นับตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค. ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่จีนได้รายงานต่อองค์การอนามัยโลก (WHO) อย่างเป็นทางการว่า พบผู้ป่วยโรคปอดอักเสบจากการติดเชื้อไวรัสลึกลับจำนวนมากในเมืองอู่ฮั่น เมืองหลวงของมณฑลหูเป่ย ทางตอนกลางของประเทศ ก่อนที่โรคดังกล่าวจะถูกระบุว่าเกิดจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019-nCoV และได้รับการตั้งชื่อในภายหลังว่า “โควิด-19” (COVID-19) ซึ่งย่อมาจาก “coronavirus disease starting in 2019” หรือโรคไวรัสโคโรนาที่เริ่มต้นในปี 2019
จนถึงวันนี้ ผ่านมาเพียง 3 เดือนเท่านั้น ไวรัสดังกล่าวได้แพร่ระบาดไปเกือบทั่วทุกพื้นที่ จนคร่าชีวิตประชาชนไปแล้วกว่า 42,107 ราย และมีผู้ติดเชื้อทั่วโลกอย่างน้อย 857,487 รายใน 203 ประเทศและดินแดนทั่วโลก จากข้อมูลของศูนย์วิทยาศาสตร์และวิศวกรรมเชิงระบบ (CSSE) แห่งมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ ณ วันที่ 31 มี.ค. 2563 และยังคงไม่มีทีท่าว่า วิกฤตครั้งนี้จะยุติลงในเร็ววัน
แกะรอยเส้นทางโควิด-19 จากอู่ฮั่นสู่ทั่วโลก
การแพร่ระบาดของโควิด-19 เชื่อกันว่า มีต้นกำเนิดมาจากตลาดอาหารทะเลแห่งหนึ่งในเมืองอู่ฮั่น แม้ข้อมูลดังกล่าวจะยังคงเป็นที่ถกเถียงและหาข้อสรุปไม่ได้ แต่จากข้อมูลจีนรายงานต่อ WHO นั้นพบว่า การแพร่ระบาดเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นเดือนธ.ค. โดยมีผู้ป่วยโรคปอดอักเสบเพิ่มขึ้นจำนวนมากในเวลาเพียงไม่กี่วัน แต่ทางการจีนในขณะนั้นยังคงยืนยันว่า สามารถควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดให้อยู่ในวงจำกัดได้ ขณะที่ WHO เองก็มองว่า เป็นการแพร่ระบาดตามปกติตามฤดูกาล และยังไม่จำเป็นต้องมีการประกาศวาระฉุกเฉิน
อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ติดเชื้อในเมืองอู่ฮั่นยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับในช่วงเดือนม.ค. เป็นช่วงเวลาที่กำลังจะเข้าสู่เทศกาลตรุษจีน ซึ่งเป็นเทศกาลใหญ่ประจำปีที่ชาวจีนจำนวนมากเดินทางนิยมเดินทางกลับภูมิลำเนาของตนเอง บ้างก็ไปท่องเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้ชาวอู่ฮั่นจำนวนมากเดินทางออกจากเมือง โดยคาดว่า ในช่วง 3 อาทิตย์แรกของเดือนม.ค. ก่อนที่จะถึงวันที่ 23 ม.ค. 2563 ซึ่งเป็นวันที่มีการประกาศปิดเมืองอู่ฮั่นอย่างเป็นทางการ ประชาชนได้เดินทางออกจากเมืองไปแล้วมากกว่า 5 ล้านคน
สัญญาณของการแพร่ระบาดเริ่มรุนแรงขึ้นเมื่อจำนวนผู้ป่วยนอกมณฑลหูเป่ย ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองอู่ฮั่นเพิ่มสูงขึ้น และลุกลามไปทั่วทุกมณฑลของจีน ยิ่งไปกว่านั้น ยังพบผู้ติดเชื้อรายแรกนอกแผ่นดินจีน ในประเทศไทย เมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2563 ก่อนจะแพร่กระจายไปตามพื้นที่ต่างครอบคลุมเกือบทุกทวีปทั่วโลก
ไทม์ไลน์การแพร่ระบาดทั่วโลก
- 31 ธ.ค. 2562 : องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้รับแจ้งอย่างเป็นทางการจากว่า พบผู้ป่วยที่มีอาการปอดอักเสบรุนแรงจำนวนมาก ในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนธ.ค.
