สำนักข่าว

ในขณะที่กระแสการเปลี่ยนแปลงของยุคดิจิทัลเป็นความท้าทายที่สั่นคลอนธุรกิจสื่อดั้งเดิมแบบออฟไลน์จนแทบไม่มีที่ยืน และทำให้สื่อเก่าแก่หลายสำนักต้องแตกกระสานซ่านเซ็น หรือล้มหายตายจากไปจากสังคมไทยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่วิกฤตดังกล่าวกลับกลายเป็นโอกาสที่ทำให้มีสำนักข่าวออนไลน์หน้าใหม่เกิดขึ้นมากมาย จนมีคำกล่าวเปรียบเปรยว่า สมัยนี้ใครก็เป็นสื่อได้ หรือยุคนี้ใครก็เป็นนักข่าวได้ ขอเพียงแค่มีอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์มือถือ

แม้สำนักข่าวออนไลน์จำนวนหนึ่งในปัจจุบันจะเกิดจากการที่ “ชาวเน็ต” ผันตัวมาเป็น “นักข่าว” แต่ก็มีสำนักข่าวหรือแพลตฟอร์มข่าวออนไลน์อีกจำนวนไม่น้อยเช่นกันที่เกิดจากการรวมตัวกันของนักข่าวมืออาชีพที่เคยคร่ำหวอดอยู่ในแวดวงข่าวสารแบบออฟไลน์มาก่อน เนื่องจากคนข่าวกลุ่มนี้มองเห็นโอกาสในโลกออนไลน์ที่แม้จะมีการรายงานข่าวสารข้อมูลจากหลายสำนัก แต่เมื่อพิจารณาถึงการทำหน้าที่

จรรยาบรรณ ความน่าเชื่อถือ และความรับผิดชอบในฐานะสื่อมวลชนแล้ว ประเด็นเหล่านี้ยังคงเป็นสิ่งที่สังคมคาดหวังและตั้งข้อกังขาจากสื่อมาทุกยุคทุกสมัย

หนึ่งสำนักข่าวที่รวมคนข่าวรุ่นเก๋ามากประสบการณ์ ผนึกกำลังกับคนรุ่นใหม่ในสายสื่อธุรกิจ ร่วมด้วยพันธมิตรสตาร์ทอัพ ตลอดจนอินฟลูเอนเซอร์ ได้เปิดตัวขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม 2562 ในนาม Business Today แพลตฟอร์มข่าวสารธุรกิจ (Business Content Platform) ซึ่งถึงแม้ชื่ออาจเป็นน้องใหม่ แต่เบื้องหลังแล้วนั้น เป็นการรวมตัวของคนข่าวมากประสบการณ์ และมีการนำเทคโนโลยีอย่าง Big Data และ Social Listening มาสร้างสรรค์คอนเทนต์ธุรกิจ พร้อมนำเสนอในรูปแบบของ Infographic ที่น่าติดตาม เข้าใจง่าย สอดคล้องกับพฤติกรรมการบริโภคคอนเทนต์ของคนยุคดิจิทัล โดยนอกจากช่องทางออนไลน์อย่างเว็บไซต์และโซเชียลมีเดียแล้ว Business Today ยังนำเสนอข่าวครอบคลุมสื่อในรูปแบบเดิม ไม่ว่าจะเป็นรายการโทรทัศน์ วิทยุ และแม้แต่หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ด้วย โดยหลอมรวมสื่อทุกรูปแบบภายใต้กลยุทธ์ O2O ออนไลน์สู่ออฟไลน์ ออฟไลน์สู่ออนไลน์ ทั้ง Online, On Air, On Ground, On Print และ On Demand1

สำหรับสำนักข่าวออนไลน์อีกแห่งหนึ่งที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวของคนข่าวที่ผันตัวจากน้ำหมึกและแผ่นกระดาษสู่โลกออนไลน์ ก็คือ The Bangkok Insight โดยจุดเริ่มต้นของ The Bangkok Insight เกิดจากการที่นางสาวเฉลา กาญจนา บรรณาธิการบริหาร สำนักข่าวและเว็บไซต์ thebangkokinsight.com ได้ชักชวนเพื่อนร่วมงานจำนวนหนึ่งออกจากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ หลังธุรกิจถูกเปลี่ยนมือจากกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิม และเนื่องด้วยธุรกิจสื่อดั้งเดิม ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และโทรทัศน์ต่างได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี ขณะที่ผู้บริโภคก็หันมาเสพสื่อผ่านช่องทางออนไลน์กันมากขึ้น จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้มองเห็นโอกาสในการเปิดตัวสำนักข่าวและเว็บไซต์ The Bangkok Insight เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ต และต้องการเสพข้อมูลข่าวสารผ่านโลกออนไลน์โดยตรง และเข้าถึงได้ในทุกที่ทุกเวลา2

