ดาวโจนส์พุ่งไม่หยุด ล่าสุดทะยานกว่า 200 จุด เก็งเฟดเบรกขึ้นดบ. หลังเงินเฟ้อต่ำคาด

ดัชนีดาวโจนส์พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดทะยานกว่า 200 จุด ขานรับดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ต่ำกว่าคาดการณ์ ซึ่งบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อได้ผ่านจุดสูงสุด และจะเป็นปัจจัยชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

ณ เวลา 22.18 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 33,063.02 จุด บวก 203.99 จุด หรือ 0.62%

วันนี้นับเป็นวันซื้อขายวันสุดท้ายของเดือนมี.ค. โดยดัชนีดาวโจนส์บวก 0.6% ในเดือนนี้ ขณะที่ดัชนี S&P 500 และ Nasdaq พุ่งขึ้น 2% และ 4.9% ตามลำดับ

นอกจากนี้ วันนี้ยังเป็นวันซื้อขายสุดท้ายของไตรมาส 1/2566 โดยดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงเกือบ 1% ขณะที่ดัชนี S&P 500 และ Nasdaq พุ่งขึ้น 5.5% และ 14.8% ตามลำดับ

นักลงทุนคาดการณ์ว่า เฟดจะประกาศคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งต่อไปในเดือนพ.ค. และจะไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ หลังการเปิดเผยดัชนี PCE ในวันนี้

FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 53.5% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 4.75-5.00% ในการประชุมวันที่ 2-3 พ.ค. และให้น้ำหนัก 46.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25%

นอกจากนี้ นักลงทุนคาดว่าเฟดจะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 4.75-5.00% ในการประชุมเดือนมิ.ย.และก.ค. ก่อนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในเดือนก.ย. ซึ่งเร็วกว่าที่เฟดคาดว่าจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปี 2567

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนี PCE ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน เพิ่มขึ้น 5.0% ในเดือนก.พ. เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.1% และชะลอตัวจากระดับ 5.3% ในเดือนม.ค.

เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE ทั่วไป เพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนก.พ. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.5% และชะลอตัวจากระดับ 0.6% ในเดือนม.ค.

ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เพิ่มขึ้น 4.6% ในเดือนก.พ. เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.7% และชะลอตัวจากระดับ 4.7% ในเดือนม.ค.

เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.3% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.4% และชะลอตัวจากระดับ 0.5% ในเดือนม.ค.

ทั้งนี้ ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)