- 7 ม.ค. 2563 : องค์การอนามัยโลก ประกาศพบการระบาดของไวรัสชนิดใหม่อย่างเป็นทางการโดยเกิดจากเชื้อไวรัสประเภทไวรัสโคโรนา หรือ 2019-nCoV
- 13 ม.ค. 2563 : พบผู้ติดเชื้อรายแรกนอกดินแดนจีน ที่ประเทศไทย
- 20 ม.ค. 2563 : พบผู้ติดเชื้อรายแรกในสหรัฐ ที่วอชิงตัน
- 24 ม.ค. 2563 : พบผู้ติดเชื้อรายแรกในยุโรป ที่ฝรั่งเศส
- 29 ม.ค. 2563 : พบผู้ติดเชื้อรายแรกในตะวันออกกลาง ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
- 2 ก.พ. 2563 : พบผู้เสียชีวิตรายแรกนอกจีน ที่ฟิลิปปินส์
- 11 ก.พ.2563 : WHO ประกาศตั้งชื่ออย่างเป็นทางการสำหรับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ว่า COVID-19 หรือ โควิด-19
- 14 ก.พ. 2563 : พบผู้ติดเชื้อรายแรกในทวีปแอฟริกา ที่อียิปต์
- 26 ก.พ. 2563 : พบผู้ติดเชื้อรายแรกในลาตินอเมริกา ที่บราซิล
จีนยอมเจ็บ ใช้กฎเหล็กคุมเข้ม ปิดเมือง – ทุ่มงบประมาณมหาศาล
แม้ในช่วงแรกที่โควิด-19 เริ่มแพร่ระบาด ดูเหมือนว่าบรรดาผู้นำจีนจะยังไม่ทันตั้งตัว แต่เมื่อพวกเขาตั้งหลักพอจับทางได้แล้ว ก็เริ่มมีการจัดการอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็น การประกาศปิดเมืองอู่ฮั่นและมณฑลหูเป่ยทันทีในวันที่ 23 ม.ค.ก่อนจะมีการประกาศปิดเมืองใกล้เคียงอีกอย่างน้อย 13 เมือง โดยไม่ลังเลว่าจะส่งผลกระทบต่อประชาชนมากกว่า 33 ล้านคน และสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจเป็นมูลค่ามหาศาล โดยเฉพาะเมืองอู่ฮั่นเพียงเมืองเดียว ซึ่งเป็นเมืองเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และศูนย์กลางการคมนาคมในภาคกลางของจีน คงไม่ต้องบอกว่ามูลค่าความเสียหายจะมากน้อยเพียงใด
ขณะเดียวกัน ทางการก็ส่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจำนวนมากเข้าควบคุมสถานการณ์ในเมืองต่าง ๆ ที่มีการแพร่ระบาดอย่างหนัก ทั้งเร่งสร้างโรงพยาบาลสนาม และเปลี่ยนสถานที่ต่าง ๆ ในเมืองให้กลายมาเป็นพื้นที่รองรับผู้ป่วย พร้อมจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอต่อการตรวจหาเชื้อและรักษาผู้ป่วยทุกราย ให้ผู้ป่วยเข้ามาอยู่ภายใต้การดูแลให้มากที่สุด ป้องกันไม่ให้มีการหลีกเลี่ยงการเข้ารับการตรวจรักษาเนื่องจากความกังวลในเรื่องของค่าใช้จ่าย
ความพยายามดังกล่าว เริ่มปรากฎผลออกมาเป็นสัญญาณเชิงบวกเมื่อยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงต่อเนื่องหลังจากวันที่ 12 ก.พ. ซึ่งเป็นวันที่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่มากที่สุดถึง 14,108 ราย โดยทางการให้เหตุผลว่า สาเหตุที่พบผู้ติดเชื้อจำนวนมากนั้น เนื่องจากได้มีการปรับเปลี่ยนเกณฑ์การวินิจฉัยให้นับรวมผู้ติดเชื้อที่ได้รับการวินิจฉัยทางคลินิก (Clinically diagnosed cases) ด้วย ก่อนที่ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่จะลดลงต่อเนื่องจนแตะหลักร้อยรายเป็นครั้งแรกในวันที่ 19 ก.พ. (มีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ 391 ราย) และลดลงสู่หลักสิบในช่วงต้นเดือนมี.ค. จนผู้เชี่ยวชาญหลายรายต้องออกมายอมรับว่า สิ่งที่จีนทำได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การใช้มาตรการที่เด็ดขาดและจริงจัง เป็นวิธีการที่ช่วยสกัดการติดเชื้ออย่างได้ผล