ขณะเดียวกัน ท่ามกลางภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนผ่านสู่สมรภูมิออนไลน์ ไม่ได้หมายความว่าสื่อที่เป็นออนไลน์มาตั้งแต่แรกเริ่มจะอยู่นิ่ง และด้วยตระหนักถึงความเป็นจริงข้อนี้ สำนักข่าวอินโฟเควสท์ ซึ่งถือเป็นสื่อออนไลน์รายแรก ๆ ของไทย จึงไม่หยุดพัฒนาเพื่อรักษาความเป็นผู้นำในฐานะสำนักข่าวเศรษฐกิจและการเงินแถวหน้า

สำนักข่าวอินโฟเควสท์ ผลิตและรายงานข่าวเศรษฐกิจ หุ้น การเงิน การลงทุน และข่าวต่างประเทศในรูปแบบเรียลไทม์ เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจทางธุรกิจและการลงทุน โดยแรกเริ่ม สำนักข่าวอินโฟเควสท์นำเสนอข่าวผ่านทาง นิวส์เซ็นเตอร์ (NewsCenter) ซึ่งเป็นบริการข่าวสารข้อมูลออนไลน์แบบบอกรับสมาชิก นอกจากนี้ ยังมีเว็บไซต์ ryt9.com เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้อ่านทั่วไปที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของนิวส์เซ็นเตอร์

ต่อมา เมื่อโทรศัพท์มือถือได้เข้ามาเป็นปัจจัยที่ 5 ของการดำรงชีวิต เช่นเดียวกับโซเชียลมีเดียที่ได้รับความนิยมในหมู่คนไทยเป็นอย่างมาก สำนักข่าวอินโฟเควสท์จึงได้ขยายและปรับโฉมช่องทางการนำเสนอข่าว ล่าสุด ได้มีการปรับโฉมเว็บไซต์ Infoquest.co.th เพื่อนำเสนอข่าวเศรษฐกิจ หุ้น การเงิน และประเด็นน่าสนใจรอบโลก ซึ่งช่วยเสริมอัตลักษณ์ของแบรนด์ให้โดดเด่น ชัดเจนยิ่งขึ้น พร้อมทั้งเพิ่มช่องทางโซเชียลมีเดียเพื่อสื่อสารกับผู้อ่านข่าวยุคดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊กทวิตเตอร์ และยูทูบ รวมถึง LINE Official Account และ LINE TODAY ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานชาวไทยมากเป็นอันดับต้น ๆ ขณะที่ช่องทางหลักในการเผยแพร่ข่าวของสำนักข่าวอินโฟเควสท์อย่าง นิวส์เซ็นเตอร์ ก็ได้รับการยกระดับเวอร์ชันใหม่ในชื่อ NewsCenter 4 เพื่อให้สามารถใช้งานผ่านเว็บไซต์บนระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตโดยไม่ต้องติดตั้งโปรแกรม ซึ่งตอบรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคปัจจุบันได้เป็นอย่างดี


“ข่าวปลอม” ปัญหาป่วนโลกออนไลน์ กับความพยายามหาทางออกของภาครัฐ

ท่ามกลางความเฟื่องฟูของสื่อและสำนักข่าวออนไลน์ สิ่งหนึ่งที่แพร่หลายไม่แพ้กัน ก็คือ ข่าวปลอม หรือ Fake News ซึ่งไม่มีใครปฏิเสธว่าข่าวปลอมเป็นปัญหาใหญ่ แต่หากมองอีกมุมหนึ่งก็อาจกล่าวได้ว่า ข่าวปลอมเป็นประโยชน์สำหรับสื่อมืออาชีพที่จะได้แสดงบทบาทหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริง และแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างกับสื่อที่ไม่ใช่มืออาชีพ

