ไทยมีผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่เพิ่ม 120 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 2 ราย

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ล่าสุดวันนี้ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มอีก 120 ราย และมีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 2 ราย ยอดผู้ติดเชื้อรวมสะสมขณะนี้ 1,771 ราย

ผู้เสียชีวิตรายแรก เป็นชายไทยวัย 79 ปี อาศัยอยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ มีโรคประจำตัว เบาหวาน ไตวายเรื้อรัง เดินทางไปร่วมงานแต่งงานในมาเลเซียเมื่อวันที่ 7 มี.ค.เริ่มป่วยวันที่ 20 มี.ค.และเข้ารักษาอาการที่ รพ.ของรัฐเมื่อวันที่ 23 มี.ค.แต่อาการไม่ดีขึ้น จึงกลับมา รพ.อีกครั้งในวันที่ 27 มี.ค.เริ่มมีอาการไข้ 39.1 องศาฯและอาการปอดอักเสบ ต่อมาส่งตัวไปยัง รพ.ประจำจังหวัดก่อนจะเสียชีวิตในวันที่ 30 มี.ค.

ส่วนรายที่ 2 เป็นชายวัย 58 ปี เป็นนักธุรกิจกลับจากประเทศอังกฤษเมื่อวันที่ 12 มี.ค.จากนั้นเริ่มมีอาการป่วยในวันที่ 14 มี.ค.และเข้ารักษาอาการที่ รพ.เอกชนในวันที่ 15 มี.ค.จนกระทั่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 31 มี.ค.

ทั้งนี้ ส่งผลให้ล่าสุดจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมทั่วประเทศอยู่ที่ 1,771 คน กลับบ้านได้รวม 342 คน เสียชีวิตรวม 12 คน ทั้งนี้จำนวนผู้ป่วยสะสม แบ่งเป็นคนต่างชาติ 271 คน และคนไทย 1,500 คน ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และนนทบุรี สูงสุดถึง 972 คน รองลงมาเป็นภาคกลาง 237 คน ภาคใต้ 213 คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 89 คน และภาคเหนือ 66 คน

โดยจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ที่เพิ่มขึ้น 120 คนวันนี้ แบ่งเป็น กลุ่มแรก 51 คน เป็นผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยัน หรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยก่อนหน้านี้ เช่น สนามมวย, สถานบันเทิง, และงานบุญที่มาเลเซีย กลุ่มสอง เป็นผู้ป่วยกลุ่มอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยก่อนหน้านี้ 39 คน ประกอบด้วย ผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ ผู้ประกอบอาชีพเสี่ยง และบุคลากรทางการแพทย์ เป็นต้น ส่วนกลุ่มสาม 30 คน อยู่ระหว่างการสอบสวนโรค

“ยอดผู้ติดเชื้อยังกระจุกอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งถ้านับเฉพาะกรุงเทพฯ อยู่ที่ 850 คน คนที่เดินทางอยู่ในกรุงเทพฯ มีความเสี่ยงทั้งสิ้นที่จะติดเชื้อจากคนเหล่านี้ และคนเหล่านี้แม้จะเข้ารับการรักษาในรพ. แต่ก็จะมีผู้ที่แวดล้อมกับคนเหล่านี้ คูณไป 2-3 เท่าที่มีอัตราการแพร่เชื้อ จะทำให้ตัวเลขจะเพิ่มขึ้นๆ เราเคยรายงานว่าคนกรุงเทพฯ ปริมณฑล มีอัตราการแพร่เชื้อให้ผู้ถือถึง 3 เท่า หรือ 3 คนกว่า ดังนั้นเราไม่อยากเห็นคนกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นคูณ 3 ทุกคนในกรุงเทพฯ สามารถลดตัวเลขนี้ได้ เพราะถ้ารวมกับนนทบุรี และสมุทรปราการแล้ว ยอดจะไปพันกว่าคน ซึ่งถ้าคูณ 3 จะเท่ากับ 3 พันกว่าคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่ากังวลมากๆ”

นพ.ทวีศิลป์ระบุ

ด้านนายเชิดเกียรติ อัตถากร อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยถึงแผนรองรับกรณีนักเรียนทุนแลกเปลี่ยนจากมูลนิธิ AFS จะเตรียมเดินทางกลับประเทศไทยว่า กระทรวงการต่างประเทศได้ประสานงานใกล้ชิดกับกระทรวงสาธารณสุข ตลอดจนหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งส่วนหนึ่งได้มีนักเรียนไทยในโครงการ AFS ทยอยเดินทางกลับมาบ้างแล้วก่อนหน้านี้ เนื่องจากโครงการบางส่วนได้ยกเลิกไปก่อนที่จะมีสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

