ไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่ม 127 ราย เสียชีวิตเพิ่มอีกหนึ่ง

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยว่า วันนี้พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มอีก 127 ราย ยอดผู้ติดเชื้อสะสมรวมอยู่ที่ 1,651 ราย เสียชีวิตเพิ่มอีก 1 ราย เป็นชายไทยวัย 48 ปี อาชีพนักดนตรี มีโรคประจำตัวเบาหวานและมะเร็ง

ทั้งนี้ จากยอดผู้ป่วยสะสมทั่วประเทศ 1,651 คน กระจายอยู่ใน 61 จังหวัดทั่วประเทศ แบ่งเป็นชาวต่างชาติ 244 คน และคนไทย 1,407 คน ซึ่งในจำนวนผู้ป่วยที่เป็นคนไทยนี้ พบว่าอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ-นนทบุรี มากสุดถึง 869 คน รองลงมา เป็นภาคใต้ 206 คน ภาคกลาง 172 คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 77 คน และภาคเหนือ 55 คน

สำหรับผู้ป่วยที่มีอายุน้อยสุด อยู่ที่ 6 เดือน และอายุมากสุด อยู่ที่ 84 ปี ในขณะที่อายุเฉลี่ยของผู้ป่วยจะอยู่ที่ 39 ปี ซึ่งถือว่าอยู่ในกลุ่มของวัยทำงานมากที่สุด และเป็นกลุ่มที่ต้องเดินทางออกนอกบ้าน ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่เป็นพาหะสำคัญที่อาจจะนำเชื้อกลับมาสู่ผู้สูงอายุ หรือเด็กเล็กที่อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกันได้ ดังนั้นจึงต้องระมัดระวังตัวเองอย่างเข้มงวด

โฆษก ศบค. ระบุว่า ยอดผู้ป่วยยืนยันรายใหม่วันนี้ทั้ง 127 รายนั้น กลุ่มใหญ่ 62 ราย ยังคงเป็นกลุ่มที่มาจากสนามมวย, สถานบันเทิง และผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยรายเดิม ส่วนกลุ่มอื่นๆ 49 คน เป็นกลุ่มที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ, ผู้ที่มีอาชีพเสี่ยง เช่น บุคลากรทางการแพทย์ โดยในจำนวนนี้พบว่ามีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อเพิ่มอีก 3 คน แต่เป็นการติดเชื้อจากการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ไม่ใช่จากกิจกรรมส่วนตัว ส่วนอีกกลุ่ม คืออยู่ระหว่างรอสอบสวนโรค 16 คน

“ผู้ป่วยใหม่ 127 คนในวันนี้ มาจาก 20 จังหวัด แต่อยู่ในกรุงเทพฯ สูงสุด 74 คน ดังนั้นเราต้องพยายามช่วยกันให้การกระจายตัวเลขของผู้ป่วยออกไปน้อยที่สุด ซึ่งการเว้นระยะห่างทางสังคม เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมาก…คนกรุงเทพฯ ต้องทำอะไรมากกว่านี้หรือไม่ การออกมานอกบ้าน ควรทำเฉพาะกรณีที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น ทุกท่านต้องร่วมมือกัน กรุงเทพฯ-ปริมณฑล มีประชากรรวมกว่า 10 ล้านคน ซึ่งสามารถเป็นพาหะของโรค หรือเรียกว่ารังโรคได้”

นพ.ทวีศิลป์กล่าว

ขณะเดียวกัน คนไทยที่เดินทางกลับจากต่างประเทศจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นเมื่อเดินทางกลับมาถึงประเทศไทยแล้ว ขอความร่วมมือให้กลุ่มคนเหล่านี้งดเว้นการเข้าร่วมกิจกรรมสังสรรค์ บันเทิงใดๆ ทั้งสิ้น เพื่อช่วยลดการแพร่กระจายของโรค