ถัดจากจีนแผ่นดินใหญ่ไปเพียงไม่กี่กิโลเมตร ที่เขตปกครองพิเศษมาเก๊า ฮ่องกง และไต้หวัน ก็กำลังใช้ความพยายามอย่างหนักในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นการปิดพรมแดนที่ติดกับจีนแผ่นดินใหญ่ ปิดโรงเรียน และสถานที่ที่เป็นแหล่งชุมนุมของคนจำนวนมาก ตลอดจนออกมาตรการต่าง ๆ มาสกัดการแพร่ระบาดของโรค เช่น ไต้หวัน ซึ่งได้ใช้มาตการเชิงรุกในการรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เริ่มตั้งแต่ที่ทราบว่าจีนมีการรายงานการพบโรคระบาดในเมืองอู่ฮั่น ไต้หวันก็ได้สั่งให้มีการตรวจร่างกายผู้โดยสารที่เดินทางมากจากอู่ฮั่นอย่างเข้มงวด ก่อนจะเริ่มออกนโยบายต่าง ๆ มาควบคุมการแพร่ระบาด ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวช่วย ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งเครื่องตรวจวัดอุณภูมิในสนามบิน ใช้ระบบติดตามการเดินทางและข้อมูลสุขภาพของผู้ที่เดินทางเข้าประเทศ โดยเฉพาะที่มาจากพื้นที่เสี่ยง เพื่อส่งข้อมูลไปยังศูนย์ควมคุมโรคโดยตรง และกำหนดให้บุคคลเหล่านั้นต้องกักตัวเองที่บ้านเป็นเวลา 14 วันอย่างเคร่งครัด พร้อมกำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืน
ขณะเดียวกันก็มีการให้ความรู้เกี่ยวกับโรคและการป้องกันตนเองอย่างทางสื่อต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ประชาชนมีความเข้าใจและปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้อง ทั้งนี้ ปัจจุบันไต้หวันมียอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 322 ราย ส่วนฮ่องกงและมาเก๊ามีจำนวนผู้ติดชื้อสะสมอยู่ที่ 715 ราย และ 41 ราย ตามลำดับ
ผู้ป่วยหมายเลข 31 กับนโยบายเข้มงวดของเกาหลีใต้
อย่างที่ทราบกันดีว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเกาหลีใต้ เริ่มจะเลวร้ายลง เมื่อหญิงวัย 61 ปีจากเมืองแทกู ซึ่งผู้ป่วยรายที่ 31 ของประเทศ ได้สร้างปรากฏการณ์อันน่าสะพรึง จนทำให้เกาหลีใต้ติดอันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก
ทันทีที่สถานการณ์เริ่มแย่ลง รัฐบาลเกาหลีใต้ก็ได้ยกระดับการป้องกันในระดับสูงสุด ด้วยการสั่งให้มีการยกเลิกการชุมนุม จัดกิจกรรมที่มีผู้คนมารวมตัวกันจำนวนมาก เลื่อนการเปิดเทอม และเดินหน้าปูพรมตรวจหาผู้ติดเชื้ออย่างเข้มข้น แก้ปัญหาการขาดแคลนสถานที่ตรวจหาเชื้อ ด้วยการพัฒนาระบบการตรวจแบบ “drive-thru” ให้บุคลากรการแพทย์พร้อมอุปกรณ์ป้องกัน เข้าไปตรวจหาเชื้อให้กับประชาชนที่ขับรถเข้ามาในจุดรับบริการ เพื่ออำนวยความสะดวก ประหยัดเวลา และลดการสัมผัสระหว่างผู้คน ทำให้สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว และครอบคลุม จนสามารถตรวจพบผู้ติดเชื้อจำนวนมากให้เข้าสู่กระบวนการรักษา ซึ่งทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในเกาหลีใต้ แม้จะพุ่งขึ้นจนน่าตกใจในช่วงแรก แต่ก็ลดจำนวนลงได้อย่างรวดเร็ว
จากอู่ฮั่น ถึงอิตาลี, สหรัฐ บทเรียนใหม่ที่โลกต้องรู้
ในขณะที่สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ในหลาย ๆ ประเทศในเอเชีย ดูเหมือนจะเริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดี แต่สถานการณ์ในยุโรปกลับกำลังเลวร้ายลงทุกที โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในอิตาลี ซึ่งได้กลายมาเป็น ศูนย์กลางการแพร่ระบาดแห่งใหม่ สำหรับผู้ป่วยรายแรกที่ถูกตรวจพบในอิตาลีนั้น เป็นชายวัย 38 ปี จากเมืองโคโดญโญ แคว้นลอมบาร์เดีย ทางตอนเหนือของประเทศ ที่ได้เดินทางไปพบแพทย์ ด้วยอาการคล้ายไข้หวัด ก่อนจะตรวจพบการติดเชื้อโควิด-19 โดยไม่มีประวัติการเดินทางไปต่างประเทศแต่อย่างใด
และที่น่าสนใจมากกว่านั้นก็คือ จากการสอบสวนโรคพบว่า ก่อนจะมีการตรวจพบเชื้อ ชายคนดังกล่าวก็ได้แพร่เชื้อให้กับภรรยา แพทย์ พยาบาล และคนไข้หลายคนที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเดียวกันกับเขาไปเรียบร้อยแล้ว ยังไม่รวมถึงการที่ชายคนดังกล่าวได้เข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ มากมายในช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่จะตรวจพบเชื้อ และนี่ทำให้นักวิทยาศาสตร์จำนวนหนึ่งมองว่าไวรัสอาจแพร่ระบาดอยู่ในแคว้นลอมบาร์เดีย มาตั้งแต่ช่วยปลายเดือนม.ค. แล้ว
สำหรับสาเหตุที่ทำให้อิตาลีได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างรุนแรงนั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขได้อธิบายกับสำนักข่าวซีเอ็นบีซีไว้ว่า เป็นเพราะปัจจัยด้านประชากร พฤติกรรมทางสังคม และความสามารถในการตรวจหาผู้ติดเชื้อ โดยอเล็กซานเดอร์ เอ็ดเวิร์ดส ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิคุ้มกันวิทยาจากมหาวิทยาลัยเรดดิงของอังกฤษกล่าวถึงสถานการณ์ในอิตาลี รวมถึงประเทศอื่น ๆ ในยุโรปกับ ซีเอ็นบีซีว่า คนยุโรปส่วนใหญ่ ต่างคิดว่าการระบาดของโควิด-19 เป็นปัญหาของประเทศอื่น ๆ
และด้วยทัศนคตินี้เอง จึงทำให้ไวรัสแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในหลายพื้นที่ เช่น อิตาลี และสเปน ประกอบกับ วัฒนธรรมของชาวอิตาลีเองที่ คนหนุ่มสาว มักจะไปพบปู่ย่าตายายในวันอาทิตย์ เพื่อไปโบสถ์ รับประทานอาหาร หรือทำกิจกรรมร่วมกัน การมีปฏิสัมพันธ์ลักษณะนี้ จึงทำให้อิตาลี ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรสูงอายุมากเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากญี่ปุ่น มีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มขึ้นทวีคูณ ที่จะพบผู้ป่วยอาการรุนแรงจากโควิด-19