อย่างไรก็ดี นอกจากวงการสื่อที่ต้องช่วยกันตรวจสอบแล้ว ทุกภาคส่วนต่างตระหนักถึงความจำเป็นในการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง ซึ่งรวมถึงภาครัฐ โดยเฉพาะในปี 2562 ที่มีการเปิด “ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม” โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เพื่อทำหน้าที่หลักในการติดตาม ตรวจสอบข้อมูลที่เผยแพร่บนสื่อสังคมออนไลน์และระบบอินเทอร์เน็ต

ตัวอย่างการเผยแพร่ข้อมูลของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ผ่านทางเว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com ไลน์: @anitfakenewscenter ทวิตเตอร์: @AFNCThailand และเฟซบุ๊ก: @AntiFakeNewsCenter

สำหรับหลักเกณฑ์ในการพิจารณาข่าวปลอมนั้น นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ เปิดเผยในโอกาสเปิดศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 ว่า3 เป็นข่าวที่มีผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง ข่าวที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินต่อประชาชนโดยตรง ข่าวที่สร้างความแตกแยกในสังคม ข่าวที่สร้างความเข้าใจผิดต่อสังคม ตลอดจนข่าวที่ทำลายภาพลักษณ์ต่อประเทศ โดยแบ่งออกเป็น 4 หมวด ได้แก่ หมวดสุขภาพ หมวดนโยบายรัฐ หมวดเศรษฐกิจ และหมวดภัยพิบัติ

ทั้งนี้ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมมีการทำงานในลักษณะออนไลน์และออฟไลน์ตามมาตรฐานสากลของ International Fact Checking Network (IFCN) โดยทางศูนย์ฯ จะทำหน้าที่รับแจ้งข้อมูลที่ต้องการตรวจสอบ และส่งต่อเรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะมีกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วแจ้งผลการตรวจสอบกลับมาที่ศูนย์ฯ เพื่อเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องให้แก่ประชาชนต่อไปในรูปแบบที่เข้าใจง่าย เช่น Infographic โดยนอกจากกลไกการติดตาม ตรวจสอบโดยคณะกรรมการประสานงานและแก้ไขข่าวปลอม ซึ่งประกอบไปด้วยคณะผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ และสื่อมวลชนแล้ว ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมยังนำเทคโนโลยีอย่างเช่น AI และระบบ Social Listening เข้ามาช่วยในการตรวจสอบข่าวปลอมเพื่อความแม่นยำมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน ทางศูนย์ฯ จะส่งเรื่องให้กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ดำเนินคดีกับผู้เผยแพร่ข่าวปลอมด้วย

และดูเหมือนว่า หลังจากเปิดดำเนินการมาได้เพียงไม่กี่เดือน ก็มีภารกิจใหญ่ให้ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กระทรวงดิจิทัลฯ ได้พิสูจน์ฝีมือทันที จากกรณีการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ซึ่งส่งผลให้มีข่าวลือแพร่สะพัดเป็นจำนวนมากและรวดเร็วไม่แพ้ไวรัสเลยทีเดียว โดยมีการแชร์โพสต์ ทั้งข้อความ รูปภาพ คลิปวิดีโอ โดยเฉพาะในสื่อสังคมออนไลน์ จนสร้างความตระหนกและหวาดกลัวให้กับคนในสังคม ถึงขั้นส่งผลต่อการใช้ชีวิตปกติ

จากการมอนิเตอร์และรับแจ้งเรื่องเกี่ยวกับประเด็นไวรัสโคโรนาที่ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมรวบรวมได้ระหว่างวันที่ 25-29 ม.ค. 2563 พบว่าในจำนวนข้อความที่แจ้งเข้ามาทั้งสิ้น 7,587 ข้อความ มีจำนวนที่ต้องตรวจสอบยืนยัน (Verify) 160 ข้อความ และในจำนวนนี้พบว่ามีข่าวที่เกี่ยวข้องโดยตรง 26 เรื่อง แบ่งเป็นข่าวปลอม 22 เรื่อง ข่าวจริง 4 เรื่อง4 ซึ่งนอกจากแก้ไขความเข้าใจผิดของประชาชนจากข่าวปลอมเหล่านี้แล้ว ดีอีเอส ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และ บก.ปอท. ยังได้จับกุมตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีด้วย

ตัวอย่างการเผยแพร่ข้อมูลของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ผ่านทางเว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com ไลน์: @anitfakenewscenter ทวิตเตอร์: @AFNCThailand และเฟซบุ๊ก: @AntiFakeNewsCenter


อ้างอิง