นพ.ทวีศิลป์ ยังกล่าวถึงกระแสข่าวว่าจะมีการชัตดาวน์กรุงเทพฯ ว่า ขณะนี้ยังยืนยันว่ารัฐบาลใช้มาตรการเฉพาะบางจุดเท่านั้น ซึ่งในส่วนของกรุงเทพฯ จะยังไม่มีประกาศหรือการสั่งการใดๆ เพิ่มเติมจากนายกรัฐมนตรี อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรีมีความพอใจในระดับหนึ่งภายหลังการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ก็เห็นว่ายังไม่สามารถจะวางใจในสถานการณ์ได้ทั้งหมด จึงได้ขอให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขติดตามสถานการณ์ของไวรัสโควิด-19 ในประเทศอย่างใกล้ชิด เพราะมาตรการที่จะนำมาใช้ในอนาคตจะเข้มข้นขึ้นหรือผ่อนคลายลงนั้น ขึ้นอยู่กับข้อมูลการรายงานสถานการณ์จากกระทรวงสาธารณสุข หากประชาชนให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามคำแนะนำจากภาครัฐ มาตรการก็อาจจะผ่อนคลายลง แต่หากการให้ความร่วมมือยังทำได้ไม่ดีนัก ก็มีโอกาสที่จะใช้มาตรการที่เข้มข้นขึ้นได้ในอนาคตได้

ส่วนกรณีที่บริษัทเอกชนหลายแห่ง ยังไม่ให้พนักงานหยุดทำงานที่บ้าน ทั้งๆ ที่งานบางประเภทสามารถทำงานจากที่บ้านได้ ภาครัฐจะมีมาตรการใดออกมาดูแลในส่วนนี้หรือไม่นั้น โฆษก ศบค. ระบุว่า ขณะนี้รัฐบาลยังคงใช้การขอความร่วมมือจากบรรดานายจ้าง หรือภาคธุรกิจต่างๆ ขอให้พิจารณาอย่างรอบคอบในการให้บุคลากรเดินทางมาปฏิบัติงานที่สถานประกอบการ เพราะจะยิ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงของการแพร่ระบาดมากขึ้น

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.)

“ยังเป็นการขอความร่วมมือเช่นเคย นายจ้าง ผู้ประกอบการทั้งหลาย ขอให้พิจารณาอย่างดีว่าท่านได้ประโยชน์อย่างไร ในการดึงบุคลากรของท่านมาอยู่รวมกันในห้องทำงาน ถ้าเขาทำงานที่บ้าน จะทดแทนการทำงานได้หรือไม่ หากเขามีความเสี่ยงติดเชื้อมาจากที่อื่น แล้วมาทำงานใกล้ชิดอยู่กับท่าน อาจนำความเสี่ยงมาติดท่าน ติดบุคลากรที่ทำงานด้วย อาจต้องหยุดงาน อยู่รพ. ยิ่งมีความเสียหายมากกว่าเดิม ดังนั้นขอความร่วมมือ ในฐานะที่ท่านเป็นผู้บริหารกิจการ เชื่อว่าความคิดนี้คงไม่เหลือบ่ากว่าแรง หากให้หยุดงาน หรือเหลื่อมเวลาทำงาน หรือวิธีการอื่นๆ ที่หลากหลาย ก็จะช่วยชาติได้ด้วย”

นพ.ทวีศิลป์ระบุ

ส่วนการประกาศพื้นที่เสี่ยงในแต่ละจังหวัด เพื่อให้ประชาชนได้ทราบและหลีกเลี่ยงการเดินทางเข้าไปนั้น โฆษก ศบค. กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้มอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัด นำข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขมาพิจารณา เพื่อประกอบการตัดสินใจในการออกมาตรการเพิ่มเติมในแต่ละจังหวัด

“ส่วนราชการทั้งหลายต้องใช้ข้อมูลให้เป็นประโยชน์ รวมคิด หามาตรการออกมา ที่สำคัญต้องคิดหลายชั้น ว่าออกมาแล้วประชาชนจะได้รับผลกระทบอย่างไร และมีมาตรการรองรับผลกระทบหรือไม่ เป็นอิสระของแต่ละพื้นที่ที่จะช่วยกัน เพื่อช่วยพี่น้องในพื้นที่นั้นๆ นายกฯ คงมองภาพใหญ่มากกว่า จะไม่ออกข้อกำหนดหรือสั่งการลงในรายพื้นที่” นพ.ทวีศิลป์ระบุ

นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้แสดงความชื่นชมโซเชียลมีเดียหรือเพจต่างๆ ทั้งหลาย เช่น เพจ “อีเจี๊ยบ เลียบด่วน” ที่ได้มีการแจ้งเตือนล่วงหน้าว่า วันพรุ่งนี้ (1 เม.ย.) ซึ่งเป็นวัน April Fools’ Day อย่านำเรื่องสถานการณ์โควิด-19 มาโพสต์เล่นหรือโพสต์อำกัน เพราะผิดกฎหมายแน่นอน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 มี.ค. 63)

Tags: , , , , , , , , , ,
Back to Top