โดยปัจจุบันยังเหลือนักเรียนทุน AFS กลุ่มใหญ่ที่สหรัฐอเมริกาเป็นหลัก ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้ประสานกับ AFS เพื่อทยอยนำนักเรียนทุนกลับเข้ามาประเทศไทย โดยสายการบินพาณิชย์ของสหรัฐฯ ที่ยังเปิดทำการบินได้อยู่ ส่วนกลุ่มนักเรียนที่อยู่ระหว่างรอการเดินทางกลับประเทศไทยนั้น ทั้งหมดยังอยู่กับ Host Family และได้รับการประกันสุขภาพทุกคน คาดว่ากลุ่มนักเรียนทุน AFS จากสหรัฐจะกลับมาถึงประเทศไทยได้ทั้งหมดภายในเดือนเม.ย.63

“เมื่อกลับมาถึงไทย จะต้องเข้าสู่กระบวนการคัดกรองตามมาตรการของทางการไทย รวมถึงจะต้องมีเอกสาร 2 ฉบับ คือหนังสือรับรองจากสถานทูต และใบรับรองแพทย์ว่าสามารถโดยสารเครื่องบินได้” นายเชิดเกียรติระบุ

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวเสริมว่า การดูแลนักเรียนทุน AFS ที่จะกลับเข้ามาประเทศไทยนั้น จำเป็นต้องดำเนินการในลักษณะเช่นเดียวกับนักเรียนไทยที่กลับมาจากอิตาลี เพราะเป็นกลุ่มใหญ่ จะต้องมีขั้นตอนการดูแลที่รัดกุม ตั้งแต่ก่อนเดินทางมา ระหว่างเดินทาง และเมื่อเดินทางมาถึง เพื่อเข้าสู่ระบบการกักตัวและสังเกตอาการที่สัตหีบ ของกองทัพเรือ และที่กำแพงแสน ของกองทัพอากาศ

“ขอให้ AFS ได้หารือมาที่กระทรวงการต่างประเทศโดยตรง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะได้เข้าไปร่วมมือทำงาน ซึ่งจะต้องทำให้เกิดความปลอดภัยทั้งกับคนที่เดินทางมา ระหว่างการเดินทางมา และเมื่อเดินทางมาถึงด้วย” โฆษก ศบค.ระบุ

ขณะที่ พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้ สตช.บังคับใช้กฏหมายอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะกับผู้ที่ซ้ำเติมความเดือนร้อนของประชาชน หรือมั่วสุมเสพยาเสพติด ซึ่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเองก็ได้กำชับให้มีการเร่งรัดดำเนินคดี รวบรวมพยานหลักฐานให้ถึงต้นตอ และให้มีการสั่งฟ้องในทุกข้อหา ให้มีการลงโทษสถานหนักโดยไม่รอลงอาญา รวมถึงยึดของกลางด้วย

พร้อมทั้งเตือนประชาชนบางส่วนที่ยังฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน จะต้องถูกดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นกรณีการตั้งวงหรือมั่วสุม ซึ่งเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อด้วย กรณีแอบเล่นพนัน ก็มีความผิดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ ซึ่งมีโทษจำคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท

ส่วนกรณีการกักตุนสินค้า โดยเฉพาะเจลล้างมือ และการจำหน่ายหน้ากากอนามัยเกินราคา จะมีโทษจำคุก 7 ปี ปรับไม่เกิน 1.4 แสนบาท รวมถึงยึดของกลางด้วย

พล.ต.ท.ปิยะ ยังได้เน้นย้ำให้ประชาชนออกจากบ้านเฉพาะเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ซึ่งในบางจังหวัด เช่น จ.นนทบุรี ได้ขอความร่วมมือประชาชน ให้งดออกนอกเคหสถานในช่วงเวลา 23.00 – 05.00 น. ยกเว้นรถขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งเจ้าหน้าที่จะเข้มงวดอย่างเต็มที่

ส่วนกรณีประชาชนที่อยู่ใน จ.นนทบุรี แต่จำเป็นต้องเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ก็ยังสามารถขับรถเข้ามาทำงานได้ปกติ แต่ขอให้ออกจากบ้านเท่าที่จำเป็น ส่วนบางจังหวัด เช่น แม่ฮ่องสอน ที่มีคำสั่งปิดจังหวัดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ มาตรา 35 นั้น หากเป็นกรณีนี้คือห้ามประชาชนเดินทางเข้าหรือออกโดยเด็ดขาด หากฝ่าฝืนมีความผิดจำคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท

อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตั้งด่านข้ามจังหวัดจำนวน 409 แห่ง เพื่อคัดกรองประชาชน รวมทั้งจะมีด่านเคลื่อนที่เร็ว โดยเน้นการให้คำแนะนำกับประชาชนในการปฏิบัติตัวเป็นหลัก

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 เม.ย. 63)

Tags: , , , , , ,
Back to Top