องทางต่าง ๆ รวมทั้งยูทูบ ในระหว่างที่ยังไม่สามารถออกกองถ่ายทำละครหรือภาพยนตร์ หรือเดินทางเพื่อไปถ่ายทำรายการต่าง ๆ ได้
Photo credit: ช่อง Landmark ของนักแสดง "หมาก-ปริญ สุภารัตน์"

ยูทูบกลายเป็น Mass Reach ในวันที่ทีวีไม่ใช่สื่อหลักของทุกวัย

เมื่อสตรีมเมอร์มีจำนวนมากขึ้นดังที่กล่าวไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสตรีมเมอร์หน้าใหม่ที่เพิ่งเข้าวงการ หรือดาราศิลปินที่มีฐานแฟนคลับและมีความรู้เกี่ยวกับโปรดักชันเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ส่งผลให้นักการตลาดมองว่า ยูทูบได้กลายเป็นสื่อ Mass Reach หรือสื่อที่เข้าถึงคนได้เป็นจำนวนมากเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยผลการศึกษา COVID Barometer ของคันทาร์ ประเทศไทย เผยว่า ยูทูบกลายเป็นสื่อที่มีผู้เข้าถึงได้ในวงกว้าง ไร้ข้อจำกัดในด้านพื้นที่การเข้าถึง และช่วงอายุของผู้ใช้งาน ไม่เหมือนกับในอดีตที่การเข้าถึงยังจำกัดอยู่ในแค่ส่วนหัวเมืองใหญ่

ด้วยเหตุนี้ แบรนด์ต่าง ๆ จึงสามารถใช้ประโยชน์จากทั้งยอดการเข้าถึงและยอดของสตรีมเมอร์ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น ผ่านการออกแคมเปญโฆษณาบนยูทูบซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมสูงจากผู้บริโภคคนไทยอยู่เป็นทุนเดิม

เนื่องจากลักษณะพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ชื่นชอบการดูมากกว่าการอ่าน โดยเทคนิคที่ประสบความสำเร็จคือ การสร้าง Emotional Connection หรือการวางพลอตเรื่องที่ทำให้ผู้ชมรู้สึกมีอารมณ์ร่วมเป็นส่วนหนึ่งไปกับเรื่องราวของแบรนด์ ซึ่งวิธีการนี้จะได้ผลลัพธ์ดีกว่าการเน้นที่พรีเซนเตอร์หรือการใช้พลอตไปในแนวตลกขบขัน เพราะนอกจากจะประสบความสำเร็จในแง่ของการขายแล้ว ยังสร้างภาพจำในเชิงบวกให้กับผู้บริโภคจากพลังความคิดสร้างสรรค์อีกด้วย

นอกจากนี้ การใช้เทคนิคการผสมผสานการใช้สื่อดั้งเดิม ร่วมกับการโปรโมทบนยูทูบก็เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการโฆษณาได้เป็นอย่างดี ทั้งยังสามารถช่วยประหยัดงบโฆษณาในช่วงหลายแบรนด์ต้องรัดเข็มขัดจากสถานการณ์โควิด-19 และพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนที่จะทุ่มเงินลงทุนลงในสื่อใดสื่อหนึ่ง

คุณธีรวิทย์ ฉายภมร Head of Digital Management Unit ASEAN จากบริษัทนีเวีย ประเทศไทย แบ่งปันประสบการณ์ความสำเร็จจากการร่วมมือกับยูทูบ
ที่มา: Nivea builds brand and drives sales with YouTube | Brandcast TH 2021 (https://www.youtube.com/watch?v=0rqZbjaO5Hs&t=4s)

ยกตัวอย่างกรณีศึกษาจากนีเวีย ประเทศไทย ซึ่งเล็งเห็นว่า ปัจจุบันผู้บริโภคหันเหความนิยมมาสู่โลกดิจิทัลกันมากขึ้น การใช้โฆษณาจากโทรทัศน์จึงไม่สามารถเข้าถึงลูกค้าทุกกลุ่มของแบรนด์ได้อีกต่อไป

ด้วยเหตุนี้ จากเดิมที่แบรนด์เน้นใช้กลยุทธ์การลงทุนโฆษณาในโทรทัศน์เป็นหลักเพื่อสร้างการรับรู้ในกลุ่มคนจำนวนมาก ก็ได้เพิ่มช่องทางการโปรโมทโดยผสมผสานระหว่างการโฆษณาทางโทรทัศน์และผ่านทางยูทูบ

ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้คือ Sales impact เพิ่มขึ้น 4% ขณะการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์เพิ่มขึ้น 40% เพราะนอกจากโฆษณาบนยูทูบจะสามารถเข้าถึงกลุ่มคนที่ไม่ชื่นชอบการดูโทรทัศน์ได้แล้วนั้น ในขณะเดียวกัน ก็ยังช่วยเพิ่มความถี่ในการมองเห็นในกลุ่มของคนที่ดูทั้งโทรทัศน์และยูทูบอีกด้วย ซึ่งเป็นปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี

ยูทูบปั้น Shorts ฟีเจอร์ใหม่สู้ติ๊กต็อก

สำหรับฟีเจอร์ที่เป็นไฮไลท์ของยูทูบในปี 2564 คือ ฟีเจอร์ที่ชื่อว่า Shorts ซึ่งหน้าตาออกมาละม้ายคล้ายคลึงกับติ๊กต็อก (TikTok) ที่ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามในไทย เนื่องจากลักษณะการใช้งานค่อนข้างตอบโจทย์ความต้องการของคนรุ่นใหม่ที่ชอบคอนเทนต์ที่แสดงออกถึงความคิดสร้างสรรค์ ไอเดียสดใหม่ และสั้นกระชับ

Shorts เป็นช่องทางการสร้างวิดีโอสั้นแนวตั้งที่มีความยาว 15-60 วินาที โดยสามารถใส่เพลง ฟิลเตอร์ และควบคุมความเร็วของคลิปได้ ซึ่งคาดว่าจะมีเอฟเฟกซ์ให้เลือกเพิ่มเติมในอนาคต จึงเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่เหล่าครีเอเตอร์จะได้ปลดปล่อยพลังความคิดสร้างสรรค์เพื่อดึงดูดผู้ชม โดยคลิปของ Shorts มีการนำเสนอให้ผู้ชมมองเห็นผ่านหน้าแรกของยูทูบ รวมถึงในฟีดการใช้งานที่แยกออกมา โดยที่ผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องกด Subscribe ช่องนั้น ๆ Shorts จึงมีประโยชน์ในแง่ของการเข้าถึงผู้ใช้งานในวงกว้างขึ้น และหากเนื้อหาของวิดีโอดังกล่าวมีความน่าสนใจมากพอ ก็จะทำให้ครีเอเตอร์ได้ยอดการติดตามเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

แม้ว่า ในประเทศไทยจะยังไม่ได้มีการเปิดเผยสถิติของการรับชม Shorts ออกมาอย่างเป็นทางการ เนื่องจากว่ายังเป็นการใช้งานแบบเบต้าอยู่ แต่ยูทูบเปิดเผยว่า สำหรับการใช้งานทั่วโลกแล้วนั้น Shorts มียอดการรับชมถึง 1.5 หมื่นล้านวิวต่อวัน ถือว่าเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างไปได้สวยสำหรับฟีเจอร์น้องใหม่ที่เพิ่งเปิดให้บริการได้ไม่นานนัก

นอกจากนี้ สื่อหลายแห่งคาดการณ์ว่าในอนาคตยูทูบจะมุ่งผลักดัน Shorts ให้เป็นฟีเจอร์ที่ได้รับความนิยมสูงไม่แพ้ติ๊กต็อก เนื่องจากยูทูบได้ออกมาประกาศว่า ทางบริษัทมีทุนสนับสนุนมูลค่า 100 ล้านดอลลาร์ให้กับบรรดาครีเอเตอร์จากทั่วโลกที่สร้างสรรค์คลิปวิดีโอได้น่าสนใจ โดยจะมีเงินรางวัลมอบให้ตั้งแต่ 100 ดอลลาร์ไปจนถึง 10,000 ดอลลาร์ขึ้นอยู่กับการรับชมต่อเดือน

คาดการณ์ว่าในอนาคต น่าจะได้เห็นการพัฒนาใหม่ ๆ จากฟีเจอร์นี้อย่างแน่นอน และอาจเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสร้างรายได้ให้กับยูทูบเบอร์อีกด้วย

Top 3 ช่องยูทูบของไทยที่มียอดผู้ติดตามสูงสุด

สำหรับช่องยูทูบของไทยที่มีผู้ติดตามเป็นจำนวนมากนั้น จะเห็นได้ว่า เป็นช่องรายการของสถานีโทรทัศน์ ที่มีจุดแข็งของคอนเทนต์ที่รายการบันเทิง ไม่ว่าจะเป็นละคร  เกมโชว์ หรือทอล์คโชว์ต่าง ๆ ซึ่งสอดคล้องกับพฤติกรรมการบริโภคคอนเทนต์ในปัจจุบันที่นอกจากจะแสวงหาข้อมูลข่าวสารแล้ว ก็ยังต้องการความบันเทิง เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียด

  • WorkpointOfficial เป็นสถานีแห่งความบันเทิงที่พร้อมให้รับชมได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยผู้ชมสามารถติดตามรายการบันเทิงต่าง ๆ ของ Workpoint ที่ได้มีการนำเสนอผ่านทางโทรทัศน์ และรับชมย้อนหลังได้ที่ช่องทางนี้
  • ช่อง one31 รวบรวมคลิปรายการและละครดังที่เป็นปรากฏการณ์ของช่องไว้ที่นี่ ด้วยฐานความนิยมจากแฟน คลับจำนวนมหาศาลที่ติดตามช่อง one31 ทางโทรทัศน์ จึงทำให้ยอดความนิยมของช่องยูทูบสูงมากไม่แพ้กัน
  • ช่อง Ch3Thailand เป็นช่องยูทูบอย่างเป็นทางการของสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ที่อยู่คู่กับคนไทยมาอย่างยาวนาน โดยคลิปที่ได้รับความนิยมจะเป็นไฮไลท์จากละครดัง รวมถึงการรับชมละครแบบเต็มอิ่มย้อนหลังจากช่องทางยูทูบ
อ้างอิง

Topics

More Posts