นอกจากนี้ ไมเคิล ทิลเดสลีย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาจากมหาวิทยาลัยวอร์ริกของอังกฤษ ได้กล่าวกับซีเอ็นบีซีว่า อัตราการเสียชีวิตที่พุ่งขึ้นในอิตาลีนั้นยังเกี่ยวข้องกับ จำนวนผู้ได้รับการตรวจหาเชื้อไวรัสด้วย “ยิ่งมีคนได้รับการตรวจมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งทำให้ทางการสามารถเข้าไปตอบสนองได้ดีขึ้นเท่านั้น” ทิลเดสลีย์กล่าว โดยยกตัวอย่างถึงกรณีของจีนและเกาหลีใต้ ขณะที่ในอิตาลีและสเปน มีเพียงผู้ที่แสดงอาการป่วยเท่านั้นที่ได้รับการตรวจหาเชื้อไวรัส จึงทำให้การเข้ารับการรักษาในบางครั้งอาจจะไม่ทันท่วงที
เช่นเดียวกับสถานการณ์ในสหรัฐที่ยังคงวิกฤต โดยจากข้อมูลล่าสุดของ CSSE ระบุว่า ณ วันอังคารที่ 31 มี.ค. ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐพุ่งขึ้นแตะ 189,510 ราย ขณะยอดผู้เสียชีวิตอยู่ที่ระดับกว่า 4,000 รายแล้ว โดย เฉพาะในรัฐนิวยอร์ก ซึ่งเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดของสหรัฐ มียอดผู้ป่วยทั้งสิ้น 75,833 ราย และเสียชีวิต 1,550 ราย
ขณะที่ทำเนียบขาวได้เปิดเผยรายงานคาดการณ์ล่าสุดว่า อาจมีชาวอเมริกันประมาณ 100,000 – 240,000 รายเสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 แม้ว่ารัฐต่างๆในสหรัฐจะประกาศมาตรการให้ประชาชนเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) รวมถึงการออกมาตรการต่าง ๆ มากมายเพื่อสะกัดการแพร่ระบาดของไวรัส ไม่ว่าจะเป็น การประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศ ยกเลิกกิจกรรมกีฬา ดนตรี และการชุมนุมกันของคนหมู่มาก ตลอดจนสั่งห้ามชาวอเมริกันเดินทางออกนอกประเทศ แต่ดูเหมือนสถานการณ์นอกจากจะยังไม่คลี่คลายแล้ว ยังส่อแววจะเลวร้ายลงทุกที
ความสูญเสีย เสียหาย และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นชีวิตของผู้คน เศรษฐกิจ หรือแม้แต่ประเทศชาติ ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่มีใครปรารถนา หากแต่เมื่อสถานการณ์บีบบังคับให้ต้องเป็นไปเช่นนั้น โดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ การต่อสู้กับไวรัสมรณะอย่างโควิด-19 จึงไม่ใช่แค่ความรับผิดชอบของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง หากแต่เป็นความร่วมมือร่วมใจของประชาชน และการเรียนรู้จากบทเรียนที่ผ่านมาว่าจะทำให้อย่างไรให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุดนั้นก็อาจเป็นหนทางให้ค้นพบทางออกที่ดีที่สุดในเร็ววัน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 เม.ย. 63)
Tags: COVID-19, จีน, อิตาลี, เกาหลีใต้, โควิด-19, โรคระบาด, ไต้หวัน